ข้อเข่าเสื่อม ทานกลูโคซามีนดีไหม ? หมอว่าไงบ้าง


1,372 ผู้ชม

เหตุเกิดจากกรมบัญชีกลางจำกัดการเบิกยากลูโคซามีน ในคนไข้สิทธิราชการเมื่อหลายปีก่อน ด้วยบทสรุปเชิงบริหารพบว่า มีการเบิกจ่ายยากลูโคซามีนมากถึงเกือบ 500 ล้านบาท/ปี ...


ข้อเข่าเสื่อม ทานกลูโคซามีนดีไหม ? หมอว่าไงบ้าง

เรื่องโดย : รศ.นพ.พงศ์ศักดิ์ ยุกตะนันทน์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำถามเกี่ยวกับยา "กลูโคซามีน" กับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม เป็นคำถามยอดนิยมในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา

เหตุเกิดจากกรมบัญชีกลางจำกัดการเบิกยากลูโคซามีน ในคนไข้สิทธิราชการเมื่อหลายปีก่อน ด้วยบทสรุปเชิงบริหารพบว่า มีการเบิกจ่ายยากลูโคซามีนมากถึงเกือบ 500 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 10% ของยากลุ่มราคาสูง และมีการสรุปประสิทธิผลของยาในการบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม

จากการศึกษารวมๆ หลายการศึกษา ซึ่งรวมการศึกษาในกลุ่มผู้ใช้กลูโคซามีนเป็นอาหารเสริม ในผู้ป่วยวัยหนุ่มสาวด้วย จากการสรุปไม่พบว่ายากลูโคซามีนมีประสิทธิผลในการบรรเทาอาการปวดข้อเข่า

กรมบัญชีกลางจึงประกาศให้ยากลูโคซามีน เป็นยาที่ไม่สามารถเบิกได้จากสิทธิราชการ ต่อมามีการฟ้องศาลปกครองโดยผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมสูงอายุที่ใช้ยากลูโคซามีนแล้วช่วยทำให้อาการปวดดีขึ้น

ศาลปกครองจึงมีคำสั่งให้กรมบัญชีกลางยกเลิกข้อห้าม กรมบัญชีกลางจึงออกระเบียบการใช้ยากลูโคซามีนในผู้ป่วยอายุ 56 ปีขึ้นไป ที่มีข้อเข่าเสื่อมและมีอาการปวดข้อเข่า โดยให้ยาติดต่อกันได้ 6 เดือน และเว้น 3 เดือน ทั้งนี้ให้เบิกยาทุก 6 สัปดาห์ เพื่อให้แพทย์ประเมินอาการของผู้ป่วย

คำถามของยากลูโคซามีน ยังมีออกมาแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ เช่น กลูโคซามีนกับผู้ป่วยเบาหวาน กลูโคซามีนกับความดันในตาสูง เป็นต้น

คำถามว่า "ข้อเข่าเสื่อม" ทานกลูโคซามีน ดีไหม? จึงเป็นคำถามที่ตอบยาก และมีความเสี่ยงต่อข้อโต้แย้งเป็นอย่างมาก ในฐานะแพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่มีผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมมารับการรักษาอยู่พอสมควร คงต้องตอบตามประสบการณ์ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์และผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารที่เป็นที่ยอมรับ

กลูโคซามีนใช้ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม ข้อเข่าเสื่อมในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าแต่เพียงอย่างเดียว อาการปวดข้อเข่าพบในผู้ป่วยในหลายอายุ ในวัยหนุ่มสาวหากนั่งทำงานโดยไม่ค่อยบริหารและออกกำลังข้อเข่า อาจมีภาวะกระดูกอ่อนสะบ้าอักเสบ ที่เรียกว่า Chondromalacia Patellae

ภาวะนี้มีอาการปวดเข่าเมื่อเดินขึ้นลงบันได ไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยากลูโคซามีน ในวัยหนุ่มออกกำลังกาย อาจมีการบาดเจ็บของกระดูกอ่อนหมอนรองข้อเข่า ที่เรียกว่า Meniscal Tear มีอาการเจ็บในข้อเข่า ไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยากลูโคซามีน ผู้ป่วยวัยสาวมีอาการเจ็บข้อเข่าด้านใน เกิดจากการเสียดสีของพังผืดในข้อเข่า เรียกว่า Medial Plica ไม่มีข้อบ่งชี้ในการใช้ยากลูโคซามีน ยากลูโคซามีนควรใช้ในฐานะยากับผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมเท่านั้น แต่ในฐานะอาหารเสริม คงต้องศึกษาผลดีผลเสียก่อนใช้

ข้อเข่าเสื่อมเป็นภาวะเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้อ การเสื่อมของกระดูกอ่อนผิวข้ออาจเกิดขึ้นเอง โดยมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องน้ำหนัก อายุ กรรมพันธุ์ หรือเกิดตามจากการประสบภยันตรายของข้อเข่านำมาก่อน

อาการของข้อเข่าเสื่อม มักมีอาการปวดข้อเข่า ถ้ามีอาการอักเสบมักมีอาการบวมของข้อเข่า เดินได้ไม่ไกล เข่าอาจโก่งมากขึ้นและเดินโยกเยก ถ้าอาการเป็นมากขึ้น ภาพเอกซเรย์ข้อเข่า เริ่มจากการพบว่าช่องว่างของข้อแคบลง มีหินปูนเกาะตามขอบข้อ ผิวข้อดูเหมือนกระดูกหนาขึ้น หรืออาจมีซีสต์อักเสบใต้ฐานข้อได้

ถ้าเป็นมากอาจเห็นข้อเข่าเคลื่อนออกจากกันแสดงความไม่มั่นคงของข้อเข่า ข้อเข่าเสื่อมในระยะแรกๆ ผู้ป่วยอาจใช้ยากลูโคซามีนเพื่อบรรเทาอาการปวดได้ แต่ถ้าข้อเข่าเสื่อมมากจนข้อเข่าเคลื่อนออกจากกันผู้ป่วยควรได้รับการผ่าตัดรักษา

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดข้อเข่า ควรได้รับการตรวจจากแพทย์ ก่อนวินิจฉัยว่าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม การรักษาเบื้องต้น อาจเริ่มจากการลดน้ำหนักและบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า ทานยาแก้ปวดพื้นฐาน เช่น พาราเซตามอล ถ้าอาการยังไม่ดีอาจเริ่มการใช้ยากลูโคซามีนตามข้อบ่งชี้ ควรประเมินประสิทธิผลของยาหลัง 3 เดือน

ถ้าไม่รู้สึกว่ามีอาการเปลี่ยนแปลงเลย อาจใช้ยาต่ออีกไม่เกิน 3 เดือน หรือเปลี่ยนไปใช้ยากลุ่มอื่น แต่ถ้าอาการดีขึ้นให้ใช้ต่อจนครบ 6 เดือน ในขณะหยุดยา 3 เดือน ตามเกณฑ์กรมบัญชีกลาง ถ้ามีอาการกลับมาอีกอย่างรวดเร็วให้ซื้อยามาทานต่อเองและเมื่อครบกำหนดรับยาแล้วก็กลับมารับยาอีกตามเกณฑ์

แต่หากว่าหยุดยาแล้วอาการดีขึ้นมากและไม่ต้องการยาอีกก็อาจหยุดยาไปเลย ถ้ามีอาการมาใหม่ก็กลับมารับยาอีกตามเกณฑ์ มีรายงานการใช้ยากลูโคซามีนติดต่อกัน 2 ปี พบว่ากระดูกอ่อนผิวข้อหนาขึ้น ซึ่งอาจหมายความว่าข้อเข่าเสื่อมน้อยลง ในทางปฏิบัติไม่ค่อยพบว่าหนาขึ้นพอที่จะวัดได้ ผู้ป่วยหลายคนสมัครใจที่จะรับยาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ

กลูโคซามีน มีความสำคัญต่อการสังเคราะห์สารสำคัญในกระดูกอ่อนผิวข้อ เช่น Glycolipids Glycoproteins Hyaluronic Acid Proteoglycans และ Glycosaminoglycans ในถาดทดลองพบว่า เมื่อเลี้ยงเซลล์กระดูกอ่อนโดยเติมกลูโคซามีนลงไป พบว่าเซลล์กระดูกอ่อนทำงานในการสังเคราะห์สารกระดูกอ่อนเพิ่มขึ้นผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ ผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก นอกจากนี้เนื่องจากกลูโคซามีนผลิตได้จากสัตว์ทะเลจำพวก หอย ปู กุ้ง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยที่แพ้อาหารทะเล

กลูโคซามีน มีข้อบ่งชี้ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่มีอาการปวดข้อเข่า การเลือกใช้กลูโคซามีนเป็นไปตามเกณฑ์ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว กลูโคซามีนเป็นยาที่มีประสิทธิผลดีเมื่อเลือกใช้กับผู้ป่วยที่ถูกต้อง

อัพเดทล่าสุด