คุณเคยสังเกตตัวเองหรือไม่ว่า ใช้เวลาในการเคี้ยวอาหารคำละกี่ครั้ง คนส่วนใหญ่มักทำไปตามนิสัยส่วนตัว แต่รู้หรือไม่ว่าประโยชน์ของการเคี้ยวให้ละเอียดนั้น ส่งผลดีต่อสุขภาพมากเพียงใดวันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. เรามีเคล็ดลับและประโยชน์ของการเคี้ยว ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้มาฝากกัน
คุณเคยสังเกตตัวเองหรือไม่ว่า ใช้เวลาในการเคี้ยวอาหารคำละกี่ครั้ง คนส่วนใหญ่มักทำไปตามนิสัยส่วนตัว แต่รู้หรือไม่ว่าประโยชน์ของการเคี้ยวให้ละเอียดนั้น ส่งผลดีต่อสุขภาพมากเพียงใด
ซึ่งเรื่องนี้ “อาจารย์แววตา เอกชาวนา” นักโภชนาการบำบัด และผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ ให้ข้อมูลว่า การเคี้ยวอาหาร ให้ละเอียดก่อนกลืนนั้นมีความสำคัญมาก เพราะถือว่าเป็นด่านแรกที่จะทำให้อาหารมีความละเอียดขึ้น ทำให้กระเพาะไม่ต้องทำงานหนักเกินไป ช่วยให้สารอาหารถูกดูดซึมเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ง่ายขึ้น และยังทำให้มีระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีเป็นปกติ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพที่ดี
แต่ถ้าหากเราเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดพอ กระเพาะของเราจะต้องรับภาระในการย่อยอาหารมากขึ้น ยิ่งอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อสัตว์ กระเพาะจะต้องหลั่งกรด และมีการบีบตัวที่มากขึ้นกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืดหรือท้องเฟ้อตามมา
นักโภชนาการบำบัดผู้นี้ บอกอีกว่า การเคี้ยวอาหารให้ถูกต้องนั้นคือ เคี้ยวประมาณ 10 ครั้งสำหรับอาหารที่นิ่ม เช่นข้าว หรือ ขนมปัง ขณะเดียวกันให้เคี้ยวประมาณ 20-30 ครั้งสำหรับเนื้อสัตว์และผัก ซึ่งจำนวนครั้งในการเคี้ยวที่เหมาะสมนั้น อาจทดลองโดยการเคี้ยวก้านผักคะน้า ฝรั่ง หรือแอปเปิ้ล ประมาณ 10 ครั้ง แล้วใช้ลิ้นดุนสำรวจดูว่าละเอียดเพียงพอหรือไม่ ซึ่งถ้ายังรู้สึกไม่ละเอียดก็ให้เพิ่มจำนวนครั้งในการเคี้ยวให้มากขึ้น
และเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดี รวมไปถึงการปฏิบัติที่ถูกต้องในการเคี้ยวอาหาร “อาจารย์แววตา” ได้บอกถึงประโยชน์ของการเคี้ยวไว้ ดังนี้
1) ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดี
การเคี้ยวช่วยบดอาหารชิ้นใหญ่ๆให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อให้ย่อยง่ายขึ้น และลำไส้จะดูดซึมสารอาหารจากอาหารที่ผ่านเข้ามาได้ง่ายขึ้น ซึ่งการเดินทางของอาหารในลำไส้นั้นใช้เวลาพอๆ กันไม่ว่าจะเป็นอาหารละเอียดหรือไม่ละเอียด แต่เมื่ออาหารละเอียดแล้วร่างกายจะสามารถดูดซึมสารอาหารได้เร็วขึ้น เนื่องจากเวลาการย่อยอาหารนั้นน้อยลง เพราะการเคี้ยวที่ละเอียดช่วยย่อยอาหารไประดับหนึ่งแล้ว ซึ่งอาหารที่ละเอียดกว่าจะถูกดูดซึมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าอาหารที่ไม่ละเอียด
2) ช่วยควบคุมน้ำหนัก
การเคี้ยวข้าวแบบไม่ละเอียดมีผลทำให้เราอ้วนขึ้นได้ เพราะเมื่อเราไม่ใส่ใจที่จะเคี้ยวให้ละเอียด ก็จะทำให้เราติดนิสัยการรับประทานเร็ว จนเสี่ยงต่อการรับประทานอาหารที่มากเกินกว่าปริมาณที่ต้องการ ซึ่งปกติแล้วร่างกายเราจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที ก่อนที่จะเริ่มส่งสัญญาณไปที่สมองว่าอิ่มแล้ว ดังนั้นการที่เราใช้เวลานานในการเคี้ยว จะช่วยทำให้รู้สึกอิ่มได้เร็วขึ้น และส่งผลให้น้ำหนักคงที่ ไม่เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในที่สุด
3) ช่วยย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น
เมื่ออาหารละเอียดก็จะย่อยได้ง่าย ร่างกายก็ไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป เพราะหากร่างกายต้องทำงานหนักกว่าปกติแล้ว ในระยะยาวอาจทำให้ร่างการทรุดโทรมเร็วดูแก่ก่อนวัย
4) ลดปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องผูก
หลังการรับประทานอาหารที่เคี้ยวแบบไม่ละเอียด อาจมีผลให้คุณรู้สึกท้องอืดได้ ทั้งนี้เป็นเพราะการบดเคี้ยวอาหารที่หยาบจนเกินไป ทำให้อวัยวะภายในไม่สามารถย่อยอาหารได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อย่อยอาหารได้ไม่หมดก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอาการท้องอืดและท้องเฟ้อขึ้นมาได้ ขอเพียงเราใช้เวลา เคี้ยวอาหารให้นานขึ้น ก็สามารถลดปัญหาท้องอืด ท้องเฟ้อและท้องผูกได้แล้ว
5) ช่วยให้ฟันแข็งแรง
การเคี้ยวมากขึ้นจะทำให้น้ำลายออกมากขึ้น และไปทำความสะอาดฟัน ลดการสะสมของคราบหินปูน ช่วยให้ฟันผุน้อยลง รวมทั้งยังเป็นการบริหารเหงือกและฟันให้แข็งแรงอีกด้วย
อาจารย์แววตา บอกทิ้งท้ายด้วยว่า การเคี้ยวของคนในแต่ละวัย ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย โดย “วัยเด็ก” เราต้องสอนให้เขารู้จักการเคี้ยวหลายๆ ครั้งก่อนกลืนจนเป็นนิสัย เพราะถ้าเคี้ยวไม่ละเอียดเด็กๆ มักจะปวดท้องได้ง่าย ส่วน “วัยรุ่น” เราอาจจะจูงใจให้เขาเคี้ยวละเอียดๆ เพราะจะช่วยให้ฟันสวยและยังลดน้ำหนักได้อีกด้วย
อาจารย์แววตา บอกทิ้งท้ายด้วยว่า การเคี้ยวของคนในแต่ละวัย ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วย โดย “วัยเด็ก” เราต้องสอนให้เขารู้จักการเคี้ยวหลายๆ ครั้งก่อนกลืนจนเป็นนิสัย เพราะถ้าเคี้ยวไม่ละเอียดเด็กๆ มักจะปวดท้องได้ง่าย ส่วน “วัยรุ่น” เราอาจจะจูงใจให้เขาเคี้ยวละเอียดๆ เพราะจะช่วยให้ฟันสวยและยังลดน้ำหนักได้อีกด้วย
ขณะที่ “วัยชรา” เราสามารถปรับปรุงเมนูอาหารให้น่ารับประทาน แต่ยังคงความอ่อนนุ่มและเคี้ยวง่าย โดยอาจจะเพิ่มเติมสีสันจากผักต่างๆ ก็จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุทานอาหารได้มากขึ้น
จะเห็นได้ว่าการมีสุขภาพที่แข็งแรงไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงคุณเริ่มต้นใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่นการเคี้ยวให้ละเอียด เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีได้แล้ว
ที่มา www.thaihealth.or.th