อาหารทุกมื้อล้วนมีความสำคัญ แต่ในบรรดาอาหารแต่ละมื้อที่เรากิน มื้อที่มีความสำคัญที่สุดคือ อาหารเช้า เนื่องจากร่างกายอดอาหารมาตลอดทั้งคืน
“วันนี้คุณกินมื่อเช้าแล้วหรือยัง” ใน 1 อาทิตย์ คุณเคยนับหรือไม่ว่าเรากินอาหารเช้าไปกี่วัน หรือแทบไม่กินเลย ในยุคที่หนุ่มสาวปัจจุบันหรือคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตเหมือนมีจรวจติดหลังอยู่ตลอดเวลา ในเช้าแต่ละวันหมดไปกับการเตรียมตัวไปออกทำงานหรือต้องรีบไปโรงเรียน จนบางครั้งทำให้เราละเลยที่จะกินมื่อเช้าไป
อาหารเช้าสำคัญอย่างไร
อ.สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงคุณวุฒิด้านโภชนาการ สสส. ได้อธิบายว่า อาหารทุกมื้อล้วนมีความสำคัญ แต่ในบรรดาอาหารแต่ละมื้อที่เรากิน มื้อที่มีความสำคัญที่สุดคือ ‘อาหารเช้า’ เนื่องจากร่างกายอดอาหารมาตลอดทั้งคืน อาหารเช้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เพราะร่างกายต้องใช้พลังงานจากอาหารมื้อเย็น ไปเลี้ยงหัวใจให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย พอตื่นเช้ามา หลังจาก 9-10 โมง เราจะเริ่มหิว ดังนั้นจึงต้องกินอาหารเช้าเข้าไปทดแทนพลังงานที่เสียไป อีกทั้งอาหารเช้ายังช่วยเติมพลังงานให้กับร่างกายและสมอง ทำให้สมองของเราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอดทั้งวัน การกินอาหารเช้ายังช่วยป้องกันโรคเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ และป้องกันโรคด้วนได้อีกด้วย
และยังมีอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไม่กินมื่อเช้า เพราะมีความเข้าใจผิดคิดว่าการจะลดน้ำหนักต้องอดอาหาร แท้จริงแล้วคนที่ไม่กินอาหารเช้ายิ่งจะทำให้อ้วน เพราะเมื่อไม่กิน ในช่วง 10-12 โมงก่อนเวลาอาหารกลางวันยิ่งจะทำให้ร่างกายโหย สมองจะหลั่งสารเคมีเพื่อให้เรากินอาหารมากขึ้น ทำให้กินจุกกินจิบ และจะกินมื้อเที่ยงและมื้อเย็นมากทำให้อ้วนได้ เพราะได้รับพลังงานส่วนเกิน และคนที่ไม่กินมื้อเช้าการเผาผลาญพลังงานจะลดลงถึง 10% ฉะนั้นการอดอาหารเพื่อลดน้ำหนักจึงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ถ้าเราอดอาหารมื้อใดสักมื้อหนึ่งเพื่อลดน้ำหนัก จะทำให้เกิดการโยโย่ เอฟเฟค (YOYO Effect) ดังนั้นการลดน้ำหนักจึงควรที่จะกินอาหารให้ครบสามมื้อ แต่ให้ควบคุมปริมาณอาหารแทน
ถ้าไม่กินอาหารเช้าเป็นระยะเวลานานทำให้เสี่ยงต่อโรคต่างๆ ตามมา ดังนี้
1. โรคอ้วน เพราะการอดอาหารมื้อเช้าจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อาจส่งผลให้มื้อต่อๆ ไปกินหนัก กินของหวานเข้าไป แถมอัตราการเผาผลาญยังลดลงอีกด้วย
2. โรคเบาหวาน การงดมื้อเช้าทำให้เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งหากกินอาหารเช้าเป็นประจำ จะช่วยลดภาวะผิดปกติดังกล่าวที่เป็นสาเหตุของโรคเบาหวานได้ถึงร้อยละ 35-50
3. โรคอัลไซเมอร์ การรับประทานอาหารเช้าจะช่วยไปกระตุ้นพลังให้กับสมองและทำให้มีความจำที่ดีได้ แต่ในทางตรงกันข้ามหากเราอดอาหารมื้อเช้าจะทำให้ร่างกายไม่สดชื่น กระปรี้กระเปร่า หลงลืม ความจำไม่ดี ไม่มีสมาธิ หากทำเป็นประจำต่อเนื่องนานๆ อาจนำมาซึ่งโรคอัลไซเมอร์ได้อย่างแน่นอน
4. โรคเส้นเลือดในสมอง และโรคหัวใจ เพราะตอนเช้าหลังจากที่เราตื่นนอนเลือดของเราจะมีความเข้มข้นสูง ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมอง หรือหัวใจอุดตันได้ ซึ่งจากผลการวิจัยจากสมาคมแพทย์โรคหัวใจในอเมริกาเมื่อปี 2003 พบว่า การรับประทานอาหารเช้าอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวได้
5. โรคกรดไหลย้อน โรคนี้ปัจจัยหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่เหมาะสม และการรับประทานอาหารไม่เป็นเวลาก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น บางรายไม่ชอบรับประทานอาหารเช้า แต่หันไปพึ่งพาเครื่องดื่มคาเฟอีน อย่าง กาแฟ ชา เครื่องดื่มชูกำลัง ฯลฯ เพียงอย่างเดียว ซึ่งเครื่องดื่มเหล่านี้จะยิ่งเป็นตัวกระตุ้นให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากขึ้น
6.โรคนิ่ว การไม่รับประทานอาหารนานกว่า 14 ชั่วโมง จะทำให้คอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีจับตัวกัน และหากปล่อยทำเป็นประจำไปนานๆ จะทำให้กลายเป็นก้อนนิ่วได้ ซึ่งการรับประทานอาหารเช้าเป็นประจำจะช่วยให้ตับปล่อยน้ำดีออกมาละลายไม่ให้คอเลสเตอรอลจับตัวกัน สามารถป้องกันการเกิดโรคนิ่วได้
อาหารอะไรที่เราควรรับประทานในมื้อเช้า
แนะนำว่าต้องเป็นอาหารที่ได้คุณค่าทางโภชนาการครบทั้ง 5 หมู่ และหลากหลาย พยายามเลือกกินธัญพืชไม่ขัดสี เสริมโปรตีนในอาหารเช้า นม ไข่ เนื้อสัตว์ เนื้อปลา และกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงมีกากใยสูง
อาหารเช้าเป็นสิ่งที่เราควรกินเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้นถ้าเรากินมื้อเช้าในวัยทำงานจะทำให้เรากระฉับกระเฉงในการทำงานมากขึ้น ร่างกายแข็งแรง แต่ถ้าเป็นเด็กวัยเรียนก็จะทำให้มีสมาธิในการเรียน มีภูมิคุ้มกันที่ดี เพราะฉะนั้นอาหารเช้าควรกินให้เป็นประจำสม่ำเสมอ หันมากินอาหารเช้าทุกวันกันนะคะ เพราะอาหารเช้ามีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายของเราอย่างมากหมาย หากไม่มีเวลาก็ลองทำอาหารเช้าตั้งแต่ตอนเย็น พอตื่นมาเราก็จะได้รับประทานได้เลย
แหล่งที่มา thaihealth.or.th
ภาพ todayhealth