ป่วยแดด! รับมือ 5 อาการเดี้ยงจากอากาศร้อนตับแตก


1,384 ผู้ชม

สำนวนไทยสมัยก่อนพอใช้คุยในยุคนี้บางทีก็หาหลักฐานประกอบยาก ดังเช่นคำเปรยที่เข้ากับอากาศยุคนี้ว่า ร้อนตับแตก หรือ ร้อนตับแลบ ...


ป่วยแดด! รับมือ 5 อาการเดี้ยงจากอากาศร้อนตับแตก

สำนวนไทยสมัยก่อนพอใช้คุยในยุคนี้บางทีก็หาหลักฐานประกอบยาก ดังเช่นคำเปรยที่เข้ากับอากาศยุคนี้ว่า "ร้อนตับแตก" หรือ "ร้อนตับแลบ"

"ตับ" ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงอวัยวะใหญ่อวบที่อยู่ในพุงเรา หากแต่เป็น "ตับจาก" ที่ใช้มุงหลังคา ซึ่งบ้านไทยสมัยก่อนที่มุงด้วยตับจากนั้น ยามเมื่ออากาศร้อนเข้าใบจาก ก็จะแห้งแล้วแยกออกจากกัน
เป็นที่มาของร้อนจน "ตับแตก"
ซึ่งความร้อนอย่างนี้แม้จะไม่ได้มีผลกับหลังคาบ้านกระเบื้องลอนคู่ทุกแห่ง แต่ก็มีผลกับสุขภาพแน่ๆ เพราะแค่เราออกไปเจอแดดจัดกลางแจ้ง แต่ละคนก็มีอาการต่างกันแล้ว
บางท่านปวดหัวคลื่นไส้
ท่านที่ไม่ไหว ก็เวียนหน้าตาพาลจะเป็นลมไป
ไมเกรนที่เคยเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่ดิบดี ก็มีสิทธิ์กำเริบขึ้น
ทั้งหมดนี้คือ ผลพวงจากความร้อนที่ "ทำพิษ" ได้ในเรื่องของสุขภาพครับ แต่ถ้าดูแลร่างกายให้ดีๆ เข้าไว้ก็พอจะเลี่ยงได้อยู่ครับ โดยโรคที่ต้องเตรียมตัว, เตรียมยา, และเตรียมใจรับหน้าร้อนจะมีอะไรบ้างต้องไปดูกัน พร้อมกับวิธีรับมือที่ทำได้เองครับ
5 อาการกับเทคนิคแบบบ้านๆ ที่ช่วยชีวิตท่านได้
1) ไมเกรน
โรคไมเกรนหรือปวดหัวอย่างอื่นอาจปวดตุบขึ้นมาได้พร้อมอุณหภูมิที่เดือดปุด แม้เราจะไม่ใช่คนที่ฮอตเกินหน้าใคร แต่ในหัวของเรามีเส้นเลือดที่พร้อมจะ "ขยาย" รับดีกรีความร้อนแรงของอากาศรอบตัว สิ่งที่น่ากลัวคือ จะทำให้ปวดหัวตุบๆ จนตาพร่าจนต้องลาป่วยได้ มีทางแก้ง่ายๆ อยู่คือ ให้หาที่สงบ, เย็น และมืด ซึ่งไม่ต้องถึงขั้น "เข้าถ้ำ" แต่แค่หามุมสงบก็ได้แล้วนั่งหลับตาเลี่ยงแสงจ้า แล้วจิบน้ำเย็นสักหน่อยครับ
2) คลื่นไส้
อาการคลื่นไส้ผะอืดผะอมเป็นอาการ "ร้อนทำพิษ" ที่อาจเกิดได้อาการหนึ่ง ซึ่งท่านที่ออกแดดบ่อยหรืออยู่ในที่ร้อนอับและอบ อาจเกิด "เพลียร้อน (Heat exhaustion)" มีอาการคลื่นไส้, อาเจียน, เวียนศีรษะ และตะคริวจับได้ มีเทคนิคคือ ขอให้ลองสังเกตดูว่าเราเสียเหงื่อมากไหม (Sodium depletion) ถ้ามากขอให้ดื่มน้ำตามให้เยอะแล้วละลายผงเกลือแร่ลงไปนิด หรือจะดื่มน้ำขิงชงสักแก้วก็ได้
3) หมดแรง
อาการไร้เรี่ยวแรงอ่อนเปลี้ยในหน้าร้อนอาจเกิดได้จากเสียน้ำ, เสียเกลือแร่, ออกแรงมากไปจนถึงความร้อนแกล้งให้หัวใจเต้นเร็วความดันขึ้น ซึ่งถ้าท่านรู้สึกหมดเรี่ยวแรงขอให้ "พัก" ก่อน หยุดกิจกรรมที่ต้องออกแรงไว้ หากไม่แน่ใจว่าเกี่ยวกับความดันหรือไม่ ซึ่งการได้พักจะช่วยให้ "ฟื้น" คืนแรงได้เร็วกว่าถ้าเกิดจากเสียน้ำตาลและเกลือแร่ ทางแก้อีกวิธีคือ ให้จิบน้ำผลไม้หรือน้ำมะพร้าว เพื่อคืนน้ำตาลให้เลือดหน่อยครับ
4) เป็นลม
กรณีนี้ต้องดูให้ดีอย่างมากเพราะการ "วูบ" ในหน้าร้อนท่ามกลางอากาศร้อนอาจเกิดได้จากหลายตัวการ ถ้าเป็นคนปกติไม่มีโรคประจำตัวอาจเป็นได้จาก "ช็อคแดด (Heatstroke)" ซึ่งภาวะนี้ถือเป็นเรื่องร้อนทีเดียวครับ นับเป็นร้อนฉุกเฉิน (Heat emergency) ที่ต้องรีบแก้ก่อนจะแย่ ส่วนถ้าเคยไม่สบายอยู่อาจเกิดจากความดันสูง เบาหวานกำเริบ หรือโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมองก็ยังได้ ทางที่ดีสุดคือ รีบให้อยู่ในที่โล่งหรือให้ออกซิเจนไว้ก่อนถ้ามี พาอยู่ในที่เย็นใช้ผ้าชุบน้ำลูบแขนขาแต่อย่าเพิ่งหาน้ำให้ดื่มถ้ายังไม่รู้สึกตัวดีนะครับ จะสำลักได้
5) อาการทางตา
เป็นหนึ่งในโรคจากแดดหน้าร้อนที่นึกได้แต่ไม่ค่อยได้พูดถึงกัน ยกตัวอย่างโรคทางตาที่แสงแดดมีส่วนได้แก่ กระจกตาอักเสบ, ต้อเนื้อ, ต้อลม, ต้อกระจก, จอตาเสื่อม โรคเหล่านี้มีทางลดความเสี่ยงที่ทำได้และไม่ยากด้วยครับ แม้ท่านที่เป็นไปแล้วก็ช่วยให้ไม่เป็นมากขึ้นได้ โดยขอให้ลดการโดนแสงแดดจ้าเข้าตา รวมถึงพื้นผิวที่สะท้อนแสงได้อย่าง กระจก, สระน้ำ หรือโลหะมันวาว ทางที่ง่ายที่สุดคือ ใส่แว่นกันยูวี หรือแม้ใส่คอนแทคเลนส์กันยูวีก็ต้องใส่แว่นด้วยครับ และขอให้หาจังหวะพักสายตาบ้างในผู้ที่ทำงานกลางแจ้งและขับรถนานครับ
ทั้ง 5 ข้อเป็นเรื่องป่วยด้วยแดดที่อาจพบเจอได้ ซึ่งก็มีทางที่ช่วยบรรเทา, ทุเลาไปจนถึง "แก้" ได้ ซึ่งในการทำเช่นนี้เคล็ดให้สำเร็จอยู่อย่างหนึ่งก็คือ "รู้ทัน" และ "รู้เร็ว" ก็จะช่วยตัวเราและคนใกล้ตัวเอาไว้ได้ ส่วนความยากง่ายในแต่ละกรณีก็ขึ้นกับต้นทุนสุขภาพเดิม โรคประจำตัวที่พกไว้ และสภาพใจของแต่ละคน เพราะในหน้าร้อนแม้จะมีโอกาสเกิดเรื่องร้อนขึ้นมาได้ก็ยังมีทางแก้ได้เสมอ
ถ้าใจเราไม่ร้อนไปด้วยครับ

อัพเดทล่าสุด