โรคอันตรายถึงชีวิตที่มากับ นกพิราบ


1,537 ผู้ชม

ไม่ว่าจะตามที่พักอาศัย ใต้เสาไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งบนท้องถนนสาธารณะ เราอาจจะเคยเห็นนกพิราบที่มักรวมกลุ่มกันเป็นกองทัพบ้าง ฉายเดี่ยวบ้าง ดูๆ ไปก็น่ารักน่าเอ็นดูสำหรับคนรักสัตว์ ...


โรคอันตรายถึงชีวิตที่มากับ นกพิราบ

ไม่ว่าจะตามที่พักอาศัย ใต้เสาไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งบนท้องถนนสาธารณะ เราอาจจะเคยเห็นนกพิราบที่มักรวมกลุ่มกันเป็นกองทัพบ้าง ฉายเดี่ยวบ้าง ดูๆ ไปก็น่ารักน่าเอ็นดูสำหรับคนรักสัตว์ แต่หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยดูข่าว ดูสารคดีมาบ้าง คุณอาจจะทราบว่านกพิราบจรจัดเหล่านี้ เป็นแหล่งเชื้อโรคชั้นดีที่ทำให้มนุษย์อย่างเราป่วยจนเสียชีวิตมาแล้ว

โรคอันตรายที่มากับ “นกพิราบ”

  1. โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

ปกติแล้วโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ สามารถเกิดขึ้นได้จากเชื้อโรค เชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียจากสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเราที่มาจากที่อยู่อาศัย สภาวะแวดล้อมไม่สะอาดนัก หรือมาจากพยาธิที่มากับอาหารที่ไม่สะอาด กึ่งสุกกึ่งดิบ

เชื้อเหล่านี้เข้าสู่ร่างกายผ่านทางเดินหายใจ สูดดมเอาเชื้อโรคเข้าไป ซึ่งอาจพบได้ในมูลของนกพิราบ ที่จะมีเชื้อราอยู่ชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ อาจจะหายใจเอาละอองมูลแห้งเข้าไป หรือมืออาจจะสัมผัสโดนมูลนกพิราบ แล้วไม่ได้ทำความสะอาดมือ หยิบจับอาหารเข้าปาก เราก็ติดเชื้อผ่านทางเดินอาหารได้เช่นกัน

อาการของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

- มีไข้ ปวดศีรษะ มีอาการตึงๆ ที่ลำคอ

- อาจจะมีอาการตาสู้แสงจ้าไม่ได้

- หากติดเชื้อจากไวรัส อาการจะไม่รุนแรงมาก หากเป็นคนมีภูมิต้านทานดี หากไปพบแพทย์เพื่อทานยา ก็จะหายเป็นปกติได้

- หากติดเชื้อจากแบคทีเรีย อาการอาจรุนแรงมาก อาจมีอาการชักเกร็ง หมดสติ พิการ เช่น อัมพาต หูหนวก ปากเบี้ยว สมองพิการ หรือเสียชีวิตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

 pigeon-1

  1. โรคคริปโตคอกโคสิส

ปกติจะเป็นโรคของสัตว์ ที่เกิดจากการติดเชื้อรา Cryptococcus neoformans ที่พบได้ทั่วโลก ส่วนใหญ่จะพบสัตว์ประเภท แมว สุนัข เฟอร์เร็ต หนูตะเภา ม้า แกะ แพะ สุกร ลามะ และอื่นๆ ที่อาจป่วยด้วยโรคนี้ แต่เชื้อราประเภทนี้สามารถพบได้ในมูลของนกพิราบ และนกอื่นๆ เช่น นกคานารี นกหงษ์หยก นกแก้ว นกกระตั้ว นกแขกเต้า ไก่ นกกระจอก นกเอี้ยง นกเขา ซึ่งนกเหล่านี้จะไม่แสดงอาการป่วยออกมา

อาการของโรคคริปโตคอกโคสิส

โรคคริปโตคอกโคสิสเป็นโรคในสัตว์ แต่คนก็สามารถติดโรคนี้ได้เช่นกัน หากเป็นคนที่ภูมิต้านทานต่ำ อาจหายใจเอาเชื้อราจากดินรอบๆ ที่เลี้ยงสัตว์ หรือจากมูลสัตว์อย่างนกพิราบเข้าไปในทางเดินหายใจ ทำให้เป็นไข้ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก มีปัญหาทางด้านการมองเห็น มึนงง หากมีอาการติดเชื้อที่ปอด หรือสมอง อาจมีอาการสับสน หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ

  1. ปอดอักเสบ

จากเชื้อราชนิดเดียวกัน (เชื้อรา Cryptococcus neoformans) หากสูดดมเอาละอองสปอร์ หรือเชื้อราชนิดนี้เข้าไปในปอด ก็อาจทำให้ปอดอักเสบได้ เริ่มจากอาการปอดติดเชื้อก่อน แล้วอาจค่อยๆ ลามไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แล้วจะเริ่มมีอาการคล้ายๆ กับ 2 โรคที่กล่าวมา นั่นคือ มีไข้ ปวดศีรษะเป็นพักๆ หน้ามืด วิงเวียน ปวดขมับ เบ้าตา หรืออาจถึงขั้นอาเจียน ไอแล้วเสมหะมีเลือดปน อาจมีหลอดลมอักเสบร่วมด้วย และที่สำคัญอาจติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้

อันตรายจากนกยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ยังมีโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินหายใจอีกมากมาย รวมไปถึงไข้หวัดนกที่มีสาเหตุเริ่มต้นมาจากนกอีกด้วย ดังนั้นผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ควรจะหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อดังกล่าว และรู้จักป้องกันตัวเอง เช่น สวมผ้าปิดปากและจมูก เวลาทำความสะอาดอาคารเก่า หรือบริเวณทีพบนกอาศัยอยู่ เพราะอาจเป็นแหล่งที่มีเชื้อโรคจากมูลนกปนเปื้อน และล้างมือทุกครั้งหลังทำความสะอาด

นอกจากนี้ การไล่นกจากที่อยู่อาศัยสามารถทำได้ด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ กั้นตาข่าย ตะแกรง หรือขึงเอ็นกีดขวางเพื่อไม่ให้นกทำลายแล้วเข้ามาอาศัยในอาคารได้ หรือการไล่นกด้วยกลิ่น เช่น กลิ่นสกัดจากสารในเม็ดองุ่น หรือใช้สารเคมีที่มีผลโดยตรงกับเยื่อบุหลอดลมของนก ได้แก่ การบูร พิมเสน ลูกเหม็น เป็นต้น

อัพเดทล่าสุด