รู้จริงเรื่อง ไข่ และวิธีกินไข่ ให้ได้ประโยชน์


2,158 ผู้ชม

ไข่ เป็นอาหารของคนหลายชาติหลายภาษา ในแง่โภชนาการ ไข่ขาวและไข่แดงรวมกันจะเป็นอาหารที่สมบูรณ์ ราคาถูก เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ...


รู้จริงเรื่อง ไข่ และวิธีกินไข่ ให้ได้ประโยชน์

ไข่ เป็นอาหารของคนหลายชาติหลายภาษา ในแง่โภชนาการ ไข่ขาวและไข่แดงรวมกันจะเป็นอาหารที่สมบูรณ์ ราคาถูก เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ไก่คือ ผู้ทำอาหารราคาถูกที่คนไม่กินให้เป็นอาหารที่มีคุณภาพดีที่คนกินได้ และเป็นผู้เปลี่ยนคุณภาพอาหารที่มีประสิทธิภาพสูงมากที่เดียว

คุณค่าทางโภชนาการของไข่

ไข่ไก่ 1 ฟอง น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 50 กรัม ให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี โปรตีน 7 กรัม ซึ่งโปรตีนชนิด FAO ได้จัดว่าเป็นโปรตีนที่มีคุณภาพดีที่สุด กล่าวคือ มีค่า Biological Value ประมาณ 100 ซึ่งหมายความว่าเป็นโปรตีนที่สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพในการดูดซึมสูงกว่าโปรตีนชนิดอื่น แถมยังมีไขมันเพียงแค่ 6 กรัมและยังให้วิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญมีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี1, บี2, บี3, บี6 และ บี12 ธาตุเหล็ก lecithin เป็นต้น

แต่เมื่อมีการศึกษา ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับไข่ และภาวะการเกิดโรคของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร และมีการนำความรู้เหล่านั้นออกเผยแพร่ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน ไม่แน่ใจว่าเป็นอาหารที่บำรุงร่างกายหรือทำร้ายร่างกายกันแน่ ผู้ที่รักสุขภาพมากมายเริ่มไม่ชอบความอร่อยของไข่ เพราะกลัวโคเลสเตอรอลที่มากับไข่แดง บางคนถึงกับแยกกินเฉพาะไข่ขาวปราศจากไข่แดง แต่ไข่แดงกลับมีคุณค่าทางอาหารที่ดีที่สุด การเลือกกินเฉพาะไข่ขาวเพราะกลัวโคเลสเตอรอล ทำให้คุณพลาดคุณค่าที่ดีของไข่แดง เพราะในไข่แดงมีสารอาหารมากมายไม่ว่าจะเป็นวิตามินบี วิตามินเอ โฟเลตโคลีน และบรรดาเกลือแร่ต่าง ๆ แคลเซี่ยม เหล็ก

กินไข่ทุกวันปลอดภัย หรือ อันตราย

1. มหาวิทยาลัย North Carolina สหรัฐอเมริกา สนับสนุนให้กินไข่ทุกวัน เพราะเป็นแหล่งสารอาหารที่ถูกมากโดยเฉพาะโคลีนที่มีมากในไข่แดง ซึ่งช่วยให้ระบบเซลล์สื่อประสาททำงานได้ดี ช่วยเรื่องความจำ เด็ก ๆ ควรกินสม่ำเสมอเพราะไม่ต้องห่วงเรื่องโคเลสเตอรอล

2. กินไข่ทำให้โคเลสเตอรอลตัวดีอย่าง HDL เพิ่มมากขึ้น กล่าวคือ การมี HDL ทำให้อัตราส่วนโคเลสเตอรอลรวมกับ HDL ดีขึ้น สัดส่วนที่ดีหมายถึงเอาโคเลสเตอรอลรวมหารด้วย HDL ค่าที่ดีควรอยู่ที่ 2-3 ในผู้หญิง และ 3-4 ในผู้ชาย

3. กินไข่ไม่ทำให้อ้วน จากการติดตามศึกษากลุ่มคนที่รับประทานอาหารเช้าเป็นไข่เทียบกับกลุ่มที่ทานซีเรียลและขนมปัง เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่กินไข่เป็นอาหารเช้าจะมีน้ำหนักตัวเฉลี่ยต่ำกว่าอีกกลุ่ม เป็นเพราะโปรตีนจากไข่ร่างกายจะค่อย ๆ ย่อยเป็นพลังงานอย่างช้าๆ ไม่เหมือนกับการกินคาร์โบไฮเดรตหรือไขมันที่จะย่อยเร็วกว่า จึงทำให้หิวเร็วกว่าและทานซ้ำมากกว่า

4. แม้ว่าไข่จะมีโคเลสเตอรอลสูงถึง 200 มิลลิกรัม แต่สมาคมโรคหัวใจของอเมริกาได้ให้ข้อกำหนดว่าเราควรกินอาหารที่มีโคเลสเตอรอลไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน

5. มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ทำการศึกษาว่าการกินไข่มากกว่าวันละฟองไม่ทำให้ความเสี่ยงของโรคหัวใจเพิ่มขึ้น แต่การปฏิเสธไม่กินไข่เลยหรือเลือกกินเฉพาะไข่ขาวไม่ใช่เรื่องที่ควรทำ เพราะร่างกายหากได้โคเลสเตอรอลไม่เพียงพอร่างกายเราก็จะพยายามผลิตออกมาเอง ซึ่งอาจจะมากกว่าการกินเข้าไป

6. การกินแบบพอดี ไข่วันละฟองหรือสัปดาห์หนึ่ง 3-4 ฟอง ไม่ก่อปัญหาให้มากแต่ที่เป็นปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการได้ไขมันส่วนเกินจากเครื่องเคียงเสียมากกว่า เช่น ไส้กรอกทอดที่อุดมด้วยน้ำมันทั้งนอกและใน ไข่เจียวอมน้ำมัน หรือขนมปังทาเนยจริงหรือเทียม ล้วนเป็นตัวสร้างปัญหาให้มากกว่าตัวไข่เอง

ควรบริโภคไข่เท่าไหร่ / ต่อวัน

คนไทยบริโภคไข่เพียง 132 ฟอง/คน/ปี ขณะที่คนญี่ปุ่นบริโภคถึง 347 ฟอง/คน/ปี คนจีน 310 ฟอง/คน/ปี คนมาเลเซีย 246 ฟอง/คน/ปี สหรัฐอเมริกา 243 ฟอง/คน/ปี สหภาพยุโรป 214 ฟอง/คน/ปี สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเข้าใจผิดเรื่องโคเลสเตอรอลที่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ

มีข้อแนะนำดังนี้

1.เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ให้ไข่แดงต้มสุกผสมกับข้าวบดให้ครั้งแรกปริมาณ น้อย ๆ ก่อนแล้วค่อย ๆ เพิ่มขึ้น เด็กอายุ1 ปีขึ้นไป จนถึงวัยรุ่นบริโภคได้วันละ1 ฟอง

2.วัยทำงานสุขภาพปกติ บริโภค 3-4 ฟอง/สัปดาห์

3.ผู้ป่วย ที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ควรบริโภคไข่ 1 ฟอง/สัปดาห์ หรือตามคำแนะนำของแพทย์

ส่วนโคเลสเตอรอลที่มีในไข่นั้น จะอยู่เฉพาะในไข่แดง ส่วนของไข่ขาวไม่มีโคเลสเตอรอล ในไข่แดงยังมี เลซิธิน ซึ่งจะไปช่วยอิมัลซิฟายไขมัน ทำให้ไขมันแตกตัวเป็นอนุภาพเล็ก ๆและ ไหลเวียนไปกับกระแสเลือด ป้องกันการจับตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือด เลซิธินยังเป็น สารที่ช่วยบำรุงประสาท และสมอง จากคุณสมบัติของเลซิธินดังกล่าว จึงมีการผลิตขาย ในรูปของอาหารเสริม เพื่อช่วยป้องกันปลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันโรคหัวใจ บำรุงสมอง ทำให้สมองทำหน้าที่ได้อย่างปกติ ช่วยย่อยไขมัน ช่วยระบบภูมิคุ้มกัน แต่มีราคาแพงมาก ถ้าเรารับประทานไข่แดงร่างกายก็ได้รับเลซิธิน ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ในราคาถูกอีกด้วย

บริโภคไข่อย่างไรให้ได้ประโยชน์

1.เลือกซื้อไข่ที่สด ใหม่ เปลือกไข่ไม่แตกหรือบุบร้าว

2.เช็ดเปลือกไข่ที่สกปรกให้สะอาด

3.ล้างมือทุกครั้งทั้งก่อนและหลังสัมผัสไข่

4.ควรเก็บไข่ไว้ในตู้เย็นเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์

5.ควรบริโภคไข่ให้หมดภายใน2 สัปดาห์หลังจากซื้อ

6.กินแต่ไข่สุกเท่านั้น

7.กินไข่หลากหลายเมนู เช่น ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่เจียว ไข่ดาว และไข่น้ำ

8.กินไข่ร่วมในอาหารหลัก 5 หมู่

9.หลีกเลี่ยงอาหารไขมันและโคเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันจากสัตว์

10.ออกกำลังกายเป็นประจำ

อัพเดทล่าสุด