5 อันดับมะเร็งในคนไทย รู้ไว้ใกล้ตัวกว่าที่คิด


3,279 ผู้ชม

ข้อมูลสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทย พบว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย


ข้อมูลสถิติโรคมะเร็งในประเทศไทย พบว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรไทย มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 แล้ว อีกทั้งยังมีแนวโน้มการตายสูงขึ้นในทุกปี หากดูข้อมูลสถิติโรคมะเร็งของคนไทยในปีพ.ศ. 2557 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติแล้ว พบ ผู้ป่วยใหม่จำนวนถึง 122,757 คนในปีนั้น โดยแบ่งเป็นเพศชาย 59,662 คน และเพศหญิง 63,095 คน โรคมะเร็งที่เป็นปัญหาสำหรับคนไทย 5 อันดับแรกของประเทศไทย มีดังนี้

มะเร็งตับ มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจากการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี การได้รับสารอะฟลาทอกซิน (เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่มักพบในอาหารแห้ง) ความเป็นพิษของแอลกอฮอล์หรือสารเสพติด และการได้รับสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง

มะเร็งปอด มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงมาจากการสูบบุหรี่ การได้รับรับสารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็งทางอากาศ

มะเร็งเต้านม มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงมาจากฮอร์โมนเพศหญิงอย่างเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนนี้ จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเมื่อมีปฏิกิริยากับแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็งอย่าง อาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน รวมถึงการสัมผัสเข้ากับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อาจปนเปื้อนมาในห่วงโซ่อาหาร เช่น ดีดีที ดีลดริน อัลดริน

มะเร็งปากมดลูก มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจากการได้รับเชื้อ Human Papillomavirus (HPV) และปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มีสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงจากการบริโภคเนื้อแดง เนื้อแปรรูป การบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็งอย่างอาหารปิ้งย่าง อาหารรมควัน อาหารไขมันสูงหรือมีกากใยน้อย การขาดการออกกำลังกาย ภาวะอ้วน และการดื่มแอลกอฮอล์

ทำไมผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทยจึงมีแนวโน้มสูงขึ้น??? สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมสุขภาพแทบทั้งสิ้น หลายคนมีอาการป่วยโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์มะเร็งในการเปลี่ยนจากเซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งนั้น จะมีกระบวนการที่ซับซ้อน ใช้เวลาหลายปีในการก่อโรคกว่าจะแสดงอาการ ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งนั้น มีที่มาจากทั้งปัจจัยภายในร่างกาย อย่างเช่น พันธุกรรม ระบบภูมิคุ้มกัน ภาวะทางโภชนาการ และปัจจัยภายนอก คือการที่ไปรับสารก่อมะเร็งมาจากสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการดำเนินชีวิต พฤติกรรมการบริโภค การใช้สารเสพติด จนทำให้คนไทยมีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคมะเร็งสูงขึ้นนั่นเองขึ้น

ชายไทย-หญิงไทย เสี่ยงต่อมะเร็งอะไรบ้าง จากข้อมูลการจัดทำแผนการป้องกันและควบคุมโรงมะเร็งแห่งชาติ พ.ศ. 2561-2565 ของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าในปีพ.ศ. 2557 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 70,075 คน เป็นเพศชาย 40,161 คน เพศหญิง 29,914 คน โดย

» โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรกของชายไทย ในปีพ.ศ. 2557 ได้แก่

- มะเร็งตับ
- มะเร็งปอด
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
- มะเร็งช่องปากและคอยหอย
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว

» โรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรกของหญิงไทย ในปีเดียวกัน ได้แก่

- มะเร็งตับ
- มะเร็งปอด
- มะเร็งเต้านม
- มะเร็งปากมดลูก
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

อย่างไรก็ตาม อัตราการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งเพศชายและเพศหญิง เมื่อเห็นดังนี้แล้ว โรคมะเร็งจึงไม่ใช่โรคที่จะทำเป็นเล่น ๆ หากไม่อยากเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต อย่าเพิ่มความเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ถึงเวลาแล้วที่ต้องใส่ใจและดูแลสุขภาพกันแล้ว

ข้อมูลจาก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

| --------------------- |

เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อัพเดทล่าสุด