การดูดวงจันทร์ตามหลักอิสลาม


2,007 ผู้ชม

การดูดวงจันทร์เพื่ออกำหนดวันที่ 1 ของเดือน ทุกๆ เดือนนั้น ตามหลักการศาสนาอิสลามให้ยึดถือและปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านศาสดานบีมุฮำหมัด (ซ.ล.) ในการกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอด) ...


การดูดวงจันทร์ตามหลักอิสลาม

การดูดวงจันทร์เพื่ออกำหนดวันที่ 1 ของเดือน ทุกๆ เดือนนั้น ตามหลักการศาสนาอิสลามให้ยึดถือและปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านศาสดานบีมุฮำหมัด (ซ.ล.) ในการกำหนดวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอด) กล่าวคือ ให้ดูดวงจันทร์เสี้ยว (ฮิลาล) ในวันที่ 29 ของเดือนซะบาน เมื่อเวลาดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว ถ้าเห็นดวงจันทร์เสี้ยวให้ถือว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน แต่ถ้าไม่เห็นดวงจันทร์เสี้ยว ให้ถือว่าวันรุ่งขึ้นเป็นวันที่ 30 ของเดือนซะบาน และวันถัดต่อจากนั้นไปถือว่าเป็นวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ดังปรากฏหลักฐานฮะดิษของท่านศาสดานบีมุฮำหมัด(ซ.ล.) ดังนี้

(( صُوْمُوْا لِرُؤْيَتِهِ ، وَأَفْطِرُوْا لِرُؤْيَتِهِ ، فَإِنْ غُمَّ عَلَيْكُمْ فَأَكْمِلُوْا عِدَّةَ شَعْبَانَ ثَلاَثِيْنَ يَوْمًا ))
رواه البخاري (1810) ومسلم (1080)

"ท่านทั้งหลาย จงถือศีลอดเพราะเห็นเดือนเสี้ยว และจงละศีลอดเมื่อเห็นดวงจันทร์เสี้ยว (เลิกถือศีลอด) ถ้าหากมีเมฆเกิดขึ้นเหนือพวกท่าน (มีเมฆมาปกคลุมทำให้ไม่เห็นดวงจันทร์เสี้ยว) ก็ให้พวกท่านปล่อยเดือนซะบานให้ครบสามสิบวันเถิด (นับเดือนซะบานให้ครบสามสิบวัน)" รายงานโดย บุคอรี (1810) และมุสลิม (1080)

ตามฮาดีษดังกล่าว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในวันที่ 29 ของเดือนซะบาน ซึ่งเป็นวันที่ต้องดูดวงจันทร์นั้น ถึงแม้มีดวงจันทร์อยู่แต่มีเมฆบังทำให้ไม่สามารถจะเห็นดวงจันทร์ได้ ท่านศาสดานบีมุฮำหมัด (ซ.ล.) ใช้ให้นับเดือนซะบานให้ครบสามสิบวันเสียก่อน จึงจะไปเริ่มวันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ท่านไม่ได้บอกว่าถ้าไม่เห็นดวงจันทร์ให้รอฟังข่าวจากประเทศอื่นที่อยู่ห่างไกล และถ้ามีประเทศใดที่อยู่ห่างไกลเห็นดวงจันทร์ให้ถือตามประเทศนั้น นอกจากนั้นยังมีฮะดิษยืนยันว่า เมื่ออยู่ในเมืองที่ห่างไกลจากกัน เช่น เมืองซามกับเมืองมะดีนะห์ ให้ถือเอาการเห็นดวงจันทร์ในเมืองนั้นกำหนด วันเริ่มต้นถือศีลอด (เริ่มวันที่หนึ่งของเดือนรอมฎอน) และเลิกถือศีลอด (เพราะเริ่มวันที่ 1 ของเดือนเซาวั้ล) ดังฮะดิษที่รายงานโดยมุสลิม อบูดาวูด ติรมีซี และนะซาอี ดังนี้

عَنْ كُرَيْبٍ رَضِيَ اللهُ عَنْهُ أَنََّ أُمَّ الْفَضْلِ بِنْتَ الْحَارِثِ بَعَثَتْهُ إِلَى مُعَاوِيَةَ بِالشَّامِ قَالَ : فَقَدِمْتُ الشَّامِ فَقَضَيْتُ حَاجَتَهَا وَاسْتُهِلَّ عَلَيَّ رَمَضَانُ وَأَنَا بِالشَّامِ ، فَرَأَيْتُ الْهِلاَلَ لَيْلَةَ الْجُمُعَةِ ، ثُمَّ قَدِمْتُ الْمَدِيْنَةَ فِيْ آخِرِ الشَّهْرِ فَسَأَلَنِيْ ابْنُ عَبَّاسٍ : مَتَى رَأَيْتُمُ الْهِلاَلِ ؟ فَقُلْتُ : رَأَيْنَاهُ لَيْلَةَ الْجُمُعَةِ ، قَالَ : أَنْتَ رَأَيْتَهُ ؟ قُلْتُ : نَعَمْ وَرَآهُ النَّاسِ وَصَامُوْا وَصَامَ مُعَاوِيَةُ فَقَالَ : لَكِنَّا رَأَيْنَاهُ لَيْلَةَ السَّبْتِ ، فَلاَ نَزَالُ نَصُوْمُ حَتَّى نُكْمِلَ ثَلاَثِيْنَ أَوْ نَرَاهُ فَقُلْتُ : أَوَ لاَ تَكْتَفِيْ بِرُؤْيَةِ مُعَاوِيَةَ وَصِيَامِهِ ، فَقَالَ : لاَ ، هَكَذَا أَمَرَنَا رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ . رواه الخمسة إلا البخارى.

ความว่า จากกุร๊อยบฺ ร.ฎ. เล่าว่า เนื่องจากอุมมัลฟัดลิ บินติ ฮาริส ได้ส่งกุรอ๊ยบฺไปหามุอาวียะห์ ณ เมืองซามแล้ว เมื่อฉันมาถึงเมืองชามและได้จัดทำธุระของนางเสร็จเรียบร้อย ได้ปรากฎเดือนรอมฎอนขึ้นแก่ฉัน โดยในขณะที่ฉันอยู่ที่เมืองซามนั้น ฉันเห็นดวงจันทร์ในตอนค่ำวันศุกร์ หลังจากนั้นฉันก็กลับมาที่มะดีนะห์ในตอนปลายเดือน แล้วอิบนิอับบัสก็ถามฉันว่า พวกท่านเห็นดวงจันทร์เมื่อใด ฉันก็ตอบว่า พวกเราเห็นในค่ำวันศุกร์ อิบนิอับบัสถามย้ำว่า ท่านเห็นมันเองหรือ ฉันตอบว่าถูกแล้ว และบรรดาประชาชนก็เห็นด้วย โดยพวกเขาได้ถือศีลอด และมุอาวียะห์ก็ได้ถือศีลอด อิบนิอับบัสจึงกล่าวว่า แต่พวกเรา (ในเมืองมะดีนะห์) เห็นดวงจันทร์ในค่ำวันเสาร์ ดังนั้นเราก็ยังคงต้องถือศีลอดเรื่อยไปจนกว่าจะครบสามสิบวัน หรือจนกว่าเราจะเห็นดวงจันทร์ ฉัน (กุร๊อยบ) จึงพูดว่า ยังไม่เพียงพออีกหรือกับการเห็นของมุอาวียะห์ และการถือศีลอดของเขา อิบนิอับบัสตอบว่า ไม่ แบบนี้แหละที่ท่านรอซูลุลเลาะห์ ซ.ล. ได้มีคำสั่งแก่พวกเรา (ให้ถือปฏิบัติ) รายงานโดยมุสลิม ทั้งนี้ การดูดวงจันทร์เพื่อกำหนดวันที่หนึ่งของเดือนอื่นๆ ก็ใช้หลักการเช่นเดียวกันนี้

อัพเดทล่าสุด