รู้ไหม ? แปรงลิ้น ลดเสี่ยงเบาหวาน-ไต-มะเร็งกระเพาะอาหาร


2,838 ผู้ชม

เราทุกคนแปรงฟันกันอยู่ทุกวันอยู่แล้ว เพราะเราไม่อยากฟันผุ แต่เชื่อว่าหลายคนอาจลืมไปว่าเรามีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องแปรง ต้องทำความสะอาด นั่นก็คือ ลิ้น นั่นเอง ...


รู้ไหม ? แปรงลิ้น ลดเสี่ยงเบาหวาน-ไต-มะเร็งกระเพาะอาหาร

เราทุกคนแปรงฟันกันอยู่ทุกวันอยู่แล้ว เพราะเราไม่อยากฟันผุ แต่เชื่อว่าหลายคนอาจลืมไปว่าเรามีอีกส่วนหนึ่งที่ต้องแปรง ต้องทำความสะอาด นั่นก็คือ "ลิ้น" นั่นเอง ทำไมเราต้องแปรงลิ้น แปรงลิ้นมีประโยชน์อย่างไร แปรงลิ้นแล้วจะทานอาหารอร่อยขึ้นได้อย่างไร เรามีคำตอบจาก Mahodol Channel มาฝากกันค่ะ

ลิ้น อวัยวะสำคัญในการรับรสชาติ

ลิ้นของคนเรามีปุ่มรับรสอยู่ ถ้าปุ่มรับรสของเราสัมผัสกับน้ำตาล ปุ่มรับรสก็จะเปลี่ยนสัญญาณของน้ำตาลไปเป็นสัญญาณประสาท มันก็จะวิ่งไปที่สมองของเรา สมองก็จะตีความออกมาว่า "นี่คือรสอะไร" 

ลิ้น รับรู้ได้กี่รสชาติ

ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันว่า ลิ้นสามารถรับรู้รสได้ถึง 5 รสชาติ นั่นคือ หวาน เค็ม เปรี้ยว ขม และกลมกล่อม 

รสกลมกล่อม คนอาจจะไม่ค่อยรู้จักเท่าไร บางคนเรียกว่า รสอูมามิ แต่ถ้าให้พูดง่ายๆ เลยคือ รสชาติจากผงชูรสนั่นเอง ผงชูรส คือ โมโนโซเดียมกลูตาเมต ซึ่งเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่ง เป็นสารสื่อประสาท กระตุ้นความอยากอาหารได้ เหมือนเราเอากระดูกไก่ไปต้มซุป รสชาติที่เราได้จากน้ำซุปกระดูกไก่นี้แหละ คือ รสอูมามิ 

รสเผ็ดล่ะ?

จริงๆ แล้ว เผ็ดไม่ใช่รสชาติค่ะ เผ็ดเป็นอาการระคายเคืองลิ้น ใช้กระบวนการในการส่งสัญญาณไปถึงประสาทแบบเดียวกันกับความรู้สึกเจ็บปวดเลยล่ะ ภายในปากมีตัวรับรู้ความเจ็บปวดอยู่เยอะมาก โดยจะคอยส่งสัญญาณไปที่สมอง ผ่านกลไกความเจ็บปวด แล้วค่อยตีความออกมาว่า "นี่คือรสเผ็ด"

 screenshot2560-05-26at11.

ปุ่มรับรู้รสเสื่อมได้อย่างไร?

มีการศึกษาวิจัยที่เปรียบเทียบกับคนญี่ปุ่น ปรากฎว่าคนไทยมีระดับที่เริ่มรู้รสสูง แปลว่าเราต้องปรุงรสเยอะกว่าเราจะรับรู้รสชาติ ว่ามันคือรสอะไร ทั้งรสหวาน รสเค็ม รสเปรี้ยว และรสขม ค่าเฉลี่ยเต็ม 5 ของคนไทยจะอยู่ที่ 4 ของคนญี่ปุ่นจะอยู่ที่ไม่เกินระดับ 3 ในขณะที่รสกลมกล่อม คนญี่ปุ่นก็ยังเริ่มรับรู้รสได้ที่ระดับประมาณ 3 ส่วนของคนไทยคือ 5 จากระดับ 6 บางรายหนักกว่า ให้ลองทดสอบที่ระดับ 6 แล้วยังไม่รับรู้รสเลยก็มี พอสอบถามเพิ่มเติมถึงได้รับรู้ว่า เป็นคนทานผงชูรสอยู่เป็นประจำนั่นเอง

อร่อยปาก สุขภาพพัง!

การรับรู้รสสำคัญกับเรื่องรับประทานอาหาร ยิ่งระดับการรับรู้รสสูง แปลว่าเราต้องยิ่งเติมเครื่องปรุงเยอะ เราถึงจะรู้รส ยิ่งเติมน้ำตาล น้ำปลาเยอะ ก็แปลว่าเราก็บริโภคน้ำตาล น้ำปลาต่อวันเป็นจำนวนที่มากขึ้นไปด้วย การบริโภคน้ำตาลมากๆ เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน และโรคฟันผุ หากบริโภคน้ำปลา หรือเกลือมาก ก็ส่งผลถึงโรคไต ความดันโลหิตสูง และมะเร็งกระเพาะอาหาร

ทางออกของคนชอบปรุง

สำหรับคนที่ติดรสชาติ แล้วมีปัญหาที่ปุ่มรับรส มีปัญหาในระดับลิ้น ให้ลองส่งกระจกดูว่า ที่ลิ้นมีคราบขาว หรือที่เราเรียกว่า คราบจุลินทรีย์อยู่หรือไม่  ถ้ามีให้ใช้แปรงทำความสะอาด การแปรงลิ้นจะเป็นการช่วยกำจัดคราบจุลินทรีย์ออก โดยมีงานวิจัยว่า การแปรงลิ้นจะช่วยให้ปุ่มรับรู้รสที่ลิ้นทำงานได้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่างๆ ภายในช่องปากช่องฟันได้อีกด้วย

 screenshot2560-05-26at11._1

แปรงลิ้นอย่างถูกวิธี

1. แปรงจากโคนลิ้นด้านใน ลากออกมาที่ปลายลิ้นด้านนอก

2. แปรงลิ้นวันละ 1 ครั้งก่อนนอน

3. เลือกแปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม

4. ไม่ต้องใช้ยาสีฟันในการแปรงลิ้น ใช้แปรงสีฟันเปล่าๆ ได้เลย

นอกจากการแปรงลิ้นแล้ว เราก็ควรปรับพฤติกรรมในการทานอาหาร ทุกครั้งที่เราลดระดับลงมา ลิ้นของเราก็จะปรับตัวตามไปด้วย เมื่อระดับการเริ่มรับรู้รสของเราต่ำลง ปริมาณเครื่องปรุงที่เราใส่เพิ่มเพื่อให้ได้รสชาติเท่าเดิม มันก็จะน้อยลงตามไปด้วย อร่อยได้เหมือนเดิม แต่โรคภัยถามหาน้อยลง น่าจะเป็นวิธีที่ทำให้เราจะมีความสุขกับการทานอาหารได้นาน และมีความสุขมากยิ่งขึ้นนะคะ 

อัพเดทล่าสุด