รวมพลังแห่งความรักชาติ เพื่อพลิกหน้าประวัติศาสตร์ ... กองกำลัง กิเฮไต


1,093 ผู้ชม

เรื่องราวของ กลุ่มมวลชนผู้รักชาติ เพื่อล้มล้างระบอบการปกครองที่กดขี่ และปกป้องประเทศจากการแทรกแซงของมหาอำนาจล่าอาณานิคม ...


รวมพลังแห่งความรักชาติ เพื่อพลิกหน้าประวัติศาสตร์ ... กองกำลัง กิเฮไต

เรื่องราวของ กลุ่มมวลชนผู้รักชาติ เพื่อล้มล้างระบอบการปกครองที่กดขี่ และปกป้องประเทศจากการแทรกแซงของมหาอำนาจล่าอาณานิคม นี่เป็นเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่ง ในหน้าประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ที่น้อยคนจะรับรู้

ในสมัยปฏิรูป โจชู ซึ่งเป็นแคว้นหัวหอกสำคัญของการปฏิรูปญี่ปุ่นที่มุ่งเชิดชูแนวคิด ซนโน-โจอิ หรือ เชิดชูองค์จักรพรรดิ ขับไล่คนเถื่อน (ชาวตะวันตก) ได้ก่อตัวขึ้นแล้วแพร่ออกไปสู่ประชาชน แต่ด้วยความที่ฝ่ายรัฐบาลบากุฝุก็พยายามกวาดล้างฝ่ายโจชูทุกวิถีทาง ไม่ว่าจะทั้งทางด้านการเมือง การเจรจา ไปจนถึงการใช้กำลังทหารเข้าเปิดศึกกดดันด้วยความรุนแรง จนนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญที่นำความสูญเสียมาให้โจชูอย่างมาก

นั่นคือ ศึกที่ประตูคินมอน ซึ่งฝ่ายทหารของโจชูโดนผลักให้กลายเป็นกลุ่มกบฏ กระทั่งพวกเขาโดนทหารของบากุฝุเข้าโจมตี อีกทั้งพวกซัตสึมะที่เป็นแนวร่วมเดียวกันมาก่อน ก็กลับยืนอยู่ฝ่ายบากุฝุแทน ทำให้โจชูสูญเสียกำลังไปมาก จนยากที่จะลุกขึ้นมาเป็นแกนนำในการปฏิรูปได้อีกต่อไป

ในช่วงเวลานั้น ได้มีซามูไรหนุ่มสองคนที่เป็นแกนนำของคนหนุ่มหัวรุนแรงในโจชู พวกเขาต่างก็พยายามพลิกสถานการณ์ของบ้านเกิด เพื่อให้กลับมาเป็นเสาหลักในการปฏิรูป และต่อสู้กับรัฐบาลอีกครั้ง นั่นคือ คัตสึระ โคโกโระ และ ทากาสุงิ ชินซากุ

ซามูไรหนุ่มทั้งสองเป็นเพื่อนรักที่มีอุดมการณ์เดียวกัน นั่นคือ ล้มล้างระบอบโชกุน โค่นล้มรัฐบาลบากุฝุที่มีแนวทางอนุรักษ์และคร่ำครึ อีกทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาการเสียเปรียบกับชาวตะวันตกที่เข้ามาในประเทศได้ นำไปสู่การทำสนธิสัญญาคานางาวะ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่พวกปัญญาซามูไรในหลายแคว้นต่างก็ไม่เห็นด้วย แล้วเห็นว่ารัฐบาลอ่อนแอเกินกว่าจะปกป้องประเทศได้ ทำให้พวกซามูไรหัวรุนแรงที่เป็นแกนนำในโจชูต่างลงความเห็นตรงกันว่า ควรสร้างกองทัพญี่ปุ่นใหม่ให้เข้มแข็ง และปฏิรูประบบการปกครอง ยกเลิกตำแหน่งโชกุน

ทากาสุงิ ซึ่งเป็นคนที่มีบุคลิกตรงไปตรงมา ห้าวหาญ แต่ก็มีวิสัยทัศน์ เขาสนใจเรื่องยุทโธปกรณ์ และกลยุทธ์การรบแบบตะวันตกมากเป็นพิเศษ ในเวลานั้น ด้วยผลกระทบจากสนธิสัญญาคานางาวะ ที่ทำให้ซามูไรฝ่ายเชิดชูองค์จักรพรรดิต่างก็คัดค้านอย่างรุนแรง โจชูได้ก่อตั้งกองกำลังขึ้นเพื่อเตรียมทำศึกกับชาติมหาอำนาจตะวันตก นี่คือที่มาของยุทธการศึกที่ชิโมโนเซกิครั้งแรกในระหว่าง ค.ศ.1863

แต่ก่อนหน้านั้นไม่กี่เดือน ทากาสุงิประเมินสถานการณ์แล้วว่า จะต้องเกิดสงครามระหว่างโจชูกับชาติมหาอำนาจตะวันตกแน่ จึงได้คิดสร้างกองกำลังทหารของประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น นั่นคือ กองกำลัง “กิเฮไต” (Kiheitai)

กองกำลังนี้เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดการทำสงครามแบบกองโจรที่ติดอาวุธสมัยใหม่เต็มรูปแบบ โดยเป็นกองทหารที่มาจากประชาชน ซึ่งไม่ต้องเป็นชนชั้นซามูไรก็ได้ นับว่าเป็นเรื่องใหม่มากในสมัยนั้น มีจำนวนคนประมาณ 300-400 คน ผสมสานมาจากหลากหลายชนชั้นของสังคม ไม่ว่าจะเป็น ซามูไร พ่อค้า ชาวนา และอื่นๆ ขอเพียงมีใจอาสาที่ต้องการต่อสู้กับชาวตะวันตก และเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองก็พอ

ที่สำคัญคือ กองกำลังนี้จะฝึกฝนอาวุธแบบตะวันตกอย่างจริงจัง เน้นการลอบโจมตีมากกว่าจะเข้าปะทะโดยตรง เพราะมีจำนวนน้อย การรบยังเน้นรูปแบบทั้งทางบกและทางเรือ ทหารส่วนมากอาสามาจากโจชูเป็นหลัก แต่ก็มีคนของแคว้นและหัวเมืองอื่นๆ ร่วมด้วย ทากาสุงิยังสามารถหาผู้สนับสนุนจากหลายฝ่ายได้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าวาณิชย์ ไดเมียว หรือกระทั่งชาวนาที่มีฐานะ

แต่แล้ว ทากาสุงิ กลับโดนเจ้านายของแคว้นโจชูกักขังไว้ เพราะเวลานั้นสถานการณ์ที่เกียวโตได้เกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากขุนนางและผู้มีอำนาจของฝ่ายที่ต่อต้านแนวคิดซนโนโจอิของโจชูที่เกี่ยวโตก็ได้วิ่งเต้นหลายอย่าง ทำให้กระแสสังคมเปลี่ยนไป คนของโจชูที่กำลังผงาดในรัฐบาล ก็โดนลดบทบาททางการเมือง และโดนโจมตีอย่างหนัก ส่วนหนึ่งมาจากความกลัวว่า หากฝ่ายโจชูขึ้นมาชี้นำรัฐบาลได้แล้ว จะก่อสงครามกับชาติตะวันตก ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลบากุฝุไม่ต้องการ

แต่สุดท้าย ทางโจชูก็ต้องยอมเรียกตัวทากาสุงิกลับมาคุมกองทัพ เพราะกองทัพเรือของโจชูได้เปิดฉากสู้รบกับกองทัพเรือของสี่ชาติตะวันตก คือ อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส และฮอลันดา แต่การสู้รบก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ทางแคว้นจึงต้องเรียกตัวทากาสุงิกลับมาคุมกองทัพสู้ศึก แล้วแต่งตั้งให้เขาเป็นแม่ทัพด้วยอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น สิ่งที่ทากาสุงิทำก็คือ ปฏิรูปกองทัพให้เข้มแข็ง ทันสมัย และเจรจาสงบศึกกับชาติตะวันตกชั่วคราว

ทากาสุงิได้เรียนรู้และศึกษากลยุทธ์การรบแบบตะวันตก รวมถึงนำอาวุธทันสมัยเข้ามาใช้กับกองกำลังกิเฮไต กองกำลังจะไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ ทุกคนถือเป็นทหารอาสาที่เข้ามาต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเมือง และขับไล่ชาวตะวันตก แต่เมื่อสถานการณ์ในเมืองหลวงของฝ่ายโจชูกำลังย่ำแย่ เพราะเหตุการณ์ที่ประตูคินมอน ทำให้พวกโจชูกลายเป็นแคว้นกบฏที่รัฐบาลมุ่งจะกำจัด

ทากาสุงิในฐานะที่เป็นผู้นำกองกำลังจึงตัดสินใจนำคนของเขาแยกตัวออกจากแคว้น มีแกนนำสำคัญที่ร่วมด้วยคือ ยามากาตะ อาริโทโมะ, อิโต ฮิโรบุมิ และ อิโนอุเอะ คาโอรุ ทั้งหมดรวมกำลังกันที่เกาะคิวชู เป้าหมายของทากาสุงิคือ ต่อให้ต้องใช้กำลัง หรือเกิดสงครามกลางเมืองในโจชู แต่ก็ต้องทำให้ทางแคว้นเปลี่ยนนโยบายทางทหาร และการเมืองกลับมาให้ได้

โดยผู้ที่สนับสนุนกิเฮไตอย่างลับๆ ก็คือ เพื่อนของเขา นั่นคือ คัตสึระ โคโกโระ ซึ่งในเวลานั้นถือว่า เป็นผู้มีอำนาจระดับต้นๆ ในแคว้น แต่คัตสึระก็ตกเป็นเป้าสังหารของรัฐบาลไปแล้วเช่นกัน ดังนั้น เป้าหมายร่วมของทั้งสองคนคือ ใช้กำลังทหารเข้ากดดัน และเปลี่ยนแปลงนโยบายของโจชูให้ได้ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จในปีถัดมา

ทากาสุงิ สามารถทำให้โจชูนำเข้าอาวุธปืนจากตะวันตกได้เป็นจำนวนมาก แล้วกองกำลังกิเฮไตก็ได้เป็นรากฐานของกองกำลังต่อต้าน แล้วก็นำไปสู่สงครามกับรัฐบาลบากุฝุที่เคลื่อนทัพใหญ่หมายจะปราบกบฏโจชูให้ราบ แต่แล้วกลับกลายเป็นรัฐบาลที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป ซึ่งกองกำลังกิเฮไต ถือว่าเป็นกำลังหลักของโจชูที่เอาชนะฝ่ายรัฐบาลได้สำเร็จ จากนั้นทากาสุงิก็นำกิเฮไตเข้าร่วมสงครามใหญ่น้อยอีกหลายครั้ง รวมไปถึงศึกใหญ่อย่างสงครามโบชินในระหว่าง ค.ศ.1868-1869

แต่ทากาสุงิซึ่งเป็นผู้นำ กลับไม่ได้มีโอกาสอยู่เห็นชัยชนะในสงครามโบชิน เพราะเขามีอาการป่วยเรื้อรังด้วยวัณโรคมานานหลายปี หลังจากฝืนร่างกายอยู่นานเพื่อทำศึก เขาก็ได้ใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอยู่กับภรรยา แล้วสิ้นชีพลงใน ค.ศ.1867 ด้วยอายุเพียงแค่ 28 ปีเท่านั้น

จากนั้น ยามากาตะ อาริโทโมะ ก็ได้รับช่วงบัญชาการกิเฮไตต่อมา หลังจากสงครามโบชินยุติลง บทบาทของกิเฮไตในฐานะกองกำลังทหารอาสาก็ไม่จำเป็นอีก จึงสลายตัวลงอย่างเป็นทางการใน ค.ศ.1870 พร้อมๆ กับการก่อตั้งราชนาวีญี่ปุ่น

ในประวัติศาสตร์ถือว่า กิเฮไต ที่ทากาสุงิ ชินซากุ ใช้จิตวิญญาณทุ่มเทสร้างขึ้นนั้น คือรากฐานสำคัญของกองทัพโจชูที่มีส่วนอย่างมากในการทำสงครามทั้งภายในและภายนอก เพื่อปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศ เป็นกองกำลังที่มาจากประชาชน และใช้รูปแบบการทำสงครามด้วยกลยุทธ์สมัยใหม่อย่างจริงจังเป็นกลุ่มแรกของญี่ปุ่น

อัพเดทล่าสุด