ผีอำ ... คืออะไร ? เป็นผีจริงหรือ ? เราโดนผีหลอกจริงหรือไม่ ?


2,710 ผู้ชม

เคยเป็นไหมนอน ๆ อยู่เหมือนมีใครไม่รู้มาทับที่หน้าอก จะขยับตัวก็ทำไม่ได้ อาการแบบนี้เรียกว่า ผีอำ ใช่ไหม? ...


ผีอำ ... คืออะไร ? เป็นผีจริงหรือ ? เราโดนผีหลอกจริงหรือไม่ ?

เคยเป็นไหมนอน ๆ อยู่เหมือนมีใครไม่รู้มาทับที่หน้าอก จะขยับตัวก็ทำไม่ได้ อาการแบบนี้เรียกว่า “ผีอำ” ใช่ไหม? เรียกว่าทำเอาวงการวิทยาศาสตร์มึนกันไปตาม ๆ กัน กับอาการข้างต้นที่คนในบ้านเรา เชื่อว่าเป็นผีอำ ซึ่งในความจริงแล้วจะใช่ผีหรือเป็นเพียงโรคร้าย

“ผีอำ” เป็นความเชื่อของคนหลายเชื้อชาติมาแต่โบราณว่า เมื่อเคลิ้มเกือบจนหลับไหลจะมีความรู้สึกอึดอัด เหมือนมีใครมากดทับที่ร่างกายไม่สามารถขยับตัวหรือส่งเสียงใด ๆได้ จึงเชื่อว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากผีแต่ในทางของวิทยาศาสตร์ ผีอำเกิดจากขณะที่กำลังจะหลับ มักจะเกิดจากโรคลมหลับ ซึ่งเป็นอาการผีอำที่เกิดขึ้นในขณะที่กำลังจะตื่น หรืออาจจะเกิดในคนที่อดนอนหรือนอนไม่พอมาหลายวัน หรือเข้านอนผิดเวลาก็เป็นได้

สำหรับอาการของผีอำ มักเกิดทันทีเมื่อหมดช่วงการหลับแบบตากระตุก โดยจะเป็นอยู่ไม่กี่นาที แล้วค่อย ๆ หายหรือหายทันทีเมื่อถูกเรียก ถูกสัมผัส ถูกปลุกโดยใครก็ได้ ผู้ที่เป็นผีอำจะรู้สึกว่าตนนั้นตื่นอยู่ แต่ขยับเขยื้อนไม่ได้ทั้งที่ตนได้พยายามขยับเขยื้อนแล้ว พยายามตะโกนเรียกให้คนช่วยแล้ว แต่ไม่มีคนได้ยิน เพราะไม่มีเสียงออกมา และเมื่อตื่นขึ้นจะจำเหตุการณ์และเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้

ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว มักเป็นการล้มตัวลงนอนด้วยความเหนื่อยล้าโดยเฉพาะหลังจากทำงานหรืออ่านหนังสือ แม้กระทั่งดูโทรทัศน์ เมื่อนอนด้วยความเหนื่อยล้าก็เกิดการประสานกันระหว่างสารเคมีกับสภาพชีวเคมีของร่างกาย เกิดอาการกดหรือค้างทำให้ขยับเขยื้อนร่างกายไม่ไหว

เนื่องจาก ขณะที่ตื่นอยู่สมองทำงานอยู่แต่ร่างกายขยับเขยื้อนไม่ไหว เหมือนมีใครมาคุมร่างกายอยู่ ผู้ที่เกิดอาการนี้จึงเชื่อมโยงว่ามีผีมาจับตัว ซึ่งที่แท้คือ ความไม่สัมพันธ์กันระหว่างสมองกับร่างกาย ซึ่งเป็นอาการชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้นเอง

ผู้ที่ถูกผีอำ ส่วนใหญ่จะนอนอยู่บนเตียง มีเป็นส่วนน้อยที่จะโดนอำในท่านั่งหลับบนเก้าอี้ หรือท่าที่ไม่สบายนัก และมักจะเกิดกับคนที่นอนหงายมากที่สุด ระยะเวลานานตั้งแต่ 2-3 วินาทีจนถึง 10 นาที โดยจะหายไปเอง หรือไม่ก็ผู้ที่ถูกผีอำพยายามเอาชนะอาการเอง หรือมีคนมาช่วยสะกิดปลุกให้ตื่นขึ้น

วิธีปราบผีอำ

วิธีการแก้อาการผีอำคือ การทำจิตใจให้สบาย ผ่อนคลายก่อนนอน หรืออาจใช้ยาประเภทคลายเครียดเข้าช่วย และเมื่อเกิดอาการผีอำแล้วให้นอนเฉย ๆสักพัก อาการจะหายไปเอง

ดูแลร่างกายให้ห่างผีอำ

สำหรับวิธีการดูแลร่างกายให้ไม่ต้องเผชิญกับผีอำ ก็ไม่ใช่เรื่องยาก โดยลองทำและไม่ทำวิธีการดังต่อไปนี้

สิ่งที่ควรทำ

-ใช้ห้องนอนสำหรับนอนและเรื่องบนเตียง (เช่นหายใจช้า ๆ ก่อนนอนสวดมนต์ ฯลฯ) ไม่ควรใช้ห้องนอนเล่นอินเตอร์เน็ต เขียนบล็อก ทำงาน โทรศัพท์ ฯลฯ

-ถ้าไม่มีห้องแยก (ทำทุกอย่างในห้องนอนห้องเดียว) ควรปรับแสงไฟ เช่นมีไฟสลัว ๆ ดวงพิเศษสำหรับสร้างบรรยากาศห้องนอน แล้วปิดไฟดวงอื่นๆให้หมดเปิดไฟดวงนี้ก่อนนอนอย่างน้อย 15 นาที ฯลฯ

-ออกกำลังเป็นประจำ จะเป็นเวลาไหนก็ได้ถ้าออกกำลังเบา ๆจนถึงแรงปานกลาง แต่ถ้าออกกำลังหนัก… ควรทำก่อนเวลานอน 1-2 ชั่วโมงขึ้นไป (ยกเว้นคนที่ร่างกายฟิตจริงๆ จะหายเหนื่อยเร็ว และหลับได้ตามปกติ)

-นอนและตื่นตรงเวลา ทั้งวันธรรมดาและวันหยุด

-วอร์มดาวน์ หรือปรับสภาพก่อนนอน เช่น อาบน้ำ สวดมนต์ ฟังเพลงช้าๆ ทำท่ายืดเส้นยืดสายหรือโยคะเบา ๆ (ท่าเบาๆ ไม่ใช่ท่าโหดๆ) ฯลฯ ก่อนนอน15-30 นาที

-ทำสมาธิ โดยฝึกหายใจช้า ๆ นาทีละไม่เกิน 10 ครั้ง วันละ 10-15 นาที

-จัดห้องนอนให้เงียบ มืด และเย็นหน่อย (ถ้าเป็นไปได้ควรปิดแสงจากภายนอก และไม่เปิดไฟนอน)

-หาทางลดเสียงรบกวนจากภายนอก ถ้าลดเสียงรบกวนไม่ได้…อาจเปิดพัดลมหรืออัดเสียงเรียบๆ เรื่อยๆ (white noise) เช่น เสียงคลื่นกระทบฝั่ง ฯลฯ ไว้ ใช้เครื่อง MP3 เล็กๆ เปิดเพื่อกลบเสียงรบกวน

สิ่งที่ไม่ควรทำ

-ไม่กินอาหารที่มีกาเฟอีนหลังอาหารกลางวัน เช่น กาแฟ ชา ชอคโกแล็ต โกโก้ น้ำอัดลมชนิดน้ำดำ เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ฯลฯ

-ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ (เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ) 6 ชั่วโมงก่อนนอน (เหล้าทำให้กรนมากขึ้น หลับเร็วขึ้น แต่หลับตื้น และตื่นง่ายขึ้น)

-ไม่ดูทีวีก่อนนอน (ประมาณ 1-2 ชั่วโมง) แต่ถ้าเป็นรายการเบาๆ ก็สามารถดูได้ เช่น สารคดี นิทานก่อนนอน ข่าวต่างประเทศ ฯลฯ ขณะที่รายการเครียดๆ เช่น ข่าว 3 จังหวัดภาคใต้ ควรหลีเลี่ยง

-ไม่สูบบุหรี่ก่อนนอน (บุหรี่ทำให้หัวใจเต้นแรง-เร็ว นอนหลับยากขึ้น)

ไม่เข้านอนทั้งที่หิว (หิวมากนอนหลับยาก อาจใช้วิธีเบาๆ สบายๆ เช่น ดื่มนมไขมันต่ำหรือนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม 1/2 แก้ว ผลไม้ เช่น กล้วย แอปเปิล 1/2 ผล ฯลฯ)

-ไม่กินอาหารมื้อใหญ่ 1-3 ชั่วโมงก่อนนอน (วิธีที่ดีคือ กินมื้อเย็นเป็นมื้อเล็กๆ มื้อเช้า-เที่ยงเป็นมื้อใหญ่) ส่วนผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease / GERD) ควรกินมื้อเย็นให้น้อยลงไปอีก

-ไม่รอจนง่วงแล้วค่อยเข้านอน ทางที่ดีคือเข้านอนก่อนง่วง การเข้านอนหลังง่วงเต็มที่อาจทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน เช่น ลุยทำงานดึกทำให้ร่างกายตื่นตัว อาจทำให้นอนดึกขึ้นเรื่อยๆ

-ไม่ออกกำลังหนักใกล้เวลานอน ให้ห่างออกไปสัก 1-3 ชั่วโมง

-ไม่ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ก่อนนอน 1-2 ชั่วโมง

-ไม่เปิดจอคอมพิวเตอร์ให้สว่างหลังพระอาทิตย์ตกดิน โดยควรปรับจอคอมฯ ตามเวลากลางวัน-กลางคืน กลางวันเปิดหน้าจอสว่างหน่อยได้ หลังพระอาทิตย์ตกดินควรเปิดไฟในบ้านให้สว่างน้อยลง เปิดจอคอมฯ ให้สว่างน้อยลง

-ไม่เปิดเพลงเร็วๆ เร้าใจ หรือเพลงดังๆ ก่อนนอน 1-2 ชั่วโมง ควรปรับเสียงต่ำ (เบส) ตามเวลากลางวัน-กลางคืน กลางวันเปิดเบสดังหน่อยได้ หลังพระอาทิตย์ตกดินควรลดเสียงเบสให้เบาลง

-ไม่นอนกอดอก เพราะอาจทำให้ฝันร้าย หรือรู้สึกคล้ายผีอำได้จากแรงกดของมือและแขน

อัพเดทล่าสุด