เด็กแกล้งกัน ปัญหาใหญ่กว่าที่คิด เรื่องเล็กๆ ที่ผู้ใหญ่ไม่ควรมองข้าม!


2,296 ผู้ชม

เด็กแกล้งกันเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจำนวนครั้งของการแกล้งกัน ความรุนแรงของการกลั่นแกล้ง และรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น...


เรื่องแกล้งกันของเด็กเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจำนวนครั้งของการแกล้งกัน ความรุนแรงของการกลั่นแกล้ง และรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในความรุนแรงในเด็กที่ควรแก้ไขและป้องกัน ทั้งเด็กที่ถูกแกล้ง เด็กที่ชอบแกล้งคนอื่น และเด็กที่เห็นการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน 
ความเข้าใจผิดว่าเด็กแกล้งกันบ้างเป็นธรรมดาของเด็กที่เล่นกัน ทำให้ผู้ใหญ่หลายคนไม่ใส่ใจการเล่นแกล้งกันของเด็ก และไม่ได้พยายามป้องกัน เด็กจำนวนหนึ่งถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนจนไม่สามารถเรียนหนังสือได้ดี ไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับเพื่อน กลายเป็นเด็กที่หงอยเหงา ไม่มีความสุข ไปจนถึงการเปลี่ยนเป็นเด็กที่ขาดความเชื่อมั่น ไม่ประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิต
ความเข้าใจที่ผิดอีกประการมาจากเรื่องความเป็นชาย เด็กผู้ชายถูกสอนให้แข็งแกร่ง แต่ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ใช้ความได้เปรียบด้านร่างกายเอาเปรียบคนอื่น หรือถ้าถูกแกล้ง ไม่มีใครมาช่วยเพราะเป็นเด็กผู้ชาย ต้องทนได้ ต้องตอบโต้กลับ เด็กที่ชอบกลั่นแกล้งคนอื่นมักมีปัญหาจากครอบครัว มีความไม่อบอุ่น ไม่ได้รับการเอาใจใส่ ไม่ถูกฝึกเรื่องวินัยในตนเอง เนื่องจากถูกปล่อยปละละเลย หรือขาดต้นแบบ หรือปล่อยตามใจจนขาดวินัย หรือโตมาในครอบครัวที่มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและทำร้ายเด็ก เด็กที่ถูกแกล้งมักเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตนเอง ขี้กลัว และมักมีท่าทีกังวล แยกตัว ไม่ค่อยมีเพื่อน 
การกลั่นแกล้งบางครั้งเป็นการเล่นเกมอำนาจที่เด็กที่แกล้งต้องการสร้างความเหนือกว่าเพื่อนให้กับตัวเองในทางที่ไม่ถูกต้อง รู้สึกว่าเป็นการสร้างให้ตนเองได้รับความสนใจ อาจรวมทั้งการสร้างกลุ่มที่ทำให้มีเพื่อนเข้ามายอมรับ เข้ามามีความสัมพันธ์ด้วยแบบยอมในความมีอำนาจเหนือกว่า ซึ่งเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะรุนแรงขึ้น จนในที่สุดกระทำความผิดตามกกหมาย
การกลั่นแกล้งทำได้หลายรูปแบบ ทั้งทางร่างกาย ทางวาจา การเรียกชื่อ ทางสังคม เช่น การไม่ยอมรับเข้ากลุ่ม การปล่อยข่าวลือ การแกล้งกันผ่านออนไลน์ ไปจนถึงการแกล้งกันไม่เฉพาะเด็กกับเด็ก แต่เป็นเด็กกับผู้ใหญ่ เช่น คุณครูในโรงเรียนด้วย เด็กผู้ชายมีแนวโน้มกลั่นแกล้งด้านร่างกาย เด็กผู้หญิงมีแนวโน้มใช้วาจา  
การป้องกันเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การปล่อยให้เด็กถูกกลั่นแกล้ง หรือปล่อยให้เด็กแกล้งคนอื่นซ้ำ ๆ รวมทั้งให้เด็กเห็นการแกล้งกันของเด็กคนอื่น ส่งผลทางลบต่อการเติบโตของเด็กทุกคน มาตรการในการป้องกันทำได้หลายวิธี ได้แก่

การรณรงค์เรื่องการไม่แกล้งกัน  ให้ทุกคนตระหนักว่าการแสดงออกที่แสดงถึงการกลั่นแกล้งกันเป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการยอมรับ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมด้วยการไม่ยอมรับ โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อนที่เห็นเพื่อนแกล้งกัน ต้องสามารถเป็นผู้บอกหรือเปิดเผยการแกล้งกันให้เกิดการจัดการแก้ไข การติดตามสถานการณ์การแกล้งกัน และนำมาสื่อสารเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการทำซ้ำหรือรุกลาม ช่วยให้ทุกคนเข้าใจชัดเจนว่าไม่แกล้งกัน

การมีกฎของโรงเรียนหรือบ้านที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการแกล้งกัน และการปิดโอกาสที่จะเกิดการแกล้งกัน เช่น หากเกิดการกระทบกระทั่งกันทางร่างกายจะต้องเข้าสู่การดูแลของผู้ใหญ่ และมีแนวทางให้เด็กได้เรียนรู้ว่าไม่อนุญาตให้ใช้กำลังกัน และต้องมีความรับผิดชอบต่อพฤติกรรมที่ตนเองกระทำต่อผู้อื่น รวมทั้งการจัดการทางกายภาพ อย่าให้มีจุดอับ จุดลับตา หรือช่วงเวลาที่เด็กอยู่กันตามลำพังโดยไม่มีใครดูแลเป็นเวลานาน

- สร้างกิจกรรมทางเลือกให้เด็ก ที่สามารถทำกิจกรรม แสดงออก ได้รับการยอมรับ ความสนใจในรูปแบบที่หลากหลาย  ทั้งเป็นการดึงให้เด็กใช้เวลากับการลงมือทำสิ่งที่ตนเองสนใจ รู้สึกได้รับการยอมรับ ได้ระบายความทุกข์ ความไม่สบายใจด้วยการทำกิจกรรม 

ติดตามสัญญาณที่แสดงว่าเกิดการแกล้งกัน เด็กที่ถูกแกล้งอาจจะดูกังวล หวาดกลัวเมื่อต้องไปในที่ที่ตนจะถูกแกล้ง  อดข้าว เงิดหมดโดยอธิบายไม่ได้ ขอเงินเพิ่ม ของหายบ่อย ๆ  มีร่องรอยตามร่างกาย หรือแสดงออกทางอ้อม เช่น ผ่านการวาดภาพ ไม่มีสมาธิ ผลการเรียนแย่ลง ไม่อยากไปโรงเรียน รู้สึกไม่สบายอยากหยุดเรียน ขอไม่เข้ากิจกรรมบางอย่าง เป็นต้น ในขณะเดียวกันเด็กที่แกล้งคนอื่นอาจเป็นตรงกันข้าม มีเงินใช้  มีเพื่อนแวดล้อม เลี้ยงเพื่อน ชอบหลบไปอยู่บางบริเวณที่มักเป็นจุดอับ เป็นต้น  ที่สำคัญต้องสร้างความมีส่วนร่วมให้เด็กทุกคนช่วยรายงานโอกาสที่จะเกิดการแกล้งกัน เพราะเด็กที่ถูกกระทำและกระทำคนอื่นจะไม่บอกว่าตัวเองถูกกระทำหรือไปแกล้งเขา

หากสงสัยว่ามีการแกล้งกันต้องเข้าไปแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นซ้ำ ๆ อีก สอนเด็กว่าถ้าเห็นการแกล้งกันเขาสามารถบอกได้อย่างไร ถ้าเป็นเด็กที่ถูกแกล้งเขาควรได้รับการดูแล พูดคุย ให้กำลังใจ ให้เพิ่มทักษะในการที่จะจัดการสถานการณ์ โดยไม่จำเป็นต้องตอบโต้ หรือหลบเลี่ยงตลอดเวลาจนกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความสุข การแสดงท่าทีเพื่อให้ผู้แกล้งรู้ว่าเขามั่นคงขึ้น และจะไม่ยอมไปเรื่อย ๆ ต้องรวมการแก้ไขที่เด็กที่เป็นผู้กระทำด้วย จัดสิ่งแวดล้อมอย่าให้สองฝ่ายต้องเผชิญหน้ากัน ช่วยแก้ไขความขัดแย้งในใจที่ผลักดันให้เด็กอยากระบายออกด้วยการแกล้งคนอื่น ถ้าไม่มั่นใจในการดูแลส่งต่อ ปรึกษาผู้ให้คำปรึกษามืออาชีพ
เด็ก 8 ใน10 คนเคยเห็นการแกล้งกันด้วยวาจา เด็ก 4 ใน 10 คน เคยเห็นการแกล้งกันทางร่างกาย เด็ก 1ใน 10 คน เคยถูกกลั่นแกล้ง ปัญหาการแกล้งกันของเด็ก ไม่ใช้เรื่องเล่น ๆ ของเด็ก แต่เป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันป้องกันให้เกิดน้อยที่สุด

ที่มา: https://www.healthtoday.net/thailand/Mind-spirit_n/Mind-spirit187_3.html

อัพเดทล่าสุด