รู้ยัง!! ไข้หวัดเจ็บคอหายได้ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเสมอไป


1,144 ผู้ชม

ยาลดไข้ แก้ปวด เช่น พาราเซตามอล กินเฉพาะเมื่อเป็นไข้หรือปวดหัว ถ้าไม่มีไข้ ไม่ปวดหัว ไม่ต้องกิน ห้ามใช้แอสไพรินในเด็กที่เป็นไข้หวัดอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง


คำถามที่ 1 ยาที่ผู้ใหญ่มักให้เรากินเวลาที่เราเป็นหวัดเจ็บคอมียาอะไรบ้าง แล้วพวกเรารู้ไหมว่ายาแต่ละอย่างต่างกันอย่างไร?

– อย่างแรก คือ ยาลดไข้ แก้ปวด เช่น พาราเซตามอล กินเฉพาะเมื่อเป็นไข้หรือปวดหัว ถ้าไม่มีไข้ ไม่ปวดหัว ไม่ต้องกิน ห้ามใช้แอสไพรินในเด็กที่เป็นไข้หวัดอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง

– อย่างที่ 2 คือ ยาแก้คัดจมูก ถ้าไม่คัดจมูก ไม่ต้องกิน

– ถ้ามีน้ำมูกหรือน้ำมูกไหล ควรเช็ดหรือล้างรูจมูกด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรกินยาแก้แพ้เพื่อลดน้ำมูก เพราะจะทำให้น้ำมูกหรือเสมหะข้นเหนียวสั่งออกยาก ทำให้หายใจลำบากมากขึ้น

– อย่างที่ 3 คือ ยาปฏิชีวนะ ที่มักเรียกผิดว่าเป็นยาแก้อักเสบ ยาปฏิชีวนะเป็นยาอันตราย และมักมีการใช้อย่างผิดๆ โดยเฉพาะในโรคหวัดเจ็บคอ ยากลุ่มนี้ เช่น เพนนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน วันนี้เราจะเรียนรู้เรื่องนี้กัน
 

คำถามที่ 2 ยาแก้อักเสบ กับ ยาปฏิชีวนะ เหมือนกันหรือเปล่า? 

– ไม่เหมือนกัน แต่คนจำนวนมากเข้าใจผิดและเรียกสับสน ทำให้ใช้ยาผิด

– ยาแก้อักเสบ (ยาต้านการอักเสบ Anti-inflammatory drugs) เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดไข้ แก้ปวด ลดบวมอักเสบโดยไม่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ตัวอย่างเช่น แอสไพริน ไอบูโพรเฟน

– ส่วนยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เป็นยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ใช้รักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไม่มีฤทธิ์แก้อักเสบโดยตรง ตัวอย่างเช่น เพนนิซิลลิน อะม็อกซีซิลลิน

– คนส่วนใหญ่มักเรียกผิดว่า ยาปฏิชีวนะ เป็น ยาแก้อักเสบ เพราะเมื่อติดเชื้อแบคทีเรียแล้วกินยาปฏิชีวนะ ยาจะไปฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง เมื่อเชื้อตายไปอาการคออักเสบ (เจ็บคอ คอแดง เป็นหนอง) จะลดลงเองโดยอัตโนมัติ คนจึงมักเรียกผิดว่าเป็น ยาแก้อักเสบ

– การเรียก ยาปฏิชีวนะ ว่ายาแก้อักเสบ จึงทำให้เข้าใจผิด และใช้ยาผิดประเภท เพราะคิดว่าเมื่อมีคออักเสบ ไม่ว่าจะจากสาเหตุใด (เช่น เชื้อไวรัส หรือภูมิแพ้) ต้องใช้ยานี้ ทั้งที่จริงๆ แล้วไม่ควรใช้
 

คำถามที่ 3 เป็นหวัด เจ็บคอ มีไข้ จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งถูกต้องหรือไม่?

– ไม่ถูกต้องและเป็นการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผล เพราะอาการเจ็บคอเกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุ คือ

1. เกิดจากการติดเชื้อไวรัส (ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ)

2. เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (รักษาด้วยยาปฏิชีวนะ)

– เด็กที่เป็นหวัดเจ็บคอส่วนใหญ่เป็นเพราะติดเชื้อไวรัส การกินยาปฏิชีวนะจึงไม่ทำให้หายป่วย เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้ และยังมีโอกาสเสี่ยงอันตรายจากผลข้างเคียงของยา ต่อร่างกายด้วย
 

คำถามที่ 4 จะรู้ได้อย่างไรว่า ติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย?

– ดูจากภาพนี้ ทางขวามือเป็นการติดเชื้อไวรัส (ซึ่งพบบ่อยกว่า) เจ็บคอส่วนใหญ่ (8 ใน 10 ราย) เกิดจากเชื้อไวรัสมีอาการต่อมทอนซิลบวมแดง คอแดง ซึ่งทำให้เจ็บคอ อาจมีอาการไอร่วมด้วย ถ้าเป็นแบบนี้ ไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะก็หายได้

– ส่วนภาพซ้ายมือ เป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย (ซึ่งพบน้อยกว่า) จะเห็นว่านอกจากคอแดง ต่อมทอนซิล บวมแดง และเจ็บคอแล้ว ยังมีข้อแตกต่างคือ มีจุดหนองที่ต่อมทอนซิล มีฝ้าสีเทาที่ลิ้น และมักจะคลำพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณใต้ขากรรไกรโตด้วย และจุดแตกต่างที่สำคัญที่สังเกตได้ง่าย คือ มักจะไม่มีอาการไอ

คำถามที่ 5 หวัดเจ็บคอจากเชื้อไวรัส รักษาอย่างไร?

– เด็กๆ ทุกคนมีภูมิต้านทานของร่างกายที่เอาชนะเชื้อไวรัสได้อยู่แล้ว แต่ในช่วงที่ไม่สบาย เราอาจมีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามตัว ไอ มีน้ำมูกหรือเสมหะ และรู้สึกเพลีย

–  ในช่วงเวลานี้ “พระเอกภูมิต้านทาน” กำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัสอยู่ ส่วนยาแก้คัดจมูก และยาลดไข้ คือ “ผู้ช่วยพระเอก” ที่จะทำให้เราทุเลาอาการเหล่านี้ จนกว่าพระเอกจะปราบผู้ร้ายเชื้อไวรัสได้หมดซึ่งมักใช้เวลา 3 – 4 วัน เป็นอย่างน้อย
 

คำถามที่ 6 หวัดเจ็บคอจากเชื้อไวรัส หายเองได้จริงหรือ?

– ขณะที่ “พระเอกภูมิต้านทาน” กำลังสู้กับ “ผู้ร้ายเชื้อไวรัส” คุณแม่หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กอย่างพวกเรา คือ “นางเอกคนสำคัญ” เพราะว่าจะต้องดูแลเรามากกว่าเวลาปกติ ด้วยการช่วยเช็ดตัวลดไข้ จัดยาที่จำเป็นและหาอาหารอ่อนย่อยง่าย เช่น ข้าวต้มหรือโจ๊ก ให้เรากิน รักษาบริเวณลำคอของเรา ให้อบอุ่น และให้เราดื่มน้ำมากๆ

– นอกจากนี้ การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอหรือระคายเคืองในคอของเราได้

– การทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยให้ภูมิต้านทานร่างกายของเราแข็งแกร่ง เพียงไม่กี่วันเชื้อไวรัสหวัดก็ต้องล่าถอยไปเอง
 

คำถามที่ 7 น้ำมูกหรือเสมหะสีเขียวเหลือง แปลว่า ต้องกินยาปฏิชีวนะใช่หรือเปล่า?

– ไม่ใช่ เพราะการมีน้ำมูกหรือเสมหะข้นและเป็นสีเหลืองหรือเขียวเพียงประการเดียว ไม่ได้แปลว่าเกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือมีอาการแย่ลง

– โรคหวัดในระยะใกล้หาย เราจะมีอาการดีขึ้น ปริมาณน้ำมูกจะลดลง แต่ลักษณะของน้ำมูกจะข้นขึ้น และอาจเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือเขียวโดยเฉพาะในตอนเช้า ซึ่งไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่เป็นลักษณะอาการของโรคหวัดตามปกติ จึงไม่ต้องให้ยาปฏิชีวนะ

– นอกจากนี้ คนที่เป็นหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน มักจะไอนานเป็นสัปดาห์ และมีเสมหะ สีเขียวเหลืองได้ โดยไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

– ดังนั้น การมีน้ำมูกหรือเสมหะสีเขียวเหลือง ไม่ได้แปลว่าต้องกินยาปฏิชีวนะทุกครั้งไป
 

คำถามที่ 8 กินยาปฏิชีวนะ “เผื่อ” ไว้ก่อน ไม่ดีหรือ?

– ไม่ดีแน่นอน ไม่ควรทำเป็นอันขาด ถ้าเราเป็นหวัดจากเชื้อไวรัส แล้วไปกินยาปฏิชีวนะซึ่งมีไว้ใช้ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เราจะไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เลย แต่จะได้รับโทษหรือเสี่ยงอันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะ

– อันตรายจากยาปฏิชีวนะอย่างแรก คือ การแพ้ยา

– อันตรายประการที่สอง คือ เชื้อดื้อยา
 

คำถามที่  9 แพ้ยาปฏิชีวนะ มีอันตรายอย่างไร? 

– ผู้ที่แพ้ยาอาจมีผื่นขึ้น ถ้าแพ้ยารุนแรงอาจทำให้หายใจไม่ออก ผิวหนังหลุดลอกทั่วตัว เม็ดเลือดแดงแตก ตับอักเสบ เป็นต้น

– เด็กๆ ลองอ่านที่ข้างกล่องยาปฏิชีวนะดูจะเห็นคำเตือนว่าเป็น “ยาอันตราย” และเตือนว่า ยานี้อาจทำให้เกิดการแพ้ และอาจเป็นอันตรายถึงตายได้

– วิธีป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะแพ้ยา คือ

1. ใช้ยาเท่าที่จำเป็น ไม่ใช้ยาอย่างพร่ำเพรื่อ

2. ถ้าเราเคยแพ้ยาใด เราควรจำชื่อยานั้นให้ได้ หรือจดชื่อยาพกไว้กับตัว

3. บอกแพทย์หรือเภสัชกรว่าเราแพ้ยานี้ เมื่อไปรับการรักษาทุกครั้ง

4. ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ยาได้
 

คำถามที่  10. เชื้อดื้อยา คืออะไร?

– ทุกครั้งที่เรากินยาปฏิชีวนะ เชื้อแบคทีเรียที่อ่อนแอจะตายไป ส่วนที่เหลือก็จะก้าวร้าวขึ้น ดุขึ้นมีการกลายพันธุ์ หรือผลิตลูกหลานให้ทนต่อยาปฏิชีวนะ เรียกว่า เชื้อดื้อยา แปลว่า ยาปฏิชีวนะ ชนิดนี้ใช้กับแบคทีเรียเหล่านี้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว

– เมื่อเกิดเชื้อดื้อยา ทำให้เราต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะชนิดใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งยาใหม่เหล่านี้มักมี อันตรายมากกว่าและมีราคาแพงกว่ายาเดิม

– คนที่กินยาปฏิชีวนะบ่อยเกินไป เชื้อโรคก็เริ่มปรับตัวสู้กับยาได้ ต่อไปเวลาเจ็บป่วยก็ไม่มียาใด จัดการกับเชื้อโรคนั้นๆ ได้
 

คำถามที่  11 ทำไมจึงไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง หรือแบ่งยากันกิน?

– คุณหมอสั่งยาปฏิชีวนะโดยพิจารณาจากน้ำหนักตัว อายุ และอาการของคนไข้ ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางการแพทย์ และการตรวจร่างกายอย่างละเอียด

– เราไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะมากินเอง หรือแบ่งยาปฏิชีวนะของเราให้ผู้อื่นกินอย่างเด็ดขาด เพราะมักมีข้อผิดพลาด เช่น

1. ใช้ยาปฏิชีวนะในโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น กินยาปฏิชีวนะรักษาโรคหวัดซึ่งเป็นเชื้อไวรัส

2. ใช้ยาที่ไม่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุ เพราะเชื้อแบคทีเรียมีหลายชนิด จึงต้อง เลือกใช้ยาปฏิชีวนะให้เหมาะกับเชื้อแต่ละชนิด

3. ใช้ยาในขนาดต่ำหรือสูงกว่าที่ควรจะเป็น เพราะยาปฏิชีวนะ 1 ชนิด มีหลายขนาดความแรง

4. ใช้ยาด้วยความถี่ที่ไม่ถูกต้อง เช่น ยาที่ต้องกินวันละ 3 ครั้ง แต่กินแค่วันละ 2 ครั้ง

5. ใช้ยาด้วยระยะเวลาที่สั้นเกินไปหรือนานเกินไป (ส่วนใหญ่ที่พบ คือ สั้นเกินไป เช่น ยาที่ต้องกินติดต่อกัน 10 วัน แต่กินแค่ 2-3 วัน)

– ที่สำคัญ เราไม่รู้ว่าคนอื่นแพ้ยาอะไร หรือมีโรคประจำตัวอะไร การแบ่งยาของเรา ให้เขากินจึงอันตรายมาก

ที่มา              health.mthai.com 

อัพเดทล่าสุด