รู้หรือยัง? 21 มิถุนายน 2560 ... วันครีษมายัน ... กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี


1,822 ผู้ชม

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 21 มิถุนายน นี้ กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีทางซีกโลกเหนือ ...


รู้หรือยัง? 21 มิถุนายน 2560 ... วันครีษมายัน ... กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 21 มิถุนายน นี้ กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีทางซีกโลกเหนือ หรือ “ครีษมายัน” (ครีด-สะ-มา-ยัน) ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ทำให้กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปีเกือบ 13 ชั่วโมง

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า ช่วงเดือนมิถุนายนดวงอาทิตย์ตกค่อนข้างช้า กว่าจะตกลับขอบฟ้าก็เป็นเวลาใกล้หนึ่งทุ่ม เนื่องจากเป็นเดือนที่ประเทศทางซีกโลกเหนือได้รับปริมาณแสงจากดวงอาทิตย์นานที่สุดในรอบปี เกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเอง (ใช้เวลาประมาณ 1 วัน)

ขณะเดียวกันโลกก็โคจรรอบดวงอาทิตย์ (ใช้เวลาประมาณ 1 ปี) และเนื่องจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับแนวโคจรรอบดวงอาทิตย์ ส่วนของโลกที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์จึงแตกต่างกันไป รวมถึงรังสีดวงอาทิตย์ที่ตกตั้งฉากกับพื้นโลกก็เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของแนวทางการโคจร ทำให้ส่วนต่างๆ ของโลกได้รับแสงอาทิตย์ไม่เท่ากันและมีอุณหภูมิต่างกัน เป็นสาเหตุของการเกิดฤดูกาล

ซึ่งในวันที่ 21 มิถุนายนนี้ ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุดและตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด จึงเป็นวันที่มีช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปีของประเทศทางซีกโลกเหนือ ภาษาสันสกฤตเรียกว่า “วันครีษมายัน” (ครีด-ษะ-มา-ยัน) หรือ Summer Solstice

สำหรับประเทศไทยในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ดวงอาทิตย์จะขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 05:51 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเวลาประมาณ 18:47 น. ดวงอาทิตย์ปรากฏอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลารวมกว่า 12 ชั่วโมง 56 นาที (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คำว่า “Solstice” เป็นภาษาอินโดยูโรเปียน Stice หมายถึง สถิต หรือ หยุด ดังนั้น Summer Solstice หมายถึงวันที่ดวงอาทิตย์ไม่เคลื่อนที่ เพราะดวงอาทิตย์เคลื่อนที่ไปทางเหนือเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมีนาคมและหยุดที่จุดเหนือสุดในวันที่ 21 มิถุนายน หลังจากนั้นจะค่อยๆ เคลื่อนที่ลงมาทางใต้ ในทางฤดูกาลนับเป็นวันเริ่มต้นฤดูร้อนในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้นฤดูหนาวในซีกโลกใต้

ในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ ได้แก่

1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ- วัด) (Vernal Equinox) ในปี 2560 ตรงกับวันที่ 20 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ- มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปี 2560 ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว

3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ในปี 2560 ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ในปี 2560 ตรงกับวันที่ 21 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

อัพเดทล่าสุด