อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงผัก 5 ชนิดที่มีข้อมูลแชร์ต่อๆ กันในโลกออนไลน์ว่า ห้ามทานแบบดิบๆ ...
จริงหรือไม่? ผัก 6 ชนิดนี้ ห้ามทานแบบดิบๆ
อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงผัก 5 ชนิดที่มีข้อมูลแชร์ต่อๆ กันในโลกออนไลน์ว่า ห้ามทานแบบดิบๆ เพราะจะอันตรายต่อร่างกาย โดยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อันที่จริงแล้วผักบางชนิดห้ามทานดิบจริง บางชนิดก็สามารถทานดิบได้ แต่ไม่ใช่ทุกคน และต้องมีวิธีหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจแฝงมากับผักดังกล่าว
สามารถอ่านข้อมูลอย่างละเอียดจากโพสของอาจารย์เจษฎา ได้ตามด้านล่างเลยค่ะ
"กะหล่ำปลี ถั่วงอก หน่อไม้และมัน ถั่วฝักยาว และผักโขม ... กินดิบได้ แค่ระวังในบางคน"
เรื่องนี้ผมเคยโพสต์เองแล้ว แต่ได้อาจารย์จากสถาบันโภชนาการ มหิดล มาช่วยให้รายละเอียดยืนยันด้วย เลยขอเอามาสรุปอีกที
กะหล่ำปลี - คนปรกติกินดิบได้ จำกัดเฉพาะผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ เพราะสารกอยโตรเจน (Goitrogen) จะขัดขวางการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ แต่ถ้าเอาไปผ่านความร้อน กอยโตรเจนจะสลายไป ... ที่ต้องกังวลคือสารเคมีตกค้างได้ ต้องล้างให้ดีก่อนกินดิบ
ถั่วงอก - กินดิบได้ แต่ต้องระวังเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน ควรล้างให้สะอาดหรือแช่น้ำด่างทับทิมก่อนเพื่อฆ่าเชื้อ คนที่ควรระวังจึงเป็นคนที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เด็กเล็ก หรือหญิงตั้งครรภ์
ถั่วฝักยาว - กินดิบให้ระวังยาฆ่าแมลง โดยเฉพาะพวกยาดูดซึม การล้างธรรมดาอาจไม่เพียงพอ ต้องแช่น้ำทิ้งไว้สัก 5 นาที อาจทำ 2 ครั้ง หรืออาจหักเป็นท่อนๆ ก่อนแช่
หน่อไม้ดิบ และมันสำปะหลัง - อันนี้ห้ามกินดิบจริง เพราะมีสารไซยาไนด์อยู่ตามธรรมชาติ ควรต้มในน้ำเดือดก่อน ประมาณ 10 นาที จะช่วยลดสารพิษได้ 90%
ผักโขม - กินดิบได้ ยกเว้นเฉพาะคนที่ขาดธาตุเหล็ก เพราะมีกรดออกซาลิก (Oxalic Acid) จะไปต้านการดูดซึมธาตุเหล็ก และแคลเซียม