รู้ทันภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจวาย ไม่อยากเสี่ยงตาย ต้องเช็กให้ไว !


1,527 ผู้ชม

คนไทยมีสถิติเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจกันมากพอสมควร โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2559 พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน และมีผู้ป่วยใหม่เฉลี่ยชั่วโมงละ 30 คน หนึ่งในนั้นคือภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ และอาจคร่าชีวิตได้อย่างกะทันหัน แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งเข้าใจผิด คิดว่าหัวใจวาย คือ ตายอย่างเดียวนะคะ เพราะจริง ๆ แล้วโรคนี้มีหลายอาการ แถมยังสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นเราไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวหรือภาวะหัวใจวายกันให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้กันดีกว่าค่ะ


มาเช็กสาเหตุ อาการ และการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวหรืออาการหัวใจวาย โรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายกันค่ะ
คนไทยมีสถิติเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับหัวใจกันมากพอสมควร โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2559 พบคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน และมีผู้ป่วยใหม่เฉลี่ยชั่วโมงละ 30 คน หนึ่งในนั้นคือภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย ซึ่งเป็นภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ และอาจคร่าชีวิตได้อย่างกะทันหัน แต่อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งเข้าใจผิด คิดว่าหัวใจวาย คือ ตายอย่างเดียวนะคะ เพราะจริง ๆ แล้วโรคนี้มีหลายอาการ แถมยังสามารถรักษาให้หายได้ ดังนั้นเราไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหัวใจล้มเหลวหรือภาวะหัวใจวายกันให้มากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคนี้กันดีกว่าค่ะ 
ภาวะหัวใจล้มเหลว คืออะไร ?
          ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาษาอังกฤษ คือ Heart Failure คือ อาการที่หัวใจไม่สามารถรับเลือดเข้ามาในหัวใจและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่ายกายได้อย่างเป็นปกติ ซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย จะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการ ดังนี้

1. ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน 
          เป็นภาวะหัวใจล้มเหลวฉุกเฉินที่ต้องรักษาทันที มักพบในผู้ป่วยที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีอาการเฉียบพลัน จัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยอาการหนัก ควรต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด รวมทั้งระบบหายใจ 
2. ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง 
          ในกลุ่มผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง มักมีอาการไม่จำเพาะ โดยส่วนมากผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ด้วยอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมจากแพทย์ต่อ เพื่อช่วยวินิจฉัยโรค ส่วนการรักษาจะเน้นที่การชะลอและควบคุมโรค 
          
อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกลุ่มอาการคือภาวะเดียวกัน และหากกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือดูแลตัวเองให้ดี อาจเสี่ยงเป็นภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันได้เช่นกัน
หัวใจล้มเหลว เกิดจากสาเหตุอะไร ?
          
ภาวะหัวใจล้มเหลว เกิดจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจ โดยอาจจะเป็นความผิดปกติที่โครงสร้างหัวใจหรือการทำหน้าที่ของหัวใจก็ได้ ทั้งนี้สาเหตุของหัวใจล้มเหลวอาจจำแนกได้ตามนี้ 
- เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ผนังกั้นห้องหัวใจรั่ว
          
- เกิดจากความผิดปกติจากลิ้นหัวใจ เช่น ลิ้นหัวใจตีบ หรือลิ้นหัวใจรั่ว
          
- เกิดจากความผิดปกติจากกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น หัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวลดลง หรือกล้ามเนื้อหัวใจหนา
          
- เกิดจากความผิดปกติจากเยื่อหุ้มหัวใจ เช่น เยื่อหุ้มหัวใจหนาจนบีบรัดหัวใจ
          
- เกิดจากความผิดปกติจากหลอดเลือดหัวใจ เช่น ภาวะหลอดเลือดแดงตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน
- เกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคไทรอยด์เป็นพิษ
- เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้มากจากหัวใจ เช่น การคั่งของเกลือและน้ำ การติดเชื้อ ภาวะซีด
เนื่องจากสาเหตุของภาวะหัวใจล้มเหลวมีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ดังนั้นการวินิจฉัยสาเหตุของโรคจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเลือกแนวทางการรักษาที่ถูกต้อง
หัวใจล้มเหลว  อาการเป็นแบบไหน ?
อาการที่พบบ่อยของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว คือ
-เหนื่อย และหายใจไม่สะดวก โดยจะเหนื่อยเวลาออกแรง และหายใจไม่สะดวกตอนนอนราบหรือขณะนอนหลับ
- อ่อนเพลีย เนื่องจากมีเลือดไปเลี้ยงร่างกายลดลง
- บวมจากการคั่งน้ำและเกลือ โดยส่วนมากจะบวมบริเวณเท้าและขา
- แน่นท้อง ท้องอืด จุกลิ้นปี่ เพราะตับโต จากเลือดคั่งในตับ และมีน้ำในช่องท้อง
- ไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหากมีเสมหะปนเลือดออกมา ซึ่งแสดงถึงภาวะน้ำท่วมปอด
- หัวใจเต้นเร็วและหายใจเร็วขึ้น
และอาจมีภาวะภาวะแทรกซ้อน คือ ไตวาย ตับวาย ลิ้นหัวใจรั่ว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ด้วย
 
การวินิจฉัยโรคหัวใจล้มเหลวทำได้โดย
นอกจากการพูดคุยถึงอาการและซักประวัติแล้ว แพทย์จะต้องตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียด โดยการตรวจเลือด ตรวจตับ ตรวจต่อมไทรอยด์ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ทรวงอก และตรวจการทำงานของหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงด้วยค่ะ  
วิธีการรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นยังไง ?
การรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวนั้นจะแตกต่างกันไปแล้วแต่เคส โดยขึ้นอยู่กับสาเหตุความผิดปกติของหัวใจ ทั้งปัจจัยที่ทำให้อาการกำเริบ ระยะของการป่วย และโรคอื่น ๆ ที่พบด้วย โดยจะมีแนวทางการรักษาเพื่อลดอาการป่วย เพิ่มการรอดชีวิต ชะลอไม่ให้อาการกำเริบ และป้องกันภาวะแทรกซ้อน ซึ่งแบ่งได้ตามระดับความรุนแรงของโรค ดังนี้ 
 
1. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักมาก
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่หนักมาก หรือเพิ่งเป็นในระยะเริ่มต้น หมอจะรักษาด้วยการให้ยา เช่น ยาขับปัสสาวะ ยากระตุ้นหัวใจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลดความรุนแรง ลดอัตราการเสียชีวิต และป้องกันการเกิดอาการหัวใจวาย หรือบางรายที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเนื่องจากโรคอื่น ๆ หมอก็จะให้รักษาโรคนั้น ๆ จนหายด้วย ส่วนผู้ป่วยคนไหนที่มีอาการเหนื่อยหรือเพลีย ก็สามารถรักษาอาการเบื้องต้นได้ง่าย ๆ โดยการนั่งพักจนอาการหายไปค่ะ 
 
2. ผู้ป่วยที่รอผ่าตัดหัวใจ ใช้ประคับประคองอาการ
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องประคับประคองอาการรอผ่าตัดหัวใจ หมอจะใช้เครื่องมือเสริม อย่างเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด และลดภาระการทำงานของหัวใจ
 
3. ผู้ป่วยที่มีระดับรุนแรงหรืออยู่ในระยะสุดท้าย
สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หมอจะรักษาด้วยการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจใหม่ เนื่องจากผู้ป่วยรักษาด้วยวิธีด้านบนแล้วไม่เห็นผล มีอาการรุนแรง และหัวใจถูกทำลายจนไม่สามารถกลับคืนมาเป็นปกติได้แล้ว
 
4. ผู้เสี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลว
สำหรับผู้ที่มีอาการเสี่ยงจะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต โดยสามารถดูแนวทางการป้องกันได้ในหัวข้อ หัวใจล้มเหลว ป้องกันได้ไหม ? เลยค่ะ
 
หัวใจล้มเหลว รุนแรงแค่ไหน ?
สมาคมโรคหัวใจของนิวยอร์ก แบ่งความรุนแรงของโรคหัวใจได้ 4 ระดับ คือ
1. Functional class I คือ ผู้ป่วยมีอาการเหมือนปกติ ไม่มีอาการอ่อนเพลียหรือหายใจลำบาก
2. Functional class II คือ ผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อย เช่น จะเหนื่อย หายใจลำบากเล็กน้อยเวลาทำกิจกรรม แต่จะสบายขึ้นเมื่อได้พัก
3. Functional class III คือ ผู้ป่วยมีอาการชัดเจน เช่น เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ จะเหนื่อย เพลีย หรืออาจเจ็บหน้าอก แต่ถ้าพักก็จะรู้สึกดีขึ้น
4. Functional class IV คือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ เพราะแม้จะพักหรืออยู่เฉย ๆ ก็เหนื่อย

หัวใจวายเฉียบพลัน ปฐมพยาบาลยังไง ?
ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวายเฉียบพลัน ควรได้รับการปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วนภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที เพื่อให้หัวใจกลับมาทำงานใหม่ได้ทัน ก่อนที่เซลล์สมองจะตาย โดยการนวดหัวใจ คือ ใช้ฝ่ามือกดลงไปบริเวณกลางหน้าอก เป็นจังหวะ ด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 ครั้งต่อนาที จำนวน 30 ครั้ง สลับกับการผายปอดด้วยการเป่าปาก 2 ครั้ง แต่อย่าลืมเรียกรถพยาบาลอย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อไปด้วยนะคะ  
- วิธีทำ CPR ที่ถูกต้อง ช่วยผู้ประสบเหตุรอดชีวิต
หัวใจล้มเหลว ป้องกันได้ไหม ?
แน่นอนว่าการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวก็ยังพอมีวิธีอยู่บ้าง ซึ่งถ้าใครไม่อยากเสี่ยงเป็นก็ควรปฏิบัติตามแนวทางเหล่านี้
1. ควบคุมความดันโลหิต
เนื่องจากความดันโลหิตสูงส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนัก ฉะนั้นเราทุกคนจึงควรเช็กความดันโลหิตกันบ่อย ๆ และระวังไม่ให้ความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในวัยทอง
2. งดบุหรี่
การสูบบุหรี่ไม่ดีต่อร่างกายอยู่แล้ว ยิ่งถ้าไม่อยากเสี่ยงหัวใจล้มเหลว ยิ่งไม่ควรสูบ เพราะการสูบบุหรี่สามารถทำให้เส้นเลือดแดงแข็งตัวและเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้
- วิธีเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด จัดการด้วย 8 วิธีนี้
- 5 สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ หนีสเตตัสสิงห์อมควันด้วยของใกล้ตัว  
3. งดแอลกอฮอล์
เราควรจำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากการดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นจนมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจโต และหัวใจวายได้ในที่สุด
 
4. ควบคุมน้ำหนัก
รู้ไหมคะว่า การที่มีน้ำหนักมากเกินไปเป็นก็ปัจจัยเสี่ยงทำให้ความดันโลหิตและคอเลสเตอรอลสูงขึ้นด้วยนะ 
5. ทานอาหารที่มีประโยชน์
หันมารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่พอเหมาะ เน้นทานวิตามินอีที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง วิตามินบี 6 บี 12 และโฟเลทที่พบได้มากในผักและผลไม้ รวมทั้งอาหารที่มีไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวที่สมาคมโรคหัวใจของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ทาน เพราะช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดและคอเลสเตอรอลในเลือด อันนำไปสู่การลดอัตราการตายจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้นะคะ โดยพบมากในอาหารประเภทปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาทู ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน 
อย่างไรก็ตาม นอกจากเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ก็ควรต้องลดอาหารมัน ๆ อาหารเค็ม และอาหารดองลงด้วย ก็จะช่วยให้ความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและความดันโลหิตสูงลดลงได้ค่ะ
-20 สุดยอดอาหาร ล้างหลอดเลือดหัวใจ ไล่ไขมัน ลดความเสี่ยงหลายโรค 
- 10 สมุนไพรบำรุงหัวใจ ของดีใกล้ตัว มีไว้ติดครัวก็ดี  
6. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายเพียงวันละ 30 นาที ก็ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลที่ดีให้กับร่างกายได้ โดยควรเลือกออกกำลังกายแบบแอโรบิกและคาร์ดิโอ เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ เพื่อกระตุ้นการทำงานของหัวใจอันจะช่วยเสริมสร้างระบบหลอดเลือดหัวใจให้แข็งแรง แต่อย่างไรก็ตามอย่าหักโหมเกินไปนะคะ
- คาร์ดิโอ วิธีออกกำลังกายดี ๆ ได้ทั้งฟิตแอนด์เฟิร์ม กระตุ้นหัวใจให้แข็งแรง 
- 9 สไตล์คาร์ดิโอที่บ้าน ได้ความฟิตที่ไม่เปลืองค่าเดินทางสักบาท !
7. ลดคอเลสเตอรอลไม่ดี เพิ่มคอเลสเตอรอลดี
คอเลสเตอรอลเป็นมารร้ายที่สามารถก่อให้เกิดโรคหัวใจกับเราได้ โดยหากร่างกายมีคอเลสเตอรอลมาก การไหลเวียนเลือดของระบบหัวใจก็จะทำงานอย่างมีอุปสรรค ดังนั้นเราจึงควรลดคอเลสเตอรอลไม่ดีเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้มีไขมันไปเกาะตามเส้นเลือด จนเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจหรือความเสี่ยงของอาการหัวใจทำงานผิดปกติได้ 
- ไขมันดี ไขมันเลว อยากสุขภาพดีต้องรู้                 
- อาหารช่วยลดคอเลสเตอรอล คนรักสุขภาพไม่ทานไม่ได้แล้ว        
- 5 วิธีออกกำลังกายลดคอเลสเตอรอล ไล่ไขมันตัวร้ายทำลายสุขภาพ 
ป่วยหัวใจล้มเหลว ควรดูแลตัวเองอย่างไร ?
สำหรับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ควรหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเอง ดังนี้
1. เรียนรู้อาการคั่งน้ำและเกลือ และเมื่อมีอาการต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
2. ชั่งและบันทึกน้ำหนักเป็นประจำ หรืออย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อตรวจภาวะคั่งน้ำและเกลือ
3. งดอาหารเค็ม อาหารกระป๋อง อาหารดอง และควบคุมปริมาณเกลือโซเดียมที่ทาน
4. ลดน้ำหนัก หากมีน้ำหนักมากเกินไป เพราะน้ำหนักที่มากส่งผลให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
5. ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ต้องคำนึงถึงอายุ อาการป่วย ความรุนแรงของภาวะหัวใจล้มเหลวที่เป็น และระยะเวลาอย่างเหมาะสมด้วย
6. งดบุหรี่และแอลกอฮอล์
7. ทานยาและพบแพทย์สม่ำเสมอ
8. พยายามไม่เครียด และไม่เดินทางไกลคนเดียว                  
แม้ภาวะหัวใจล้มเหลวจะอันตรายและสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่หากเราใส่ใจดูแลสุขภาพให้ดีก็สามารถป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ได้นะคะ

อัพเดทล่าสุด