ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจ โรคเป็นสาวก่อนวัย ภาวะที่ต้องใส่ใจถ้าไม่อยากให้เกิดเรื่องร้ายกับลูกหลาน !!


1,548 ผู้ชม

โรคเป็นสาวก่อนวัยที่ทำให้เด็กโตเกินวัยจนคุณพ่อคุณแม่หวั่นไหว จริง ๆ แล้วไม่ใช่เพราะสังคมหรือการเลี้ยงดูหรอกค่ะ แต่ภาวะนี้เป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของร่างกาย ที่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจและใส่ใจบุตรหลานมากขึ้น


 โรคเป็นสาวก่อนวัยที่ทำให้เด็กโตเกินวัยจนคุณพ่อคุณแม่หวั่นไหว จริง ๆ แล้วไม่ใช่เพราะสังคมหรือการเลี้ยงดูหรอกค่ะ แต่ภาวะนี้เป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของร่างกาย ที่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจและใส่ใจบุตรหลานมากขึ้น       

เด็กสมัยนี้โตไวจัง หลาย ๆ ครั้งเราจะได้ยินผู้ใหญ่บ่นกันอยู่บ่อย ๆ หรือแม้แต่ตัวเราเองที่ก็แอบคิดว่าเด็กในยุคนี้ดูโตเกินไวไปหน่อย ยิ่งพอได้ยินข่าวเด็กอายุน้อย ๆ ท้องก่อนวัยอันควรเราก็ยิ่งสงสัยว่า ทำไมเด็กที่ยังดูไม่โตเป็นวัยรุ่น ถึงสามารถตั้งครรภ์หรือแม้แต่มีอารมณ์ทางเพศแบบนั้นได้ ซึ่งวันนี้กระปุกดอทคอมก็ได้หาคำตอบมาให้แล้วค่ะว่า ภาวะเด็กโตเกินวัย อาจเป็นความเกี่ยวข้องกับโรคเป็นสาวก่อนวัยก็เป็นได้

โรคเป็นสาวก่อนวัย คืออะไร

          โรคเป็นสาวก่อนวัยอันควร หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Precocious Puberty โรคนี้มักจะเกิดกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ และเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตในช่วงวัยเด็ก ส่งผลให้เด็กมีเต้านม ประจำเดือน รังไข่ มดลูก หรือขนาดอัณฑะที่ขยายใหญ่ขึ้น พร้อมสำหรับการเจริญพันธุ์ ทั้งที่ยังไม่เข้าสู่ช่วงวัยรุ่นเลยก็ตาม


โรคเป็นสาวก่อนวัย เกิดจากอะไร
          สาเหตุของโรคเป็นสาวก่อนวัย สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 สาเหตุใหญ่ ๆ ได้แก่

1. สาเหตุจากภายใน
          โดยปกติในร่างกายของมนุษย์จะมีฮอร์โมนสำคัญจากต่อมใต้สมองที่ช่วยในการเจริญเติบโต นั่นก็คือโกรทฮอร์โมนและฮอร์โมนเพศ ซึ่งฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้จะถูกควบคุมด้วยระบบไฮโปทาลามิก พิทูอิทารี โกนาดอล แอกซิล ซึ่งจะคอยทำหน้าที่เป็นสวิตช์ปิด-เปิด เพื่อให้ฮอร์โมนเพศถูกผลิตออกมาตามช่วงเวลาที่เหมาะสม มนุษย์ก็จะเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตามกลไกธรรมชาติ ทว่าในเด็กที่มีระบบไฮโปทาลามัสผิดปกติตั้งแต่แรกเกิด หรือได้รับการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ ได้รับการผ่าตัดฉายแสงที่สมอง หรือมีเนื้องอกในต่อมใต้สมองซึ่งอยู่ใกล้กับไฮโปทาลามัส ก็จะส่งผลให้ระบบควบคุมการหลั่งโกรทฮอร์โมนและฮอร์โมนเพศเหล่านี้ผิดปกติไป โดยอาจสั่งผลิตฮอร์โมนเพศเร็วขึ้นหรือช้าลง เป็นต้น              

นอกจากนี้โรคเป็นสาวก่อนวัยอาจเกิดจากเนื้องอกบางชนิดในช่วงแกนกลางสมอง ซึ่งอาจตรวจหาเนื้องอกไม่พบ ทว่าเนื้องอกตรงจุดนี้อาจส่งผลให้เกิดการสร้างฮอร์โมนบางชนิดขึ้นมา และส่งผลกระตุ้นฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองให้ผลิตฮอร์โมนเพศเร็วขึ้น ร่างกายของเด็กก็จะโตเป็นสาวเร็วกว่าปกตินั่นเอง         

ทั้งนี้สาเหตุโรคเป็นสาวก่อนวัยยังอาจเกิดจากความผิดปกติในร่างกาย เช่น การมีซีสต์หรือเนื้องอกที่รังไข่ อัณฑะ หรือต่อมเพศ ซึ่งสามารถส่งผลให้โตเป็นสาวก่อนวัยได้เช่นกัน รวมไปถึงความผิดปกติของต่อมหมวกไตซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศโดยตรง โดยกรณีนี้มักจะพบในเด็กที่เป็นโรค CAH (โรคต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนมากเกินไป) 
 

2. สาเหตุจากภายนอก
          สาเหตุนี้เกิดจากวิตามินหรือยาบางชนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศ และมักจะอวดอ้างสรรพคุณว่ากินแล้วจะโตเร็วขึ้น เมื่อเด็กหรือผู้ปกครองซื้อให้เด็กกินก็จะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนเพศ ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะสมไขมันนร่างกายเด็กมากขึ้น ทำให้ดูอวบ ๆ ตัวโตกว่าเด็กในวัยเดียวกัน อันเป็นผลพวงจากการได้รับฮอร์โมนเพศก่อนวัยนั่นเองค่ะ
 

3. กลุ่มเป็นสาวก่อนวัยโดยไม่มีสาเหตุ
          จริง ๆ แล้วต้องบอกว่ายังเป็นสาเหตุที่ไม่แน่ชัดเท่าไรนัก เนื่องจากโดยสถิติแล้วทุก ๆ 20 ปี มนุษย์จะมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วขึ้นประมาณ 6 เดือนหรือหนึ่งปีของอายุเกณฑ์เดิม ซึ่งในปัจจุบันเด็กผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 8 ขวบ ส่วนเด็กชายจะเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุ 9 ขวบ         

ทว่าในสมัยนี้กลับพบว่าการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ของเด็กอาจเกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการเกินหรือความอ้วน เนื่องจากพบว่า เด็กอ้วนมักจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าเด็กที่ผอม หรือบางทีก็พบว่าภาวะอ้วนเกิน (เข้าข่ายโรคอ้วน) เป็นปัจจัยให้การเจริญเติบโตตามวัยผิดปกติ เช่น เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วไปหรือช้าไป รวมทั้งปัญหาการมีประจำเดือนผิดปกติด้วย         

อย่างไรก็ดี มีการสันนิษฐานว่าระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคเป็นสาวก่อนวัยได้ เนื่องจากสารตั้งต้นของการสร้างฮอร์โมนเพศคือคอเลสเตอรอล และเมื่อเทียบกับสมัยก่อนก็พบว่า เด็กสมัยนี้มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงกว่าเด็กสมัยก่อนมาก โดยเมื่อ 30-40 ปีก่อนพบว่าระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของเด็กวัยเรียนอยู่ที่ 100-130 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์          

ทว่าผลตรวจระดับคอเลสเตอรอลในเด็กวัยเดียวกันเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่าระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงถึง 150-170 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ และมีแนวโน้มว่าระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของเด็กในยุคปัจจุบันจะเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากไลฟ์สไตล์การบริโภคอาหารของเด็กยุคนี้กับเด็กยุคก่อนค่อนข้างแตกต่างกัน และเด็กในยุคนี้ก็เสี่ยงต่อการได้รับปริมาณไขมันจากอาหารมากขึ้น ซึ่งอาจเพิ่มคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นวัตถุดิบของฮอร์โมนเพศมากขึ้น ก่อให้เกิดภาวะโตก่อนวัยได้


กินไก่ทำให้นมใหญ่จริงไหม
          เมื่อบอกว่าคอเลสเตอรอลมีผลต่อการเจริญวัยเร็วขึ้น ซึ่งก็คล้าย ๆ กับประเด็นที่เคยถกเถียงกันมาก่อนว่ากินไก่เยอะนมจะใหญ่ หน้าอกหน้าใจจะดูมดูม เพราะในไก่มีฮอร์โมนช่วยเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งจุดนี้ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ยืนยันว่า เนื้อไก่จากระบบอุตสาหกรรมและฟาร์มเลี้ยงไก่ที่ได้มาตรฐาน ส่วนใหญ่จะมีการตรวจสอบและการควบคุมการผลิตที่ดี โดยห้ามไม่ให้ใช้ฮอร์โมนในระบบการเลี้ยงไก่นั่นเอง ดังนั้นในเนื้อไก่จึงไม่มีฮอร์โมนช่วยเร่งการเจริญเติบโตของร่างกายแน่นอน        

ทว่าในประเด็นคอเลสเตอรอลที่ได้รับจากการกินไก่ในปริมาณมาก นั่นอาจเป็นปัจจัยเร่งฮอร์โมนเพศอย่างหนึ่งก็เป็นได้ โดยเฉพาะในสมัยนี้เด็ก ๆ ชอบรับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดอย่างไก่ทอด รวมทั้งอาหารไขมันสูง ๆ ประเภทอื่น ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลต่อระบบฮอร์โมนให้เกิดความผิดปกติขึ้นได้

โรคเป็นสาวก่อนวัย โรคเป็นสาวก่อนวัย สังเกตอาการจากอะไรได้บ้าง                 

ภาวะเป็นสาวก่อนวัยในเพศหญิง สามารถสังเกตอาการได้จาก

- เริ่มมีเต้านมโต และ/หรือ มีลักษณะบ่งชี้ถึงการเข้าสู่วัยสาวอื่น ๆ เช่น การตกขาวภายใน ก่อนอายุ 8 ขวบ       

- มีประจำเดือนก่อนอายุ 9 ขวบ

ส่วนในเด็กผู้ชาย เราสามารถสังเกตอาการได้จากการขยายขนาดของอัณฑะและองคชาติ หรือมีลักษณะการเข้าสู่วัยหนุ่มอื่น ๆ เกิดขึ้นก่อนอายุ 9 ขวบ    

โรคเป็นสาวก่อนวัย อันตรายไหม             

การเจริญเติบโตก่อนวัยที่ควรจะเป็นย่อมส่งผลเสียต่อร่างกายและอาจจะส่งผลต่อจิตใจของเด็กได้ โดยเราสามารถจำแนกผลเสียได้ดังนี้        

- ความสูงหยุดชะงัก
          การมีฮอร์โมนเพศเร็วเกินวัยอาจทำให้ในช่วงวัยเด็ก (อายุไม่เกิน 8 ขวบ) มีรูปร่างที่สูงกว่าเพื่อนวัยเดียวกัน แต่เมื่อโตเป็นวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่จะเตี้ยกว่าคนอื่น เนื่องจากฮอร์โมนเพศที่หลั่งออกมาผิดเวลาจะส่งผลให้การเจริญเติบโตของกระดูกปิดเร็วกว่าวัยปกติ เพราะร่างกายของเราเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ปลายกระดูกระหว่างข้อต่อจะปิดลงอัตโนมัติ ทำให้หยุดสูง ดังนั้นหากเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ก่อนอายุ 8 ขวบ พออายุสัก 10-12 ปีก็จะหยุดการเจริญเติบโตของร่างกายไว้เท่าที่มีแล้ว          

- เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม
          มีข้อสันนิษฐานทางการแพทย์ว่า การมีเต้านมขึ้นเร็วจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น เนื่องจากเนื้อเยื่อเต้านมถูกกระตุ้นจากฮอร์โมนเพศหญิงในเวลาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงภาวะเซลล์เนื้อเยื่อผิดปกติได้

- สภาพจิตใจของเด็ก

          เด็กที่โตเกินวัยบางคนอาจเกิดความอายที่มีหน้าอกก่อนเพื่อน มีประจำเดือนก่อนเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ซึ่งอาจถูกล้อเลียนหรือถูกรังแก จนสร้างปมด้วยในใจเด็กได้
 

- อันตรายจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
          เนื่องจากร่างกายที่โตเกินวัย อาจเพิ่มความเสี่ยงให้เด็กถูกข่มเหงรังแกจากเพศตรงข้าม หรือถูกล่วงละเมิดทางเพศจากบุคคลภายนอกได้ง่าย        

- ท้องไม่พร้อม
          แม้จะยังเป็นเด็กแต่ด้วยฮอร์โมนและสภาพร่างกายที่ดูโตเกินวัย อาจทำให้เกิดภาวะท้องไม่พร้อมขึ้นได้กับเด็กกลุ่มนี้
โรคเป็นสาวก่อนวัย รักษาได้ไหม
          การรักษาโรคเป็นสาวก่อนวัย จะเริ่มจากการที่แพทย์ตรวจหาสาเหตุของโรคก่อน เพื่อจะได้ทำการรักษาอย่างตรงจุด เช่น หากตรวจพบว่ามีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง ก็ต้องทำการรักษาเนื้องอกนั้น หรือหากตรวจพบว่าเด็กมีประวัติได้รับฮอร์โมนเพศจากยาหรืออาหารเสริม ก็จะให้ระงับยาหรืออาหารเสริมนั้น ๆ        

ส่วนกรณีที่ตรวจไม่พบสาเหตุดังที่กล่าวมา แพทย์จะรักษาโรคเป็นสาวก่อนวัยด้วยการฉีดยา GnRH-agonist เพื่อยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ซึ่งก็จะช่วยชะลอการเป็นสาวก่อนวัยได้ โดยฮอร์โมนสังเคราะห์ตัวนี้จำเป็นต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อเดือนละ 1 ครั้ง ติดต่อกันไปจนอายุ 10-12 ปี และเมื่อหยุดฉีดยาเด็กจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ภายใน 3-6 เดือน         

อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้จะเห็นผลได้ดีที่สุดเมื่อฉีดในเด็กที่ยังไม่มีประจำเดือน และเข้ารับการรักษาก่อนอายุ 8 ขวบนะคะ
 

โรคเป็นสาวก่อนวัย ป้องกันได้นะ                

- ควรจัดโภชนาการให้ลูกอย่างเหมาะสม ให้เขาได้รับอาหารที่หลากหลายและครบถ้วนตามหลักโภชนาการ       

- ควบคุมน้ำหนักให้ดี หากลูกอ้วนเกินไปให้ชวนเขาลดน้ำหนัก     

- ใส่ใจลูกอย่างใกล้ชิด พยายามสังเกตการเติบโตของเขาว่าผิดปกติหรือไม่ หากพบว่ามีภาวะโตเกินวัยให้รีบไปรักษาก่อนที่ประจำเดือนเขาจะมา

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรอบรมดูแลบุตรหลานอย่างใกลชิด และให้ความรักความใส่ใจกับเขาด้วยความอบอุ่น ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันภัยให้เด็กได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งยังเป็นกำลังใจที่จะช่วยส่งเสริมให้เขาเติบโตได้อย่างมีความสุขด้วยนะคะ

ที่มา            health.kapook.com  

อัพเดทล่าสุด