นอกเหนือจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต รวมถึงประวัติการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ผ่านมา จะมีผลต่อระดับความเข้มแข็งทางใจแล้ว การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ ยังอาจเกิดได้จากการพัฒนาวิธีคิดและทักษะในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ ...
7 เคล็ดลับ สร้างความรู้สึกดีให้กับตัวเอง
"แม้จะเป็นเพียงแค่คนหนึ่งคน แต่ผมก็เป็นคนๆ หนึ่ง ... ซึ่งแม้จะทำอะไรหมดทุกอย่าง แต่ก็สามารถทำอะไรบางอย่างได้ ... เพราะผมไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง ผมก็จะทำ "บางอย่าง" ที่ผม "สามารถ" ทำได้ ให้ดีที่สุด"
เอ็ดเวิร์ด เอเวอเร็ตต์ เฮล
การเป็น "นักสู้" กับ "ผู้ (ยอม) แพ้" นั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของเราในการใช้ชีวิตและเผชิญจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน นักสู้ชีวิตที่ดีจะสามารถมองหาโอกาสประสบความสำเร็จในวิกฤตที่เกิดขึ้น สามารถจัดการปัญหาได้และเกิดกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไป ในขณะที่ผู้ (ยอม) แพ้ กลับมองว่าถึงพยายามไปก็ยากนักที่จะประสบความสำเร็จ และมีแนวโน้มที่จะท้อถอยยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น ซึ่งนำไปสู่ระดับ "ความเข้มแข็งทางใจ" ที่แตกต่างกัน ระหว่างนักสู้กับผู้ (ยอม) แพ้
นอกเหนือจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต รวมถึงประวัติการถูกเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ผ่านมา จะมีผลต่อระดับความเข้มแข็งทางใจแล้ว การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางใจ ยังอาจเกิดได้จากการพัฒนาวิธีคิดและทักษะในการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ ได้แก่ ความรู้สึกดีกับตัวเอง (Sense of Self) ความเชื่อมั่นว่าสามารถจัดการชีวิตได้ (Sense of Control) การมีสายสัมพันธ์เกื้อหนุน (Sense of Connection) และการมีจุดหมายที่ชัดเจนในชีวิต (Sense of Propose)
ความรู้สึกดีต่อตัวเอง เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งภายในจิตใจของเราที่มีความสำคัญ คนที่รู้สึกดีต่อตัวเองจะมีความภาคภูมิใจ มีความมั่นคงทางใจ และมีความอดทนต่อปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่ผ่านเข้ามา รวมถึงสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี
ความรู้สึกดีต่อตัวเองที่ถูกต้อง ไม่ใช่การมีอัตตา ยึดติดในความคิด ความรู้สึกของตนเอง หรือปฏิเสธความผิดพลาดที่ตนเองก่อขึ้น จนไม่สามารถยอมรับความจริงหรือรับฟังความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์จากผู้อื่น ตรงกันข้าม คนที่รู้สึกดีกับตัวเอง จะมีความพร้อมในการรับฟัง ยอมรับความผิดพลาดของตนเองได้ดี มีความพร้อมต่อการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คนซึ่งขาดความรู้สึกดีต่อตัวเองมักจะสามารถรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อตัวเองได้น้อย เพราะสถานะที่เป็นอยู่ในใจก็ไม่ดีอยู่แล้ว หากมีการชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนหรือข้อจำกัดของตนเองจากคนอื่นเพิ่มเติมเข้าไปอีก จึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ง่ายนัก
ความรู้สึกดีต่อตัวเองจึงนับเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งทางใจ เปรียบเสมือนเป็นต้นทุนชีวิตที่จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้ด้วยดี สามารถเรียนรู้สิ่งดีๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อการพัฒนาตนเอง และมีความหวังในชีวิตเสมอ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาก็ตาม
ความรู้สึกดีต่อตัวเอง...มาจากไหน
ความรู้สึกดีต่อตัวเอง ส่วนหนึ่งมีรากฐานมาจากความสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้ดูแลตั้งแต่วัยทารก ถ้าในวัยเด็กเราเติบโตมาด้วยการเลี้ยงดูที่อบอุ่น รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รักที่ปรารถนาของคนในครอบครัวและคนรอบข้าง เราจะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความมั่นคงทางใจ รู้สึกดีต่อตัวเอง ประสบการณ์ต่างๆ ที่พ่อแม่ (หรือผู้เลี้ยงดูอื่น) ได้มอบให้กับเราในวัยนี้จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดลักษณะการมองตัวเอง (ว่าดีหรือไม่ดี เก่งหรือไม่เก่ง) และมองโลกหรือคนรอบข้าง (ว่าดีหรือไม่ดี ไว้ใจได้หรือไม่) ในวัยต่อๆ มา
แม้ว่าคนที่เกิดและเติบโตในครอบครัวที่พรั่งพร้อมด้วยความรัก ความอบอุ่น จะถือได้ว่าเป็นคนที่โชคดี เพราะมีต้นทุนทางจิตใจและอารมณ์ที่ดีเป็นพื้นฐานของชีวิต แต่สำหรับคนที่ไม่ได้โชคดีแบบนี้ อาจเพราะเลือกเกิดหรือเลือกรับประสบการณ์บางอย่างในวัยเด็กไม่ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะหมดโอกาสในการสร้างความรู้สึกที่ดีต่อตัวเอง เพราะการพัฒนาความรู้สึกดีๆ ให้กับตัวเองนั้น เป็นเรื่องที่เราสามารถสร้างขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในวัยใดก็ตาม ตราบใดที่เรายังเห็นความสำคัญและให้คุณค่ากับตัวเราเอง
ความรู้สึกดีต่อตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่เราสามารถสร้างและพัฒนาได้ตลอด "ด้วยตัวของเราเอง" และ "เพื่อตัวของเราเอง"
ความรู้สึกดี ... มีขึ้น มีลง
ความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเอง อาจดีขึ้นหรือแย่ลงได้ตามเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ในบางครั้งที่เราต้องเผชิญกับความสูญเสีย การเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ พบเจอปัญหายุ่งยากในชีวิต หรือมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญๆ เกิดขึ้น เช่น ปัญหาหนี้สิน มีปัญหาสัมพันธภาพในครอบครัว ต้องออกจากงาน หรือเกษียณอายุ เป็นต้น เหตุการณ์ต่างๆ นี้ อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อระดับ "ความรู้สึกดีต่อตัวเอง" ของเรา ทำให้สูญเสียความมั่นใจ ไม่แน่ใจในตัวเอง ไปบ้างในระยะเวลาสั้นยาวแตกต่างกันไป
ขณะเดียวกัน บางคนที่ดูเหมือนเป็นคนมั่นใจในตัวเองมาก (จนเกินไป) ชอบคุยโวทับถมผู้อื่น วางตัวเหนือกว่า แต่ลึกๆ แล้ว อาจเป็นคนที่ขาดความมั่นใจ ขาดความรู้สึกดีต่อตัวเองก็ได้ จึงต้องคอยชดเชยความรู้สึกเป็นปมด้อยภายในด้วยการแสดงออกในรูปแบบของการกดข่มคนอื่น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น
รู้สึกดี... เพราะ "มองโลกแง่ดี"
เนื่องจากเราไม่สามารถเลือกได้โดยตรงว่าอยากให้เกิดอะไรขึ้นบ้างในชีวิตของเรา ทุกคนต่างต้องเผชิญกับทั้งเหตุการณ์ที่ดีและไม่ดีผสมปนเปกันไป เราจึงควรพัฒนาความรู้สึกดีต่อตัวเองให้เป็นคุณสมบัติที่มั่นคงติดแน่นภายในจิตใจมากกว่าจะปล่อยให้ความรู้สึกนี้เปลี่ยนแปลงขึ้นลงไปตามเหตุการณ์จากภายนอกที่ผ่านเข้ามาเพียงอย่างเดียว จึงอาจกล่าวได้ว่า กระบวนการหนึ่งในการสร้างความรู้สึกดีต่อตัวเองก็คือการฝึกฝนตนเองให้สามารถมองโลกในแง่ดี
คนรู้สึกดีต่อตัวเองมักมองอะไรในด้านดีได้เสมอ ส่วนคนที่รู้สึกไม่ดีต่อตัวเองมักมองโลกในแง่ร้าย มองเห็นแต่ด้านลบ ความรู้สึกดียังขึ้นอยู่กับวิธีที่เราพูดกับตัวเอง ทั้งในเวลาที่ประสบความสำเร็จและในยามที่ล้มเหลว เพราะเราแต่ละคนจะมีวิธีการอธิบายความสำเร็จหรือความล้มเหลวของตัวเองแตกต่างกันไป
คนที่รู้สึกดีต่อตัวเอง มีความภูมิใจในตัวเอง จะมองความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่าเป็นผลมาจากความพยายามและความสามารถ ในขณะที่คนซึ่งรู้สึกไม่ดีต่อตนเอง มีความภูมิใจมนตัวเองต่ำ จะมองความสำเร็จที่เกิดขึ้นว่าไม่ได้เป็นผลจากความสามารถของตน หากเป็นเรื่องของโชค ดวง ความฟลุค หรือความบังเอิญที่อยู่นอกเหนือการควบคุม
คนที่รู้สึกดีต่อตัวเอง มักจะอธิบายความล้มเหลวของตัวเองว่าเกิดจากปัจจัยบางอย่างที่เขาสามารถจะเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นได้ในครั้งต่อๆ ไป เช่น มองว่าครั้งนี้เราอาจยังพยายามไม่มากพอ หรืออาจใช้เทคนิควิธีการที่ยังไม่เหมาะสม ซึ่งยังสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขใหม่ให้ดีขึ้นได้ และมองว่ายังมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ในครั้งต่อๆ ไป นอกจากนี้ ยังมองความผิดพลาดล้มเหลวนี้ว่าเป็นประสบการณ์และบทเรียนที่ดีของชีวิต ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจและรับมือกับเหตุการณ์ต่อไปในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น ตรงกันข้ามกับคนที่รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ซึ่งมักจะอธิบายความล้มเหลวว่าเป็นเพราะตัวเองไม่มีความสามารถเพียงพอ มองว่าความล้มเหลวเกิดจากสิ่งที่เขาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้แล้ว และเขาก็จะประสบกับความล้มเหลวแบบนี้อีกในครั้งหน้า ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำให้รู้สึกแย่ ล้มเหลว สิ้นหวังและรู้สึกไม่ดีต่อตัวเองมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น การรู้จักพูดกับตัวเองในทางสร้างสรรค์ ทั้งในเวลาที่ประสบความสำเร็จและเมื่อพบเจอความล้มเหลว จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยสร้างกำลังใจและความรู้สึกที่ดีให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นทักษะที่เราทุกคนสามารถฝึกฝนและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง
ความรู้สึกดี กับ ความสำเร็จ
เมื่อคนเราเติบโตขึ้น ผ่านประสบการณ์และเรียนรู้มากขึ้น ความรู้สึกดีต่อตัวเองส่วนหนึ่งอาจพัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ในการได้รับความสำเร็จ เมื่อมีความสำเร็จก็เกิดแรงจูงใจที่จะทำในสิ่งนั้นให้ดีขึ้น และเมื่อมีแรงจูงใจและความพยายามในการทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้น ก็จะทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน กลายเป็นวงจรระหว่างความรู้สึกดี แรงจูงใจและความพยายาม และความสำเร็จ
ในทางกลับกัน หากพบกับความล้มเหลว ก็อาจทำให้เราสูญเสียความเชื่อมั่น ขาดพลังและแรงจูงใจในการลงมือทำ ทำให้มีโอกาสล้มเหลวในครั้งต่อๆ ไป เกิดความรู้สึกที่ไม่ดีกับตัวเอง ขาดความเชื่อมั่น และทำให้มีโอกาสพบกับความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากเราแต่ละคนมีความถนัดตามธรรมชาติที่แตกต่างกัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้เราทุกคนประสบความสำเร็จในเรื่องเดียวกันได้อย่างเท่าเทียมกัน การสร้างความรู้สึกดีต่อตัวเองจึงเป็นเรื่องของการค้นหาความถนัดเฉพาะตัวและบ่มเพาะความถนัดนั้นให้เกิดเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกำลังใจและความพยายามที่จะทำให้ดีมากยิ่งขึ้น จนประสบความสำเร็จมากขึ้นและรู้สึกดีต่อตัวเองมากขึ้นไป เป็นวงจรตามลำดับ
เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประสบการณ์ในอดีตของเราได้ก็จริง เพราะล้วนแต่เป็นสิ่งที่ผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถเลือกเผชิญกับเฉพาะเหตุการณ์ดีๆ ในชีวิตเราได้ทั้งหมดก็ใช่ เพราะเหตุการณ์ส่วนใหญ่อาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา แต่เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วนั้นอย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเราเอง ทั้งในปัจจุบันและอนาคต .... เพราะนี่ต่างหากคือสิ่งที่คุณเลือกได้ อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกหรือไม่...เท่านั้นเอง
7 เคล็ดลับ...ทำอย่างไรให้ "รู้สึกดี" ต่อตัวเอง
1. สร้างความตระหนักรู้ในตัวเอง รู้ทันความคิดที่เราบอกกับตัวเอง ว่าช่วยให้เรามีพลังใจหรือกลับทำให้เรารู้สึกแย่ลง และเลือกที่จะคงไว้เพียงความคิดที่ช่วยสร้างพลังใจ (บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริงและไม่หลอกตัวเองนะครับ)
2. ค้นหาความถนัดของตนเอง บ่มเพาะและพัฒนาความถนัดนั้นให้เกิดเป็นผลสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ
3. ฝึกมองโลกแง่ดี มีวิธีอธิบายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ในทางที่สร้างกำลังใจ ให้ผลักดันชีวิตไปข้างหน้าในทิศทางที่เหมาะสม
4. ยอมรับข้อดีข้อเสียของตัวเอง ไม่คิดเปรียบเทียบกับคนอื่น ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกแย่หรือลำพองจนเกินไป
5. หาแบบอย่างที่ตนชื่นชมและพร้อมเรียนรู้จากเขาเหล่านั้น ฝึกหัดที่จะเรียนรู้และรับฟังผู้อื่น โดยเฉพาะจากแบบอย่างที่ดี
6. รู้จักตั้งเป้าหมายและลงมือทำจนประสบความสำเร็จ อาศัยความสำเร็จนี้ผลักดันวงจรเพื่อเพิ่มพูนความรู้สึกที่ดีให้กับตัวเองต่อไป
7. หมั่นดูแลร่างกายและจิตใจให้แข็งแรง สดชื่น อยู่เสมอ