การไปว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายคลายร้อนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะนอกจาก
การไปว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายคลายร้อนที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะนอกจากจะได้บริหารกล้ามเนื้อทุกๆส่วนแล้ว ยังทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่าและมีรูปร่างดีอีกด้วย
แต่ของแถมที่คาดไม่ถึงซึ่งอาจได้รับกลับมาจากสระว่ายน้ำ ก็คือ ผมที่แห้งเสีย เปราะขาดง่ย และไร้น้ำหนัก จากคลอรีนในสระว่ายน้ำ
คลอรีน เป็นสารที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคที่มักจะผสมในสระว่ายน้ำ เนื่องจากสระว่ายน้ำเป็นสถานที่ที่หลายๆ คนได้ใช้บริการ ทำให้การควบคุมความสะอาดทำได้ยาก
แต่คลอรีนเองก็เป็นสารประเภทกัดทำลาย และฟอกสีผม โดยไปทำลายโปรตีนซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเส้นผม ทำให้ผมขาดความชุ่มชื้น แห้ง ไร้น้ำหนัก และหากว่ายน้ำบ่อยๆ
อาจจะทำให้สีผมซีดลงได้ โดยเฉพาะเมื่อว่ายน้ำกลางแดดเปรี้ยง ก็บอกลา สุขภาพผมสวยได้เลย เพราะรังสียูวีจากแสงแดดจะไปเปิดเกล็ดผม ทำให้คลอรีนซึมเข้าสู่แกนผมได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ค่าความกรดด่างของน้ำในสระว่ายน้ำ และความร้อน ก็จะทำปฏิกริยากับคลอรีน เสริมการทำลายเส้นผมมากขึ้น
การป้องกันแก้ไข สุขภาพเส้นผมจากคลอรีนในสระว่ายน้ำ
1. สวมหมวกยางว่ายน้ำที่แน่นกระชับทุกครั้งที่ว่ายน้ำ
2. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำกลางแดดเปรี้ยงๆ
3. ก่อนลงสระว่ายน้ำควรชโลมผลิตภัณฑ์เคลือบเส้นผมป้องกันคลอรีน หรือครีมปรับสภาพเส้นผม หรือน้ำมันมะกอก น้ำมันโฮโฮบา ลูบไล้ให้ทั่วเส้นผม ผมจะนุ่มลื่น และป้องกันการสูญเสียน้ำจากเส้นผมอีกวิธีหนึ่ง
4. เลือกแชมพูสระผมที่ผสมสารป้องกันรังสียูวีจากแสงแดดเป็นประจำ ซึ่งจากการทดสอบมากมาย ได้มีการค้นพบว่าสาร Octyl-dimethyl PABA ซึ่งเป็นสารกันแดดตัวหนึ่ง
มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้กับเส้นผม เพราะเกาะติดแน่นกับเส้นผม ไม่ละลายในน้ำ นอกจากนี้ยังมีสารที่กันแดดที่คิดค้นเพิ่มเติม ได้แก่ Octhyl methoxy-cinnamate และ Benzoquinone ซึ่งสามารถดูดซึมรังสี UVA,UVB ได้ดี
5. เมื่อขึ้นจากสระว่ายน้ำ ควรรีบล้างตัวและสระผมเพื่อล้างคลอรีนออกทันที ด้วยแชมพูสำหรับล้างคลอรีนโดยเฉพาะเพื่อทำความสะอาดได้หมดจด แล้วชโลมด้วยครีมปรับสภาพผมแบบเข้มข้นที่ไม่ต้องล้างออกให้ทั่ว เพื่อคืนความชุ่มชื่นแก่เส้นผมทุกครั้งหลังสระผม
6. การหมักผมหรือทำทรีทเม้นต์เส้นผม อาทิตย์ละครั้งถือว่าจำเป็นสำหรับคนที่ว่ายน้ำเป็นประจำ
7. เลือกรับประทาน กลุ่มอาหารที่อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อเส้นผม อาทิเช่น
7.1. สังกะสี: ได้แก่ อาหารกลุ่ม สัตว์ปีก ถั่วทุกชนิด น้ำมันพืชจากธรรมชาติ น้ำมันงา จมูกข้าวสาลี
7.2. วิตามินบี: ได้แก่ ผักใบเขียว ตับ ธัญพืชต่างๆ ปลา และไข่
7.3. วิตามินเอ: ได้แก่ มะเขือเทศ แครอท ผักโขม ตับ บรอกโคลี่ มันฝรั่งชนิดหวาน หัวไขเท้า มะละกอ แคนตาลูป
7.4. วิตามินซี: ได้แก่ กลุ่มผลไม้รสเปรี้ยว เช่น ส้ม องุ่น แตงโม สตรอเบอรี่ ผักสีเขียว
7.5. ทองแดง: ได้แก่ ตับ ถั่วเมล็ดแห้ง หอยนางรม อาหารทะเล ลูกพรุน ธัญพืช
7.6. ธาตุเหล็ก: ได้แก่ ตับ ไข่แดง ข้าวโอ๊ต ผลไม้แห้ง เช่นลูกพีช ลูกเกด เนื้อแดง
7.7. ธาตุไอโอดีน: ได้แก่ สาหร่าย อาหารทะเล หอมหัวใหญ่
7.8. ธาตุซัลเฟอร์: ได้แก่ หัวหอม กระเทียม หัวผักกาด และหน่อไม้ฝรั่ง
7.9. ไบโอติน ได้แก่ ไข่แดง ตับ บรูเวอร์ยีสต์ ข้าวกล้อง ถั่วชนิดต่างๆ
เรียบเรียงและค้นคว้าใหม่โดย นพ.จรัสพล รินทระ
ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=7&sdata=&col_id=88