4 โรคที่ผู้ป่วยห้ามขับรถตามลำพัง เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต


1,600 ผู้ชม

ในช่วงเวลาที่เราขับรถ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องมีสมาธิมากๆ เพราะในช่วงเสี้ยววินาที เรากำลังเอาชีวิตไปแขวนอยู่บนเส้นด้าย ด้วยสติที่เรามี สามารถเปลี่ยนชีวิตของเราจากรอดให้กลายเป็นร่วงได้ทันที ...


4 โรคที่ผู้ป่วยห้ามขับรถตามลำพัง เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
ในช่วงเวลาที่เราขับรถ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องมีสมาธิมากๆ เพราะในช่วงเสี้ยววินาที เรากำลังเอาชีวิตไปแขวนอยู่บนเส้นด้าย ด้วยสติที่เรามี สามารถเปลี่ยนชีวิตของเราจากรอดให้กลายเป็นร่วงได้ทันที
แต่นอกจากสติแล้ว สุขภาพก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน หากสุขภาพไม่เป็นใจ เราอาจจบชีวิตโดยที่เราไม่สามารถทำอะไรได้เลยก็เป็นได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้ ไม่ควรขับรถเพียงลำพังคนเดียว เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดฝัน อาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
โรคหัวใจ
เราน่าจะพอจำข่าวกันได้ เมื่อถึงเวลาที่ผู้ป่วยโรคหัวใจมีอาการกำเริบ โดยอาจเกิดจากอาการที่เป็นหนักอยู่แล้ว หรือมีสิ่งเร้าที่ทำให้อาการกำเริบหนักขึ้นในช่วงเวลาไม่นาน เช่น สภาวะเครียดจากการทำงานก่อนหน้านี้ อารมณ์ไม่ดีจากเหตุการณ์บนท้องถนน หรือสาเหตุอื่นๆ จนทำให้เกิดอาการกำเริบจนควบคุมพวงมาลัย คันเร่ง และเบรกได้ไม่ปกติดังเดิม ดังนั้นผู้ป่วยโรคหัวใจที่เสี่ยงต่ออาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ควรมีคนนั่งไปด้วยเผื่อเหตุฉุกเฉิน
โรคลมชัก
อาการลมชักก็มักจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลันโดยไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร หรือเพราะอะไร แม้ว่าตอนสอบใบขับขี่จะมีการตรวจสุขภาพเพื่อการคัดกรองเอาคนที่มีสุขภาพดีมาขับรถบนท้องถนนได้แล้ว แต่ตัวคุณเองนี่แหละที่รู้ดีว่าสุขภาพของคุณเป็นอย่างไร หากมีประวัติเป็นลมชัก ไม่ว่าจะนานแค่ไหน หรือรักษามานานแค่ไหนแล้วก็ตาม ก็ไม่ควรประมาท โดยเฉพาะผู้ป่วยลมชักที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยายิ่งน่ากลัว
โรคเบาหวาน
โรคเบาหวานไม่ได้เป็นอันตรายถึงขั้นขับรถไม่ได้ แต่หากเป็นผู้ป่วยเบาหวานที่อยู่ในขั้นวิกฤติ ต้องฉีดอินซูลิน ระดับน้ำตาลไม่เสถียรอย่างรุนแรง หากเกิดเหตุน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างรวดเร็ว แล้วไม่สามารถหาจังหวะจอดรถเพื่อช่วยเหลือตัวเองได้ อาจเกิดอาการหมดสติฉับพลันได้ จึงเป็นอันตรายอย่างมาก
ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดสมอง
ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการผ่าตัดสมอง อาจมีผลกระทบเกิดขึ้นหลังผ่าตัด เช่น การทรงตัว และการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่อาจไม่สามารถควบคุมได้ 100% ในบางกรณี จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพในการขับรถด้วย
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว
แม้จะมีความเสี่ยงในการขับขี่บนท้องถนน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้จะไม่สามารถขับรถ หรือไม่สามารถขับรถตามลำพังได้เลย แต่ก่อนที่จะขับรถควรเข้ารับการตรวจสุขภาพ เช็คความพร้อมของร่างกายว่าสามารถขับรถได้หรือไม่ เช็คการทำงานของสายตา กล้ามเนื้อแขนขา สติสัมปชัญญะ การทำงานของสมอง ความแข็งแรงของกระดูก รวมถึงเช็คประวัติการใช้ยาเพื่อการรักษาโรคประจำตัว ทั้งหมดนี้เพื่อพิจารณาสมรรถนะในการขับรถ
นอกจากนี้ ควรนำยาประจำตัวติดไว้ในรถ พร้อมทั้งวิธีการใช้ยา บัตรประจำตัวผู้ป่วย หรือข้อควร และไม่ควรปฏิบัติเมื่อผู้ป่วยมีอาการกำเริบติดเอาไว้ด้วย เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินมีผู้พบเห็นให้การช่วยเหลือได้ทันท่วงที
และไม่ควรทานยาในช่วงก่อนขับรถ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการปรับยาตัวใหม่ หรือปรับขนาดของยาที่ทาน เพราะอาจส่งผลข้างเคียงที่นึกไม่ถึง เช่น อาการง่วงนอน ขณะขับรถได้
ที่สำคัญ คือ ไม่ดื่มแอลกอฮอลล์ ไม่ขับรถทางไกลเป็นระยะเวลานาน และถ้าเป็นไปได้ควรมีผู้โดยสารนั่งไปเป็นเพื่อนด้วย เผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นมาจริงๆ จะได้ช่วยเหลือทันค่ะ

อัพเดทล่าสุด