สัญลักษณ์โภชนาการ ... ทางเลือกสุขภาพ


1,038 ผู้ชม

ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีพลังงานและไขมันสูง โซเดียมสูง น้ำตาลสูง กรดไขมันอิ่มตัวสูง ...


สัญลักษณ์โภชนาการ ... ทางเลือกสุขภาพ

ลดเสี่ยงลดโรค เลือกบริโภคอาหารที่มี สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)

ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการบริโภคอาหารไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีพลังงานและไขมันสูง โซเดียมสูง น้ำตาลสูง กรดไขมันอิ่มตัวสูง ในขณะที่บริโภคผักและผลไม้ที่น้อยลง รวมถึงออกกำลังกายน้อยลงอีกด้วย ซึ่งพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ เป็นปัจจัยที่สำคัญก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือที่เรียกว่าโรคเอ็น ซี ดี (Non-communicable diseases: NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ซึ่งจากรายงานภาวะโรคและการบาดเจ็บของประชากรไทยใน ปี พ.ศ. 2556 พบกลุ่มโรค NCDs เป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 349,096 ราย หรือร้อยละ 75 ของการเสียชีวิตของประชากรไทยทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเหตุนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรเลือกบริโภคอาหารอย่างเหมาะสม โดยสังเกตสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” บนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารก่อนตัดสินใจซื้อ

สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เป็นเครื่องหมายแสดงทางเลือกสุขภาพที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร และเป็นส่วนหนึ่งของการมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม โดยสัญลักษณ์โภชนาการดังกล่าวจะแสดงคุณสมบัติทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารอย่างชัดเจนเนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ได้รับเครื่องหมายนี้จะมีปริมาณสารอาหาร เช่น น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด ดังนั้น สัญลักษณ์โภชนาการจึงเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลโภชนาการที่ลดความซับซ้อนให้กับผู้บริโภค และช่วยให้ผู้บริโภคปรับพฤติกรรมการบริโภคให้เหมาะสมได้

สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” จะแสดงบนฉลากอาหารที่ผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการยื่นขอรับการรับรองให้เป็นไปหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี (คณะกรรมการเฉพาะเรื่อง ชุดที่ 3) ภายใต้คณะกรรมการอาหารแห่งชาติกำหนด ซึ่งปัจจุบันได้มอบหมายให้มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานให้การรับรองเกณฑ์สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” โดยสัญลักษณ์โภชนาการจะมีลักษณะ รูปวงกลมขอบสีฟ้า ตรงกลางวงกลมเป็นภาพใบไม้สีเขียวสองใบทับกัน เหนือใบไม้มีวงกลมทึบสีเขียวขนาดเล็กอยู่กึ่งกลาง เหนือวงกลมทึบสีเขียวมีเส้นโค้งสีส้ม มีข้อความด้านล่าง

“ทางเลือกสุขภาพ” เป็นสีฟ้า และข้อความด้านบนระบุกลุ่มอาหาร หรือแสดงเป็นสีเดียว โดยเส้นขอบอาจเป็น

สีดำ หรือสีน้ำเงินเข้ม หรือสีขาว แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ การแสดงสีของพื้นฉลากและสีของสัญลักษณ์ต้องใช้สีตัดกันที่ทำให้เห็นสัญลักษณ์ได้ชัดเจน

ดังตัวอย่าง

กลุ่มอาหาร

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ จากมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลเรียบร้อยแล้ว จำนวน 5 กลุ่มอาหาร ได้แก่

เครื่องดื่ม (น้ำผักและน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและน้ำหวานกลิ่นรสต่าง ๆ น้ำนมถั่วเหลือง

น้ำธัญพืช ชาปรุงรส กาแฟปรุงรส เครื่องดื่มช็อกโกแลต โกโก้ และมอลต์สกัด)

เครื่องปรุงรส (น้ำปลา ซอสปรุงรส และซีอิ๊ว)

อาหารกึ่งสำเร็จรูป (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวต้มและโจ๊กปรุงแต่ง แกงจืดและซุปชนิดเข้มข้น ชนิดก้อน ชนิดผง หรือชนิดแห้ง)

ผลิตภัณฑ์นม

ขนมขบเคี้ยว (มันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวโพดคั่วทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ หรืออาหารขบเคี้ยวชนิดอบพอง สาหร่ายทอดหรืออบกรอบหรือเคลือบปรุงรส

ปลาเส้นทอด อบกรอบหรือปรุงรส ขนมปังกรอบ แครกเกอร์ หรือบิสกิต เวเฟอร์สอดไส้)

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคสามารถบริโภคอาหารได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยเลือกซื้ออาหารที่มีสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” บนฉลากผลิตภัณฑ์ เพราะเครื่องหมายนี้จะ

บ่งบอกว่า ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ มีปริมาณสารอาหาร เช่น น้ำตาล ไขมัน โซเดียม อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ยกตัวอย่าง น้ำปลากำหนดให้มีโซเดียมไม่เกิน 6,000 มิลลิกรัมต่อน้ำปลา 100 มิลลิลิตร โดยทั่วไป 1 ช้อนชา มีโซเดียมประมาณ 500 มิลลิกรัม แต่น้ำปลาที่มีการแสดงสัญลักษณ์นี้บนฉลาก 1 ช้อนชา จะมีโซเดียมไม่เกิน 300 มิลลิกรัม หรือผู้ที่ชื่นชอบการดื่มน้ำผักและน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและน้ำหวานกลิ่นรสต่าง ๆ น้ำนมถั่วเหลือง และน้ำธัญพืช หากเลือกยี่ห้อที่มีการแสดง “สัญลักษณ์โภชนาการ ทางเลือกสุขภาพ” บนฉลาก ก็จะได้รับประโยชน์ด้านการลดปริมาณน้ำตาลลงเช่นกัน เนื่องจากตามเกณฑ์กำหนดให้เครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตรจะมีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัม หากเครื่องดื่มที่กล่าวข้างต้นมีขนาดบรรจุ 200 มิลลิลิตร และดื่มครั้งเดียวหมดจะได้รับน้ำตาลไม่เกิน 12 กรัม หรือไม่เกิน 3 ช้อนชา

จะเห็นได้ว่า สัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” นอกจากช่วยให้สามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง หัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ ที่สำคัญ ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประเทศในการรักษาพยาบาลโรคดังกล่าวในระยะยาวได้อีกด้วย

จำไว้ ก่อนซื้อทุกครั้ง “อ่านฉลาก อย่างฉลาด ลดเสี่ยงโรคภัย มีแต่ได้ไม่มีเสีย”

อัพเดทล่าสุด