หนูอยากให้พ่อ...เลิกบุหรี่


1,242 ผู้ชม

ความในใจจากลูกๆ ที่หวังอยากให้พ่อหยุดสูบบุหรี่ เพราะโรคต่างๆ ที่ตามมาจากการสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ และเส้นเลือดในสมอง ..


หนูอยากให้พ่อ...เลิกบุหรี่

หนูอยากให้พ่อเลิกบุหรี่ ความในใจจากลูกๆ ที่หวังอยากให้พ่อหยุดสูบบุหรี่ เพราะโรคต่างๆ ที่ตามมาจากการสูบบุหรี่ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ และเส้นเลือดในสมอง ทำให้คนในครอบครัวเจ็บปวดกับการทรมานด้วยโรคดังกล่าวของผู้สูบบุหรี่

และหากเป็นไปได้ก็เชื่อว่า ลูกๆ อยากให้คุณพ่อหยุดสูบบุหรี่ตั้งแต่เนิ่นๆ อยากให้อยู่กับครอบครัวด้วยการมีสุขภาพที่ดี เพราะผู้สูบบุหรี่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร อายุสั้นลงโดยเฉลี่ย 12 ปี และจะป่วยหนักประมาณ 2 ปี ก่อนเสียชีวิต ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ครอบครัวจะทำใจยอมรับการจากไปของผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ได้ง่ายดายนัก

รู้หรือไม่

- สูบบุหรี่ 1 มวน อายุสั้นลง 7 นาที

- ควันบุหรี่มีสารพิษมากกว่า 7,000 ชนิด เป็นสารพิษ 250 ชนิด และกว่า 70 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง

- ในอดีตเราเชื่อว่า การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากความเคยชินที่สามารถเลิกได้โดยอาศัยกำลังใจจากคนรอบข้าง แต่ในไม่กี่ปีที่ผ่านมา พบว่า ฤทธิ์ของนิโคตินในบุหรี่ มีอำนาจเสพติดเทียบเท่าเฮโรอีน ซึ่งยากที่ผู้สูบบุหรี่จะถอนตัวขึ้น

เลิกบุหรี่ด้วยหลัก 3หา 7ไม่

การเลิกบุหรี่แม้จะดูเป็นเรื่องยากสำหรับตัวผู้สูบบุหรี่เอง แต่ก็ไม่ได้ยากจนไม่สามารถเลิกได้เลย มีตัวอย่างจากหลายๆ คนที่สามารถเลิกบุหรี่โดยเด็ดขาด และหันหลังให้กับบุหรี่อย่างถาวร เช่น โย่ง-อาร์มแชร์ ศิลปินนักร้อง นักแสดงตัวอย่างของหลายๆ คน สามารถเลิกบุหรี่ได้เด็ดขาดโดยมีภรรยา คือก้อย วลัยลักษณ์ หรือก้อย Saturday Seiko เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ โดยเลิกด้วยการ "หักดิบ" และฝ่าฟันห้วงเวลานั้นด้วยคำสัญญาที่ให้ไว้แก่ภรรยา และกำลังใจจากคนรอบข้าง ดังนั้นหลัก 3หา 7ไม่ต่อไปนี้ เป็นหลักการที่จะช่วยให้คนที่อยากเลิกบุหรี่มีหลักยึด และปฏิบัติตามได้

1. หาที่ปรึกษา

ขอคำปรึกษาจากคนที่คุณรู้จักที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จมาแล้ว หรือโทรศัพท์ขอคำแนะนำในการเลิกบุหรี่ ที่ 1600

2.หากำลังใจ

ควรบอกคนใกล้ชิดให้ทราบว่า คุณกำลังเลิกบุหรี่ เพราะกำลังใจจากคนรอบข้างจะช่วยให้คุณพยายามที่จะเลิกสูบบุหรี่จนสำเร็จ

3.หาเป้าหมาย

วางแผนการปฏิบัติตัวและกำหนดวันที่จะเลิกบุหรี่ อาจเป็นวันสำคัญในชีวิตของคุณ หรือวันสำคัญทางศาสนาที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจก็ได้

4.ไม่รอช้า

เตรียมทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ให้หมด เตรียมผลไม้รสเปรี้ยว หรือ ของขบเคี้ยว เพื่อช่วยลดความอยาก รวมทั้งปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่คุณมักทำร่วมกับการสูบบุหรี่

5.ไม่หวั่นไหว

เมื่อถึงวันที่ต้องเลิกบุหรี่ ควรตื่นนอนด้วยความสดชื่น บอกว่าเรากำลังทำสิ่งที่ดีที่สุดให้ตัวเองด้วยใจตั้งมั่น

6.ไม่กระตุ้น

หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ เช่น กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

7.ไม่หมกมุ่น

เมื่อรู้สึกเครียดให้หยุดพักสมอง คลายความเครียด โดยการพูดคุยกับคนอื่นๆ หรือหาหนังสือสบายอารมณ์มาอ่าน หรือออกกำลังกาย

8.ไม่นิ่งเฉย

จัดเวลาออกกำลังกายวันละ 15-20 นาที นอกจากช่วยคุมน้ำหนักแล้ว ยังทำให้สมองปลอดโปร่ง เพิ่มประสิทธิภาพของหัวใจและปอด

9.ไม่ท้าทาย

อย่าคิดว่ากลับไปสูบดูบ้างคงไม่เป็นไร เพราะการลองสูบเพียงมวนเดียว อาจทำให้กลับไปติดได้

10.ไม่ท้อแท้

หากต้องหันกลับไปสูบอีก ไม่ได้หมายความว่าคุณล้มเหลว แต่อย่างน้อยคุณก็ได้เรียนรู้ที่จะปรับปรุงตัวครั้งต่อไป และพยายามต่อสู้เพื่อให้ตัวคุณเองสามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ

เคล็ดที่ไม่ลับ 3หา7ไม่ นี้ ฝากผู้อ่านที่ต้องการช่วยคุณพ่อ หรือคนในครอบครัวที่อยากเลิกบุหรี่ให้ได้ ลองปฏิบัติตามดูนะคะ เพราะหากเลิกได้ คนที่คุณรักก็จะได้สุขภาพที่ดีกลับคืนมา อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข และชีวิตบั้นปลายจะได้ไม่ต้องเจ็บป่วยทรมานจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่

ในปี 2560 นี้ มาร่วมโครงการ 3 ล้าน 3 ปี เลิกบุหรี่ทั่วไทย เทิดไท้องค์ราชัน ๑ ในโครงการร่วมเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยความร่วมมือและดำเนินการ ของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายหมออนามัย สมาคมหมออนามัยสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข สมาคมอาสาสมัครเพื่อสังคมไทย (อสม.) และภาคีเครือข่ายโดยสามารถร่วมลงนามเลิกบุหรี่ ได้ที่ https://www.quitforking.com

อัพเดทล่าสุด