ระวัง! 5 โรคอันตรายถึงชีวิตที่มาพร้อมกับ ยุง


1,505 ผู้ชม

ถึงแม้ว่าเราจะพบเห็น ยุง ในเมืองไทยกันบ่อยจนเป็นเรื่องธรรมดา เห็นเกาะแขนเกาะขา หรือบินวนๆ อยู่รอบๆ ก็หันไปตบกันเปาะแปะๆ หรือถูกกัด ...


ระวัง! 5 โรคอันตรายถึงชีวิตที่มาพร้อมกับ ยุง

ถึงแม้ว่าเราจะพบเห็น "ยุง" ในเมืองไทยกันบ่อยจนเป็นเรื่องธรรมดา เห็นเกาะแขนเกาะขา หรือบินวนๆ อยู่รอบๆ ก็หันไปตบกันเปาะแปะๆ หรือถูกกัดเมื่อไร ก็ปล่อยทิ้งไว้บ้าง ทายาหม่องบ้าง เดี๋ยวก็หายไปเอง แต่จริงๆ แล้วแค่ "ยุงกัด" เนี่ยแหละที่ทำให้คนตัวใหญ่ๆ ล้มหมอนนอนเสื่อ เข้าโรงพยาบาล หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตมาแล้ว จะมีโรคอะไรบ้าง เราีคำตอบค่ะ

1. ไข้เลือดออก

พาหะ : ยุงลาย ที่ออกหากินตอนกลางวัน (ปัจจุบันพบยุงลายตอนกลางคืน ช่วงโพล้เพล้อยู่บ้าง)

อาการ : หลังถูกยุงลายกัด 5-8 วัน จะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดเมื่อยตามร่างกาย เบื่ออาหาร หรืออาจอาเจียน มีผื่นแดงๆ ตามร่างกาย อาจเลือดออกง่าย ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ และเสี่ยงต่ออาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ช็อก ชัก บวม แน่นหน้าอก ปวดท้อง หรือมีเลือดออกในอวัยวะภายใน

2. มาลาเรีย

พาหะ : ยุงก้นปล่อง พบได้มากในป่า พื้นที่รกๆ อากาศร้อนชื้น แหล่งน้ำต่างๆ หรือพื้นที่อื่นๆ ทั่วไป

อาการ : มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน หน้าซีดปากซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย เริ่มเข้าสู่ภาวะโลหิตจาง ตัวเหลืองเหมือนดีซ่าน และอาจมีปัสสาวะสีเข้มเหมือนสีน้ำปลา

3. เท้าช้าง

พาหะ : ยุงหลายชนิด

อาการ : มีไข้สูงเฉียบพลัน หลอดน้ำเหลือง และต่อมน้ำเหลืองอักเสบ โดยอาจพบได้บริเวณอวัยวะต่างๆ เช่น ขา ช่องท้องด้านหลัง ท่อน้ำเชื้ออสุจิ หรือเต้านม ผิวหนังบริเวณที่อับเสบจะบวมแดง มีน้ำเหลืองคั่ง คลำเป็นก้อนขรุขระ แต่ในบางรายอาจไม่แสดงอาการบวมชัดเจน

4. ไข้ปวดข้อยุงลาย (ชิคุนกุนย่า)

พาหะ : ยุงลาย

อาการ : อาการคล้ายไข้เลือดออกมาก แต่ไม่พบการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือด จึงไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการช็อก

5. ไข้สมองอักเสบ

พาหะ : ยุงรำคาญ พบในนาข้าว เพราะเป็นแหล่งแพร่พันธุ์ และมีหมูเป็นรังของโรค โดยยุงรำคาญไปกัดหมูที่เป็นโรค และแพร่เชื้อต่อสู่คน และสัตว์อื่นๆ

อาการ : หลังรับเชื้อ 5-15 วัน จะมีไข้สูง อาเจียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย หลังจากนั้นจะเริ่มมีอาการผิดปกติทางสมอง เช่น คอแข็ง สติสัมปชัญญะลดลง ซึม หรือ เพ้อ คลั่ง ชัก หมดสติ หรืออาจมือสั่น เป็นอัมพาต ซึ่งหลังจากอาการของโรคหายไป อาจหลงเหลือความผิดปกติของสมองอยู่บ้าง เช่น พูดไม่ชัด เกร็ง ชัก หรือสติไม่ค่อยปกติ

การป้องกันของโรคก็ง่ายๆ แค่ระวังอย่าให้โดนยุงกัด ไม่ว่าจะเป็นหลีกเลี่ยงแหล่งที่มียุงชุม เช่น ในป่าทึบ แหล่งน้ำนิ่ง ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงรอบบ้าน และใช้ยาป้องกันยุงเมื่อจำเป็น นอกจากนี้หากมีอาการเป็นไข้สูงหลังจากโดนยุงกัดประมาณ 1-2 สัปดาห์ ควรสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นโรคเหล่านี้ และรีบพบแพทย์โดยด่วนค่ะ

อัพเดทล่าสุด