รอมฎอนในสายตาชาวพุทธ


3,676 ผู้ชม

เดือนรอมฎอน (ออกเสียงอย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะอักษรไทยเหล่านี้ เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางสัทศาสตร์) หรือที่คนไทยมักเรียกว่า เดือนรามาดัน คนไทยโบราณเรียกว่า เดือนที่มุสลิมถือศีลอด ...


รอมฎอนในสายตาชาวพุทธ
โดย : นิธิ เอียวศรีวงศ์ มติชนสุดสัปดาห์

เดือนรอมฎอน (ออกเสียงอย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะอักษรไทยเหล่านี้ เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางสัทศาสตร์) หรือที่คนไทยมักเรียกว่า เดือนรามาดัน คนไทยโบราณเรียกว่าเดือนที่มุสลิมถือ "ศีลอด"

รอมฎอน เป็นเดือนที่เก้าของศักราชฮิชเราะห์ เป็นเดือนที่พระเจ้าเริ่มแสดงโองการแก่มนุษย์ ผ่านพระนะบีองค์สุดท้าย จึงมีความหมายเป็นพิเศษ และมีโองการให้ถือ "ศีลอด" ในเดือนนี้

เมื่อผมเป็นเด็ก ผมรู้สึกทึ่งกับ "ศีลอด" ของเพื่อนมุสลิม มองไม่เห็นว่านั่นเป็น "ศีล" (ภาษาบาลีแปลว่าฝึกหัด, ปฏิบัติ หรือการเว้น) เพราะเราผูก "ศีล" กับ "บาป" ไว้ด้วยกัน ผิดศีลก็บาป ซ้ำยังถือเอาบาปแบบพุทธ เป็นสากล แก่ทุกศาสนาด้วย จึงมองไม่เห็นว่า กินข้าวระหว่างวันแล้วจะบาปได้อย่างไร ถ้าบาป ทำไมกิน เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว จึงไม่บาปเล่า

กว่าจะพ้นจากอคติที่เกิดจากความไม่รู้นี้ได้ ก็ต้องใช้เวลานาน คือโตแล้วและอ่านอะไรกว้างขวางขึ้น มีบาดแผลของชีวิตมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผมเกรงว่าคนไทยพุทธอีกมาก ที่ยังแหวกอคตินี้ออกมาไม่ได้ ถึงไม่ได้ดูถูกเหยียดยาม แต่ก็มองเป็นแค่ "พิธีกรรม" ทางศาสนา ที่ไร้ความหมาย อย่างเดียวกับ "พิธีกรรม" อีกมากที่ชาวพุทธไทยปฏิบัติอยู่เวลานี้... ทำเพื่อให้ได้ทำ "ตามพิธี"

ผมขอยกตัวอย่าง ที่เห็นถนัดก่อนก็ได้นะครับ ไทยพุทธมักเข้าใจ "ศีลอด" ของมุสลิม เพียงแค่ไม่ดื่มกิน นับตั้งแต่แสงอาทิตย์เริ่มจับขอบฟ้า ไปถึงแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เป็นเวลาหนึ่งเดือน

แต่ที่จริงแล้ว "ศีล" (หรือใช้คำให้ตรงกับศาสนาอิสลามมากกว่าคือ "โองการของพระเจ้า" - "คำสั่งของพระเจ้า") ในการอดอาหารระหว่างเดือนรอมฎอน คือ นอกจากไม่ดื่มกินแล้ว ในระหว่างนี้มุสลิม จะต้องไม่สูบยา ไม่มีเพศสัมพันธ์ หลีกเลี่ยงการมอง, การฟัง หรือการกระทำใดๆ ที่ไม่ดีหรือลามก เช่น ไม่ทะเลาะวิวาท ไม่นินทาว่าร้าย ไม่เห็นแก่ตัว ฯลฯ ด้วย

ข้อห้ามเหล่านี้ มีความสำคัญกว่าการอดอาหารด้วยซ้ำ หนังสือที่ผมอ่าน ซึ่งเขียนโดยอุลามะอิสลามท่านหนึ่ง อ้างว่า พระนะบีเคยกล่าวว่า "ใครที่ไม่งดเว้น จากการกล่าวทุวาจา หรือการกระทำที่ไม่ดี พระอัลเลาะห์ไม่ต้องการ การละเว้นอาหารและน้ำ จากเขา" (คือไม่รับการถือศีลอดของเขา) ฉะนั้น "ศีล" ที่มุสลิมต้องปฏิบัติ หรือฝึกฝน ในระหว่างเดือนรอมฎอน จึงทั้งมากกว่า และลึกกว่าการอด ซึ่งก่อให้เกิดความทุกข์ทางกายเท่านั้น แต่ต้องฝึกฝนจิตใจ ไปพร้อมกัน ซ้ำเป็นการฝึกฝนที่สำคัญกว่าการฝึกฝนกายด้วย

รอมฎอนจึงเป็นเดือนแห่งสันติสุข สำหรับมุสลิมโดยแท้ จุดมุ่งหมายก็คือ มุสลิมต้องฝึกฝนความสามารถ ในการบังคับกายใจ ระหว่างเดือนนี้ เพื่อปฏิบัติให้เป็นนิสัยตลอดไป

นี่เป็นอีกมิติทางจิตวิญญาณของการถือ "ศีลอด" ซึ่งไทยพุทธมักไม่ค่อยใส่ใจ เช่น เจ้าหน้าที่มีคำเตือนว่า ถึงเดือนรอมฎอนแล้ว ต้องระวังเหตุร้ายให้มากขึ้น การระวังเหตุร้ายให้มากนั้นดีแล้ว แต่ต้องทำตลอดไป ไม่เกี่ยวอะไรกับเดือนรอมฎอน

นอกจากนี้ ในระหว่างเดือนรอมฎอน ยังมีทั้งคำแนะนำ จากพระนะบี และประเพณี ที่มุสลิมต้องปฏิบัติฝึกฝนตนเอง แม้ในเวลาก่อนแสงอาทิตย์จะจับขอบฟ้าอีกมาก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ ตลอด 24 ชั่วโมงของวันเลยทีเดียว

เช่น มุสลิมจะตื่นแต่หัวดึก สวดสรรเสริญพระเจ้าก่อนกินอาหารเช้า ในอินเดียและปากีสถาน เขาจะพากันจับกลุ่มกัน ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้า และพระนะบีไปตามถนน เพื่อปลุกคนอื่น ให้ลุกขึ้นมากินอาหารเช้า ก่อนแสงอาทิตย์จะจับขอบฟ้า (คิดและทำเพื่อคนอื่น) ในประเทศมุสลิมบางประเทศ เช่น ซาอุดีอาระเบีย ผู้คนไม่นอนตอนกลางคืนเลย แต่จะใช้เวลานั้นอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน และสวด กลับเข้านอนเอาหลังจากละหมาดเช้าแล้ว

ถึงเย็นเมื่อแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้าแล้ว มุสลิมจะเลิกอดตาม "ประเพณี" (Sunnah) ของพระมะหะหมัด คือกินอินทผาลัมสักสองสามผล (ถ้าอธิบายด้วยวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ก็คือเพื่อให้ได้น้ำตาลเร็ว) แล้วตามด้วยอาหารว่างเบาๆ (กระตุ้นท้องให้รับอาหารก่อน) แล้วจึงทำละหมาดเย็น พร้อมทั้งท่องคำกล่าวอันเป็น "ประเพณี" ของพระนะบีว่า "ข้าแต่พระอัลเลาะห์ ข้าพเจ้าได้อดอาหารเพื่อพระองค์ ข้าพเจ้าเชื่อถือพระองค์ และด้วยอาหารประทานจากพระองค์ ข้าพเจ้าขอเลิกอด ในนามของพระอัลเลาะห์ผู้ทรงสง่า และทรงการุณยภาพ" เสร็จจากนั้นจึงกินอาหารตามมื้อ

เรียกได้ว่าทุกเวลานาทีในเดือนรอมฎอน มุสลิมจะถูกเตือนให้สยบยอมต่อพระเจ้า และปฏิบัติตามโองการตลอดเวลา ถ้าใช้ภาษาที่ชาวพุทธจะเข้าใจได้ ก็คือเป็นเดือนแห่งการปลดปล่อยตัวเอง ให้พ้นจากความโลภ, โกรธ, หลง ด้วยการทำลายอัตตาตัวเองเสีย โดยยอมจำนนต่อพระประสงค์ของพระเจ้า อย่างสิ้นเชิง... สำนึกในความเป็นอนัตตา ของตัวกูของกูนั่นแหละครับ

ข้อบังคับเกี่ยวกับอาหาร และการอดเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรม ที่มนุษย์ใช้ในการเผชิญกับ "วิกฤต" ต่างๆ ของชีวิตมาแต่ดึกดำบรรพ์ นักวิชาการอิสลามเอง ก็ยอมรับว่า ประเพณีการอดมีมาเก่าแก่ก่อนสมัยพระมะหะหมัด ศาสนายิว (ซึ่งประธานาธิบดีปากีสถานยอมรับว่า เกี่ยวเนื่องกับศาสนาอิสลามอย่างใกล้ชิด) มีข้อบังคับเกี่ยวกับการกินอาหารหลายอย่าง และหนึ่งในนั้น คือการอดเป็นบางวันในรอบปี เช่น วันยมคิปปูร์ (Yom Kippur) เป็นต้น

ว่ากันว่ามนุษย์ดึกดำบรรพ์ถือว่า อาหารที่เรากินกับตัวของเราเองนั้น สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแยกออกจากกันไม่ได้ เรากินอาหารที่มีคุณสมบัติอย่างไร เราก็จะรับเอาคุณสมบัตินั้นของอาหาร มาเป็นของเราด้วย ในบางโอกาส คุณสมบัติบางอย่างของอาหาร ก็อาจกลายเป็นโทษแก่เราได้ด้วย เช่น ชายชาวมลายูโบราณออกป่า เพื่อเก็บการบูร เขาจะไม่กินเกลือป่นเลย เพราะเกรงว่า จะทำให้เขาพบแต่การบูร ที่เป็นผงในลำต้นไม้เท่านั้น เขาต้องกินเกลือเม็ด เพื่อจะได้พบกาบูรที่เป็นก้อนเช่นกัน

ขอให้สังเกตนะครับว่า กินก็ให้พลัง อดก็ให้พลังเหมือนกัน เราต้องเลือกจะใช้พลังด้านใดในเวลาใด จึงต้องกินหรืออดให้ถูก

ขอยกตัวอย่างการอด ที่ให้พลังจากที่ เซอร์เจมส์ เฟรเซอร์ เล่าไว้ใน The Golden Bough ดังนี้

พืชผลแรกของปี ย่อมมีผีหรือเทพสิงสถิตอยู่ ก่อนจะกินจึงจำเป็นต้องอัญเชิญให้ผี หรือเทพออกไปเสียก่อน (หรือในทางตรงกันข้าม อาจกิตเอาขวัญของผี หรือเทพเข้าไป เพื่อเป็นพลังก็ได้) อย่งไรก็ตาม พืชผลแรกที่จะกินลงท้องไปนั้น ต้องไปสัมผัสกับอาหารเก่าในท้อง ทำให้เสื่อมพลังความบริสุทธิ์ไปได้ จึงจำเป็นต้องอดอาหารเสียก่อน เซอร์เจมส์อ้างว่า การอดอาหารก่อนพิธี Eucharist ของคาทอลิก ก็เพื่อจุดประสงค์เดียวกัน คือทำให้ท้องสะอาดสำหรับรับขนมปัง และเหล้าองุ่น อันเป็นสัญลักษณ์ของเลือดเนื้อพระบุตรเสียก่อน

อีกด้านหนึ่งของการอดอาหาร ของวัฒนธรรมดึกดำบรรพ์ ที่ใกล้เคียงกับการอดของศาสนาต่างๆ มากคือ การทำความบริสุทธิ์ให้บังเกิดขึ้น หรือการชำระล้าง

ในอเมริกาเหนือ เด็กหนุ่มอินเดียนแดงบางเผ่า จะอดอาหารก่อนออกจากหมู่บ้าน เพื่อไปพบกับเทพประจำตัว ซึ่งจะประทานนิมิตบางอย่างแก่เขา (ก่อนที่จะผ่านเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว) เทพ Asclepius ของกรีก ซึ่งเป็นเทพของการรักษาพยาบาล หมอจะต้องอดอาหาร ก่อนที่เทพจะเข้าฝันเพื่อบอกวิธีรักษา

ทั้งหมดเหล่านี้ คือการอด เพื่อชำระล้างตัวเอง ให้บริสุทธิ์ ก่อนที่จะได้สัมผัสกับเทพ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ดังนั้น จึงเป็นธรรมดาที่ทุกศาสนา (ยกเว้นโซโรอัสเตอร์) ที่สืบทอดการอดอาหาร ของวัฒนธรรมดึกดำบรรพ ์มาปฏิบัติ แต่ให้ความหมายไปในทางจิตวิญญาณ

การชำระล้าง เพื่อสัมผัสกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือสิ่งสูงสุดในศาสนา ดูเหมือนจะพบได้ในทุกศาสนากระมัง ศาสนาเชน มีพิธีกรรมการอดอาหาร เพื่อทำสมาธิ และรับวิมุตติสุข การอดอาหารของยิว ในวันยมคิปปูร์ ก็เพราะวันนั้นคือวัน Atonement หรือวันที่เตือนให้มนุษย์ร่วมอยู่ในพระเจ้า ที่เป็นเอกภาพ หนึ่งในผลดีของการถือศีลอดของมุสลิม ในระหว่างเดือนรอมฎอน ตามที่ผู้รู้อธิบายไว้ก็คือ ผู้ปฏิบัติจะแอบกิน, แอบนินทา, แอบดูหนังโป๊ ฯล หรือแหกกฎระเบียบอย่างไรก็ได้ เพียงแต่เขาย่อมรู้ว่า ไม่มีทางรอดสายตาของพระเจ้าไปได้ ฉะนั้น การปฏิบัติตามคำสอนอย่างเคร่งครัด จึงเตือนให้เขาสำนึกในการดำรงอยู่เป็นสากลของพระองค์ (Omnipresence) เท่ากับได้รู้สึกใกล้ชิดพระองค์ตลอดเวลา

ภูเก็ตนั้นนอกจากขายการกินเจแล้ว ในช่วงเดียวกัน ก็ยังขายการเสด็จลงมามนุษยโลกของเจ้าด้วย เพราะเป็นช่วงเวลาเดียวกัน ถึงจะอธิบายการกินเจกัน ด้วยเรื่องของการไม่เบียดเบียนชีวิตอื่น แต่ถ้ามองจากการอดอาหาร (เนื้อ) ก็คือการชำระล้าง เพื่อใกล้ชิดกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

ชาวพุทธที่เคร่งจะถือศีลแปดในวันพระ ซึ่งทำให้ต้องอดอาหารในยาม "วิกาล" และอดความสบายทางกายทางใจอื่นๆ เช่น ไม่นอนที่สูงหรือไม่ดูมหรสพ เป็นต้น ก็เพราะวันพระเป็นวัน "ศักดิ์สิทธิ์"

ชาวคาทอลิกอดเนื้อสัตว์ (บก) ในวันศุกร์ ผมอยากเดาว่าเพราะวันรุ่งขึ้นเป็นวันสะปาโต อันเป็นวันที่ชาวยิวถือว่า "ศักดิ์สิทธิ์" เหมือนกัน

สรุปก็คือ "ศีลอด" ของมุสลิม ไม่ได้อดแต่อาหารระหว่างวัน แต่หมายถึงอดความชั่วทั้งหลายด้วย อีกทั้งไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดอะไร เพราะมีรากเหง้ามาแต่ดึกดำบรรพ์ ในทุกวัฒนธรรม ศาสนาทุกศาสนารับเอาแบบปฏิบัตินี้ไปใช้ แต่ให้ความหมายในเชิงศีลธรรม และจิตวิญญาณ เป็นสำคัญ และเราจะพบการอดดังที่ว่านี้ ในทุกศาสนา รวมทั้งพุทธศาสนาที่เรานับถือด้วย

แต่มีศาสนาใหม่ของเด็กสาวในเมืองไทย ที่ถือศีลอด ไม่ใช่เพื่อการพัฒนาด้านจิตวิญญาณ หรือไม่ใช่เพื่อได้สัมผัสสิ่งสูงสุด หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพียงแต่อยากผอม ตรงไปตรงมาด้วยเหตุและผลทางวัตถุล้วนๆ นี่ต่างหากครับที่ผมคิดว่าน่าทึ่งน่าอัศจรรย์โดยแท้

อัพเดทล่าสุด