สูงวัย ห่างไกล อัลไซเมอร์ เป็นไง ไปดูกัน


1,218 ผู้ชม

หลงลืมง่าย ความเข้าใจภาษาลดลง โมโหฉุนเฉียวง่าย สัญญาฯเตือนโรคอัลไซเมอร์ แพทย์แนะหากไม่อยากให้คนที่คุณรักเป็นควรมีกิจกรรมมากระตุ้นการทำงานของสมองและร่างกายสม่ำเสมอ ...


สูงวัย ห่างไกล "อัลไซเมอร์" เป็นไง ไปดูกัน

หลงลืมง่าย ความเข้าใจภาษาลดลง โมโหฉุนเฉียวง่าย สัญญาฯเตือนโรคอัลไซเมอร์ แพทย์แนะหากไม่อยากให้คนที่คุณรักเป็นควรมีกิจกรรมมากระตุ้นการทำงานของสมองและร่างกายสม่ำเสมอ

แพทย์หญิงอุมามน พวงทอง จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์ หนึ่งในกลุ่มโรคภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด โดยพบมากถึงร้อยละ 60-70 ของโรคในกลุ่มนี้ โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคความเสื่อมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เป็นหนึ่งในโรคที่มีความซับซ้อนมากที่สุดและเป็นโรคที่ต้องการการรักษาและจัดการที่ลึกซึ้งทั้งต่อผู้ป่วยและต่อญาติ

อาการหลงลืมแตกต่างจากโรคอัลไซเมอร์อย่างไร

อาการหลงลืมตามวัย ได้แก่ หลงลืมเรื่องที่ไม่สำคัญ ไม่บ่อยและต้องไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ อาการหลงลืมตามวัยนี้จะสามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ ถ้ามีความตั้งใจที่จะจดจำอย่างจริงจัง การจดบันทึก การเตือนตัวเองโดยวิธีการต่างๆ การฝึกตัวเองให้มีสติอยู่เสมอ จะช่วยลดอาการหลงลืมให้น้อยลงได้

ส่วนอาการของโรคอัลไซเมอร์นั้น มีวิธีการสังเกต ดังนี้

1. ความจำเสื่อม หลงลืมง่าย โดยเฉพาะเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นไม่นาน ในขณะที่ความจำเรื่องเก่าๆ ยังอาจปกติดีได้ ทำให้ผู้ป่วยถามซ้ำๆ เล่าเรื่องเดิมซ้ำๆ
2. ความเข้าใจภาษาลดลง ใช้ภาษาไม่ถูกต้อง เรียกชื่อสิ่งของไม่ถูก เรียกไอ้นั่น ไอ้นี่อยู่ตลอด รวมถึงอาจพูดน้อยลง
3. ไม่สามารถทำกิจกรรมที่เคยทำได้มาก่อน เช่น เคยเปิดโทรทัศน์ได้ แต่อาจไม่สามารถหาวิธีเปิดดูช่องที่ต้องการได้
4. บกพร่องในการรับรู้หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ทราบว่าของนี้มีไว้ทำอะไร หรือไม่สามารถแยกแยะรสชาติหรือกลิ่นได้
5. บกพร่องในการบริหารจัดการและตัดสินใจแก้ไขปัญหา ไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจผิดพลาดบ่อยๆ
6. บกพร่องในการประกอบกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำแต่งตัวไม่เหมาะสม ต้องมีคนคอยเตือนให้ทำอยู่เสมอ ไม่สามารถไปไหนตามลำพังได้
7. บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง เช่น กลายเป็นคนเฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น หรือโมโหฉุนเฉียวง่ายโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน รวมถึงอาการคล้ายโรคจิต เช่น เห็นภาพหลอน หลงผิด ระแวงว่ามีคนมาขโมยของบ่อยๆ อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอาการมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับได้

เตรียมตัวอย่างไรให้ห่างไกลอัลไซเมอร์

ผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่ละวันใช้เวลาไปกับการพักผ่อน ไม่ค่อยออกไปไหน ไม่มีกิจกรรมอะไรมากระตุ้นการทำงานของสมองและร่างกาย คงต้องลองพยายามหาสิ่งที่สนใจ กิจกรรม งานอดิเรกอะไรก็ได้ ที่เข้ากับวิถีชีวิต ความชอบ อย่านอนกลางวันมากเกินไป พบปะผู้คนใหม่ พูดคุยกับเพื่อน ญาติ ออกไปข้างนอกเป็นระยะ จะช่วยป้องกันอาการของโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมด้วย สิ่งสำคัญต้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้หลากหลาย เคลื่อนไหวออกกำลังกายเป็นประจำ และเฝ้าระวังลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด

ดูแลอย่างไรเมื่อผู้สูงอายุเป็นอัลไซเมอร์

การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์อาจทำให้ลูกหลาน คนดูแล สมาชิกในครอบครัวรู้สึกรำคาญ เหน็ดเหนื่อย ท้อใจได้ ซึ่งคำแนะนำที่จำเป็นหลักๆ มีดังนี้
• แบ่งความรับผิดชอบให้สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ บ้าง เรื่องการมีส่วนร่วม ในการดูแลผู้ป่วย ทั้งในด้านกำลังกาย กำลังใจ และทุนทรัพย์
• เมื่อมีปัญหาในการดูแลผู้ป่วย ควรบอกเล่าให้สมาชิกในบ้านได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอหาทางปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ป่วย ในบางครั้งถ้าปัญหามากเกินกว่าที่ผู้ดูแลจะรับมือไหว ควรขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญในการร่วมปรับยา และให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วย

อัพเดทล่าสุด