การอนุญาตให้ต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเอง ดังที่ระบุไว้ใน อัลกุรอาน ซูเราะห์(บท)ที่ 22 อายะห์(วรรค)ที่ 39-40 นั้น ไม่ได้ถูกประทานลงมาเพื่อ ปกป้องแค่ชาวมุสลิมให้รอดพ้นจากการถูกข่มเหงรังแก เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ...
ความจริง ??? ... 3 ข้อเท็จจริง เกี่ยวกับกุรอานและการก่อการร้าย
การอนุญาตให้ต่อสู้เพื่อป้องกันตัวเอง ดังที่ระบุไว้ใน อัลกุรอาน ซูเราะห์(บท)ที่ 22 อายะห์(วรรค)ที่ 39-40 นั้น ไม่ได้ถูกประทานลงมาเพื่อ ปกป้องแค่ชาวมุสลิมให้รอดพ้นจากการถูกข่มเหงรังแก เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่นัยยะดังกล่าว ยังครอบคลุมถึงการปกป้องชาวคริสต์ ชาวยิว และมนุษย์ทุกชาติทุกศาสนา ให้รอดพ้นจากการก่อการร้ายอันมิชอบ เช่น การกระทำของกลุ่มไอซิส ในทุกวันนี้
มีเพียงคนสองกลุ่มในสังคม เท่านั้นที่เชื่อว่า "อัลกุรอานสอนให้ก่อการร้าย" นั่นก็คือ กลุ่มคนที่ตกอยู่ในความหวาดกลัวศาสนาอิสลามหรือ อิสลาโมโฟเบีย และกลุ่มหัวรุนแรง เช่น ไอซิส ซึ่ง ความเชื่อของทั้งคู่นั้นผิดโดยสิ้นเชิง
มีความจริงสำคัญ 3 ประการ ที่จะชี้ให้เห็นว่า ไม่มีตัวบทใดในอัลกุรอานที่อนุญาตหรือส่งเสริมการก่อการร้ายและความรุนแรง และถึงแม้ว่าทั้งกลุ่มคนที่ตกอยู่ในความหวาดกลัวศาสนาอิสลาม และกลุ่มหัวรุนแรงเช่นไอซิสจะมองข้ามและเพิกเฉยต่อความจริงดังกล่าวนี้ กระนั้น ทั้งอัลกุรอาน ,ท่านนบี(ศาสนทูต)มุฮัมหมัด(ซ.ล.) และชาวมุสลิมทั่วโลกก็ยังคงปกป้องสนับสนุนข้อเท็จจริงสามประการนี้อย่างแข็งขัน
ความจริงข้อที่ 1
อัลกุรอาน เป็นคัมภีร์ที่กำชับให้เรา อ่านเต็มตัวบทไม่มีการลดย่อ ไม่มีคำว่า "เลือกได้ตามใจฉัน" ดังหลักฐานที่กล่าวในวรรคหนึ่งของอัลกุรอานว่า "เราเชื่อในอัลกุรอาน ทั้งหมดนั้นมาจากพระเจ้าของเรา" (3:7) หลายครั้งที่กลุ่มไอซิสและกลุ่มคนที่ตกอยู่ในความหวาดกลัวศาสนาอิสลามมักจะเบี่ยงเบนความจริงด้วยการเลือกที่รักมักที่ชัง อัลกุรอานในวรรค 3:7 ได้ตีตรากลุ่มคนเหล่านี้ว่าเป็นคน "บิดเบือน" โดยกล่าวว่า "…คนที่ในหัวใจของเขามีการเอนเอียงออกจากความจริงนั้น พวกเขาจะเลือกเฉพาะอันที่ไม่เฉพาะเจาะจง เพื่อแสวงหาความวุ่นวายและแสวงหาการตีความเฉพาะ(เพียงสิ่งที่เหมาะกับตน)"
แต่บางคนอาจแย้งว่า ไม่ใช่อัลกุรอานหรอกหรือที่บอกว่า "และจงประหัตประหารพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา" ?
ใช่…และนั่นจึงเป็นที่มาของความจริงข้อที่ 2 ดังนี้
ความจริงข้อที่ 2
อิสลาม คือ ศาสนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง อิสลามอนุญาตให้เรารู้จักป้องกันตนเองในกรณีที่เราตกอยู่ในภาวะคับขัน ดังตัวอย่างจากประวัติศาสตร์ของท่านท่านศาสนทูตมุฮัมหมัด ดังนี้
กรณีแรก ท่านศาสนทูตมุฮัมหมัดและมิตรสหายของท่านต้องทนอยู่กับสภาพถูกข่มเหงรังแกอย่างโหดร้ายในเมืองมักกะฮ์มานานเกือบ 13 ปี ในระยะเวลานั้นท่านต้องถูกคว่ำบาตร ต้องทนอยู่ในสภาพอดอาหารและแร้นแค้นนานถึงสามปี จนกระทั่งภรรยาของท่านที่ชื่อว่าคอดีญะห์ต้องเสียชีวิตในที่สุด แต่ในตอนนั้นชาวมุสลิมก็ไม่ได้ต่อสู้หรือตอบโต้กลับแต่อย่างใด
กรณีต่อมา ท่านนบีมุฮัมหมัดได้ส่งสหายของท่านจำนวนหนึ่งไปยังเมืองอบีซิเนีย (ปัจจุบันคือเอธิโอเปีย) ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ชาวคริสต์เพื่อขอลี้ภัยที่นั่น ครั้งนั้นมุสลิมก็ไม่ได้ใช้กำลังต่อสู้แต่อย่างใด และกรณีที่สาม เมื่อสหายของท่านนบีมุฮัมหมัดได้ขอร้องให้มีการต่อสู้และตอบโต้กลับไป ท่านกลับตอบอย่างชัดเจนว่า "ฉันยังไม่ได้รับอนุญาตให้ต่อสู้" และกรณีสุดท้าย เมื่อการข่มเหงรังแกได้กลายเป็นเรื่องที่ทนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว ท่านนบีมุฮัมหมัดและชาวมุสลิมจึงต้องอพยพถอยตัวเองออกจากเมืองมักกะฮ์ แต่กระนั้นท่านก็ยังคงปฏิเสธที่จะตอบโต้กลับไป
บรรดาผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมเหล่านี้ต้องรอนแรมเดินทางข้ามทะเลทรายกว่า 240 ไมล์เพื่อหลบหนีจากการก่อการร้าย แล้วในที่สุดพวกเขาก็ได้มาถึงเมืองมาดีนะห์ เมืองที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวยิว หากศาสนาอิสลามสอนให้ก่อการร้ายและบังคับใช้ความรุนแรงแล้ว นี่คงเป็นประจวบเหมาะที่จะแสดงอำนาจบาตรใหญ่ แต่เปล่าเลย ท่านนบีมุฮัมหมัดกลับเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งเมืองมาดีนะห์ให้กับชาวยิวเพื่อก่อตั้งรัฐแห่งความสามัคคีปรองดองที่ไร้ซึ่งการบังคับทางศาสนาใดๆ
แต่กระนั้น กลุ่มหัวรุนแรงที่พยายามจะฆ่าชาวมุสลิมในเมืองมักกะฮ์ก็ยังคงตามมาจองล้างจองผลาญหมายจะกำจัดมุสลิมถึงเมืองมาดีนะห์อีก ในที่สุดอัลกุรอานจึงถูกประทานลงมาให้มุสลิมออกศึกสู้รบเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการอนุญาตให้ต่อสู้เพื่อป้องกันตนเอง โดยอัลกุรอานระบุไว้ในซูเราะห์(บท)ที่ 22 อายะห์(วรรค)ที่ 39-40 ว่าให้ถือเป็นอภิสิทธิ์เฉพาะ "บรรดาผู้ที่ถูกโจมตี" เท่านั้น และการต่อสู้ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องชาวมุสลิมให้พ้นจากการถูกข่มเหงรังแกเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมไปถึงการปกป้องชาวยิว ชาวคริสต์ และพลเมืองของทุกศาสนาอีกด้วย
และทุกวรรคตอนในประโยคอื่นของอัลกุรอานที่ว่าด้วยการต่อสู้ก็ถูกวางกรอบด้วยกฎเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าจะต้องอยู่บนพื้นฐานของการป้องกันตนเองเท่านั้น มิเช่นนั้นจะถือว่าเป็นการวิบัติทางเหตุผลและบิดเบือนไปจากความจริง และการเลือกที่รักมักที่ชังในการทำความเข้าใจอัลกุรอานก็ถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามอีกด้วย
นอกจากนี้แล้ว อัลกุรอานซูเราะห์(บท)ที่ 2 อายะห์(วรรค)ที่ 192-193 ยังได้ระบุอีกว่ามุสลิมสามารถต่อสู้กับศัตรูที่ข่มขี่ผู้อื่นเท่านั้น กล่าวคือ หากเมื่อใดที่ศัตรูมีการร้องขอให้นิรโทษกรรมในระหว่างการสู้รบ มุสลิมจะต้องให้สิทธิ์นั้น
ความจริงข้อที่ 3
ตอนนี้ คุณอาจเข้าใจแล้วว่า ใคร คือ คนที่อัลกุรอานกล่าวถึง ในประโยคที่ว่า "และจงประหัตประหารพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา" คำว่า "พวกเขา" ในที่นี้คือ กลุ่มผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรง ที่ข่มเหงรังแกผู้อื่นตามศรัทธาของตนเอง คือผู้ที่ขับไล่ผู้อื่นให้ออกไปจากบ้านเมืองของตนเอง แล้วคอยไปตามล่าสังหารชีวิตผู้บริสุทธิ์ในบ้านใหม่ที่พวกเขาอุตส่าห์ดั้นด้นหลบหนีไป
อัลกุรอานอนุญาตการฆ่าผู้ก่อการร้ายเพื่อป้องกันตนเอง เนื่องจากพวกเขาได้เริ่มประกาศสงครามกับคุณ หรือกับชาวคริสต์ ชาวยิว หรือใครจากศาสนาใดก็ตาม แต่กระนั้น หากผู้ก่อการร้ายได้หยุดกระทำการดังกล่าวแล้ว อัลกุรอานก็ห้ามไม่ให้กระทำการรุนแรงใดๆ ต่อพวกเขาเช่นกัน คำสอนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่หลักการ แต่หากมันคือจารึกประวัติศาสตร์อิสลามที่มีอยู่มาช้านาน
ท่านนบีมุฮัมหมัดได้สร้างบางสิ่งที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อครั้งที่ท่านเดินทางกลับไปยังเมืองมักกะฮ์ แม้ว่าท่านเคยเผชิญกับการข่มเหงรังแกอันแสนโหดร้ายหมายทำลายชีวิต แต่ท่านก็ยังหยิบยื่นไมตรีและการให้อภัยแก่ชาวมักกะฮ์ ด้วยเงื่อนไขเพียงข้อเดียวที่ว่า ชาวมักกะฮ์จะต้องยอมรับอิสรภาพแห่งคุณธรรมทั่วไป โดยที่ท่านไม่ได้บังคับขู่เข็ญให้ใครต้องมารับอิสลาม ท่านไม่ได้ประกาศสงครามและไม่ได้กักขังหน่วงเหนี่ยวพลเมืองชาวมักกะฮ์แต่อย่างใด ท่านยกโทษ ท่านให้อภัยเท่านั้น
ดังเช่น นักประวัติศาสตร์ชาวต่างศาสนิกอย่าง Stanley Lane-Poole ได้ยืนยันว่า "วันแห่งชัยชนะอันสูงสุดของมุฮัมหมัดเหนือศัตรูของท่าน คือวันเดียวกันกับที่ท่านได้รับชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือตัวท่านเอง ท่านได้ให้อภัยและมอบอิสระแก่ชาวกุเรช(ชาวมักกะฮ์) ยกโทษให้กับช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าและโหดร้ายทารุณที่พวกเขาได้กระทำกับท่านตลอดที่ผ่านมา และมอบนิรโทษกรรมให้เป็นของขวัญแด่พลเมืองชาวมักกะฮ์ทั้งปวง"
นี่คือ ความรักและความเมตตาปราณีที่อิสลามและอัลกุรอานได้สอน ใครที่บริสุทธิ์ใจจะเห็นได้ชัดแจ้งว่า การเปรียบเทียบกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงว่าเป็นตัวแทนของท่านนบีมุฮัมหมัดฉันใด ก็ไม่ต่างอะไรกับการเปรียบเทียบความมืดว่าเป็นตัวแทนของแสงสว่างฉันนั้น ทั้งสองคือความต่างอย่างสุดขั้ว
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอิสลาม ได้คืบคลานเข้ามาหาเราในทุกวัน เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันรู้จักอิสลามจากพาดหัวข่าวของสื่อมากกว่าการได้รับรู้ความจริงจากอัลกุรอานและวิถีแห่งศาสนทูต ลองหันมาศึกษาอัลกุรอาน ลองหันมาทำความรู้จักกับชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมหมัด ลองหันมาศึกษาค้นคว้าความจริงเกี่ยวกับอิสลาม แล้วท่านจะพบความแตกต่างจากเรื่องราวที่ท่านเคยรู้
ญิฮาด หรือ การอุทิศตน ในหนทางแห่งการศึกษา คือ อาวุธที่จะทำลายล้างการก่อการร้ายได้ คือสิ่งจรรโลงชีวิตที่จะฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล และผมขอเชิญชวนคุณไปสู่การญิฮาดนั้น เพื่อประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติทั้งปวง