8 วิธี เอาตัวรอดจาก ... ไฟดูด-ไฟช็อต


3,437 ผู้ชม

อ่านข่าวที่ลูกชายวัย 5 ขวบ ช่วยแม่ที่ถูกไฟดูดให้รอดชีวิตออกมาได้จากการ ถีบ เพราะเคยเห็นทางสารคดีในทีวี ...


8 วิธี เอาตัวรอดจาก ... ไฟดูด-ไฟช็อต

อ่านข่าวที่ลูกชายวัย 5 ขวบ ช่วยแม่ที่ถูกไฟดูดให้รอดชีวิตออกมาได้จากการ “ถีบ” เพราะเคยเห็นทางสารคดีในทีวี รู้อย่างนี้ปลื้มใจ ที่เด็กตัวเล็กๆ ยังมีความรู้ในเรื่องของการช่วยคนจากไฟดูด แต่การถีบแรงๆ จะใช่วิธีที่ถูกต้องหรือไม่ หรือมีวีธีอื่นที่สามารถช่วยเหลือผู้ที่ถูกไฟดูดได้เหมือนกันหรือไม่ ลองมาดูกันค่ะ

วิธีเอาตัวรอดจาก “ไฟดูด-ไฟช็อต”

ในกรณีที่โดนไฟดูดเอง

  1. ตั้งสติ รวบรวมแรงทั้งหมดที่มี กระชากมือ แขน ขา หรืออวัยวะที่สัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดไฟดูดออกมาให้ได้มากที่สุด ถ้าไม่ได้ผลให้ตะโกนให้คนอื่นช่วย
  2. อย่าให้คนที่เข้ามาช่วยสัมผัสกับร่างกายของคุณโดยตรงเด็ดขาด จับแขน จับขาไม่ได้เลย
  3. หากมองหาสิ่งที่ไม่นำไฟฟ้าได้ เช่น ไม้ ผ้า พลาสติก ให้ตะโกนบอกผู้อื่นให้นำมาช่วยเขี่ยสายไฟ ตัวนำไฟฟ้าออก หรือฉุดกระชากร่างของตนเองออกอย่างรวดเร็ว
  4. รอการช่วยเหลือจากผู้อื่นอย่างมีสติ หากผู้ที่มาช่วยทำอะไรไม่ถูก ให้โทรหา 1669 สายด่วนกู้ชีพ

ในกรณีที่เข้าไปช่วยผู้ที่ถูกไฟดูด

  1. อย่าผลีผลามเข้าไปช่วยด้วยการสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของเขาโดยตรง รักษาระยะห่างกับผู้ที่โดนไฟดูดก่อนเล็กน้อย สังเกตให้ดีว่าต้นตอของไฟฟ้าที่รั่วออกมาจนดูดเขานั้นมาจากไหน แล้วอยาห่างจากบริเวณนั้นก่อน
  2. หากอยู่ในบ้าน ไม่ได้ใส่รองเท้า ให้วิ่งไปหารองเท้ามาใส่ก่อน อย่าให้เท้าอยู่ติดพื้น หากไม่มีรองเท้า ให้ยืนบนผ้าหนาๆ กองหนังสือ กล่องไม้ ลังกระดาษ ได้เช่นกัน
  3. มองหาสิ่งของที่ไม่นำไฟฟ้า เช่น ไม้ ผ้า กระดาษแข็ง ด้ามพลาสติก สายยาง ถุงมือยางหนาๆ เชือก (ทุกอย่างต้องแห้ง ไม่เปียกน้ำ) สามารถใช้ของเหล่านี้เขี่ยเอาสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโดนไฟดูดออกไปจากร่างของผู้ป่วยได้ เช่น เขี่ยเอาสายไฟออก เขี่ยมือ แขน หรือ เท้าออกจากบริเวณที่มีไฟดูด เป็นต้น หรือหากผู้ป่วยโดนไฟดูดทั้งร่าง ให้ใช้ผ้าแห้งพันมือหนาๆ แล้วผลักหรือฉุด กระชากผู้ป่วยออกมาแรงๆ อย่างรวดเร็ว (ต้องสวมรองเท้าอยู่ด้วยนะ)
  4. หากจะเลือกช่วยด้วยการถีบ สามารถทำได้ แต่บริเวณข้างๆ ผู้ที่ถูกไฟดูดต้องมีพื้นที่โล่งๆ ให้ผู้ป่วยล้มตัวลงไปโดยไม่เกิดบาดแผลเจ็บตัวมากด้วย ถ้าจะถีบให้บอกผู้ป่วยด้วยวาจาก่อน แล้วค่อยถีบช่วงก้นหรือสะโพกเร็วๆ แรงพอประมาณ เอาให้หลุดออกมาจากบริเวณนั้นทั้งตัวให้ได้ในครั้งเดียว แต่หากเป็นไปได้ให้เลี่ยงไปใช้วิธีในข้อ 3 เพราะวิธีนี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บเพิ่มเติม

    fuse
  5. ในกรณีที่พบผู้ป่วยถูกไฟดูดในบริเวณที่เสี่ยงเกินไป เช่น ในห้องน้ำที่พื้นเปียกชุ่ม ให้วิ่งหาตู้จ่ายไฟภายในบ้าน ที่กล่องเซอร์กิต เบรกเกอร์ หรือกล่องฟิวส์ เปิดกล่องขึ้นมา มองหาบล็อกรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งจะมีที่จับ และอยู่ด้านบนสุดของกล่องฟิวส์ คว้าที่จับแล้วสับไปอีกด้านหนึ่ง เหมือนสับสวิตช์ไฟฟ้า ลองเปิดปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าเพื่อทดสอบว่าตัดไฟแล้วจริงหรือไม่ แล้วค่อยวิ่งไปหาผู้ป่วย
  6. ในกรณีที่ผู้ป่วยถูกไฟดูดในบริเวณที่มีไฟฟ้าแรงสูง ควรโทรแจ้งการไฟฟ้าให้เข้ามาดูแลจะดีกว่า (สามารถโทรแจ้งสายด่วนกู้ชีพ 1669 หลังจากนั้นด้วย)
  7. เมื่อช่วยเหลือผู้ป่วยได้แล้ว ควรตรวจดูว่าเขาหรือยังยังมีสติมากน้อยแค่ไหน ถ้ายังมีสติครบถ้วนให้นอนพัก ตรวจร่างกายคร่าวๆ ว่ามีบาดแผลส่วนไหนร้ายแรงหรือไม่ ส่วนมากอาจมีผมร่วง รอยแดงเป็นจ้ำๆ ตามแขนขา ลำตัว แผ่นหลัง หากสวมสร้อยคอที่ทำจากเงิน ทองแดง ทองคำ อาจมีรอยไหม้ และที่ฝ่าเท้าอาจมีรอยเหมือนไฟไหม้เช่นกัน
  8. หากบาดแผลไม่ใหญ่มากให้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่หากหมดสติให้รีบโทรแจ้ง 1669 ระหว่างนั้นหากผู้ป่วยไม่หายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำ CPR โดยด่วน

สิ่งที่ต้องมีให้มากที่สุด คือ สติ และความรู้พื้นฐานในเรื่องของกระแสไฟ ตัวนำไฟฟ้า เพื่อช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉินเช่นนี้ อย่างไรก็ดีเราควรตรวจสอบเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านให้ปลอดภัยจากกระแสไฟฟ้ารั่วให่มากที่สุด หากอยู่นอกบ้านก็ควรสังเกตรอบข้างให้ดีก่อนจะสัมผัสกับอะไร หากต้องสัมผัสที่จับอะไรที่เดาว่าทำมาจากโลหะ ให้ลองเอาหลังมือแตะเบาๆ ดูก่อนแล้วค่อยจับ จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงในการถูกไฟดูดได้ค่ะ

อัพเดทล่าสุด