ทำไงดี? เป็นมะเร็ง เบื่ออาหาร แต่ต้องทานไข่ขาวทุกวัน


2,466 ผู้ชม

ความยากในการเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง อยู่ที่จะต้องพยายามต่อสู้กับร่างกายและจิตใจของตนเองอยู่เสมอ


ทำไงดี? เป็นมะเร็ง เบื่ออาหาร แต่ต้องทานไข่ขาวทุกวัน

ความยากในการเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง อยู่ที่จะต้องพยายามต่อสู้กับร่างกายและจิตใจของตนเองอยู่เสมอ เช่น เมื่อมีความวิตกกังวลเกิดขึ้น ก็ต้องพยายามทำใจสบายไม่เครียดไม่กังวล เมื่อคิดมากนอนไม่ค่อยหลับ ก็ต้องพยายามนอนพักผ่อนให้มากเพียงพอ เมื่อเบื่ออาหารไม่อยากรับประทานอะไรเลย ก็ต้องพยายามรับประทานเพื่อที่จะได้มีกำลังต่อสู้กับโรคและการรักษา ต้องเลือกสรรอาหารที่เหมาะสมกับสภาวะของร่างกาย และยังมีคำแนะนำจากแพทย์และนักโภชนาการให้รับประทานไข่ขาวทุกวันอีก การรับประทานไข่ขาวให้ได้ทุกวัน ช่างเป็นเรื่องสวนทางกับคำว่า “เบื่ออาหาร” จริงๆ

ภาระหน้าที่ต่อสู้กับการรับประทานไข่ขาวจึงมักถูกถ่ายเทไปให้ผู้ดูแลได้คิดค้นหาวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งรับประทานไข่ขาวได้ทุกวัน

ก่อนอื่น ขอเล่าถึงความสำคัญของไข่ขาวก่อน ในกรณีของผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด ผู้สูงอายุที่มักมีโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยในสภาวะโรคอื่นๆ ที่ต้องเสริมอาหารโปรตีน แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานไข่ขาวอย่างน้อยวันละ 3-6 ฟอง หรือมากกว่านั้น เพื่อให้ได้ “อัลบูมิน” ซึ่งเป็นโปรตีนคุณภาพดี และกรดอะมิโนจำเป็น ที่ร่างกายจะนำไปใช้ซ่อมแซมความสึกหรออ่อนแอจากโรคภัย เสริมภูมิต้านทาน และป้องกันการติดเชื้อ

ไข่ขาวมีปริมาณโคเลสเตอรอลและกรดยูริกต่ำ รับประทานง่าย ย่อยง่าย จึงเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ และผู้รักสุขภาพทุกคนในบ้านด้วย


สำหรับผู้ดูแล ต้องมีมุมมองที่กว้างและเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ไข่ขาว ไม่ใช่เพียงไข่ต้มผ่าซีกที่แคะเอาไข่แดงออกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ไข่ขาวสามารถแฝงตัวหรือถูกซุกซ่อนอยู่ในทุกเมนูอาหารที่เราอยากให้อยู่ เพื่อความสุขในการรับประทานอาหารที่หลากหลายและแก้ไขปัญหาเบื่ออาหารให้ผู้ป่วย 

การเตรียมไข่ขาว ทำได้ดังนี้

- ไข่ขาวพลาสเจอไรซ์ บรรจุขวดพลาสติก ข้อดีคือ สะอาด ได้ไข่ขาวปริมาณมาก ไม่ต้องเสียเวลาแยกไข่ขาวเอง แต่ก็มีข้อด้อยคือราคาค่อนข้างสูง มีวันหมดอายุ และเมื่อเปิดแล้วต้องรีบนำไปใช้ปรุงอาหารให้หมด ตามเวลาที่กำหนด


- ไข่ไก่หรือไข่เป็ดทั่วไป นำมาแยกไข่ขาวออกด้วยการใช้มือตอกไข่ แล้วค่อยๆ เทไข่ขาวออกจนเหลือแต่ไข่แดง หากเลือกใช้วิธีนี้ต้องล้างไข่ให้สะอาด มีเทคนิคที่ดี และระวังไข่แดงแตก สำหรับมือใหม่แนะนำให้ใช้ ที่แยกไข่ (egg separator) ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 20 บาท จนถึงหลักร้อย แล้วแต่คุณภาพวัสดุที่นำมาทำและยี่ห้อ 

พอได้ไข่ขาวแล้ว นำไข่ขาวมาเตรียมไว้สำหรับนำไปประกอบกับอาหารอื่น เรียกว่าเป็น ไข่ขาวปรุงสุกพร้อมรับประทาน ได้แก่ ไข่ต้ม(เฉพาะไข่ขาว), ไข่ขาวก้อนแผ่น(นึ่ง), ลูกรอกไข่ขาว(ไข่ขาวปรุงรส กรอกในไส้หมูหรือไก่ แล้วนำมาตัดเป็นชิ้นคำ), ไข่ขาวทอด (อาจจะทอดน้ำ หรือทอดโดยใช้น้ำมันน้อยมากในกระทะเคลือบเทฟล่อน หินอ่อน หรือเซรามิก) นำไข่ขาวปรุงสุกที่ได้ ไปรับประทานร่วมกับเมนูอาหารอื่นๆ หรือนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารเมนูใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น


อาหารน้ำๆ เช่น แกงจืดลูกรอก ไข่ขาวพะโล้ ไข่ขาวน้ำแดง ซุปใสไข่ขาว แกงอ่อมไข่ขาวต้ม แกงเลียงไข่ขาว แกงส้มไข่ขาวต้ม แกงจืดไข่ขาวต้ม


ยำ/สลัด/อาหารแห้งๆ เช่น ยำไข่ขาว ลาบไข่ขาว สลัดรวมมิตรไข่ขาว ยำเห็ดใส่ขาว ยำหัวปลีไข่ขาว ตำแตงไข่ขาวต้ม ยำทูน่าไข่ต้ม แฮมเบอร์เกอร์ไข่ขาว ส้มตำไข่ขาว


เมนูผัด/ทอด เช่น ไข่ขาวเจียว ผัดเปรี้ยวหวานลูกรอก ไส้กรอกไข่ขาวทอด หอยจ๊อไข่ขาว ไข่ขาวทรงเครื่อง ผัดถั่วงอกกับไข่ขาว ราดหน้าเส้นใหญ่ไข่ขาว ผัดมักกะโรนีไข่ขาว ผัดกระเพราไข่ขาว ไข่ขาวลูกเขย ผัดบวบไข่ขาว ออมเล็ตไข่ขาว ไข่ราดซอส หมี่กะทิใส่ไข่ขาว ไข่ขาวผัดขึ้นฉ่าย คั่วไข่ขาวใส่ฟัก


เมนูนึ่ง เช่น ไข่ขาวยัดไส้ ไข่ขาวตุ๋น หมกไข่ขาว


ของหวาน เช่น วุ้นมะพร้าวไข่ขาว สังขยาไข่ขาว ไข่หวานในน้ำขิง (ใช้เฉพาะไข่ขาว)


นอกจากนี้ยังมีของเล่นเมนูไข่ หรืออุปกรณ์ที่สามารถนำมาสร้างสรรค์เมนูอาหารจากไข่ขาวได้ อาทิเช่น เครื่องทำไข่ม้วน (Egg roll maker) เครื่องต้มไข่ (Boiled Eggs Maker) ที่วัดระดับความสุกไข่ต้ม (Egg Timer) เครื่อง/เตาไฟฟ้า ทำขนมครกญี่ปุ่น (Takoyaki Maker) เครื่องทำวาฟเฟิล/เตาอบวาฟเฟิล (Waffle Maker) เครื่องทำโดนัท/เตาทำโดนัท (Donut Maker)


นอกจากเมนูไข่ขาวที่หลากหลาย ผู้ป่วยโรคมะเร็งก็ยังต้องการกำลังใจที่ดีที่จะสู้โรคในทุกๆวันด้วย หากรับประทานไข่ขาวจนเบื่อ ก็อาจเลือกปลา โปรตีนเกษตร เต้าหู้ มาเสริม เพิ่มโปรตีนเป็นทางเลือกได้คะ

คุณอาจกำลังสนใจสิ่งนี้

เคล็ดลับ ดับปัญหาผมร่วง เถิก บาง

ต้องอ่าน! รักษามะเร็งลำใส้ใหญ่ ด้วยใบมะละกอสด

"ผงชูรส" เพิ่มรสชาติหรือฆาตกร

อาบน้ำ ด้วยสบู่เหลว ตายเร็ว จริงหรือ ?

อย่าปล่อยให้มดลูกป่วย


บทความโดย ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์
กลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ
โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

อัพเดทล่าสุด