ถ้ามีใครซักคนถามว่า ชีวิตคนเราเกิดมาเพื่ออะไร หรือ อะไรคือจุดมุ่งหมายของชีวิต คำตอบของแต่ละคนคงแตกต่างกันไป เช่น เงินคือจุดมุ่งหมายในชีวิต ความสำเร็จคือจุดมุ่งหมายในชีวิต มีงานทำที่มั่นคงคือจุดมุ่งหมายในชีวิต ฯลฯ ...
ความสุขที่แท้จริงของชีวิต ในทรรศนะอิสลาม
ความสุขของชีวิต
ถ้ามีใครซักคนถามว่า "ชีวิตคนเราเกิดมาเพื่ออะไร" หรือ "อะไรคือจุดมุ่งหมายของชีวิต" คำตอบของแต่ละคนคงแตกต่างกันไป เช่น เงินคือจุดมุ่งหมายในชีวิต ความสำเร็จคือจุดมุ่งหมายในชีวิต มีงานทำที่มั่นคงคือจุดมุ่งหมายในชีวิต ฯลฯ ถ้าหากจะวิเคราะห์คำตอบทั้ง 3 ให้ดีแล้วจะพบว่า การที่คนเราต้องการมีเงินทองมากมาย หรือร่ำรวยก็เพราะว่า เมื่อมีเงินแล้วก็จะสามารถซื้อหาสิ่งที่เขาต้องการได้ตามใจปรารถนา ซื้ออาหารที่อร่อย ๆ กิน ซื้อบ้านหลังโต ๆ คฤหาสน์ที่สวยหรู ซื้อรถยนต์คันงาม ๆ หรือ เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อบำรุงบำเรอให้ตนเองมีความสุข หรือเมื่อบุคคลมีงานทำที่มั่นคง ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วก็จะนำมาซึ่งความมั่นคงทางสังคมและจิตใจ ทำให้เกิดความพึงพอใจ และเมื่อบุคคลรู้สึกว่าชีวิตมั่นคง มีความพึงพอใจก็จะนำมาซึ่งความสุขในชีวิตนั่นเอง
ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า เป้าหมายในชีวิตของทุกคนคือ "ความสุข" หรือการมีชีวิตที่เป็นสุขนั่นเอง ความสุขคืออะไร ? อันที่จริงบรรดาผู้คนที่ดำรงชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ทุกคนต้องมีความต้องการสิ่งหนึ่งที่จะแต่งเติมชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อให้ชีวิตได้รับความอิ่มเอิบสูงสุดที่ผู้คนทั้งหลายปรารถนา ซึ่งพวกเขาเรียกมันว่า "ความสุข"
ความสุขเป็นความโปรดปรานแห่งพระผู้เป็นเจ้าอย่างหนึ่ง ซึ่งพระองค์ทรงประธานแก่มวลมนุษย์ นับตั้งแต่พวกเขามีโอกาสลืมตาดูโลก พระองค์ประทานความสมบูรณ์ทางด้านร่างกายและจิตใจในแรกเริ่มแห่งการถือกำเนิดขึ้นมา ตลอดจนระยะเวลาแห่งการดำเนินชีวิตของพวกเขา พระองค์อัลเลาะฮฺ ทรงปกป้องพวกเขาให้พ้นจากภัยพิบัติ (บาลาฮ์) ต่าง ๆ ที่กล้ำกราย สิ่งเหล่านี้นั้นนับเป็นเนี๊ยะมัตที่พระองค์ประทานแก่ชีวิตทั้งหลายบนหน้าพื้นปฐพี ดังที่พระองค์ทรงดำรัส ความว่า
"เช่นนี้พระองค์ทรงประทานความโปรดปรานอันครบครันแก่พวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจะได้ยอมสวามิภักดิ์"
(ซูเราะฮฺ อัน-นะห์ลิ โองการที่ 81)
และอีกโองการหนึ่งพระองค์อัลเลาะฮฺ ตรัสความว่า
" และหากพวกเจ้าจะนับความโปรดปรานแห่งอัลเลาะฮฺ แน่นอนพวกเจ้าไม่อาจนับมันถ้วนได้"
(ซูเราะฮฺ อัน-นะห์ลิ โองการที่ 18)
บรรดาผู้มีศรัทธาเมื่อเขาได้รับการปกป้องให้พ้นจากภัยบาลาฮฺต่าง ๆ จนสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสมบูรณ์มีความสุขอิ่มเอิบ ปราศจากความทุกข์ และความเศร้าโศกใด ๆ ในชีวิต พวกเขาจะน้อมรำลึกและขอบคุณต่อผู้ที่มอบเนี๊ยะมัตให้ ทั้งในรูปการปฏิบัติ คำพูด และการรำลึก เพื่อแสดงออกถึงความเป็นบ่าวผู้ยำเกรง พระองค์อัลเลาะฮฺ ตรัสความว่า
" และพวกเจ้าจงขอบคุณในความโปรดปรานของอัลเลาะฮฺ หากพวกเจ้าเป็นผู้นมัสการเฉพาะพระองค์เท่านั้น"
(ซูเราะฮฺ อัน-นะห์ลิโองการที่ 114)
ฉนั้นความสุข ความสมบูรณ์ที่พวกเขาได้รับนี้ สามารถเรียกได้ว่า "เนี๊ยะมัต" คือ ความโปรดปรานที่พระองค์ทรงมอบให้แก่เขาอย่างแท้จริง อนึ่งความสุขสมบูรณ์แบบเดียวกันนี้ที่บรรดาผู้ปฏิเสธได้รับ เมื่อพวกเขาได้รับมัน พวกเขามีเพียงความรู้สึกอิ่มเอิบ ปราศจากการขอบคุณใด ๆ ยิ่งไปกว่านั้นมันทำให้พวกเขามุ่งสู่การแสวงหาความสุขเหล่านั้นมากยิ่งขื้น ดังนั้นความสุขของพวกเขาจึงหาใช่เป็น "เนี๊ยะมัต" ความโปรดปรานจากพระองค์ไม่ แต่มันคือสิ่งใดเล่า ?
มีคำ ๆ หนึ่งที่สามารถจำกัดความหมายของความสุขอิ่มเอิบที่บรรดาชนผู้ปฏิเสธได้รับนั่นคือ คำว่า "อัล-อิสติดร๊อจ" หมายถึง การห่างไกลจากความเมตตาของอัลเลาะฮฺ สิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาได้รับ ความสุขอิ่มเอิบจากมัน ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม เช่น ที่อยู่อาศัยอันหรูหรา ครอบครัวบริบูรณ์ด้วยวัตถุธาตุ กิจการอันใหญ่โต หรือที่เป็นนามธรรม เช่น ตำแหน่ง เกียรตินิยม ชื่อเสียง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มันได้เข้าอยู่ในความหมายของคำว่า "อัล-อิสติดร๊อจ" เหตุเพราะพวกเขาคิดว่ามันเป็นการแสวงหามาได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง ปฏิเสธว่ามันเป็นความโปรดปรานที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าที่ได้มอบให้แก่พวกเขา ดังที่พระองค์อัลเลาะฮฺ ตรัสความว่า
"เจ้าไม่สังเกตุไปยังบรรดาพวกที่เปลี่ยนแปลงความโปรดปรานของอัลเลาะฮฺ มาเป็นความอกตัญญูดอกหรือ !
และพวกเขาได้ชักจูงพวกพ้อง ให้ตกในสถานที่แห่งความพินาศ"
(ซูเราะฮฺ อิบรอฮีม โองการที่ 28)
และอีกโองการหนึ่งพระองค์อัลเลาะฮฺ ตรัสความว่า :
"พวกเจ้ารู้จัก (ยอมรับ) ความโปรดปรานของอัลเลาะฮฺ แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็คัดค้านสิ่งนั้นและคนส่วนมากของพวกเขาเป็นผู้ไร้ศรัทธา"
(ซูเราะฮฺ อัน-นะห์ลิ โองการที่ 83)
สิ่งต่าง ๆ ที่พวกเขาได้รับนั้น นอกจากไม่ได้ทำให้พวกเขารำลึกถึงพระผู้ทรงให้ แล้วมันยังค่อย ๆ ชักจูงพวกเขาออกห่างจากการได้รับความเมตตาจากพระองค์ ฉนั้นมันจึงถูกเรียกว่า "อัล-อิสติดร๊อจ" มิใช่ "เนี๊ยะมัต" หรือความเมตตาจากพระองค์เลย ถึงแม้ว่ารูปภายนอกของมันจะได้ชื่อว่าเป็นความสุขก็ตาม จึงกล่าวได้ว่าความสุขนั้นถือเป็นความโปรดปรานอย่างหนึ่งที่อัลเลาะฮฺ ได้ประทานให้แก่มนุษย์ ความสุขที่จริงแท้
ความเป็นไปของโลกทุกวันนี้ดูเหมือนผู้คนจะหาความสุขให้กับชีวิตตนเองได้ยากเย็นยิ่งขึ้นทุกที ทั้งที่มีผู้เสนอความสุขอยู่บนทุกเส้นทางสัญจร ทั้งในรูป ผับ บาร์ คาราโอเกะ และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่ยิ่งสถานบันเทิงผุดพรายมากขึ้นเท่าไหร่ ความทุกข์ร้อนของผู้คนก็ยิ่งมากมายเป็นเงาตามตัว หลายคนคิดดับทุกข์และหาความสุขใส่ตัวโดยการเข้าเธค เข้าบาร์ แต่ผลสุดท้ายก็กลับกลายเป็นการเพิ่มทุกข์ให้ตัวเอง นี่สะท้อนให้เห็นว่าความสุขที่แท้จริงในชีวิต มิใช่การได้มาอย่างฉาบฉวยเช่นนั้น
ความสุขจริง ๆ มิใช่การปรุงแต่งจากภายนอก หากแต่เป็นกระบวนการสร้างสรรค์จากหัวใจภายในมากกว่า กระบวนการสร้างความสุขจากหัวใจ ดูไปเป็นเรื่องละเอียดอ่อนลึกซึ้ง แต่เมื่อหัวใจถูกสร้างโดยองค์อัลเลาะฮฺ พระผู้เป็นเจ้า และพระองค์ทรงประสงค์จะให้มนุษย์รับรู้วิธีการสร้างความสุข ก็ทรงให้ศาสนทูตของพระองค์บอกวิธีดังกล่าวด้วยคำพูดง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งกินใจว่า
"ผู้ใดก็ตามตื่นขึ้นมาด้วยความปลอดโปร่งใจ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีอาหารสำหรับวันนั้นพร้อม ก็ดุจดั่งได้ครอบครองโลกทั้งโลกไว้"
(รายงานโดย อัตติรมีซีย์, อิบนูมาญะฮฺ)
แม้จะเป็นถ้อยคำสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่หากพินิจไปให้ลึก ๆ ก็จะพบว่า วจนะแห่งบรมศาสดาบอกเราโดยนัยยะว่า ชีวิตจะมีความสุขต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ
- จิตวิญญาณเป็นสุข
- สติสัมปชัญญะที่บริบูรณ์ ซึ่งอยู่ในร่างกายที่มีสุขภาพแข็งแรง
- ปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับโภชนาการ
และทั้ง 3 ปัจจัยนี้ จิตวิญญาณย่อมเป็นปัจจัยที่สำคัญสูงสุด ดังวจนะที่บรมศาสนทูตบอกว่า
"พึงรู้เถิดว่าในร่างกายนั้นมีเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง หากเนื้อก้อนนั้นดี ร่างกายทั้งหมดก็พลอยดีด้วย หากเนื้อก้อนนั้นเสีย ร่างกายทั้งหมดก็พลอยเสียไปด้วย พึงรู้เถิด เนื้อก้อนนี้คือ หัวใจ นั่นเอง"
(รายงานโดย บุคคอรี, มุสลิม)