อย่าปล่อยให้มดลูกป่วย


2,298 ผู้ชม

 โรคที่เกี่ยวกับมดลูกมีให้เห็นกันบ่อยๆ การเจริญเติบโตอยู่ข้างในนั้น มีหน้าที่และการทำงานอย่างไร เป็นโรคใดได้บ้าง เป็นแล้วรักษาได้ไหม ฯลฯ วันนี้เรามีคำตอบค่ะ..


    โรคที่เกี่ยวกับมดลูกมีให้เห็นกันบ่อยๆ การเจริญเติบโตอยู่ข้างในนั้น มีหน้าที่และการทำงานอย่างไร เป็นโรคใดได้บ้าง เป็นแล้วรักษาได้ไหม ฯลฯ วันนี้เรามีคำตอบค่ะ..

คุณรู้จักมดลูกแค่ไหน? หลายท่านอาจคิดว่าไม่น่าถาม เพราะทราบกันอยู่แล้วว่ามดลูกเป็นอวัยวะที่อยู่กับผู้หญิงมาตั้งแต่เกิด แต่ทราบไหมคะว่า มดลูกที่เจ้าตัวเล็กของคุณแม่เจริญเติบโตอยู่ข้างในนั้น มีหน้าที่และการทำงานอย่างไร เป็นโรคใดได้บ้าง เป็นแล้วรักษาได้ไหม ฯลฯ


          คำถามเหล่านี้จะไม่ค้างคาใจอีกต่อไป เพราะ ผศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร สูติแพทย์ประจำโรงพยาลบาลศิริราช ได้อธิบายและไขข้อข้องใจไว้อย่างละเอียดค่ะ


          มดลูกของผู้หญิงเราจะโตขึ้นตามวัยค่ะ แต่ไม่ได้โตขึ้นเรื่อย ๆ นะคะ เพราะเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก็จะหยุดโต และมีขนาดประมาณ 1x2x3 นิ้ว (ขนาดประมาณลูกแพร์) มดลูกเป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ มีเอ็นยึดไว้ให้ติดอยู่ในช่องท้องบริเวณอุ้งเชิงกราน
           ด้านหน้าของมดลูกติดกับกระเพาะปัสสาวะ
           ด้านหลังอยู่ใกล้ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย โดยมีปากมดลูก หรือคอมดลูกยื่นเข้าไปในช่องคลอด
           ด้านนอกมีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อ มีการหดรัดตัวได้ ช่วงเวลาที่มีประจำเดือนแล้วรู้สึกปวด เนื่องจากมีการหดรัดตัว เกร็งตัวของกล้ามเนื้อมดลูกค่ะ
           ส่วนด้านในที่เรียกกันว่าโพรงมดลูกนั้น ที่จริงไม่ได้เป็นโพรงนะคะ แต่จะมีเยื่อบุแนบชิดกันอยู่ภายใน


          หากจะพูดถึงหน้าที่โดยตรงของมดลูก มีเพียงหน้าที่เดียวคือสำหรับเลี้ยงลูก เมื่อตัวอ่อนเข้าไปฝังตัวและเจริญเติบโตเป็นทารก มดลูกก็จะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุครรภ์ของคุณแม่ค่ะ


ความเปลี่ยนแปลงของมดลูก
          ความจริงแล้วมดลูกไม่ได้มีกลไกอะไรในการทำงาน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเนื่องจากมีฮอร์โมนมากระตุ้น เมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ ต่อมใต้สมองจะกระตุ้นรังไข่ ทำให้มีการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มมากขึ้น จนเยื่อบุที่อยู่ข้างในโพรงมดลูกหนาตัวมากขึ้น เมื่อครบรอบก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน หมุนเวียนเป็นรอบ ๆ ไป
          การเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งคือวัยก่อนหมดประจำเดือน เพาะไม่มีฮอร์โมนมากระตุ้นอีกต่อไป มดลูกจะเหี่ยวและฝ่อลงไป แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติเท่านั้นค่ะ
          การตั้งครรภ์ คือ การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งของมดลูก เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์มดลูกจะยืดขยายจากเดิมได้เป็นพันเท่าทีเดียวค่ะ ผู้หญิงหลายคนอาจสงสัยว่า เมื่อมดลูกขยายเต็มที่แล้วขณะตั้งครรภ์ หลังคลอดมดลูกจะกลับมามีขนาดเท่าเดิมหรือไม่ คุณหมอบอกว่าจะกลับมามีขนาดเท่าเดิมค่ะ


เมื่อมดลูกป่วย
          โอกาสในการเกิดโรคต่าง ๆ ในมดลูกพบได้พอสมควรค่ะ โรคที่พบได้ เช่น เนื้องอก เนื่องจากตัวมดลูกเป็นกล้ามเนื้อ ก็อาจจะมีเนื้องอกขึ้นมาได้ เช่น 
            เนื้องอกที่โตอยู่ในโพรงมดลูก อยู่ในเนื้อมดลูกโตออกมาข้างนอก หรือตัวมดลูกอาจโตขึ้นมาทั้งหมดก็ได้ค่ะ เรียกรวม ๆ  ว่า "เนื้องอกของมดลูก" ซึ่งพบได้บ่อยกว่าโรคอื่น ๆ ค่ะ สาเหตุนั้นยังไม่ทราบว่าเกิดเพราะเหตุใด และผู้ป่วยก็จะไม่ทราบว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ โรคนี้อาจแสดงอาการหรือไม่ก็ได้ 


          อาการที่พบได้บ่อยก็คือ การมีประจำเดือนออกมากกว่าปกติ บางรายเลือดออกมากจนซีดก็มี นอกจากนั้นอาจมีอาการจากการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยได้ เป็นต้น แต่หลายรายก็ไม่มีอาการใด ๆ นอกจากมาตรวจแล้วจึงพบว่าเป็นโรค ส่วนการรักษาก็ต้องผ่าตัดค่ะ
           เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวภายในโพรงมดลูก ซึ่งมีเยื่อบุอยู่ก็สามารถเกิดโรคได้ค่ะ เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ เพราะได้รับการกระตุ้นจากฮอร์โมนนานเกินไป ยิ่งหนามากเลือดก็ยิ่งออกมาก แต่สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาหรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคค่ะ


           กระบังลมหย่อน เกิดจากการที่เอ็นที่ยึดตัวมดลูกและกล้ามเนื้อเชิงกรานที่ยึดรั้งตัวมดลูก ยืดยานออก ทำให้เกิดสภาวะที่มดลูกเลื่อนต่ำลงมาจากต่ำแหน่งเดิม ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เวลาไอ จาม จะมีปัสสาวะเล็ดออกมา ก่อให้เกิดความรำคาญน่าดูซึ่งภาวะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน นอกจากมดลูกจะเหี่ยวและฝ่อลงแล้ว เอ็นต่าง ๆ ที่ยึดมดลูกไว้ก็จะหย่อนยานลงบ้าง รวมทั้งขณะตั้งครรภ์มดลูกมีการขยายใหญ่ขึ้น ทำให้เอ็นที่ยึดมดลูกมีการยืดขยาย ดังนั้นถ้าตั้งครรภ์และคลอดลูกบ่อย ๆ เอ็นก็จะหย่อนยานได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน


          การรักษา หากเอ็นหย่อนไม่มากคุณหมอจะผ่าตัดเฉพาะช่องคลอด ที่เรียกว่าผ่ารีแพร์ แต่ถ้าหย่อนมาก ๆ จนไม่สามารถซ่อมแซมได้ อาจต้องตัดทิ้งไปเลยค่ะ 
           มะเร็ง พบได้ทั้งที่ตัวมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูก แต่พบไม่บ่อยนัก ส่วนมะเร็งที่ปากมดลูกซึ่งพบบ่อยกว่า มะเร็งต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถแพร่กระจาย และทำลายอวัยวะใกล้เคียง หรือแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นของร่างกายทางกระแสเลือดและระบบท่อน้ำเหลือง
          การรักษา มีทั้งการผ่าตัด การใช้รังสี การใช้ฮอร์โมนและเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและชนิดของมะเร็งค่ะ


คุณแม่ที่มีลูกแล้ว มีโอกาสเกิดโรคมากกว่าหรือไม่?
          ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่หรือไม่ก็ตามก็มีโอกาสเกิดโรคได้ค่ะ อย่างกรณีที่เป็นเนื้องอก ก็สามารถเป็นได้ทั้งคนที่มีลูกและยังไม่มีลูก
          หากจำเป็นต้องตัดมดลูก ก็ยังสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และไม่ก่อให้เกิดอาการหรือผลข้างเคียงใด ๆ นอกจากไม่สามารถมีลูกได้อีก เมื่อไม่มีมดลูกก็ไม่มีประจำเดือนเท่านั้น แต่ฮอร์โมนยังมีอยู่ตามปกติและจะหมดไปตามวัยค่ะ และไม่เกิดอาการวัยทองอย่งที้หลายคนเข้าใจ


การดูแลมดลูก
          คุณหมอบอกว่าไม่ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษค่ะ แต่ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องประจำเดือน หากผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ ซึ่งแพทย์ก็จะตรวจดูว่ามีสาเหตุมาจากอะไร


          ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นประจำเดือนขาดไปโดยไม่ได้ท้อง หรือมามากเกินไป ปวดท้องมาก หรือมาแบบกะปริดกะปรอย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงซึ่งอาจไม่ใช่แค่ที่ตัวมดลูกเพียง อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงเยื่อบุโพรงมดลูก กล้ามเนื้อมดลูก ปากมดลูก 


          ส่วนคุณแม่ตั้งครรภ์ซึ่งมดลูกจะยืดขยายมากนั้น หลังคลอดแล้วมดลูกจะหดเล็กลงมา แต่ยังไม่เล็กเท่าก่อนตั้งครรภ์ในทันทีนะคะ ถ้ายังอยู่ในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ หากคุณหมอคลำท้องดูจะพบว่ามดลูกยังโตอยู่ ขนาดประมาณขณะตั้งครรภ์ 4 เดือน และมีน้ำคาวปลาออกมา แต่ร่างกายก็จะซ่อมแซมจนหายเป็นปกติได้เอง รวมทั้งขนาดของมดลูกที่ขยายก็จะค่อย ๆ ลดลงที่เรียกว่ามดลูกเข้าอู่นั่นเองค่ะ


          การดูแลมดลูกหลังคลอด คุณแม่เพียงดูแลสุขภาพร่างกายตามปกติ การให้ลูกกินนมแม่จะช่วยกระตุ้นฮอร์โมนทำให้มดลูกมีการหดรัดตัว ทำให้ไม่ตกเลือดหลังคลอด และช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นอีกด้วย ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ค่ะ หากคุณแม่มีอาการผิดปกอย่างอื่น เช่น มีน้ำคาวปลาออกมามากผิดปกติ มีไข้ ปวดท้องมาก ก็ต้องไปหาคุณหมอเพื่อตรวจดูว่า มีอักเสบติดเชื้อในการคลอดหรือไม่ แต่ปัจจุบันโรงพยาบาลต่าง ๆ มักดูแลคุณแม่อย่างดี จึงไม่ค่อยพบปัญหานี้ค่ะ
          ด้วยวิทยาการที่ก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้โรคที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่รวมทั้งที่เกิดกับมดลูกสามารถรักษาให้หายได้ แต่ปัจจัยหลักคือต้องตรวจพบได้เร็ว ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดี ดังนั้นผู้หญิงเราจึงไม่ควรละเลยการตรวจร่างกายเป็นประจำและตรวจภายในด้วยนะ คะ


ตรวจภายในเมื่อไหร่ดีนะ?
          การตรวจภายในไม่กำหนดอายุที่แน่นอนค่ะ ว่าควรตรวจเมื่ออายุเท่าไหร่ในต่างประเทศ เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ก็จะเริ่มตรวจกัน คุณหมอจึงแนะนำว่าหากเคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว ก็ควรไปตรวจภายในค่ะ


ที่มา     https://www.widemagazine.com/content_detail.php?cont_id=1208

อัพเดทล่าสุด