40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน


4,458 ผู้ชม

40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้ ..


40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน

40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้

หะดีษบทที่ 1 บัญญัติการถือศีลอด

عَنْ عَائِشَةَ أُمِّ الْمُؤْمِنِيْنَ أَنَّهَاْ قَاْلَتْ : كَانَ يَوْمُ عَاشُورَاءَ يَوْماً تَصُومُهُ قُرَيْشٌ فِي الْجَاهِلِيَّةِ، وَكَانَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ يَصُومُهُ فِي الْجَاهِلِيَّةِ ، فَلَمَّا قَدِمَ رَسُولُ اللهِ الْمَدِينَةَ صَامَهُ وَأَمَرَ الْنَاسَ بِصِيَامِهِ ، فَلَمَّا فُرِضَ رَمَضَانُ ، كَانَ هُوَ الْفَرِيْضَةَ ، وَتُرِكَ يَوْمُ عَاْشُوْرَاءَ، فَمَنْ شَاءَ صَامَهُ، وَمَنْ شَاءَ تَرَكَهُ .
رواه البخارى 4 / 213 ومسلم 1125

ความว่า จากท่านหญิงอาอิชะห์มารดาของผู้ศรัทธาทั้งหลายกล่าวว่า "ครั้งหนึ่งวันอะชูรอเป็นวันที่บรรดาชาวกุรอยช์ประกอบอิบาดะฮฺถือศีลอดในสมัยญะฮีลิยะฮ์และท่าน รอซูล (ศ็อลฯ) เคยถือศีลอดวันนั้น ในวันที่ท่านรอซูลเดินทางไปยังนครมะดีนะห์ ท่านได้ถือศีลอดและเชิญชวนมวลมนุษย์เพื่อถือศีลอด หลังจากการถือศีลอดเดือนรอมฏอนถูกบัญญัติแล้วจึงยกเลิกจากการถือศีลอดอะชูรอ ดังนั้นหากผู้ใดประสงค์จะถือศีลอดในวันอะชูรอจงถือศีลอด และผู้ใดประสงค์จะละศีลอดก็จงละเถิด"
(รายงานโดยอัลบุคอรี 4/213 และมุสลิม 1125)

คำอธิบายหะดีษ
บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่สอดคล้องกันว่าการถือศีลอดในวันอะชูรอนั้น (คือวันที่ 10 ของเดือนมุฮัรร็อม) ปัจจุบันถือว่าเป็นสุนัตมิใช่วาญิบ แต่พวกเขามีทัศนะที่ขัดแย้งกันในหุกมในสมัยต้นๆ ของอิสลาม ขณะที่มีการบัญญัติให้ถือศีลอดก่อนการถือศีลอดในเดือนรอมฏอน

มัซฮับอบู หะนีฟะฮ์มีความเห็นว่าหุกมของการถือศีลอดนั้นเป็นวาญิบดังมีหลักฐานระบุว่าท่านรอซูลได้สั่งบรรดา เศาะฮาบะฮ์ให้ถือศีลอด ดังนั้นเมื่อเป็นคำสั่งแล้วหุก่มจึงเป็น วาญิบ

ในมัซฮับซาฟีอีย์เห็นว่าการถือศีลอดดังกล่าวเป็นสุนัต ดังมีหลักฐานอยู่ว่า ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า "วันนี้เป็น วันอะชูรอ อัลลอฮ (ซุบฮ) มิทรงบัญญัติให้สูเจ้าถือศีลอด"

ที่จริงแล้วบรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่เป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับการถือศีลอดในวันอะชูรอว่าไม่เป็นวาญิบแต่เป็นสุนัตเท่านั้น [เศาะฮีห์มุสลิม อธิบายโดย อัน-นะวะวีย์ 8/4-5]

บทเรียนจากหะดีษ

1. การถือศีลอดในวันอะชูรอเป็นข้อปฏิบัติของชาวกุรอยช์ในสมัยญะฮีลียะห์

2. อะชูรอคือ วันที่ 10 ของเดือนมุหัรร็อม

3. การถือศีลอดในวันอะซูรอนั้น ท่านรอซูล(ศ็อลฯ) เคยปฏิบัติมาก่อนหน้าที่การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนจะถูกบัญญัติขึ้นมา

4. ในช่วงต้นๆ ของการอพยพ (ฮิจญ์เราะฮ์) ท่านรอซูลยังถือศีลอดอะชูรอและยังสั่งให้บรรดาเศาะฮาบะฮ์ถือศีลอดอีกด้วย

5. แต่ในปีที่ 2 ของปีฮิจญ์เราะห์โองการเกี่ยวกับการถือศีลอดก็ถูกประทานลงมา ดังนั้น การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จึงถือเป็นฟัรฎูสำหรับผู้ที่มีเงื่อนไขครบถ้วนตามที่บัญญัติแล้วจะต้องถือปฏิบัติ ดังนั้น การถือศีลอดอะชูรอจึงกลายเป็นสุนัตที่สามารถเลือกกระทำหรือเลือกไม่กระทำก็ได้

หะดีษบทที่ 2 ประตูสวรรค์ถูกเปิดและประตูนรกถูกปิดไว้

عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ قَالَ :
" إِذَا جَاءَ رَمَضَانُ فَتِحَتْ أَبْوَابُ الْجَنَّةِ وَغُلِّقَتْ أَبْوَابُ الْنَارِ وَصُفِّدَتْ الْشَّيَاطِيْنُ " رواه البخارى

ความว่า จากอบี ฮุรอยเราะห์ เราะฏิยัลลอฮุกล่าวว่า "ท่านรอซูล กล่าวว่า เมื่อเดือนรอมฏอนได้เยือนมา บรรดาประตูสวรรค์ก็ถูกเปิดไว้และบรรดาประตูนรกก็จะถูกปิดไว้ และบรรดาชัยฏอนก็จะถูกล่ามโซ่ไว้"
(รายงานโดยบุคอรี 4/96-97 มุสลิม 1079)

คำอธิบายหะดีษ

การเยือนมาของเดือนรอมฏอนนั้นเป็นสัญญาณแห่งความดีงามแก่ผู้ที่มีความศรัทธา ด้วยความเมตตาและความโปรดปรานของอัลลอฮซุบฮานะฮูวะตะอาลา พระองค์จึงได้ทรงเปิดบรรดาประตูสวรรค์เสมือนว่าพระองค์ทรงต้อนรับบ่าวที่มีความศรัทธาแและมีความภักดีต่อพระองค์ และยินยอมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งทุกอย่างของพระองค์ แม้ว่าจำต้องอดอาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนลดความรู้สึกของอารมณ์ใฝ่ต่ำ หวังเพื่อผลตอบแทนและผลบุญจากพระองค์เพียงผู้เดียวเท่านั้น ในเวลาเดียวกันอัลลอฮทรงปิดบรรดาประตูนรก เสมือนว่าได้แจ้งให้ทราบว่านรกนั้นมิใช่เป็นสถานที่สำหรับพวกเขา อัลลอฮฺยังทรงล่ามโซ่บรรดาชัยฏอนมารร้ายที่มีบทบาทสำคัญในสิ่งที่ชั่วร้ายต่อมนุษย์ เพื่อให้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายสามารถปฏิบัติภารกิจและประกอบอิบาดะห์ต่ออัลลอฮอย่างอิสระและสมบูรณ์ปราศจากการรบกวนของชัยฏอนมารร้าย

บทเรียนจากหะดีษ

1. รอมฏอนเป็นเดือนอันประเสริฐยิ่งกว่าเดือนอื่นๆ

2. ในเดือนรอมฏอนอัลลอฮทรงประทานความโปรดปรานอย่างกว้างขวางด้วยการเปิดบรรดาประตูสวรรค์ และทรงปิดบรรดาประตูนรก ขณะเดียวกันอัลลอฮยังทรงล่ามโซ่บรรดาชัยฏอนมารร้ายเพราะว่าอัลลอฮได้ให้เกียรติแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ภักดีต่อพระองค์

3. รอมฏอนเป็นเดือนที่เปี่ยมล้นไปด้วยความโปรดปรานและเป็นฤดูแห่งความดีงาม

4. ส่งเสริมให้มีการประกอบความดีในเดือนรอมฏอนมากกว่าเดือนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงเปิดบรรดาประตูสวรรค์และทรงปิดบรรดาประตูนรก

5. ผู้ใดที่ไม่สามารถสนองรับความดีงามในเดือนรอมฏอนแล้วนั่นก็หมายความว่าเขาผู้นั้นถูกกีดกั้นจากความดีงาม

6. พระองค์ได้ล่ามโซ่บรรดาชัยฏอนมารร้ายไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายสามารถประกอบอะมั้ลอิบาดะห์ในเดือนรอมฏอนอย่างเต็มความสามารถและอิสระจากการรบกวนของชัยฏอนมารร้ายทั้งหลาย

7. หากบุคคลนั้นยังคงกระทำความชั่วหรือมะเซี๊ยตในเดือนรอมฏอนแล้ว นั่นหมายความว่าความชั่วนั้นมาจากตัวของเขาเองมิใช่มาจากการหลอกลวงของชัยฏอนมารร้าย

หะดีษบทที่ 3 ปลอดภัยจากไฟนรก

عَنْ أَبِيْ هُرَيْرَةَ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ

إَذَا كَانَ أَوَّلُ لَيْلَةٍ مِنْ شَهْرِ رَمَضَانَ صُفِّدَتْ الْشَّيَاطِيْنُ وَمَرَدَةُ الجِنِّ وَغُلِّقَتْ أَبْوَابُ النَّار، فَلَمْ يُفْتَحْ مِنْهَا بَابٌ،
وَفُتِحَتْ أَبْوَابُ الجَنَّةِ فَلَمْ يُغْلَقْ مِنْهَا بَابٌ ، وَيُنَادِى مُنَادٍ : يَا بَاغِيَ الْخَيْرِ أَقْبِلْ ، وَيَا بَاغِيَ الشَّرِ أَقْصِرْ
وَلِلهِ عُتَقَاءُ مِنَ النَّارِ، وَذَلِكَ كُلُّ لَيْلَةٍ

رواه الإمام أحمد 4/311 – 312 والترمذى 683 والنسائى 4/130 وابن ماجه 1642

ความว่า จากอบี ฮุรอยเราะห์เราะฏิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่าท่านรอซู กล่าวว่า "เมื่อค่ำคืนแรกของเดือนรอมฏอนได้เยือนมา บรรดาชัยฏอนมารร้ายและบรรดาญินที่เนรคุณก็จะถูกล่ามโซ่ไว้ บรรดาประตูนรกก็จะถูกปิด จะไม่มีแม้แต่ประตูเดียวที่เปิดไว้ และบรรดาประตูสวรรค์ก็จะถูกเปิด จะไม่มีแม้แต่ประตูเดียวที่ปิดไว้ และผู้ประกาศก็จะป่าวประกาศโดยกล่าวว่า (ด้วยคำพูด) "โอ้ผู้ใฝ่หาความดีจงทำต่อไปเถิด และโอ้ผู้ใฝ่หาความชั่วจงหยุดกระทำ(ความชั่ว)เถิด และเป็นสิทธิของอัลลอฮที่จะปลดปล่อยคนจำนวนหนึ่งจากจำนวนที่มากมายจากไฟนรก"และเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นทุกค่ำคืน (ของเดือนรอมฏอน)
(รายงานโดยอะหมัด 4/311-312 อัตติรมีซีย์ 683 อันนะซาอีย์ 4/130 และอิบนุ มาญะห์ 1642)

คำอธิบายหะดีษ

อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่าหิกมะห์หรือวิทยปัญญาในการล่ามโซ่บรรดาชัยฏอนมารร้ายนั้น ก็เพื่อมิให้บรรดาชัยฏอนคอยกระซิบกระซาบบรรดาผู้ที่ถือศีลอด หลักฐานก็คือคนที่จมปลักในความเลวร้ายจำนวนมากได้ละและเลิกจากการกระทำความชั่วและได้ขออภัยโทษต่ออัลลอฮ ส่วนผู้ที่ได้ปฏิบัติเช่นดังกล่าวแล้วก็เนื่องจากผลของการหลอกลวงของชัยฏอนยังคงมีอยู่ในหัวใจของคนที่ชั่วและเจริญงอกงามในความคิดของเขา กอฎีย์ อิยาฏกล่าวว่า หะดีษดังกล่าวนั้นเมื่อมองตามผิวเผินแล้ว จะเห็นว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่กล่าวในหะดีษนั้นเป็นสัญญาณบอกให้บรรดามะลาอิกะฮ์รับรู้ว่าเดือนรอมฏอนกำลังเยือนมา ขณะเดียวกันพวกเขาก็จะสรรเสริญยกย่องเกียรติของรอมฏอนและจะป้องกันมิให้บรรดาชัยฏอนคอยรบกวนผู้ศรัทธา ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะยึดว่าเป็นสัญญลักษณ์ของผลบุญที่มากมายและการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ การหลอกลวงจากชัยฏอนจะลดน้อยลง เสมือนพวกมันกลายเป็นผู้ที่ถูกล่ามโซ่ไว้ ในหะดีษนี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดประตูสวรรค์ทั้งหมดนั้นเป็นการแสดงให้เห็นว่าอัลลอฮได้เปิดโอกาสให้บ่าวของพระองค์ทำการภักดีต่อพระองค์ อันเป็นสาเหตุสำคัญในการเข้าสรวงสวรรค์ของพระองค์ และการปิดบรรดาประตูนรก นั่นก็หมายถึงการกีดกั้นความนึกคิดที่จะทำความชั่ว อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเข้านรก ส่วนการล่ามโซ่บรรดาชัยฏอนนั้นก็เป็นการกันไม่ให้มันคอยหลอกลวงมนุษย์ให้การกระทำความชั่วนั่นเอง

อัล-กุรฏุบีย์กล่าวว่า หากมีคนถามว่า : ทำไมจึงมีคนจำนวนมากยังคงทำความชั่วในเดือนรอมฏอนทั้งๆ ที่ในเดือนดังกล่าวอัลลอฮได้ล่ามโซ่บรรดาชัยฏอนมารร้ายแล้ว คำตอบคือ เป็นการลดความชั่วทุกอย่างจากบรรดาผู้ถือศีลอดที่รักษาเงื่อนไขต่างๆและมารยาทของการถือศีลอด ส่วนการล่ามโซ่นั้นเฉพาะชัยฏอนที่เลวร้ายมากๆ เท่านั้น แต่มิใช่ชัยฏอนทั้งหมด และการกระทำความชั่วนั้นอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ที่มิใช่มาจากการกระซิบกระซาบของบรรดาชัยฏอน เช่น อาจจะมาจากมนุษย์มีจิตใจที่ชั่วร้าย ธรรมเนียมประเพณีที่ไม่ดีไม่งามซึ่งมักจะทำกันเป็นประจำทุกวัน หรืออาจจะมาจากชัยฏอนที่อยู่ในคราบของมนุษย์

นอกจากประตูสวรรค์จะถูกปิดและประตูนรกจะถูกเปิด ซึ่งเป็นความโปรดปรานของอัลลอฮแด่บ่าวที่ต้องการทำความดีงามแล้ว ณ ที่นั่นยังมีเสียงที่เรียกร้องมาแต่ไกล อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า เสียงเรียกร้องนั่นเป็นเสียงของมะลาอิกะห์ หรือเป็นการดลใจแก่บรรดาผู้ที่พระองค์ประสงค์ให้ประกอบความดี "โอ้ผู้ที่ใฝ่หาความดีและผลบุญทั้งหลาย จงกราบไหว้อัลลอฮและจงภักดีต่อพระองค์เถิด จงเพิ่มความพยายามในการประกอบอิบาดะห์ต่อพระองค์ และโอ้บรรดาผู้ชอบความชั่วร้ายจงหยุดจากการกระทำความชั่วและจงกลับเข้าหาอัลลอฮเถิด แท้จริงแล้ว นี่คือเวลาที่พระองค์จะทรงรับการขออภัยโทษ แท้จริงแล้วอัลลอฮจะทรงปลดปล่อยบ่าวของพระองค์จำนวนมากจากไฟนรก จงวิงวอนและขอดุอาอ์เพื่อให้ตัวท่าน ครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนพ้องของท่านอยู่ในกลุ่มคนที่พระองค์ทรงปลดปล่อยจากไฟนรก" [ฟัตฮุ อัล-บารีย์ 4/114]

บทเรียนจากหะดีษ

1. ความประเสริฐของเดือนรอมฏอนตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งสิ้นสุด

2. ช่วงต้นของเดือนรอมฏอนบรรดาชัยฏอนและญินที่ชั่วร้ายจะถูกล่ามโซ่

3. ในเดือนรอมฏอนประตูนรกทั้งหลายจะถูกปิด จะไม่มีแม้แต่ประตูเดียวที่เปิดไว้ ทั้งนี้เพราะความสำคัญและเกียรติของเดือนรอมฏอน

4. เดือนรอมฏอนยังเป็นเดือนที่ประตูสวรรค์ทั้งหลายจะถูกเปิดและจะไม่มีแม้แต่ประตูเดียวที่ปิดไว้ ทั้งนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ศรัทธาประกอบความดีและอิบาดะห์อย่างเต็มที่เปี่ยม

5. ชัยฏอนมารร้ายและญินคอยหลอกลวงมนุษย์ แต่ในเดือนรอมฏอนพวกมันจะถูกล่ามโซ่ ทั้งนี้เป็นการให้เกียรติและโอกาสแก่ผู้ศรัทธาในการประกอบอิบาดะห์และทำการภักดีต่ออัลลอฮอย่างเต็มความสามารถ

6. ความโปรดปรานของอัลลอฮแด่บ่าวของพระองค์นั้นกว้างขวางยิ่งนัก จนกระทั่งคนจำนวนมากที่อยู่ในนรกพระองค์ทรงปลดปล่อยพวกเขาออกมาจากนรกในทุกค่ำคืนของเดือนรอมฏอน

หะดีษบทที่ 4 บาปที่ผ่านไปได้รับการอภัยโทษ

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ أَنَّ النَّبِيَّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ قَالَ:" مَنْ صَامَ رَمَضَانَ إِيْمَاناً وَاحْتِسَاباً غُفِرَلَهُ مَا تَقَدَّمَ مِنْ ذَنْبِهِ" رواه البخارى 4/221 ومسلم 760

ความหมาย จากอบีฮุรอยเราะห์ เราะฏิยัลลอฮุอันฮุ ท่านรอซูล กล่าวว่า "ผู้ใดที่ถือศีลอดเดือนรอมฏอนด้วยความศรัทธาและบริสุทธิ์ และมุ่งหวังผลบุญจากการถือศีลอดเขาจะได้รับการอภัยบาปของเขาที่ผ่านมา" (หะดีษรายงานโดยอัลบุคอรีย์ 4/221 และมุสลิม 760)

คำอธิบายหะดีษ

คำว่า "إِيْمَاناً" คือ การอี๊ติก็อดต่อหน้าที่ในการถือศีลอดอย่างเต็มเปี่ยม ส่วนคำว่า "احْتِسَاباً" คือ การวิงวอนขอผลบุญจากอัลลอฮ ซุบฮานะหุวะตะอาลา

อัลเคาะฏอบีย์ กล่าวว่า "احْتِسَاباً" หมายถึง การตั้งใจ นั่นคือ การที่เขาถือศีลอดอันเนื่องจากหวังเพื่อได้รับผลบุญที่เกิดจากจิตใจที่บริสุทธิ์และยินยอม ขณะเดียวกันเขาจะไม่มีความรู้สึกหนักใจในการถือศีลอดและไม่รู้สึกว่าเวลาในการถือศีลอดนั้นนานเกินไป [ฟัตฮุ อัล-บารีย์ 4/114]

อัส-สุยูฏีย์กล่าวว่า คำว่า "إِيْمَاناً" หมายถึง การยินยอมให้การถือศีลอดเป็นฟัรดูเหนือเขาและเป็นสิทธิที่เป็นวาญิบและเป็นหนึ่งในรุก่นอิสลาม ยังเป็นส่วนหนึ่งของกระทำที่อัลลอฮให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ผลบุญและผลตอบแทน [ตุหฺฟะตุลอะห์วะซีย์ 3/361]

อิหม่ามอันนะวะวีย์กล่าวว่า อะมั้ลอิบาดะห์ทุกอย่างที่สามารถไถ่จากบาปต่างๆ เมื่อตรงกับบาปต่างๆ (ไม่ว่าจะเป็นบาปใหญ่หรือบาปเล็ก) บาปนั้นก็จะถูกลบล้างไป ซึ่งบาปเล็กก็จะถูกลบไป ส่วนบาปใหญ่ก็จะให้เบาบางลง หากอิบาดะห์ต่างๆ มิใช่เป็นสาเหตุของการยกระดับ (ดะรอญะห์) ในสวรรค์

อิบนุ มุนซิรกล่าวว่า การให้อภัยนั้นจะคลอบคลุมถึงบาปทุกอย่าง ทั้งที่เป็นบาปใหญ่และบาปเล็ก

บทเรียนจากหะดีษ

1. กล่าวถึงความประเสริฐของการประกอบอิบาดะห์คือ การถือศีลอด

2. ผู้ที่ถือศีลอดอย่างแท้จริงนั้นจะได้รับการอภัยโทษจากบาปต่างๆ ที่ผ่านไป

3. การถือศีลอดที่แท้จริงเกิดจากความศรัทธาต่อคำสั่งของอัลลอฮ และหน้าที่ในการถือศีลอด พร้อมทั้งหวังในผลบุญจากพระองค์

4. ในภาพรวมแล้ว หะดีษนี้จะกล่าวถึงบาปทั้งที่เป็นบาปใหญ่และบาปเล็กจะได้รับการอภัยจากอัลลอฮ แต่ทัศนะของนักวิชาการเห็นว่าการอภัยโทษนั้นเจาะจงเฉพาะที่เป็นบาปเล็กเท่านั้น ส่วนบาปใหญ่จะเบาบางลงเท่านั้น

5. การอภัยโทษจากอัลลอฮนับเป็นความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแด่บ่าวของพระองค์

หะดีษบทที่ 5 การถือศีลอดสำหรับอัลลอฮฺ

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُولَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمْ : قَالَ اللهُ عَزَّوَجَلَّ : " كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ لَهُ إِلاَّ الصِّيَامَ ، الصِّيَامُ لِيْ وَأَنَا أَجْزِى بِهِ ، وَخُلُوْفِ فَمِ الصِّائِمِ عِنْدَ اللهِ أَطْيَبُ مِنْ رِيْحِ الْمِسْكِ " رواه مسلم 1151

ความหมาย จากอบี ฮุรอยเราะห์ เราะฏิยัลลอฮุกล่าวว่า"ท่านรอซูล กล่าวว่า "อัลลอฮทรงตรัสความว่า อะมั้ลทุกอย่างของลูกอาดัม (มนุษย์) นั้นเป็นสิทธิของเขา ยกเว้นการถือศีลอดนั้นเป็นของข้าและข้าจะตอบแทน(แก่ผู้ถือศีลอด) และแท้จริงแล้วกลิ่นปากของผู้ที่ถือศีลอดสำหรับอัลลอฮนั้นหอมยิ่งกว่ากลิ่นชะมดเชียง"
(รายงานโดยมุสลิม 1151)

คำอธิบายหะดีษ

บรรดาอุละมาอ์มีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับความหมายของคำว่า"อะมั้ลทุกอย่างของลูกอาดัมเป็นสิทธิของข้า ยกเว้นการถือศีลอด" เพราะตามที่ทราบกันแล้วว่า การประกอบอะมั้ลทุกอย่างที่ทำขึ้นโดยมนุษย์นั้นก็เพื่ออัลลอฮ

อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า เนื่องจากการถือศีลอดนั้นบุคคลหนึ่งจะไม่มอบให้ผู้อื่นยกเว้นแด่อัลลอฮผู้เดียวเท่านั้น คนกาฟิรในแต่ละยุคสมัยนั้น พวกเขามิได้กราบไหว้พระผู้เป็นเจ้าด้วยการถือศีลอด แต่พวกเขาเคยบูชาในรูปของการละหมาดหรือการสุญูดและการให้ทาน

อัล-เคาะฎอบีย์กล่าวว่า เนื่องจากผู้ที่ถือศีลอดนั้นไม่ได้รับผลบุญจากการถือศีลอด (เพราะว่าการถือศีลอดนั้นหิวและกระหาย)
อุละมาอ์บางท่านกล่าวว่า การไม่รับประทานอาหารนั้นเป็นคุณลักษณะหนึ่งของอัลลอฮ ดังนั้น ผู้ที่ถือศีลอดจึงอยู่เคียงข้างกับคุณลักษณะดังกล่าว แต่ (จงทราบไว้เถิดว่า) คุณลักษณะดังกล่าวไม่ได้เหมือนกับคุณลักษณะของบรรดามัฆลูกของพระองค์

บทเรียนจากหะดีษ

1. กล่าวถึงความยิ่งใหญ่และผลบุญของการถือศีลอด

2. มารยาทที่ดีงามของการถือศีลอด เนื่องจากอัลลอฮจะทรงตอบแทนด้วยผลบุญที่ยิ่งใหญ่

3. การถือศีลอดเป็นเพียงอะมั๊ลเดียวเท่านั้นที่ทำขึ้นเป้าหมายเพื่ออัลลอฮ เพราะการถือศีลอดเป็นความลับระหว่างบ่าวกับอัลลอฮ

4. ความโปรดปรานของอัลลอฮนั้นกว้างไกลมาก

5. ความประเสริฐของผู้ที่ถือศีลอดนั้นในทัศนะของอัลลอฮแล้วปากของผู้ที่ถือศีลอดจะมีกลิ่นหอมยิ่งกว่ากลิ่นชะมดเชียง

อัพเดทล่าสุด