40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน (3)


2,603 ผู้ชม

40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้ ...


40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน (3)

40 หะดิษฺ สำหรับเดือนรอมฎอน เป็นการรวบรวมหะดิษฺต่าง ๆ ของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ซึ่งเกี่ยวกับคุณค่าของเดือนรอนฎอน รวมทั้งอะมัลต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้ปฏิบัติในเดือนอันประเสริฐนี้

หะดีษบทที่ 11

ห่างไกลจากไฟนรก

عَنْ أَبِى سَعِيْدٍ الخُدْرِي رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : سَمِعْتُ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهِ عَلَيْهِ وَسَلَّم يَقُولُ : " مَنْ صَامَ يَوْمًا فِي سَبِيْلِ اللهِ بَاعَدَ اللهُ وَجْهَهُ عَنِ النَّارِ سَبْعِيْنَ خَرِيْفًا ". رواه مسلم 2/808

ความว่า จากอบี สะอีด อัลคุฎรีย์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า "ท่านรอซูล (ศ็อลฯ) กล่าวว่า ผู้ใดถือศีลอดเพื่ออัลลอฮฺหนึ่งวัน อัลลอฮฺจะทรงให้ใบหน้าของเขาห่างไกลจากไฟนรกเจ็ดสิบปี" (บันทึกโดยมุสลิม 2/808)

คำอธิบายหะดีษ

บรรดาอุลามาอ์มีทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับคำว่า "في سبيل الله" โดยมีทัศนะดังต่อไปนี้
- อิบนุ อัลเญาซีย์ กล่าวว่า เป็นการญิฮาด (การพลีชีพในหนทางของอัลลอฮ)
- อัลกุรฏุบีย์ กล่าวว่า เป็นการภักดีต่ออัลลอฮ
- อัลฮาฟิซ กล่าวว่า เป็นคำที่มีความหมายที่กว้างกว่าทัศนะข้างต้น
- อิบนุ ดะกีก อัลอีด กล่าวว่า โดยปกติแล้วจะใช้คำว่า "في سبيل الله" กับการญิฮาด (การพลีชีพในหนทางของอัลลอฮ)

บทเรียนจากหะดีษ

1. ความประเสริฐของการถือศีลอดในหนทางของอัลลอฮฺ มิใช่เพียงแต่ให้ได้ผลบุญมาอย่างเดียวเท่านั้น แต่หวังเพื่อความปลอดภัยจากไปนรกอีกด้วย

2. อัลลอฮฺทรงรักมุสลิมที่ถือศีลอดและต่อสู้ในหนทางของพระองค์

3. ถึงแม้ว่าเวลาเพียงวันเดียวนั้นจะน้อยนิด แต่เมื่อเอาไปใช้ประโยชน์ให้แก่ตนเองและเพื่ออัลลอฮฺแล้ว มันช่างมีราคาที่แพงเหลือเกิน

4. สอนให้มุสลิมตั้งเจตนาที่บริสุทธิ์ในทุกๆ การกระทำโดยเฉพาะการถือศีลอด เพื่อน้อมรับคำสั่งจากพระองค์

5. การถือศีลอดและการญิฮาด เป็นเหตุทำให้บ่าวของพระองค์หลุดพ้นจากไฟนรก

หะดีษบทที่ 12

รักษามารยาทของการถือศีลอด

عَنْ أَبِي هُرَيرْةَ َرَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم رُبَّ صَائِمٍ حَظُّهُ مِنْ صِيَامِهِ الجُوْعُ وَالعَطَشْ. وَرُبَّ قَائِمٍ حَظُّهُ مِنْ قِيَامِهِ السَّهَرُ. رواه الطبرانى في الكبير واسناده لا بأس به

ความว่า จากอบี ฮุรอยเราะห์ เราฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านรอซูลกล่าวว่า"บางครั้งคนที่ถือศีลอด ผลที่ได้รับจากการถือศีลอดของเขาอาจจะเป็นเพียงแต่ความหิวและกระหายเท่านั้น และบางครั้งคนที่ยืนละหมาดในยามค่ำคืนนั้น ผลที่ได้รับอาจจะเป็นเพียงแค่การอดหลับอดนอนเท่านั้น" (รายงานโดยอัตเฏาะบะเราะนี ฟิลกะบีร วะอัสนาดิฮิ ลาบะส์ บิฮิ ให้ดู อัตตัรฆีบ วัตตัรฮีบ 2/148)

บทเรียนจากหะดีษ

1. เตือนให้คนที่ถือศีลอดให้มีเจตนาที่บริสุทธิ์ ขณะเดียวกันให้รักษามารยาทของการถือศีลอด

2. ผู้ถือศีลอดที่มีเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์และหากเขาถือศีลอดโดยไม่ได้รักษามารยาทของการถือศีลอดแล้วถือว่าสูญเปล่า

3. การถือศีลอดและการกิยามุลลัยล์ บางครั้งได้รับผลตอบแทนและบางครั้งไม่ได้รับผลตอบแทน

4. ใช้ให้มีความพยายาม เพื่อให้อะมั๊ลที่ปฏิบัติทุกอย่างได้รับการตอบรับจากอัลลอฮ ส่งเสริมให้การกระทำอะมั๊ลทุกอย่างให้ได้รับการตอบรับโดยอัลลอฮฺ

หะดีษบทที่ 13

อันตรายของคำพูดและการกระทำที่โกหกขณะถือศีลอด

عَنْ أَبِي هُرَيْرَةَ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم :" مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُّوْرِ وَالعَمَلَ بِهِ ، فَلَيْسَ لِلَّهِ عَزَّوَجَلَّ حَاجَةً أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ " رواه البخاري 4/99 والترمذى 707 وأبوداود 2362 وابن ماجه 1689

ความว่า จากอบี ฮุรอยเราะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า "ผู้ใดที่ไม่ละทิ้งคำพูดต่างๆ ที่โกหก และยังประพฤติปฏิบัติเช่นสิ่งที่โกหกเหล่านั้นอยู่ ดังนั้น อัลลอฮฺจึงไม่ประสงค์ต่อการอดอาหารและการดื่มของเขา" (รายงานโดยบุคอรี 4/99 อัตติรมีซีย์ 707 อบู ดาวูด 2362 และ อิบนุ มาญะห์ 1689)
คำอธิบายหะดีษ

อิบนุ อัล-มุนีรกล่าวว่า คำว่า "อัลลอฮ (ซุบฮ) ไม่ประสงค์ต่อการอดอาหารและการดื่มของเขา" คือ อัลลอฮ (ซุบฮ) ไม่ทรงตอบรับการถือศีลอด

อัลบัยฏอวีย์กล่าวว่า เนื่องจากการถือศีลอดนั้นไม่ใช่ความหิวและความกระหายแต่ผลจากการถือศีลอดนั้นสามารถลดอารมณ์ใฝ่ต่ำและลดอารมณ์ชั่วร้าย จนทำให้อารมณ์ดังกล่าวมีความสงบและมีความสุข

อิบนุ หะญัร อัล-อัส-เกาะลานีย์ กล่าวว่า อาศัยหลักฐานจากคำกล่าวดังกล่าว เนื่องจากการกระทำอันชั่วร้ายทำให้ (มีผลกระทบ) ผลบุญของการถือศีลอดลดลง

อิบนุ บัฏฏ็อล (หะดีษข้างต้น) มิใช่หมายความว่า สั่งให้เขาละทิ้งการถือศีลอด แต่ความหมายของหะดีษดังกล่าวเพื่อให้ความคุ้มครองจากการพูดโกหก

บทเรียนจากหะดีษ

1. ผู้ที่ถือศีลอดจะต้องละทิ้งคำพูดที่โกหกมดเท็จ

2. ผู้ที่ยังคงพูดจาโกหกมดเท็จขณะที่เขากำลังถือศีลอดนั้นในความหมายที่แท้จริงแล้ว เขามิใช่เป็นผู้ที่ถือศีลอด

3. การถือศีลอดจะไม่มีความหมาย และจะไม่ได้รับผลตอบแทนจากอัลลอฮ หากเขายังพูดโกหกมดเท็จอยู่

4. การพูดโกหกและการประพฤติเช่นนั้นเป็นตัวบ่อนทำลายผลบุญของการถือศีลอด

5. ส่งเสริมให้รักษามารยาทของการถือศีลอดเพื่อให้การถือศีลอดของเขาได้รับการตอบรับจากอัลลอฮ

หะดีษบทที่ 14

ความประเสริฐของอาหารซุฮุร

عَنْ أَنَسٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ أَنَّ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم قَالَ : تَسَحَّرُوا فَإِنَّ فِي السُّحُورِ بَرَكَةٌ

ความว่า จากอนัส เราะฏิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านรอซูลกล่าวว่า "จงรับประทานอาหารซูฮูร แท้จริงแล้วในนั้นมีความประเสริฐอยู่" (หะดีษรายงานโดยอัลบุคอรี 1823 และมุสลิม 2/770)

คำอธิบาย

ความหมายของความประเสริฐก็คือ ได้รับผลบุญ ผลตอบแทน และความประเสริฐอันเนื่องจากสาเหตุ ดังนี้

- เป็นการปฏิบัติตามแบบอย่างของท่านรอซูล

- เป็นการทำให้แต่งจากชาวกิตาบ (ยิวและคริสเตียน) ซึ่งพวกเขาไม่ทานอาหารซุหูรตามที่ระบุไว้ในหะดีษที่รายงานโดยมุสลิมจากอัมรุ บิน อ๊าศ แท้จริงท่านรอซูลกล่าวว่า "ความแตกต่างระหว่างการถือศีลอดของเรากับชาวคัมภีร์คือ การทาน ซุหูร"

- สามารถประกอบอิบาดะห์ได้อย่างขันแข็ง

- เพิ่มความคล่องแคล่ว

- สามารถขจัดมารยาทที่ไม่ดีอันเกิดจากความหิวโหย

- จะนำไปสู่การวิงวอน (ดุอา) และการซิกรุลลอฮ

- ผู้ที่ลืมเนียตก่อนเข้านอน สามารถทำการเนี๊ยตได้ (ฟัตฮุลบารีย์ 4/140)

บทเรียนจากหะดีษ

1. การชี้นำของท่านรอซูลแก่บรรดาผู้ศรัทธาเกี่ยวกับความพร้อมในการถือศีลอดนั่นคือ ให้รับประทานอาหารซุหูรก่อนถึงเวลาถือศีลอด

2. ซุหูร คือ การรับประทานอาหารก่อนเวลาซุบฮ์สำหรับผู้ที่ถือศีลอดในเดือนรอมฏอนหรือในวันอื่นๆ

3. ท่านรอซูลได้อธิบายเกี่ยวกับอาหารซุหูรว่ามีความประเสริฐ ในรายงานอื่นระบุว่าซุหูรเป็นอาหารที่ได้รับการประทานความประเสริฐโดยอัลลอฮ

4. บะเราะกะฮ์หมายถึง ผลบุญเพิ่มมากขึ้น

5. หุก่มของการรับประทานอาหารซุหูร คือ สุนัต ผู้ที่กระทำจะได้รับผลบุญ ในรายงานอื่นมีอยู่ว่าอัลลอฮและบรรดามะลาอิกะห์จะเศาะละวัตแก่บรรดาผู้ที่รับประทานอาหารซุหูร การเศาะละวัตของอัลลอฮนั้นก็คือ พระองค์จะทรงประทานความโปรดปรานแก่พวกเขา และการเศาะละวัตของบรรดามะลาอิกะห์ก็คือ พวกเขาจะขอให้อัลลอฮทรงให้อภัยแก่พวกเขา ดังนั้นเข้าใจว่าผู้ที่ไม่ได้รับประทานอาหารซุหูรจะไม่ได้รับความโปรดปรานจากอัลลอฮและการวิงวอนจากบรรดามะลาอิกะห์ในเวลานั้น

หะดีษบทที่ 15

สุนัตให้ล่าช้าในการรับประทานอาหารซุฮูร์

عَنْ زَيْدِ بِنْ ثَابِتٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ قَالَ : تَسَحَّرْنَا مَعَ رَسُولُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّم ثُمَّ قُمْنَا إِلَى الصَّلاَةِ. قِيْلِ : كَمْ كَانَ بَيْنَهُمَا؟ قَالَ : خَمْسُونَ آيةً

ความว่า จากเซด บิน ษาบิต กล่าวว่า "เราเคยรับประทานซุหูร พร้อม ๆ กับท่านรอซูลหลังจาก (รับประทานอาหารซุหูรเสร็จ) เราลุกขึ้นเพื่อละหมาดซุบฮ์ เขาถูกถามว่า ระหว่างอาหารซูฮูร์กับเวลาละหมาดซุบฮ์นานเท่าใด? เซดตอบว่า (อ่านอัลกุรอานประมาณ) 50 อายะห์" (รายงานโดยบุคอรี 4/118-119 และมุสลิม 1097)

คำอธิบายหะดีษ

ในรายงานบุคอรีย์ระบุว่า คำว่านานเพียงใดระหว่างการอะซานและอาหารซุหูร คือ การอ่านอัลกุรอานประมาณ 50 อายะห์ (อ่านตามปกติ) ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป

อัลมะฮ์ลับและคนอื่น ๆ กล่าวว่า โดยคิดเวลาอะมั้ลทางกายเหมือนกับการคิดของคนอาหรับ โดยปกติแล้วคนอาหรับจะคิดอะมั๊ลของเขา เช่น พวกเขาจะกล่าวว่าใช้เวลาประมาณรีดนมแพะและเชือดอูฐ

อิบนุ อะลีย์ ฮัมซะห์ กล่าวว่า ในหะดีษดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเวลาของบรรดาเศาะฮะบะห์หมดไปวัน ๆ กับการทำอะมั้ล อิบาดะฮ์จนเห็นดวงดาวบนท้องฟ้า

บทเรียนจากหะดีษ

1. ท่านรอซูลและบรรดาเศาะฮาบะห์ของท่านจะรับประทานอาหารซุหูรกระทั่งใกล้ ๆ กับเวลาศุบหิ

2. ส่งเสริมให้มีการรับประทานอาหารซุหูรรวมกันเป็น ญะมาอะห์ (ร่วมกัน)

3. ระยะห่างระหว่างเวลาซุหูรกับวักตูซุบฮ์คือ การอ่านอัลกุรอานอย่างปกติประมาณ 50 อายะห์

อัพเดทล่าสุด