เมื่อเข้ารอมฎอนปีนี้ ผมเริ่มเห็นกลิ่นไอความขัดแย้งในการบริโภคทัศนะทางฟิกฮฺได้ย่างกรายเข้ามา โดยเฉพาะความแตกต่างในการยึดทัศนะเกี่ยวกับการเข้า – ออกรอมฎอนที่แตกต่างกัน จึงตั้งใจที่จะเขียนบทความเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อตักเตือนตนเองและพี่น้องมุสลิม ...
การเริ่มการถือศีลอดไม่ตรงกันในสังคมมุสลิม: ปัญหาและทางออก
เรียบเรียงโดย อ.ชากีรีน สุมาลี
อัลหัมดูลิละฮฺ มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮฺ (สุบหานะฮูวะตะอาลา) ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลกขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ศาสดามุฮัมมัดขอความจำเริญและสันติจงประสบแด่ ผู้เจริญรอยตามท่าน
เมื่อเข้ารอมฎอนปีนี้ ผมเริ่มเห็นกลิ่นไอความขัดแย้งในการบริโภคทัศนะทางฟิกฮฺได้ย่างกรายเข้ามา โดยเฉพาะความแตกต่างในการยึดทัศนะเกี่ยวกับการเข้า – ออกรอมฎอนที่แตกต่างกัน จึงตั้งใจที่จะเขียนบทความเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อตักเตือนตนเองและพี่น้องมุสลิม แต่พอจะเริ่มเขียนอัลลอฮฺได้ส่งข้อมูลมาให้โดยไม่ต้องลงมือสืบค้นข้มมูล นั่นคือ ไปพบบทความเรื่อง รอมฎอน จันทร์เสี้ยวกับภราดรภาพในอิสลาม ในหนังสือพิมพ์อาซาน(ฉบับที่13 ปี 2551) จึงต้องขอขอบคุณหนังสือพิมพ์อาซานมา ณ โอกาสนี้ด้วย
ทัศนะที่หลากหลายว่าด้วยการดูเดือนเพื่อเข้า – ออกรอมฎอน
1. ทัศนะแห่งการดูเดือนในท้องถิ่น
เชค อุษัยมีน ถูกถามว่า เราควรถือศีลอด(ในเดือนรอมฎอน)และเลิกถือศีลอดของเราตามการเห็นฮิลาล(จันทร์เสี้ยวของเดือนใหม่)ในซาอุดิอาระเบีย หรือเราควรจะถือศีลอดตามการเห็นฮิลาลในประเทศที่เราอาศัยอยู่?
ท่าน ได้ตอบคำถามนี้ไว้ในอัล-อฺะกอลลียาตอัล-มุสลิมะฮฺ หน้า 84 ฟัตวาหมายเลขที่ 23 ว่า "ในหมู่นักปราชญ์มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้แตกต่างกันออกไปมากมายมีประมาณหกทัศนะที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้มีทัศนะหลักๆ อยู่สองทัศนะคือทัศนะแรกคือทุกคนควรจะดูเดือนในประเทศของตนเอง และประเทศที่มีดวงจันทร์ขึ้นในเวลาเดียวกันก็ควรจะปฏิบัติตามประเทศของตนเหตุผลนั้นก็คือว่าเวลาที่ดวงจันทร์ขึ้นนั้นแตกต่างกันออกไป แต่ละสถานที่ไม่เหมือนกัน
ทัศนะที่สองนั้นก็คือการเริ่มต้นเดือนใหม่จำเป็นต้องได้รับการยืนยันในประเทศมุสลิมประเทศใด ประเทศหนึ่งเท่านั้นถ้าในประเทศมุสลิมประเทศใดประเทศหนึ่งยืนยันการเห็นจันทร์เสี้ยว เมื่อนั้น ถือเป็นข้อบังคับที่มุสลิมทุกคนจะต้องใช้การเห็นเดือนนั้นกำหนดการเริ่มต้นถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หรือเลิกถือศีลอด (เมื่อสิ้นเดือนแล้ว) ตามทัศนะที่สองนี้สำหรับในช่วงเริ่มต้นเดือนรอมฎอน ถ้ามีการยืนยันว่าเห็นจันทร์เสี้ยวในซาอุดิอาระเบียก็บังคับให้มุสลิมทุกคนในทุกส่วนของโลกถือศีลอดตาม (ซาอุดิอาระเบีย) สำหรับในช่วงเริ่มต้นเดือนเชาวาล ก็บังคับให้มุสลิมทุกคนเลิกถือศีลอดตามเช่นกันนี่คือทัศนะที่เกือบจะเป็นการยึดถือโดยทั่วไปของมัซฮับอิมามอะหฺมัด อิบนฺ ฮัมบาล
อย่างไรก็ตาม ทัศนะแรกมีความถูกต้องมากกว่า เพราะพยานหลักฐานที่ปรากฏในอัล-กุรฺอาน, สุนนะฮฺ และเพราะการกิยาส (อนุมานเปรียบเทียบ) สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับอัล-กุรฺอานนั้นอัลลอฮฺ ตรัสว่า :
"เดือน รอมฎอนคือเดือนที่อัล-กุรฺอานถูกประทานลงมาเพื่อเป็นทางนำสำหรับมวลมนุษย์ เป็นหลักฐานอันชัดเจนให้กับทางนำนั้น และยังเป็นบรรทัดฐานสำหรับแยกแยะความจริงและความเท็จดังนั้น พวกเจ้าคนใดเห็น(จันทร์เสี้ยวค่ำคืนแรกของ)เดือนนั้น ให้เขาถือศีลอดในเดือนนั้น.........."(ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 185 )
ประโยคสุดท้ายเป็นประโยคเงื่อนไขและกฎซึ่งแฝงอยู่ในประโยคเงื่อนไขนั้นได้รับการบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่อยู่ ในเงื่อนไขและไม่มีผลบังคับสำหรับบุคคลที่ไม่เข้าข่ายตามเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้นประโยคที่กล่าวว่า "พวกเจ้าคนใดเห็น(จันทร์เสี้ยวค่ำคืนแรกของ)เดือนนั้นให้เขาถือศีลอดในเดือนนั้น" จึงมีความหมายว่า บุคคลที่มิได้มองเห็นจันทร์เสี้ยวก็มิต้องถือศีลอด
เป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีในหมู่นักดาราศาสตร์ว่า เวลาที่ดวงจันทร์ขึ้นในแต่ละสถานที่นั้นแตกต่างกันณ สถานที่หนึ่ง อาจมีคนมองเห็นเดือน แต่อีกสถานที่หนึ่ง อาจไม่มีคนมองเห็นเดือน เพราะฉะนั้นตามความหมายของอายะฮฺดังกล่าว (2:185)
สุนนะฮฺท่านนบี ศ็อลฯ กล่าวว่า "ถ้าเจ้าเห็นมัน (ฮิลาลของเดือนรอมฎอน) จงเริ่มถือศีลอด และถ้าเจ้าเห็นมันอีกครั้ง (ฮิลาลของเดือนเชาวาล) จงเลิกถือศีลอดและถ้ามีเมฆมาบดบังมิให้เจ้ามองเห็น ดังนั้น จงนับ(เดือนปัจจุบัน)ให้ครบสามสิบวัน"
ท่านนบีศ็อลฯ กล่าวว่า "ถ้าเจ้าเห็นมัน" เท่ากับว่าท่านนบีศ็อลฯ เชื่อมโยงกฎนั้นเข้ากับการดูเดือน และถ้ากฎนั้นเชื่อมโยงกับเหตุที่เป็นจริง เมื่อนั้นกฎดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้ในกรณีที่เหตุนั้นไม่มีอยู่จริงหากพิจารณาในมุมมองของการกิยาส(การอนุมานเปรียบเทียบ)นั้น เมื่อเรากล่าวว่าจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่หนึ่งเวลาเริ่มถือศีลอดและเวลาละศีลอดในแต่ละวันช่างแตกต่างกันจริงๆ ในทำนองเดียวกันเวลาที่เริ่มต้นถือศีลอดเดือนรอมฎอน และเวลาที่เลิกถือศีลอดเดือนรอมฎอนย่อมจะแตกต่างกันฉันท์ใดก็ฉันท์นั้นตัวอย่างเช่น เราอยู่ในริยาด ทุกวันเราเริ่มถือศีลอดก่อนผู้คนในอัล-หิญาซ และเรายังละศีลอดก่อนพวกเขาเช่นกันฉะนั้น เราถูกบังคับให้ต้องเริ่มต้นถือศีลอดในขณะที่พวกเขายังคงรับประทานอาหารกัน อยู่ตามปกติในอีกด้านหนึ่ง ช่วงเวลาพลบค่ำเรารับประทานอาหารได้แล้ว ขณะที่พวกเขายังต้องถือศีลอดอยู่เพราะเหตุดังกล่าว ถ้าแต่ละสถานที่มีกฎของตัวเองเนื่องจากความแตกต่างทางด้านเวลาขึ้นและเวลาตกของดวงอาทิตย์แล้ว ในทำนองเดียวกัน แต่ละสถานที่ย่อมมีกฎของตัวเอง เนื่องจากความแตกต่างทางด้านเวลาขึ้นและเวลาตกของดวงจันทร์เช่นกัน
เพราะฉะนั้น คำตอบสำหรับคำถามข้างต้นเป็นที่ชัดเจนแล้ว เป็นวายิบ(บังคับ)สำหรับท่าน ท่านจะต้องปฏิบัติตามการเห็นฮิลาลในพื้นที่ที่ท่านอาศัยอยู่"
อ้างอิง : เชคอิบนฺ อุษัยมีน อัล-อฺะกอลลียาต อัล-มุสลิมะฮฺ หน้า 84 ฟัตวาหมายเลขที่ 23
2. ทัศนะแห่งการดูเดือนโดยยึดการเห็นจันทร์เสี้ยวในทุกที่ทั่วโลก
เชค บินบาซถูกถามว่า เมื่อการเห็นจันทร์เสี้ยวของเดือนรอมฎอนได้รับการยืนยันในเกาะอาหรับ (คาบสมุทรอาหรับ) จำเป็นหรือไม่ที่ประเทศอื่นๆ ต้องถือศีลอดตามการเห็นเดือนครั้งนี้ ?
เชคบินบาซได้ตอบคำถามนี้ไว้ในหนังสือ รวมฟะตาวาและบทความ เล่มที่ 15 หน้า 77-82 ฟะตาวาหมายเลขที่ 15 ความว่า
ไม่เป็นที่สงสัย ว่าท่านร่อซูลซ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ใช้ให้ประชาชาติของท่านถือศีลอดตามการเห็น (จันทร์เสี้ยวค่ำคืนแรกของ) เดือน (รอมฎอน) และให้เลิกถือศีลอด (ออกอีด) ตามการเห็น (จันทร์เสี้ยวค่ำคืนแรกของ) เดือน (เชาวาล) ดังกล่าวนี้ ตามหะดีษซ่อเฮี้ยฮฺมากมายท ี่รายงานมาจากท่านร่อซูลซ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม ซึ่งหะดีษบทหนึ่ง ท่านได้กล่าวว่า
"วัน ถือศีลอดนั้นคือวันที่พวกเจ้าถือศีลอดวันที่เลิกถือศีลอด (วันอีดิ้ลฟิตรี่)นั้นคือวันที่พวกเจ้าเลิกถือศีลอด (วันอีดิ้ลฟิตรี่) และวันเชือดสัตว์พลี(วันอีดิ้ลอัดฮา) นั้นคือวันที่พวกเจ้าเชือดสัตว์พลี (วันอีดิ้ลอัดฮา)"รายงานโดยติรมีซียฺ หะดีษที่ 697
ดังนั้นเมื่อการเห็นเดือนจากประเทศใดก็ตามหากได้รับการยืนยันตามหลักการศาสนาก็จำ เป็นสำหรับประเทศที่เหลือต้องปฏิบัติตามการเห็นเดือนนั้นเพราะท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า
"พวกท่านจงถือศีลอดตามการเห็นมัน (จันทร์เสี้ยวของเดือนรอมฎอน) และจงเลิกถือศีลอด (ออกอีด) ตามการเห็นมัน(จันทร์เสี้ยวของเดือนเชาวาล)"
ซึ่งท่านนบีไม่ ได้หมายถึงชาวเมืองมะดีนะฮฺเท่านั้นแต่หมายถึงมุสลิมโดยทั่วไป ตามหลักการนี้หากการเห็นเดือนได้รับการยืนยันจากเกาะอาหรับก็จำเป็นแก่ผู้ได้รับข่าวที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ ต้องยึดตาม เพราะบริเวณเกาะอาหรับนับเป็นประเทศอิสลามที่ใช้การตัดสินตามพื้นฐานแห่งชะรีอะฮฺ จึงสามารถปฏิบัติตามข่าวที่ได้รับการยืนยันโดยอาศัยหะดีษทั่วไปที่มิได้วาง เงื่อนไขใดๆ ไว้
อ้างอิง :เชคบินบาซ รวมฟะตาวาและบทความ เล่มที่ 15 หน้า 77-79.
เชคบินบาซยังถูกถามอีกว่าจะถือศีลอดกันอย่างไรหากสถานที่ (ขึ้นของดวงจันทร์) แตกต่างกัน?
เชคบินบาซตอบว่า ทัศนะที่ถูกต้องให้ยึดตามการเห็นเดือนโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของสถานที่(ขึ้นของดวงจันทร์) เพราะท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ใช้ให้ยึดตามการเห็น(จันทร์เสี้ยว) โดยมิได้วางเงื่อนไขในใดๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งได้มีหลักฐานที่ซอเฮี้ยะฮฺมาจากท่านนบีซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ความว่า
"พวกท่านจงถือศีลอดตามการเห็นมัน(จันทร์เสี้ยว) และจงเลิกถือศีลอด (ออกอีด) ตามการเห็นมัน (จันทร์เสี้ยว) ถ้าหากมีเมฆมาบดบังก็จงนับให้ครบสามสิบวัน" รายงานโดยบุคอรียฺ หะดีษที่ 1909
และคำพูดของท่านนบีที่ว่า
"พวกท่านจงอย่าถือศีลอดจนกว่าจะเห็นจันทร์เสี้ยว หรือครบจำนวน (สามสิบวันของชะอฺบาน) และจงอย่าเลิกถือศีลอด(ออกอีด) จนกว่าจะเห็นจันทร์เสี้ยว หรือครบจำนวน (สามสิบวันของรอมฎอน)" รายงานโดยนะซาอียฺ หะดีษที่ 2162
และยังมีหะดีษอีกมากมายที่มีความหมายเช่นนี้ท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มิได้ชี้ถึงความแตกต่างของสถานที่ (ขึ้นของดวงจันทร์) ทั้งที่ท่านรู้เรื่องความแตกต่างนี้ แต่ก็มีนักวิชาการจำนวนมากที่มีทัศนะว่าแต่ละประเทศนั้นมีการเห็น(จันทร์เสี้ยว) เป็นของตนเองหากสถานที่ (ขึ้นของดวงจันทร์)แตกต่างกัน พวกเขาอ้างหลักฐานที่รายงานมาจากอิบนิอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมา ว่าท่านไม่ปฏิบัติตามการเห็น(จันทร์เสี้ยว) ของชาวเมืองชามขณะที่ท่านอยู่ในนครมะดีนะฮฺ ทั้งที่ชาวเมืองชามได้เห็นจันทร์เสี้ยวในค่ำของวันศุกร์แล้วพวกเขาได้ถือศีลอดกันในสมัยของมุอาวิยะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ ส่วนชาวเมืองมะดีนะฮฺนั้นไม่เห็น(จันทร์เสี้ยว) นอกจากกลางคืนของวันเสาร์ ซึ่งอิบนุอับบาส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุมาได้กล่าวตอบกุร็อยบฺเรื่องการเห็น (จันทร์เสี้ยว) ของชาวเมืองชามและการถือศีลอดของพวกเขาว่า"พวกเราเห็นมัน (จันทร์เสี้ยว)กลางคืนวันเสาร์ ดังนั้นเราจะยังคงถือศีลอดจนกว่าเราจะเห็นมัน หรือครบจำนวน(สามสิบวัน)" รายงานโดยอะหมัด หะดีษที่ 2785
อิบนุอับบาสได้อ้างคำพูดของ ท่านนบีที่ว่า"พวกท่านจงถือศีลอดตามการเห็นมัน (จันทร์เสี้ยว) และจงเลิกถือศีลอด(ออกอีด) ตามการเห็นมัน (จันทร์เสี้ยว)" รายงานโดยบุคอรียฺซึ่งทัศนะนี้ก็มีน้ำหนักและเป็นทัศนะที่คณะกรรมการสภาอุละมาอฺอาวุโส แห่งราชอาณาจักรอาหรับซาอุดิอารเบียเห็นเช่นนั้น โดยได้รวบรวบบรรดาหลักฐานต่างๆ - อัลลอฮฺ วะลียุตเตาฟีก
อ้างอิง : เชคบินบาซรวมฟะตาวาและบทความ เล่มที่ 15 หน้า 83-84
อีกมุมที่สังคมลืมมองเกี่ยวกับการดูเดือน
แต่สังคมลืมพิจารณาอีกมุมหนึ่ง นั่น คือ การปฏิบัติตามผู้นำ ผมมองว่าการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนคือ คือ เครื่องมือหนึ่งในการจัดระเบียบสังคม เช่นการให้คนรวยได้สัมผัสถึงความหิวกระหายจากการอด สอนให้มีการแบ่งปันอาหาร สอนให้อดทน และสอนให้ตามผู้นำ เมื่อเราพิจารณาเกี่ยวกับคำสอนในการปฏิบัติตามผู้นำ พบว่าอัลลอฮฺได้กล่าวในซูเราะฮฺนิซาอฺ โองการที่ ๕๙ ว่า ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! จงเชื่อฟังอัลลอฮฺ และเชื่อฟังร่อซูลเถิดและผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้าด้วย แต่ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใดก็จงนำสิ่งนั่นกลับไปยังอัลลอฮฺ และร่อซูล หากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลกนั่นแหละเป็นสิ่งที่ดียิ่งและเป็นการกลับไปที่สวยยิ่ง
ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ(ร.ฮ.) มีความเห็น – โดยอ้างตามบรรดาหะดีษของนะบี –ว่า สมควรในการปฏิบัติตามบรรดาผู้นำในทุกสภาพการณ์ ยกเว้นเมื่อบรรดาผู้นำสั่งใช้ให้กระทำการฝ่าฝืนต่อพระองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ.) เพราะท่านร่อซูล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ได้ใช้ให้พวกเราทำสิ่งดังกล่าวดังนั้นการตามผู้นำจึงเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) ในทุกสภาพการณ์ยกเว้นการฝ่าฝืนต่อหลักคำสอน (อัลมะอฺซิยะฮฺ) ฉะนั้นเมื่อผู้นำใช้ให้กระทำสิ่งที่ฝ่าฝืนก็ไม่ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามแต่อย่างใด (นิซอม อัลคิลาฟะฮฺ บัยนะ อะฮฺลิซซุนนะฮฺวัชชีอะฮฺ ; ดร.มุสตอฟา ฮิลมี่ย์ ; ดารุดดะอฺวะฮฺ(1988) หน้า 246) ส่วนการตามผู้นำในเรื่องการกำหนดการเข้าสู่เดือนรอมาฎอนและการออกอีดนั้นเมื่อผู้นำได้ประกาศเรื่องดังกล่าว ก็จำเป็นที่ชาวมุสลิมในบ้านเมืองนั้นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามเพราะเป็นการปฏิบัติในเรื่องที่ดี (อัลมะอฺรู๊ฟ) ถึงแม้ว่าการประกาศนั้นจะค้านกับสิ่งที่ได้รับการยืนยันในบ้านอื่นเมืองอื่นก็ตาม ทั้งนี้เพราะการชี้ขาดของผู้นำ ณ จุดนี้ได้ให้น้ำหนักแก่ทัศนะที่ว่า แต่ละเมืองให้ถือตามผลการเห็นจันทร์เสี้ยวของตน
(ฟิกฮุซซิยาม ; ดร.ยูซุฟ อัลกอรฎอวีย์ ; ดารุซเซาะฮฺวะฮฺ หน้า 32)
ดังนั้น เมื่อเรานำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณา เราจะพบว่า การดูดวงจันทร์เพื่อเข้า – ออกเดือนรอมฎอนมีทัศนะที่สำคัญสองทัศนะใหญ่ๆ ใครจะปฏิบัติตามทัศนะใดก็ไม่ผิดเพราะมีหะดิษมารองรับทั้งสองทัศนะ แต่ประเด็นที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่านั้นก็คือประเด็นการเชื่อฟังและการปฏิบัติตามผู้นำเป็นวาญิบในทุกสภาพการณ์ เพราะเป็นอิจมาอฺ (มติเอกฉันท์ของปวงปราชญ์)ไม่มีความขัดแย้งในเรื่องนี้ ว่าการปฏิบติตามผู้นำเป็นวาญิบตราบใดที่ผู้นำไม่ได้สั่งให้ทำสิ่งที่ฝ่าฝืนอัลลอฮฺ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบในสังคมเราควรที่จะปฏิบัติตามผู้นำ ไม่ว่าผู้นำจะยึดทัศนะใดในการดูเดือน เราก็พร้อมที่จะตามแนวทางของผู้นำ