สุขสันต์กับรอมฎอน


1,659 ผู้ชม

การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม(ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ)เมื่อรอมฎอนมาถึงวิถีปฏิบัติของมุสลิมมีความแตกต่างจากวันปกติหลายประการ ...


สุขสันต์กับรอมฎอน

การถือศีลอดนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่เก้าของปฏิทินอิสลาม(ซึ่งจะนับเดือนตามจันทรคติ)เมื่อรอมฎอนมาถึงวิถีปฏิบัติของมุสลิมมีความแตกต่างจากวันปกติหลายประการและมีประเด็นที่มุสลิมเองหรือต่างศาสนิก ควรรู้ดังนี้

1. ความหมายการถือศีลอด บรรดานักปราชญ์อิสลามได้ให้คำจำกัดความของการถือศีลอด (ศิยามในภาษาอาหรับ) ไว้ว่า "การถือศีลอดหมายถึงการงดเว้นจากการบริโภคและการปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำนับตั้งแต่แสงรุ่งอรุณจนถึงดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า(เวลากลางวัน)"

พระเจ้าได้ตรัสว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่สูเจ้าดังที่พระองค์ได้เคยบัญญัติแก่ชนยุคก่อนจากท่านเพื่อว่าสูเจ้าจะเป็นผู้ที่ยำเกรง" (อัลกุรอ่าน บทที่ 2 โองการที่ 183)
คำว่าผู้ยำเกรงตามทรรศนะอิสลาม หมายถึงการกระทำความดีและละเว้นความชั่ว

ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า "การถือศีลอดเป็นโล่ถ้าหากว่าผู้หนึ่งในพวกท่านถือศีลอดในวันหนึ่งแล้วเขาไม่ทำชั่วและพูดจาหยาบคายเมื่อมีผู้หนึ่งด่าทอต่อเขาหรือระบายความไม่ดีแก่เขา(ผู้ถือศีลอด) จงกล่าวว่าแท้จริงฉันถือศีลอด"

2. การถือศีลอดทำให้เสียสุขภาพหรือไม่

ในระหว่างวันชาวมุสลิมจะละเว้นการกิน การดื่ม ซึ่งทำให้ร่างกายขาดพลังงานจากสารอาหารที่จะได้รับและต้องสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายออกจากร่างกาย จะทำให้รู้สึกกระหายน้ำและเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดลดลงก็จะทำให้รู้สึกหิว ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการอดไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง ซึ่งเรียกว่าระยะหิวโหย ระดับน้ำตาลและน้ำที่ลดลงจะกระตุ้นไปที่ศูนย์ควบคุมความหิว

สำหรับคนที่มีร่างกายปกติ มีเจตนา (นียะห์) และมีความเชื่อมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮฺ (ศุบหฯ) อย่างแน่วแน่ จะไม่ทำให้ร่างกายถึงขั้นมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติไปเพราะระบบต่างๆในร่างกายจะช่วยประสานงานกันโดยอัตโนมัติเพื่อที่จะรักษาสมดุลให้เกิดขึ้นโดยในระยะแรกร่างกายจะเริ่มมีการสลายพลังงาน ที่เก็บสะสมไว้ในตับ กล้ามเนื้อ และไขมันมาใช้เป็นพลังงานเพื่อรักษาสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกายอย่างเหมาะสม ทำให้ร่างกายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปัตตานีซึ่งทำงานในชุมชนมุสลิมได้ให้ทรรศนะว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน นับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่อวัยวะของระบบทางเดินอาหารจะได้พักผ่อนและถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ล้างสารพิษในร่างกายออกไป เพราะจากการศึกษาพบว่า การอดอาหารในระยะหนึ่งจะเป็นการขจัดสารพิษออกจากร่างกาย เพราะร่างกายจะขับของเสียที่หมักหมมหรือสารอาหารที่มีมากเกินความต้องการของร่างกาย เช่น ไขมันเลือดในเลือด หรือที่เรียกกันว่าคอเรสเตอรอลออกไป เพราะหากมีมากเกินไปในกระแสเลือดจะทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด

ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า มีรายงานการศึกษาทางการแพทย์ของ Mansell และ Macdonaldตีพิมพ์ในวารสาร British Medical Journal เมื่อปี 1988 แสดงให้เห็นว่าหญิงที่มีน้ำหนักปกตินั้น หากให้กินอาหารน้อยมาก เป็นเวลา 7 วัน ปรากฏว่า ร่างกายของหญิงเหล่านั้นจะปรับตัวได้ดีไม่มีปัญหาเลยแม้แต่น้อย นักวิทยาศาสตร์กลุ่มเดียวกันนี้ยังศึกษาต่อไปอีกว่า หากลองให้คนอดอาหารอย่างสิ้นเชิงยาวนานถึง 48 ชั่วโมง แล้วตรวจสอบดูว่าจะส่งผลต่อกลไกการทำงานของร่างกายอย่างไรบ้าง

ผลของการศึกษาพบว่าร่างกายของผู้อดอาหารกลับตอบสนองต่อการทำงานของฮอร์โมนอินซูลินดีขึ้นด้วยซ้ำ คนที่อดอาหาร 48 ชั่วโมง เมื่อต้องกลับมากินอาหารอีกครั้งหนึ่งปรากฏว่าสมดุลของฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ให้ประโยชน์และช่วยทำให้การย่อยอาหารดีขึ้น

มีรายงานการวิจัยอื่นๆ อีกเหมือนกันที่ยืนยันว่า การอดอาหารอย่างสิ้นเชิงจะทำให้ความดันโลหิตลดลงในขณะที่ปริมาณของเลือดที่เข้าสู่หัวใจไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งหมายความว่าร่างกายปรับตัวโดยลดการทำงานของร่างกายลงในขณะที่ประสิทธิภาพของร่างกายยังคงที่อยู่ร่างกายของมนุษย์จึงอัศจรรย์กว่าที่เราเคยเข้าใจและ ภายหลังผ่านการอดอาหารมาแล้วระบบการย่อยอาหารจะกลับเข้าสู่สภาวะเดิมโดยไม่แสดงผลร้ายหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ก่อผลเสียแต่อย่างใดเลย

กองทัพบกอิสราเอล โดยมีคณะนักวิจัยทางการแพทย์นำโดยนายแพทย์ Maislos แห่งมหาวิทยาลัยเบนกูเรียน อิสราเอล เป็นผู้ทำงานวิจัยชิ้นนี้ให้กองทัพบก หมอ Maislos ทำการศึกษาพฤติกรรมการถือศีลอดของชนเผ่าทะเลทรายที่เรียกว่า เบดูอิน คนเหล่านี้ถือศีลอดอย่างเคร่งครัดเหมือนกับคนอาหรับถือศีลอดกันในอดีต นั่นคือกินอาหารน้อย ออกกำลังกายหรือทำงานตามปกติ และนอนค่อนข้างน้อย วันเวลาผ่านไปหนึ่งเดือนเมื่อพ้นเดือนรอมฎอน หมอทำการตรวจสอบระดับไขมันของชนเผ่าเบดูอิน สิ่งที่พบคือ คนเหล่านี้มีสุขภาพทางร่างกายดีขึ้น ความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง ระดับไขมันที่ดีที่เรียกว่า เอชดีแอล เพิ่มระดับสูงขึ้น

บทสรุปก็คือ การถือศีลอดอย่างเคร่งครัด น่าจะช่วยทำให้ผู้ที่ถือศีลอดลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคหัวใจได้

3. ข้อควรปฏิบัติของผู้ที่ถือศีลอดที่จะนำไปสู่สุขภาวะ

สุขภาพ คือ "สภาพของร่างกายและจิตใจ" สุขภาพดีสุขภาพดีจึงหมายถึง สภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ สุขภาพเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของผู้ถือศีลอด การที่จะทำให้สุขภาพทั่งกายและใจแข็งแรง มีหลักที่ทำง่ายๆ คือ หลัก 3 อ. ได้แก่

อาหาร

ความสำคัญของการรับประทานอาหาร มีอยู่ 2 ประการ คือ
1. ต้องเป็นอาหารที่ฮาลาลและมีคุณประโยชน์ครบหมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันวิตามิน แร่ธาตุ และน้ำ
2. ต้องได้รับอารหารในสัดส่วนที่ถูกต้อง
เพราะถ้าร่างกายได้รับสารอาหารมากไปหรือน้อยไปจะส่งผลทำให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆ เช่นโรคอ้วน โรคขาดสารอาหาร
เป็นต้นเพราะอัลลอฮฺได้ตรัสว้ความว่า"จงกินจงดื่มและจงอย่าสุรุ่ยสุร่าย" (บทอัลอะอฺรอฟโองการที่ 31)

เป็นที่ทราบกันในหมุ่มุสลิมผู้ที่ถือศีลอดว่าไม่เสมอไปว่าทุกคนที่ถือศีลอดจะมีสุขภาพดีอย่างไรก็แล้วแต่การถือศีลอดจะมีสุขภาพดีและไม่เป็นอันตรายนั้น ควรปฏิบัติดังนี้

1.หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมัน ขนมหวาน และอาหารหนักในปริมาณที่มากจนเกินควร แล้วเมื่อรอมฎอนผ่านไป น้ำหนักตัวของเขาจะลดลงเล็กน้อยและไขมันในร่างกายของเขาก็จะน้อยลงด้วย

2.ควรละศีลอดด้วยอินทผลัม ถ้าไม่มีก็ด้วยอินทผลัมแห้ง และถ้าไม่มีก็ด้วยการดื่มน้ำเล็กน้อย ในขณะที่ผู้ถือศีลอดละศีลอด ร่างกายของเขากำลังต้องการอาหารประเภทน้ำตาล ซึ่งสามารถจะถูกดูดซับเข้าสู่เลือดได้อย่างรวดเร็วและขจัดความหิวโหยให้หมดไปในขณะเดียวกันนั้น ร่างกายของเขาก็ต้องการน้ำด้วย
และการละศีลอดด้วยน้ำและอินทผลัมก็ให้ทั้ง 2 ประการ นั่นคือ การขจัดความหิว และขจัดความกระหาย

นอกจากนั้น ทั้งอินทผลัมสดและแห้งยังอุดมด้วยเส้ยใย ที่จะช่วยป้องกันการท้องผูกและยังทำให้รู้สึกอิ่ม ดังนั้น ภายหลังจากที่ผู้ถือศีลอดละศีลอดด้วยอินทผลัมแล้ว เขาจึงไม่มีความอยากที่จะรับประทานอาหารอื่นในปริมาณมากๆ อีก

3.จงแบ่งการละศีลอดเป็น 2 ช่วง ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จะรีบละศีลอดด้วยอินทผลัม หรือน้ำต่อจากนั้นก็จะรีบไปละหมาดค่ำ (มัฆริบ) เสร็จแล้ว จึงกลับมารับประทานอาหารหนักละศีลอดต่อการรับประทานอินทผลัมเล็กน้อยและน้ำ จะเป็นการกระตุ้นกระเพาะอาหารอย่างแท้จริง และในขณะที่กำลังละหมาดมัฆริบนั้น กระเพาะก็จะดูดซับสารน้ำตาลและน้ำทำให้ความรู้สึกหิวกระหายเลือนหายไป ครั้นเมื่อผู้ถือศีลอดละหมาดเสร็จ และกลับมารับประทานอาหารปริมาณมากๆ ในคราวเดียวและอย่างเร่งรีบนั้น จะทำให้กระเพาะอาหารโป่งพอง ลำไส้เกิดอาการปั่นป่วนและอาหารย่อยยาก

4. ข้อแนะนำเพื่อไม่ให้ท้องผูก หากท่านเป็นผู้หนึ่งที่มักจะมีอาการท้องผูก ก็ให้รับประทานอาหารที่มีเส้นใยมากๆ เช่น สลัดผัก ผัก และผลไม้ชนิดต่างๆ และจงหลีกเลี่ยงการรับประทานขนมหวาน โดยให้รับประทานผลไม้แทน และจงทำละหมาดตะรอเวียห์อย่างสม่ำเสมอและบริหารร่างกายหรือออกกำลังกายอย่างที่เคยปฏิบัติ

5.พึงหลีกเลี่ยงการนอนหลังการละศีลอดผู้ถือศีลอดบางคนชอบที่จะนอนหลังการรับประทานอาหารละศีลอดอันที่จริงการนอนหลังอาหารมื้อใหญ่และมากไปด้วยไขมันนั้นจะเพิ่มความเฉื่อยชาและเกียจคร้านให้มากขึ้น

อารมณ์

เป็นเรื่องราวของสุขภาพจิต ซึ่งจะมีผลต่อสุขภาพภายโดยตรง ดึงข้อความที่ว่า "ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว" อารมณ์ดีส่งผลให้ระบบทางร่างกายทุกระบบทำงานเป็นปกติแต่ถ้าอารมณ์ไม่ดีมีผลกระทบต่อระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ถ้าเครียดจะทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากกว่าปกติทำให้ ระบบย่อยระบบดูดซึมเสียไป และถ้าเครียดบ่อยๆนานๆ จะเป็นโรคกระเพาะ ได้ อีกทั้งระบบภูมิต้านทานของร่างกายจะลดต่ำลงด้วย เป็นต้น

ต่อไปนี้จะเป็นข้อแนะนำ 2 ประการ เพื่อทำให้อารมณ์ดี

สุขภาพจิตดี ได้แก่
1. ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด โดยการละหมาด รำลึกถึงอัลลอฮฺ อ่านอัลกุรอาน ทำใจให้รู้จักพอ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง มีความเมตตากรุณาต่อผู้อื่นทั้งนี้เพื่อเป็นการพักผ่อนจิตใจและอื่นๆ
" จิตสงบย่อมพบความสุข "
" สุขใดเหนือความสงบเป็นไม่มี "
2. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ครั้งละไม่น้อยกว่า 25 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้งเป็นอย่างน้อย การออกกำลังกาย เช่น การบริหารร่างกายด้วยตะบอง การเดินเร็ว การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ การวิ่งเหยาะๆ (จ๊อกกิ้ง) วัดได้จากการเต้นของหัวใจโดยต้องออกกำลังให้หัวใจเต้นที่ 60% ของอัตราการเต้นสูงสุดโดยใช้สูตร 60% ของ (220 - อายุ) เช่น

ถ้าอายุ 20 ปี 60% (220 - 20) = 120 ครั้ง/นาที
ถ้าอายุ 30 ปี 60% (220 - 30) = 114 ครั้ง/นาที
ถ้าอายุ 40 ปี 60% (220 - 40) = 108 ครั้ง/นาที

ระยะเวลานับจากเวลาที่หัวใจเต้นถึง 60% ของอัตราสูงสุดขึ้นไปแล้วต้องไม่น้อยกว่า 15นาที โดยต้องรักษาระดับการเต้นของ หัวใจไม่น้อยกว่า 60% อยู่ตลอดเวลาทั้งนี้เพื่อให้ร่างกายได้เกิดการหลั่ง growth hormone และสารแห่งความสุขที่เรียกว่า endorphin ทำให้ร่างกายและจิตใจผ่อนคลายมีความสุขก่อให้เกิดสุขภาพแข็งแรง ถ้ารวมเวลา warm up และ warm down อีกอย่างละ 5 นาทีแล้ว รวมเป็นไม่น้อยกว่าวันละ 25 นาที

อากาศ

ในที่นี้หมายถึงสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัว อากาศจัดว่ามีความสำคัญมากเช่นกันเพราะคนเราขาดอาหารยังสามารถมีชิวีติอยู่ได้ หลายวัน แต่ถ้าขาดอากาศจะอยู่ได้ไม่กี่นาทีเท่านั้น ถ้าอากาศและสิ่งแวดล้อมดี ย่อมมีผลต่อสุขภาพที่ดีด้วย ดังนั้น จึงควรหาโอกาสทำงานในสิ่งแวดล้อมที่ดีโดยช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในสภาพสะอาดปราศจากมลภาวะ ถ้าจำเป็นต้องทำงานภายใต้อากาศ หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีให้ใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล เช่น หน้ากากชุดออกซิเจนเข้าช่วย ถ้าเป็นไปได้ควรหาโอกาสออกไปใกล้ชิด กับธรรมชาติที่บริสุทธิ์ให้บ่อยครั้ง หรืออย่างน้อยสักเดือนละครั้งก็ยังดี

4. คำแนะนำทางการแพทย์สำหรับบางคน

ข้อแนะนำสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ก่อนที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรจะถือศีลอด นางควรปรึกษาแพทย์ หากแพทย์อนุญาต นางจึงถือศีลอดแต่ไม่ควรรับประทานอาหารละศีลอดในปริมาณที่มากเกินไปให้รับประทานแต่พอประมาณและควรแบ่งการรับประทานอาหารละศีลอดเป็น 2 มื้อ มื้อแรกเมื่อได้เวลาละศีลอด และมื้อที่ 2 ให้ห่างกับมื้อแรกประมาณ 4ชั่วโมง และในการรับประทานอาหารสะหูร (มื้อก่อนรุ่งสาง) ควรจะล่าช้ามากที่สุดและควรรับประทานอาหารประเภทนมโยเกิร์ตให้มากและควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันและขนมหวาน

นอกจากนั้น หญิงที่ให้นมบุตรยังควรที่จะจัดเตรียมน้ำและอาหารเหลวเพื่อให้เด็กได้รับประทานควบคู่ไปกับการให้นมของนางขณะถือศีลอดและอาหารที่นางรับประทานเองทั้งมือละศีลอด และมื้อก่อนรุ่งอรุณ(สะหูร)ควรเป็นอาหารที่เหมาะสมทั้งปริมาณและคุณภาพ และถ้าเป็นไปได้ก็ควรให้นมเด็กบ่อยครั้งในช่วงหลังละศีลอดถึงสะหูรและเมื่อใดที่รู้สึกอ่อนเพลียและเหน็ดเหนื่อยก็ให้รีบละศีลอดและปรึกษาแพทย์

สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจผู้ที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับหัวใจจำนวนไม่น้อยที่สามารถถือศีลอดได้เนื่องจากในช่วงเวลากลางวันเมื่อไม่มีการย่อยอาหารกล้ามเนื้อหัวใจก็ทำงานน้อยลง และได้พักผ่อนมากขึ้น ทั้งนี้ เพราะเมื่อมีการย่อยอาหารนั้น ร้อยละ 10 ของเลือดหัวใจสูบฉีดไปยังส่วนต่างๆของร่างกายจะต้องถูกส่งไปเลี้ยงอวัยวะที่ทำหน้าที่ย่อยอาหาร

สำหรับผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ปกติแล้วจะสามารถถือศีลอดได้แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอและในขณะนี้ก็มียาหลายชนิดที่ผู้ป่วยสามารถจะรับประทานเพียงแค่วันละ 1-2ครั้งเท่านั้นแต่ผู้ป่วยเหล่านี้จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มเปรี้ยวจัดและรับประทานอาหารที่ใส่เกลือสมุทรให้น้อยลง

ส่วนผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกที่ไม่รุนแรง และเฉียบพลัน โดยทั่วไปก็สามารถถือศีลอดได้ แต่จะต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ดีก็มีผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางหัวใจบางอย่างที่ไม่สามารถถือศีลอดได้อย่างเช่น ผู้ป่วยด้วยโรคก้อนเลือดแข็งผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นอ่อนอย่างรุนแรงและผู้ที่มีอาการเจ็บเสียดหน้าอกอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น

5. วิธีการทานยาสำหรับผู้ถือศีอด

ฝ่ายเภสัชภรรมชุมชน โรงพยาบาลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราชได้ให้ข้อมูลว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการทานยาในเดือนรอมฎอน ในช่วงรอมฎอน สำหรับผู้ป่วยเล็กน้อยหรือพี่น้องที่ต้องรับประทานยานั้น บางท่านอาจจะสงสัยว่าจะปรับตัวอย่างไรในการถือศีลอดในแต่ละวัน

วิธีรับประทานยาที่ปรากฏบนซองยา ช่วงเวลาที่แนะนำให้รับประทานยาในช่วงเดือนถือศีลอด ทานยาหลังจากละศีลอดแล้วไปละหมาดค่ำ (มัฆริบ) จึงมาทานข้าว/อาหารหลัก หลังจากละศีลอดประมาณ 15-30 นาที 4 ชั่วโมงหลังจากการละศีลอด 30 นาทีก่อนทานมื้อก่อนรุ่งสาง 15-30 นาทีหลังทานมื้อดังกล่าว

6. การประกอบอาชีพในเดือนรอมฎอน

ในช่วงกลางวันของรอมฎอน มุสลิมจะถือศีลอด และประกอบอาชีพตามปกติเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยยังชีพที่ฮะล้าล (สุจริตตามบทบัญญัติ) ส่วนในตอนกลางคืนมุสลิมจะละหมาดตะรอเวียห์ ขอดุอาอ์ (ขอพร) ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺและขอความเมตตาจากพระองค์ แต่เป็นที่น่าเสียดายอย่างมาก ที่มีมุสลิมบางคนไม่ได้ถือศีลอดตามที่ศาสนากำหนด

โดยเขาใช้เวลาเกือบตลอดทั้งวันไปกับการนอน และมีอารมณ์โกรธฉุนเฉียวโดยปราศจากสาเหตุอันควร อู้งาน โดยอ้างว่าเพราะเขาถือศีลอด ผู้ถือศีลอดที่แท้จริงคือผู้มีอวัยวะทุกส่วนของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นบาปและเป็นโทษ ลิ้นของเขาจะต้องระงับจากการพูดเท็จ คำพูดที่ไร้สาระเหลวไหล คำพูดที่หยาบคายลามก ท้องของเขาจะต้องระงับจากการกิน การดื่ม อวัยวะเพศของเขาจะต้องระงับจากการกระทำที่เป็นลามก ถ้าหากเขาพูดจะต้องไม่พูดในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาไร้ผล และถ้าหากเขาจะทำกิจกรรมใดจะต้องไม่กระทำในสิ่งที่ทำให้การถือศีลอดของเขาเสียหาย คำพูดของเขาที่ออกมาควรเป็นคำพูดที่ดี และการกระทำของเขาก็เช่นเดียวกัน ควรเป็นการกระทำที่ดีบังเกิดผล

ท่านศาสดาสนับสนุนให้มุสลิมผู้ถือศีลอดทำงานตามปกติ มีมารยาทที่ดีงาม และความประพฤติปฏิบัติเป็นที่ยอมรับและน่าสรรเสริญ และปลีกตัวให้ห่างไกลจากการกระทำที่น่าเกลียดน่าชัง และการพูดจาที่หยาบคายสามหาวลามก อนาจาร คือ การงานที่เป็นผิด เป็นบาป ถ้าหากมุสลิมถูกใช้ให้ปลีกตัวให้ห่างไกลและละเว้นมิให้ประพฤติปฏิบัติในทุกๆ วัน แน่นอนการห้ามมิให้ปฏิบัติในระหว่างการถือศีลอดก็เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวังเป็นที่สุด

จำเป็นแก่มุสลิมผู้ถือศีลอดจะต้องปลีกตัวออกมาจากการกระทำที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาต้องสูญเสียไป และเพื่อที่จะทำให้การถือศีลอดของเขาบังเกิดผลและบรรลุสู่การยำเกรง (ตักวา) ซึ่งพระเจ้า(อัลลอฮฺตะอาลา) ได้กล่าวในเรื่องนี้ไว้ ความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย! การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่พวกเจ้าดังเช่นได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง" (2/183)

ท่านศาสดากล่าวไว้ความว่า "ผู้ใดไม่ละเว้นการพูดเท็จและการกระทำที่เป็นเท็จอัลลอฮฺก็ไม่ทรงประสงค์การอดอาหารและเครื่องดื่มของเขา" (บันทึกโดย :อิม่ามอัลบุคอรีย์) กล่าวคือเขาจะไม่ได้รับการตอบแทนใดๆ ท่านศาสดากล่าวไว้อีกความว่า"การถือศีลอดมิใช่ (การละเว้น) จากการกินการดื่มเท่านั้น แต่การถือศีลอด (จะต้องละเว้น) จากการพูดจาหรือการกระทำที่ไร้สาระและการพูดจาหยาบคายด้วย หากมีผู้ใดมาสบประมาทหรือเยาะเย้ยท่าน ก็จงกล่าวแก่เขาว่าฉันเป็นผู้ถือศีลอด ฉันเป็นผู้ถือศีลอด" (บันทึกโดย : อับนคุซัยมะฮฺ และอัลฮากิม)

"บางทีผู้ถือศีลอดนั้น ส่วนได้ของเขาจากการถือศีลอดของเขาก็คือ การหิวและการกระหายเท่านั้น" (บันทึกโดย : อิบนุมาญะฮฺและอะหมัด)

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ผู้ใดที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น เนื่องจากเขาไม่ตระหนักถึงข้อเท็จจริงของการถือศีลอดที่พระเจ้าทรงใช้ให้เขายึดถือปฏิบัติ ดังนั้น พระองค์จึงลงโทษเขาด้วยการทำให้ผลบุญและการตอบแทนสูญเสียไป ท้ายนี้ขอให้ทุกท่านโดย(เฉพาะประชาชน จังหวัดชายแดนใต้)สุขสันต์ ในเดือนรอมฏอน ปี ฮิจเราะห์ศักราช 1428

อัพเดทล่าสุด