40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้ ...
40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน (6)
40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้
หะดีษบทที่ 26
ดุอาละศีลอด
عَنِ اْبنِ عُمَرَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُمَا قَالَ : كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم إِذَا أَفْطَرَ قَالَ : ذَهَبَ الظَّمَأُ وَابْتَلَّتِ العُرُوْقُ وَثَبَتَ الأَجْرُ إِنْ شَاءَ اللهُ عَزَّ وَجَلَّّ
ความว่า จากอิบนุ อุมัร เราะฏิยัลลอฮุอันฮุมา กล่าวว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัมนั้น เมื่อท่านละศีลอดท่านจะกล่าวดุอาว่า "ซะฮะบัซเซาะมะอ์ วับตัลละติลอุรูก วะษะบะตัลอัจญ์รุ อินชาอัลลอฮุ อัซซะวะญัล" (ความกระหายได้หมดไป (ร่างกาย) ถูกเปียกชื้นด้วยเหงื่อและได้รับผลบุญ อินชาอัลลอฮ) (บันทึกโดยอบูดาวูด 2357 ดารุกุฏนีย์ 2/185 อัล-ฮากัม 1/422 และอิบนุ ซุนนีย์ 273)
คำอธิบายหะดีษ
หะดีษบทนี้ถือว่าเป็นหะดีษที่เศาะฮีห์ที่สุดจากท่านรอซูลที่เกี่ยวกับการขอดุอาขณะละศีลอดและไม่มีดุอาใดๆ ในการละศีลอด เว้นแต่มาจากหะดีษนี้ แต่ผู้ที่ถือศีลอดสามารถขอดุอาได้ด้วยการขอดุอาอื่นๆ ที่คิดว่าสามารถให้ประโยชน์แก่ตัวเขา ทั้งในดุนยาและอะคิเราะห์ (บทเรียนเกี่ยวกับรอมฏอน โดย สุลัยมาน อัล-เอาดะฮ์ หน้า 26)
عَنْ مُعَاذ بِنْ جَبَلٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : كَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم إِذَا أَفْطَرَ قَالَ : اللَّهُمَّّ لَكَ صُمْتُُ وَعَلَى رِزْقِكَ أَفْطَرْتُ
ความหมาย หะดีษจาก มุอาซ บิน ญะบัล เราะฏิยัลลอฮุ กล่าวว่า แท้จริงท่านรอซูลเมื่อละศีอดท่านจะขอดุอา "โอ้พระผู้เป็นเจ้าของฉัน ข้าถือศีลอดเพื่อพระองค์ และด้วยริซกีย์ของพระองค์ข้าละศีลอด" (บันทึกโดย อบู ดาวูด 2358 อิบนุ ซุนนีย์ 273 : หะดีษมุรซัล)
บทเรียนจากหะดีษ
1. ส่งเสริมให้อ่านดุอาเมื่อละศีลอด
2. เป้าหมายในการขอดุอาก็เพื่อให้ผู้ที่ถือศีลอดวิงวอนขอความดีและความโปรดปรานจากอัลลอฮอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวกับการถือศีลอดเพื่อพระองค์ทรงตอบรับ
3. ส่งเสริมให้ปฏิบัติตามซุนนะห์ของท่านรอซูล ในการประกอบอิบาดะห์ทุกอย่าง
4. แท้จริงดุอานั้นสามารถทำให้ความยำเกรงและความยะกีนเพิ่มมากขึ้น
หะดีษบทที่ 27
การแปรงฟันสำหรับผู้ถือศีลอด
عَنْ عُبَيْدِ الله بِن عَامِرٍ ابْنِ رَبِيْعَة عَنْ أَبِيْهِ قَالَ : رَأَيْتُ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم يَسْتَاكُ وَهُوَ صَائِمٌ . وَزَادَ مُسَدَّدٌ : مَالاَ أَعُدُّ وَلاَ أُحْصِى
จากอุบัยดิลลาห์ บิน อามิร บิน เราะบีอะห์ จากบิดาของท่านกล่าวว่า "ฉันเห็นท่านรอซูลแปรงฟันขณะที่ท่านถือศีลอด" มุซัดดัดเพิ่มเติมว่าฉันไม่สามารถที่จะนับจำนวนครั้งได้ (แสดงให้เห็นว่าท่านรอซูลทำบ่อยครั้ง) (บันทึกโดยอัต-ติรมีซีย์ 725 อะหมัด 3/245 และอบู ดาวูด 2364 )
คำอธิบายหะดีษ
บรรดาอุละมาอ์เห็นตรงกันว่า การแปรงฟันถือเป็นเรื่องสุนัตที่ส่งเสริมให้กระทำ แต่พวกท่านมีทัศนะที่แตกต่างกันในกรณีการแปรงฟันหลังจากตะวันคล้อยสำหรับผู้ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฏอน
อัล-เคาะฏอบีย์กล่าวว่า การแปรงฟันสำหรับผู้ที่ถือศีลอดและไม่ถือศีลอดนั้นเป็นสิ่งที่สุนัต ยกเว้นที่อุละมาอ์บางท่านได้กำหนดหุก่มว่าเป็นมักรูห์สำหรับผู้ที่ถือศีลอดแปรงฟันในเวลาตะวันคล้อย ทั้งนี้เพื่อคงไว้กลิ่นปากของเขา (ซึ่งกลิ่นปากของเขาในทัศนะของอัลลอฮนั้นหอมยิ่งกว่ากลิ่นชะมดเชียง) อุลามะอ์เหล่านั้นได้แก่ อิหม่ามอัซซาฟิอีย์และอัล-เอาซาอีย์
ส่วนท่านอื่นๆ ส่วนใหญ่แล้วมีทัศนะว่าสุนัตให้แปรงฟันตลอดวัน ท่านอิหม่ามอัล-บุคอรีย์กล่ววว่า อิบนุ อุมัรกล่าวว่า "การแปรงฟันนั้นสามารถกระทำได้ตั้งแต่กลางวันจนถึงตอนเย็น"
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
السِّوَاك مُطَهَّرَةٌ لِلْفَمِ مَرْضَاةٌ لِلْرَبِّ
"การแปรงฟันนั้นเป็นการทำความสะอาดปากและยังจะได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮอีกด้วย" (เอานัลมะอ์บูด 6/491)
บทเรียนจากหะดีษ
1. อิสลามตระหนักถึงความสำคัญในการทำความสะอาดปากและฟัน
2. ส่งเสริมให้มีการแปรงฟัน เพราะเป็นการปฏิบัติตาม ซุนนะห์ของท่านรอซูลและบรรดาเศาะฮาบะห์
3. การแปรงฟันเป็นการสุนัตสำหรับทั้งชายและหญิง แม้ว่ากำลังถือศีลอดหรือไม่ก็ตาม
หะดีษบทที่ 28
ค่ำคืนอัล-เกาะดัร
عَنْ عُبَادَةَ بْنُ الصَّامِتِ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : أَخْبَرْنَا رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم عَنْ لَيْلَةِ القَدْرِ قَالَ : هِيَ شَهْرُ رَمَضَانَ فِي العَشْرِ الأَوَاخِرِ لَيْلَةِ إِحْدَى وَعِشْرِيْنَ أَوْ ثَلاَثَ وَعِشْرِيْنَ أَوْ خَمْسَ وَعِشْرِيْنَ أَوْ تِسْعَ وَعِشْرِيْنَ أَوْ آخِرِ لَيْلَةٍ مِنْ رَمَضَانَ ، مَنْ قَامَهَا اِحْتِسَابَا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ
จากอุบาดะฮฺ บิน อัล-ซอมัต เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ โดยกล่าวว่า ท่านรอซูลได้บอกให้พวกเราทราบเกี่ยวกับค่ำคืนอัลเกาะดัร กล่าวว่า "ค่ำคืนนั้นมีอยู่ในสิบคืนสุดท้ายของเดือนรอมฎอน นั่นคือในคืนที่ยี่สิบเอ็ด หรือ คืนที่ยี่สิบสาม หรือคืนที่ยี่สิบห้า หรือคืนที่ยี่สิบเจ็ด หรือคืนที่ยี่สิบเก้า หรือคืนของเดือนรอมฏอน ผู้ใดดำรงไว้ซึ่งอิบาดิอะฮฺในค่ำคืนอัลเกาะดัร โดยประสงค์ที่จะได้รับผลบุญจากอัลลอฮฺ แท้จริงเขาผู้นั้นจะได้รับการอภัยโทษจากบาปต่าง ๆ ที่ผ่านมา"
บทเรียนจากหะดีษ
1. ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แนะนำประชาชาติของท่านเกี่ยวกับค่ำคืนอัล-เกาะดัร
2. ค่ำคืนอัล-เกาะดัรเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอน ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงสิบคืนสุดท้าย โดยไม่ได้กำหนดชัดว่าเกิดในคืนไหน
3. การที่ไม่ได้กำหนดแน่ชัดว่าค่ำคืนอัลเกาะดัรคือคืนใดนั้น เพื่อให้บรรดาผู้ศรัทธาพยายามแสวงหาค่ำคืนอัลเกาะดัร
4. ความประเสริฐของเดือนรอมฎอนและสิบคืนสุดท้ายของเดือน
5. ความประเสริฐของจำนวนนับเลขคี่ ซึ่งเกิดขึ้นในค่ำคืนที่จำนวนเลขคี่
6. ส่งเสริมให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ในค่ำคืนอัล-เกาะดัร เช่น การละหมาดในยามค่ำคืน การอ่านอัลกุรอาน การรำลึกถึงอัลลอฮ และการดุอาอ์ขออภัยโทษและการเตาบัต
7. ส่งเสริมให้มีการตั้งเจตนาที่บริสุทธิ์ในการประกอบอิบาดะฮ์ มุ่งหวังผลตอบแทนจากอัลลอฮฺ
8. อะมัลอิบาดะฮฺในค่ำคืนอัล-เกาะดัรจะได้รับผลบุญตลอดจนการอภัยโทษในบาปต่างๆ ที่ผ่านมา
9. ความโปรดปรานของอัลลอฮ์นั้นยิ่งใหญ่มหาศาล และพระองค์ทรงอภัยแก่บ่าวของพระองค์เสมอ
10. คนที่ประสบชัยชนะในการปฏิบัติอะมั๊ลในคืนอัลเกาะดัรเขาคือ ผู้ที่บริสุทธิ์ใจ เพราะจิตใจของเขาหมั่นพึ่งพาความโปรดปรานและการอภัยโทษจากอัลลอฮ์
หะดีษบทที่ 29
ความประเสริฐของการทำอะมัล ในค่ำคืนอัล-เกาะดัร
عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِىَ اللهُ أَنَّ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم قَالَ :"مَنْ قَامَ لَيْلَةَ القَدْرِ إِيْمَانَا وَاحْتِسَابًا غُفِرَ لَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ
ความว่า จากอบี ฮุรอ็ยเราะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่าน รอซูลกล่าวว่า "ผู้ใดดำรงไว้ (การอิบาดะฮฺ) ในค่ำคืนอัล-เกาะดัรด้วยความศรัทธา (ต่ออัลลอฮฺและคำสั่งของพระองค์) และหวังผลบุญจากอัลลอฮฺ แท้จริงพระองค์จะทรงอภัยโทษต่อบาปต่างๆ ที่ผ่านมา"
(รายงานโดยบุคอรี 4/221 และมุสลิม 760)
คำอธิบาย
อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า เหตุที่ตั้งชื่อว่าเป็นคืนอัล-เกาะดัร เพราะว่าในคืนนั้นบรรดามะลาอิกัตเขียนเกาะดัร(สิ่งที่อัลลอฮกำหนด) เกี่ยวกับบรรดาริซกีย์และอะญัลของมวลมนุษย์ในปีนั้น ๆ
บางท่านกล่าวว่า เนื่องจากสถานภาพและความส่งเกียรติของค่ำคืนอัล-เกาะดัร และอุละมาอ์มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าค่ำคืนอัลเกาะดัรจะปรากฏตลอดไปจนถึงวันกิยามะห์
ท่านอัล-กอฏีย์ อิยาฏ กล่าวว่า บรรดาอุละมาฮมีทัศนะที่ไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับค่ำคืนอัลเกาะดัร บางท่านมีทัศนะว่า ค่ำคืนอัล-เกาะดัรจะมีการเปลี่ยนแปลงในเดือนรอมฏอน จากปีหนึ่งไปยังอีกปีหนึ่ง
บทเรียนจากหะดีษ
1. ความประเสริฐของผู้ที่ประกอบอะมั๊ลอิบาดะฮฺในค่ำคืนอัลเกาะดัร
2. ส่งเสริมให้มีการกิยาม (ดำรงไว้) ในค่ำคืนอัล-เกาะดัร ด้วยอะมั๊ลอิบาดะห์ต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้
3. การปฏิบัติกิยามในค่ำคืนอัลเกาะดัรต้องกระทำเพื่อสนองตามคำสั่งของอัลลอฮ์เท่านั้น และมีความเชื่อมั่นในสัญญาผลตอบแทนที่จะได้รับ และต้องปราศจากการโอ้อวดอื่นๆ
หะดีษบทที่ 30
ประกอบอิบาดะห์อย่างจริงจังช่วงสิบวันสุดท้ายของรอมฏอน
عَنْ عَائِشَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهَا : أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم كَانَ إِذَا دَخَلَ العَشْرُ أَحْيَا اللَّيْلَ وَأَيْقَظَ أَهْلَهُ وَشَدَّ مِئزَرَهُ . وَزَادَ مُسْْلِمٌ : وَجَدَّ وَشَدَّ مِئزَرَهُ
ความหมาย จากท่านหญิงอะอีชะ เราะฏิยัลลอฮุอันฮา เล่าว่าท่านรอซูลลุลลอฮเมื่อสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฏอนได้เยือนมาท่านได้ปลุกสมาชิกในครอบครัวของท่าน และได้ผูกมัดกางเกงของท่านจนแน่น (เพราะมีความจริงจังกับการทำอิบาดะฮ์ต่ออัลลอฮ์) มุสลิมเพิ่มเติมว่า "ท่านมีความจริงจังและผูกกางเกงของท่าน" (รายงานโดยบุคอรีย์ 1920 และมุสลิม 1174)
คำอธิบายหะดีษ
ท่านอัล-เคาะฎอบีย์ กล่าวว่า "شَدَّ مِئزَرَهُ" หมายถึง ความจริงจังในการประกอบอิบาดะฮ์ หรือหมายถึง การปลีกตัวห่างจากภรรยาและประกอบอิบาดะฮ์อย่างจริงจัง เนื่องจากมีปรากฏอยู่ในรายงานของอาซิม บิน ฎอมเราะฮ์ว่า" شَدَّ مِئزَرَهُ وَاعْتَزَلَ النِّسَاء " ผูกกางเกงและปลีกตัวออกห่างจากภรรยา ส่วนความหมายของการดำรงไว้ซึ่งค่ำคืนนั้น คือ การอดหลับในเวลากลางคืน ด้วยการประกอบอะมั๊ลอิบาดะห์ต่ออัลลอฮ เนื่องจากการนอนหลับนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความตาย และรายงานโดยอัตติรมีซีย์ จากซัยนับ บินติ อุมมุ สะลามะห์ ความว่า ท่านรอซูลเมื่อเดือนรอมฏอนเหลืออีกสิบวัน ท่านก็จะปลุกสมาชิกครอบครัวของท่านทั้งหมดที่สามารถประกอบ กิยามุลลัยล์ได้ (ตุห์ฟะตุลอะห์วะซีย์ 3/508)
ท่านอิหม่ามอันนะวะวีย์ กล่าวว่า สุนัตเพิ่มการประกอบอะมั๊ลในช่วงสิบเดือนสุดท้ายของรอมฏอนให้มาก และสุนัตดำรงไว้ซึ่งค่ำคืนนั้นด้วยการประกอบอิบาดะห์ (ชัรฮุ เศาะเฮียะห์มุสลิม 8/71)
บทเรียนจากหะดีษ
1. ความประเสริฐของสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฏอนและความประเสริฐของค่ำคืนดังกล่าว
2. อะมั๊ลของท่านรอซูลในช่วงสิบวันสุดท้ายของรอมฏอนคือการประกอบอิบาดะห์ในยามค่ำคืนและพยายามใกล้ชิดอัลลอฮ (ด้วยการประกอบอิบาดะห์)
3. ท่านรอซูลจะปลุกสมาชิกครอบครัวเพื่อร่วมกันประกอบ อะมั๊ลอิบาดะห์ อันเป็นภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นำครอบครัวมุสลิม
4. มีความกระตือรือร้น อันเป็นสัญญลักษณ์ของอะมั๊ล อิสลามีย์และเป็นคุณลักษณะของมุสลิมที่มีความกระตือรือร้น
5. การร่วมกันระหว่างสามีภรรยาในการประกอบอิบาดะห์ต่ออัลลอฮนั้น เป็นสิ่งที่อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมปฏิบัติ