อันตรายกว่าที่คิด อย่าทดลองทานอาหาร เพื่อทดสอบอาการแพ้อาหาร เด็ดขาด


1,131 ผู้ชม

เรื่องการแพ้อาหาร กำลังเป็นประเด็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียล เพราะมี...



เรื่องการแพ้อาหาร กำลังเป็นประเด็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียล เพราะมีคนบางกลุ่มที่ยังใช้วิธีทดลองทานเพื่อทดสอบอาการแพ้ โดยที่ไม่รู้ว่าวิธีดังกล่าว มันเป็นอันตรายกว่าที่คิด วันนี้เราเลยมีข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้อาหารมาฝากทุกๆ คนกันค่ะ


โดยปกติเราจะรับรู้อาการแพ้อาหารได้จากการทาน ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานในการทดสอบ นอกจากนี้ก็ยังมีวิธีอื่นอีก ได้แก่ การตรวจเลือด เพื่อดูระดับสารภูมิคุ้มกันต่ออาหารชนิดนั้นๆ หรือการตรวจทางผิวหนัง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการตรวจรูปแบบนี้อาจเป็นเพียงหลักฐานประกอบการวินิจฉัยเท่านั้น ช่วยบอกได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตามหากคุณเคยมีอาการแพ้ต่ออาหารชนิดหนึ่งมาอยู่แล้ว ก็ไม่ควรกลับไปทานซ้ำเด็ดขาด! เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากอาการแพ้อาหารของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่บางคนอาจมีอาการรุนแรงจนช็อคและถึงขั้นอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เลย


ปัจจัยหลักของการแพ้อาหารคือ พันธุกรรม หากพบว่าครอบครัวไหนมีสมาชิกที่มีอาการแพ้อาหาร เด็กที่เกิดมาในครอบครัวนั้นมีความเสี่ยงอยู่ที่จะแพ้อาหารชนิดเดียวกัน ซึ่งอาการแพ้อาหารยังทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ได้ด้วย เช่น แพ้อากาศ หอบหืด ลมพิษ ผื่นผิวหนัง เป็นต้น ในเด็กที่มีความเสี่ยงอยู่แล้ว ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อสร้างภูมิต้านทาน ช่วยป้องกันอาการแพ้อาหารในเด็กได้ในระดับหนึ่ง หรือไม่ก็ทำให้เป็นโรคนี้มากขึ้นไปจนถึงโรคภูมิแพ้ในทางเดินหายใจ


อาการแพ้อาหารที่พบบ่อยคือการเกิดผื่นหรือเป็นลมพิษ อาจเป็นที่ใบหน้าหรือตามตัว ระดับการเกิดมากหรือน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากเกิดในระบบทางเดินหายใจ จะมีอาการ หายใจลำบาก หากเกิดในระบบทางเดินอาหาร ก็จะมีอาการ อาเจียน ถ่ายเหลว หรือถ่ายเป็นมูกเลือด เป็นต้น ส่วนระยะเวลาในการเกิดอาการแพ้หลังร่างกายได้รับสารเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับบุคคลและระดับอาการ หากมีอาการแพ้รุนแรงจะเกิดภายในระยะเวลาที่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยอาการแพ้จะแสดงผลได้ตั้งแต่ระยะเวลาเป็นนาทีหรือเป็นชั่วโมง แต่ส่วนมากจะเกิดภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง
อาการแพ้อาหารนอกจากจะเกิดกับคนที่เป็นแต่กำเนิดแล้ว ยังพบว่าบางรายมีอาการแพ้อาหารชนิดหนึ่งตอนโต ซึ่งในตอนเด็กๆ ไม่เคยแพ้อาการชนิดนั้นมาก่อน สาเหตุเป็นเพราะก่อนเกิดอาการแพ้เคยทานสิ่งนั้นมา แล้วไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิแพ้ ที่เราเรียกว่า IgE ร่างกายจะรับรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา เพื่อรับเข้าไปในปริมาณมากจนถึงวันหนึ่งก็สามารถแสดงอาการแพ้ออกมาได้


อาการแพ้อาหารถือเป็นหนึ่งในอาการที่ไม่พึงประสงค์จากอาหาร แต่บางอย่างที่ร่างกายแสดงออกว่าไม่พึงประสงค์กับอาหารก็อาจไม่ใช่อาการแพ้อาหาร เช่น ในคนอายุ 32 ปี ดื่มนมทีไรก็มีอาการท้องเสียทุกที อาจเป็นเพราะร่างกายไม่ค่อยดื่มนม เมื่อดื่มเข้าไปแล้วเอนไซม์ที่ใช้ในการย่อยน้ำตาลแลคโทสมีปริมาณน้อยลงจนไม่สามารถย่อยน้ำตาลชนิดนี้ได้ จึงทำให้คลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสีย เป็นต้น ซึ่งอาการดังกล่าวไม่ใช่อาการแพ้อาหาร แนะนำว่าถ้าหากเกิดอาการแบบนี้ทุกครั้งที่ดื่มนม ให้ดื่มทีละน้อยในภายหลัง ก็จะไม่ทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์จากอาหาร นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งอาการที่ไม่พึงประสงค์จากอาหาร นั่นก็คือการได้รับสารพิษในอาหาร ที่ทำให้ร่างกายมีความผิดปกติ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับการแพ้อาหารแต่อย่างใด


อาการที่ไม่พึงประสงค์จากอาหาร (Adverse food reaction : AFR)
1. เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย
IgE mediated reaction เช่น อาการแพ้ไข่ นม แป้งสาลี อาหารทะเล มักจะเกิดเร็วหลังรับประทานอาหารNon IgE mediated reaction ส่วนใหญ่จะเกิดช้า

2. Food intolerances ไม่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน Toxic reaction เช่น อาหารเป็นพิษ หรือได้รับพิษจากปลา เช่น ผู้ป่วยไม่สามารถย่อยแลคโทส เพราะขาดเอนไซม์แลคเทส (lactose intolerances)


วิธีป้องกันการเกิดอาการแพ้

คือ หลีกเลี่ยงการทานอาหารชนิดนั้นๆ ไปเลย หากมั่นใจแล้วว่าร่างกายแพ้อาหารชนิดนั้นอย่างแน่นอน ในบางรายพบว่ายังฝืนทานอาหารที่ตัวเองแพ้และใช้ยาแก้แพ้เป็นตัวช่วยอยู่ นั่นเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสม เพราะมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่อาการแพ้รุนแรงได้ ในกรณีที่ยาแก้แพ้ออกฤทธิ์ได้ไม่ทันการ และถึงแม้การแสดงอาการแพ้ที่ผ่านมาจะไม่รุนแรง แต่ในภายหลังก็มีโอกาสที่ร่างกายอาจแพ้รุนแรงและมีอันตรายถึงชีวิตได้


ทั้งนี้ คุณแม่ควรให้ลูกดื่มนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน หรือมากกว่านั้น เพราะยิ่งเด็กได้ดื่มนมแม่นานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น เพื่อป้องกันอาการแพ้ไม่ให้รุนแรง หรือนำไปสู่โรคภูมิแพ้ในทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นโรคที่รักษาได้ยาก และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเด็กในระยะยาว ที่สำคัญในอาหารเสริมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น นม ไข่ แป้งสาลี อาหารทะเล เป็นต้น ควรหลีกเลี่ยงไปก่อนที่จะให้เด็กทาน เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายสร้างภูมิแพ้ขึ้น และทำให้เกิดอาการแพ้อาหารเหล่านั้นในอนาคต หรือเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดโรคภูมิแพ้

เอ็มไทย

อัพเดทล่าสุด