แพ้อาหาร อันตรายถึงชีวิตหรือไม่?


936 ผู้ชม

เฮ้ย อร่อยนะ นิดๆ หน่อยๆ ทานไปเถอะ ไม่เป็นอะไรมากหรอก ... ประโยคที่คนรอบตัวของคุณอาจเคยบอกกับคุณผู้ซึ่งแพ้อาหารบางชนิดที่มันอร่อยมากๆ ...


แพ้อาหาร อันตรายถึงชีวิตหรือไม่?
“เฮ้ย อร่อยนะ นิดๆ หน่อยๆ ทานไปเถอะ ไม่เป็นอะไรมากหรอก” ประโยคที่คนรอบตัวของคุณอาจเคยบอกกับคุณผู้ซึ่งแพ้อาหารบางชนิดที่มันอร่อยมากๆ เช่น กุ้ง ปลาหมึก ปู หรือแม้กระทั่งขนมนมเนยที่น่าทานมากๆ แต่มีส่วนผสมของนม หรือถั่ว ที่คุณมีอาการแพ้อยู่
เหตุที่คนอื่นพูดกับคุณแบบนั้น เพราะเขาอาจไม่ทราบว่าอาการแพ้อาหารเป็นอย่างไร ทรมานแค่ไหน หรือมีความร้ายแรงต่อสุขภาพของคุณมากเพียงใด
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยทรมานกับอาการแพ้อาหาร อย่าลืมแบ่งปันบทความนี้ให้คนเหล่านั้นได้ทราบกันด้วยนะคะ ว่าอาการแพ้อาหาร ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอย่างที่พวกเขาเข้าใจกัน
ส่วนใครที่ไม่เคยแพ้อาหารใดๆ ในชีวิต ก็มาทำความเข้าใจกัอาการแพ้อาหารกันให้มากขึ้นดีกว่าค่ะ
แพ้อาหาร เกิดจากอะไร?
สาเหตุของอาการแพ้อาหาร ไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัด ทราบแต่เพียงเป็นความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากกรรมพันธุ์ด้วยเช่นกัน
จะทราบได้อย่างไรว่าเราแพ้อาหารอะไร?
เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนเราไม่ได้มีอาการแพ้อาหารทุกคน และไม่ได้แพ้อาหารเหมือนกันทุกคน จนกว่าเราจะได้รับการพิสูจน์ด้วยตัวเอง หรือพิสูจน์จากทีมแพทย์พร้อมหลักฐานว่าเราแพ้อาหารชนิดใด หรือมีอาการแพ้จริงหรือไม่
สิ่งที่เราเตรียมตัวได้ คือ สังเกตอาการของตัวเองว่าเรามีอาการผิดปกติอะไร และก่อนหน้าที่เราทานอะไร หรือทำอะไรที่ไหน เมื่อพอจะทราบสาเหตุคร่าวๆ แล้ว ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายเพื่อยืนยันอีกครั้ง
ส่วนใหญ่แพ้อาหารอะไรกันบ้าง
อาหารที่ทำให้เราเกิดอาการแพ้มีอยู่สารพัดนับไม่ถ้วน เราสามารถแพ้อาหารได้ทุกชนิดบนโลก แต่ส่วนใหญ่ตามสถิติที่พบ จะพบว่า อาหารจำพวก นมวัว ไข่ แป้งสาลี อาหารทะเล ปลา ถั่วลิสง ถั่วเหลือง อัลมอนด์ ฮาเซลนัท วอลนัท เม็ดมะม่วงหิมพานต์ พีแคน แมคคาเดเมีย พิสตาชิโอ ผงชูรส สารกันบูด สารแต่งกลิ่น และเลียนสีสังเคราะห์ เป็นต้น
วิธีสังเกตอาการแพ้อาหาร
อาหารแพ้อาหารส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นหลังจากทานอาหารเหล่านั้น ความเร็วของอาการที่เกิดขึ้นก็ช้าเร็วไม่เท่ากัน บางรายเกิดอาการขึ้นทันทีหลังจากไม่เกิน 5 นาที บางรายอาจจะใช้เวลา 10-15 นาที หรือบางรายอาจจะรอไปอีกเป็นชั่วโมงก็มี โดยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจสังเกตได้จากส่วนต่างๆ ของร่างกาย ดังนี้
- ผิวหนัง
อาจมีผื่นแดงเป็นปื้นๆ ผื่นเม็ดเล็กๆ มีอาการคันยุบยิบ ผิวหนังแสบร้อน ผิวหนังอักเสบ ลมพิษ หรือมีอาการบวมตามอวัยวะต่างๆ เช่น ปาก หน้า ดวงตา เป็นต้น
- ระบบหายใจ
อาจมีอาการหายใจขัด หายใจไม่ออก น้ำมูกไหล ไอ จาม คัดจมูก หลอดลมอักเสบ ภายในคอบวมจนรู้สึกกลืนอาหาร กลืนน้ำลำบาก เช่น กล่องเสียง หรือหลอดลมบวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก หายใจมีเสียงให้ได้ยินจากข้างใน เป็นต้น
- ระบบทางเดินอาหาร
มีอาการตั้งแต่ปากลงไปจนถึงในท้อง เช่น คันปาก คันคอ ปากบวม ลิ้นบวม ปวดท้อง มวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ถ่ายมีเลือดปน ไปจนถึงลำไส้อักเสบ
- หัวใจ และระบบอื่นๆ
หัวใจเต้นช้ากว่าปกติ ความดันโลหิตต่ำ ช็อค หมดสติ
แพทย์จะตรวจอาการแพ้อาหารของเราอย่างไร?
แพทย์จะเริ่มจากการซักถามประวัติของเราก่อนคร่าวๆ จากนั้นจึงเริ่มตรวจร่างกาย ทำการทดสอบด้วยการสะกิดผิวหนัง (skin prick test) ตรวจสารก่อภูมิแพ้ในเลือด (specific IgE) โดยเลือดตรวจเฉพาะส่วนที่สัมพันธ์กับประวัติ และอาการของเราเท่านั้น และอาจเริ่มทดสอบด้วยการให้เราทานอาหารที่ (คาดว่า) เราแพ้จริงๆ (oral food challenge test) วิธีนี้ต้องทำการทดสอบโดยอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดเท่านั้น อย่าทดสอบเองเด็ดขาด
รู้ตัวว่าแพ้อาหาร แต่ไม่ไปให้หมอตรวจได้ไหม?
บางคนเฝ้าดู และสังเกตอาการของตัวเองจนแน่ใจว่า ทุกครั้งที่ทานอาหารชนิดนั้นๆ จะมีอาการแพ้แบบไหน รุนแรงมากน้อยเพียงใด และไม่คิดจะไปพบแพทย์ แต่จริงๆ แล้วที่เราแนะนำให้พบแพทย์ เพราะสิ่งที่คุณคิดอาจจะไม่ใช่สิ้งที่คุณแพ้จริงๆ เช่น หากคุณคิดว่าคุณแพ้กุ้ง จริงๆ แล้วคุณอาจจะแพ้แค่มันกุ้ง หรือเปลือกของกุ้งเท่านั้น หรือหากคิดว่าแพ้นม จริงๆ แล้วคุณอาจจะแพ้แค่แลคโตสที่อยู่ในนมเท่านั้น (ยังมีผลิตภัณฑ์นมที่ไม่มีแลคโตสให้ทานได้อยู่) เป็นต้น
แพ้อาหาร อันตรายมากน้อยแค่ไหน
มาถึงคำถามที่หลายคนสงสัย อาการแพ้อาหารมีหมดตั้งแต่แพ้เล็กๆ น้อยๆ เช่น คันนิดๆ บวมหน่อยๆ แบบพอทนไหว ไปจนถึงอาการที่เริ่มน่ากลัว เช่น ปากบวม ลิ้นบวม คอบวม กลืนลำบาก หายใจไม่ออก ไปจนถึงอาเจียน ความดันต่ำ และหมดสติไปเลย
ส่วนใหญ่อาการแพ้อาการไม่มีความรุนแรง แต่ก็มีเหมือนกันที่มีอาการมาก และอันตรายจนถึงชีวิต โดยจะเรียกว่า แอนาฟิแล็กซิส (anaphylaxis) โดยจะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งที่ทำให้แพ้อย่างรวดเร็ว และรุนแรง เช่น ตาบวมมากจนลืมตาไม่ขึ้น มีผื่นขึ้นและมีอาการคันมาก หายใจไม่ออก ไปจนถึงความดันโลหิตตต่ำ หัวใจเต้นช้าลง เป็นต้น
นอกจากนี้ กว่า 90% ของผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อาหาร และมีอาการของโรคหอบหืดอยู่ด้วย จะมีโอกาสที่จะมีอาการแพ้อาหารรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีป้องกันอาการแพ้อาหาร
ทำได้ง่ายๆ ด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เราเกิดการแพ้ หากเป็นอาหารทะเล หรือส่วนประกอบของอาหารชิ้นใหญ่ๆ ก็หลีกเลี่ยงได้ง่ายๆ แต่ถ้าเป็นอาหารประเภทเครื่องปรุง ส่วนผสมที่มักใช้ในปริมาณไม่มาก หรือมาในรูปแบบของผงเล็กๆ เช่น แพ้หัวหอมที่เคี่ยวจนละลายอยู่ในซอส แพ้แป้งสาลีที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในขนม หรือแพ้ถั่วที่ใช้เป็นส่วนผสมของผงปรุงรส ก่อนทานอาหารจึงจำเป็นต้องสอบถามผู้ปรุง หรืออ่านฉลากโภชนาการข้างบรรจุภัณฑ์เพื่อดูส่วนผสมอย่างละเอียดก่อนทาน
เราจะหายจากอาการแพ้อาหารได้หรือไม่?
การใช้ชีวิตโดยหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ อาจลำบากสำหรับบางคนที่แพ้อาหารที่สามารถพบได้ในอาหารส่วนใหญ่เกือบทุกชนิด เช่น บางรายที่แพ้แป้งสาลี ดังนั้นการเข้ารับการรักษาอาการแพ้อาหารกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยใช่ชีวิตได้ง่ายขึ้น โดยแพทย์อาจจะกำหนดปริมาณของอาหารที่แพ้ให้ทานครั้งละน้อยๆ และเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาล
แพ้อาหารไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่ก็เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ หากเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากพอ และระมัดระวังในการเลือกทานอาหารทุกครั้ง เท่านี้คุณก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขตามปกติได้ และปัจจุบันมีอาหารทางเลือกให้กับผู้แพ้อาหารมากมาย ทั้งอาหารที่ไม่มีส่วนผสมของนม ไม่มีส่วนผสมของถั่ว หรืออาหารอื่นๆ ที่คนแพ้กันง่าย การเลือกทานอาหารที่เหมาะกับเราก็เป็นอีกทางออกหนึ่งที่ทำให้คุณดำเนินชีวิตได้ตามปกติได้เช่นกันค่ะ

อัพเดทล่าสุด