ทำอย่างไรดี..เมื่อลูกจ๋าไม่อยากไปโรงเรียน


1,348 ผู้ชม

คงเป็นที่ลำบากใจของผู้ปกครองและคุณครูอยู่ไม่น้อย หากเทศกาลเปิดเทอมที่ใกล้จะถึงนี้ลูกๆ หลานๆ ของท่านมีภาวะงอแงไม่อยากไปโรงเรียนเอาดื้อๆ ...


ทำอย่างไรดี..เมื่อลูกจ๋าไม่อยากไปโรงเรียน

คงเป็นที่ลำบากใจของผู้ปกครองและคุณครูอยู่ไม่น้อย หากเทศกาลเปิดเทอมที่ใกล้จะถึงนี้ลูกๆ หลานๆ ของท่านมีภาวะงอแงไม่อยากไปโรงเรียนเอาดื้อๆ

ภาวะงอแงในช่วงเปิดเทอมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กระดับชั้นอนุบาลและชั้นประถมศึกษาตอนต้น ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นอาจมาจากภาวะที่เด็กยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานที่ใหม่ๆ ผู้คนใหม่ๆ ได้ดีพอ ภาวะที่ต้องเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวันจากที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในบ้านสู่การใช้ชีวิตในโรงเรียน ที่ต้องมีกฏระเบียบและการช่วยเหลือตนเองเพิ่มขึ้น รวมถึงภาวะวิตกกังวลที่ต้องแยกจากคนใกล้ชิดที่คุ้นเคย ซึ่งหากเด็กในช่วงวัยประถมมีภาวะนี้อยู่นานหรือต่อต้านการไปโรงเรียนค่อนข้างมาก ผู้ปกครองควรหาสาเหตุอื่นที่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้บุตรหลานของท่านเกิดภาวะดังกล่าว แต่โดยส่วนมากเด็กๆ จะสามารถปรับตัวได้เองประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากเปิดเทอม

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเปิดภาคเรียน ทีมเว็บไซต์ สสส. ได้ขอเคล็ดลับการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับภาวะดังกล่าว จาก พญ.ถิรพร ตั้งจิตติพร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มาฝากดังนี้ค่ะ

1. คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองควรหากิจกรรมที่มีส่วนสร้างเสริมให้เด็กได้ช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น โดยกำหนดเป็นช่วงตารางเวลาและสอดแทรกกฎระเบียบลงไปเล็กน้อย เพื่อให้เขาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทีละเล็กละน้อย เช่น ฝึกเวลาเข้านอน ตื่นนอน กินอาหาร สร้างระเบียบให้เก็บของเล่นทุกครั้งเมื่อเล่นเสร็จ วางรองเท้าให้เป็นที่ ฝึกหัดการช่วยเหลือเช็ดโต๊ะ เก็บผ้า ฝึกการเข้าสังคมด้วยการเล่นกับญาติหรือเพื่อนบ้าน รวมถึงส่งเสริมให้เล่นกีฬา

2. หากเปิดเทอมแล้วบุตรหลานมีภาวะงอแง ผู้ปกครองควรเข้าใจ ค้นหา และแก้ไขสาเหตุที่เกิดขึ้น ผู้ปกครองไม่ควรโมโหหรือกังวล เพราะถ้าหากเด็กมีความรู้สึกกลัวก็จะงอแงเพิ่มขึ้น ควรสร้างความเชื่อมั่นว่าบุตรหลานของท่านสามารถปรับตัวได้ในเร็ววัน

3. ในกรณีที่พ่อแม่ไปส่งลูกที่โรงเรียนแล้วเด็กงอแงไม่อยากให้แยกจาก อาจลองส่งลูกๆ ให้ถึงมือคุณครูแล้วรีบกลับ ไม่ควรอยู่ยื้อหรืออยู่เฝ้า เนื่องจากเมื่อเด็กยิ่งเห็นจะยิ่งกังวลและงอแง

4. หลังจากเลิกเรียน ลองหาช่วงเวลาชวนลูกเล่าเรื่องสนุก เรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน รวมถึงการชื่นชมผลงานที่เขาได้ทำ

5. ฝึกการทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยมีคุณพ่อคุณแม่เป็นแบบอย่าง

ทั้งนี้การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายวันละ 60 นาที ยังเป็นตัวช่วยเสริมสร้างสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงภาวะโรคอ้วนสำหรับเด็กที่เนือยนิ่งหรือติดจอ รวมถึงช่วยพัฒนาการของเด็กให้ดีขึ้น ซึ่งสามารถเพิ่มการมีกิจกรรมทางกายได้ในโรงเรียน อย่างโครงการโรงเรียนฉลาดเล่น Active School ที่แบ่งสูตรการเคลื่อนไหวออกเป็น 10: 20: 30 คือในช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน กิจกรรมระหว่างวันหรือพักเที่ยง และกิจกรรมตอนเย็นหรือหลังเลิกเรียน เพื่อให้เด็กๆ ได้ขยับร่างกาย ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และพัฒนาด้านอารมณ์ สมอง พัฒนาการต่างๆ

ช่วงก่อนเปิดเทอมที่ใกล้จะถึงนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถลองนำ 5 เคล็ดลับการเตรียมตัวเพื่อรับมือลูกๆ ที่ยังไม่พร้อมเปิดเทอมไปใช้กันนะคะ

อัพเดทล่าสุด