รอมะฎอน (อาหรับ: رمضان) การสะกดอื่นๆ รอมดอน รอมาดอน รอมะดอน รอมฎอน คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช ...
ข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงรอมฎอน
โดย ชัยคฺ อะหมัด มูซา ญิบริล
รอมะฎอน (อาหรับ: رمضان) การสะกดอื่นๆ รอมดอน รอมาดอน รอมะดอน รอมฎอน คือเดือนที่ 9 ของปฏิทินฮิจญ์เราะหฺ หรือปฏิทินอิสลาม เป็นเดือนที่มุสลิมถือศีลอดทั้งเดือน ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า เดือนบวช และถือว่าเป็นเดือนที่สำคัญที่สุดเดือนหนึ่ง มุสลิมจะต้องอดอาหารเพื่อที่จะได้มีความรู้สึกถึงคนที่ไม่ได้รับการดูแลจากสังคม เช่น คนยากจน เป็นต้น และเดือนนี้ยังเป็นเดือนที่อัลกรุอานได้ถูกประทานลงมาเป็นทางนำให้กับมนุษย์
ข้อผิดพลาดที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงรอมฎอน มีดังนี้:
1. พี่น้องส่วนใหญ่ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของการทานอาหารมากกว่าการถือศีลอดอย่างแท้จริง โดยที่พวกเขาต้องการจะทานอาหารให้ได้ปริมาณมากกว่าปกติ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาต้องใช้จ่ายเงินมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว พวกเขาอาจจะไม่ได้ต้องการทานอาหารปริมาณมากขนาดนั้น
2. การทานอาหารสะฮูรฺก่อนฟัจรฺ พี่น้องบางท่านจะทานสะฮูร 2-3 ชั่วโมงหลังการละหมาดตะรอวีฮฺ หรือละหมาดอีซา ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากท่านควรทานสะฮูรในช่วงเวลาที่ใกล้เวลาฟัจรฺ
3. พี่น้องหลายคนไม่ได้ตั้งเจตนา (เนียต) ที่จะถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งการตั้งเจตนานั้นเป็นสิ่งที่นึกคิดอยู่ภายในใจ และไม่จำเป็นต้องพูดออกมา อีกทั้งท่านควรตั้งเจตนาเพียงครั้งเดียว ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเดือนรอมฎอน ไม่ใช่การตั้งเจตนาทุกๆ วัน
4. หากท่านทราบภายหลังว่า เดือนรอมฏอนนั้นได้เริ่มต้นแล้ว ท่านจำต้องงดการรับประทานอาหาร และทำการถือศีลอดชดเชยวันที่ขาดไป ภายหลังที่เดือนรอมฏอนและวันอีดได้เสร็จสิ้นแล้ว
5. พี่น้องหลายท่านไม่ตระหนักถึงการละหมาดตะรอวีฮฺในคืนแรกของเดือนรอมฎอน หลายท่านเชื่อว่า การละหมาดะรอวีฮฺจะเริ่มขึ้นหลังจากวันแรกของการถือศึลอด และมิได้ตระหนักว่าปฏิทินอิสลามนั้นนับตามการโคจรของดวงจันทร์ และ "มัฆริบ" คือการเริ่มต้นของวันใหม่
6. พี่น้องหลายท่านเชื่อว่า หากเขากินหรือดื่มโดยไม่ได้ตั้งใจนั้นทำให้การถือศีลอดของเขากลายเป็นโมฆะ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะหากเขากินหรือดื่มโดยไม่ได้ตั้งใจ เขาก็ควรทำการถือศีลอดต่อไปและไม่จำเป็นต้องทำการชดใช้ในภายหลัง
7. พี่ น้องบางท่านเชื่อว่า หากเขาพบเห็นผู้ใดก็ตามที่กำลังกินและดื่ม พวกเขาไม่ควรที่จะกล่าวตักเตือนให้บุคคลนั้นทราบว่า ตัวเขานั้นกำลังถือศีลอดอยู่ ซึ่งจากความเห็นของชัยคฺ บิน บาซ (รอฏิยัลลอฮุ อันฮา) ท่านกล่าวว่า การมีความเชื่อเช่นนี้ถือเป็นสิ่งที่ผิด และความจริงแล้วนี่ถือเป็นคำสั่งใช้ของอัลลอฮฺสำหรับท่านในการที่จะสั่งใช้ กันในการกระทำความดี และปราบปรามกันให้ละเว้นจากความชั่ว ดังนั้นการที่ท่านบอกให้บุคคลดังกล่าวรับทราบ ก็หมายความว่าท่านได้ปรามปรามพี่น้องของท่านให้ละเว้นจากความชั่ว
8. พี่น้องมุสลิมะฮฺหลายท่าน เชื่อว่าพวกเธอไม่สามารถใช้ เฮนนาฮฺ ระหว่างการถือศีลอดได้ ซึ่งนี่เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะพวกเธอได้รับการอนุมัติให้สามารถใช้เฮนนาฮฺได้ในช่วงเดือนรอมฎอน
9. พี่น้องบางท่านเชื่อว่า หากเขาทำอาหารระหว่างถือศีลอด เขาไม่สามารถที่จะชิมรสชาติอาหารได้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะแท้จริงแล้วเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นที่อนุมัติตามหลักศาสนา ตราบใดที่เขาไม่ได้ทานอาหาร (ลงท้อง) หากแต่เขาสามารถที่จะชิมอาหารเพื่อให้รับรู้รสว่าต้องเพิ่มเติมรสชาดใดๆ เข้าไปหรือไม่ เช่น รสเค็ม รสเผ็ด
10. พี่น้องหลายท่านคิดว่าเขาไม่สามารถที่จะใช้ มิสวาก หรือแปรงสีฟันในช่วงเดือนรอมฎอนได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากศาสนทูต (ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะศัลลัม) เคยใช้มิสวากในช่วงเดือนรอมฎอน ด้วยเหตุนี้ ท่านสามารถที่จะใช้ยาสีฟันได้ นักวิชาการได้ให้เหตุผลว่ามิซวากนั้นมีรสชาติ ดังนั้นยาสีฟันก็สามารถใช้ได้เช่นกัน (หากท่านไม่ได้กลืนมันลงไป)
11. พี่น้องบางท่านกล่าวอาซานฟัจรฺเร็วกว่าเวลาจริง ด้วยเพราะพวกเขาต้องการให้ผู้คนหยุดกินหรือดื่มก่อนฟัจรฺ เพื่อที่การถือศีลอดนั้นจะไม่เป็นโมฆะ ซึ่งนี่เป็นความเชื่อที่ผิดและท่านไม่ควรกระทำเช่นนั้น
12. พี่น้องบางท่านกล่าวอาซานมัฆริบช้ากว่าเวลาจริง ด้วยเพราะพวกเขาต้องการให้ผู้คนเริ่มทานอาหารช้ากว่าเวลา และเผื่อเวลาไว้เนื่องจากเกรงว่ายังไม่ถึงเวลามัฆริบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดอีกเช่นกันและท่านไม่ควรกระทำเช่นนั้น
13. พี่น้องหลายท่านเชื่อว่า เขาไม่สามารถร่วมหลับนอนกับสามี/ภรรยา ตลอดเดือนรอมฎอนได้ นี่ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด ความจริงแล้วนั้นท่านไม่สามารถที่จะร่วมหลับนอนกับสามี/ภรรยาของท่านได้ในช่วงเวลาถือศีลอด หากแต่ว่าระหว่างช่วงเวลามัฆริบถึงเวลาฟัจรฺนั้นเป็นที่อนุมัติสำหรับสามีภรรยาที่จะร่วมหลับนอน
14. มุสลิมะฮฺหลายท่านเชื่อว่า หากภาวะประจำเดือนของเธอหมดและเธอยังไม่ได้ทำการฆุซลฺ (อาบน้ำตามศาสนบัญญัติ) เธอจะไม่สามารถถือศีลอดในวันนั้นได้ (ยกตัวอย่าง เมื่อประจำเดือนของเธอนั้นหมดในตอนกลางคืน และเธอได้เข้านอนโดยยังไม่ได้ทำฆุซลฺ จากนั้นเธอตื่นขึ้นมาโดยที่ยังไม่สามารถที่จะทำฆุซลฺได้) นี่เป็นความเข้าใจที่ผิด หากแม้ว่าเธอนั้นยังไม่ได้ทำฆุซลฺ เธอก็ยังสามารถที่จะทำการถือศีลอดได้
15. มุสลิมีนหลายท่านเชื่อว่า หากเขาได้ร่วมหลับนอนกับภรรยา (ในช่วงเวลาที่ได้รับการอนุมัติ) และไม่ได้ทำฆุซลฺ (คล้ายคลึงกับกรณีข้างบน) เขาไม่สามารถที่จะถือศีลอดได้ในเช้าวันถัดไป นี่เป็นความเข้าใจผิดอีกเช่นกัน เพราะในความเป็นจริงแล้ว เขายังคงสามารถถือศีลอดได้ แม้ว่าจะยังไม่ได้ทำฆุซลฺก็ตาม
16. พี่น้องบางท่านทำการละหมาดดุฮฺริและอัสริรวมกันในช่วงเดือนรอมฎอน (โดยเฉพาะในประเทศอาหรับ) นี่เป็นสิ่งที่ผิดและจำต้องหลีกเลี่ยง
17. พี่น้องบางท่านเชื่อว่าเขาไม่สามารถที่จะเริ่มทานอาหารได้จนกว่ามุอัซซีน (ผู้อาซาน) จะกล่าวอาซานมัฆริบจนจบ นี่เป็นความคิดที่ผิด เพราะแท้จริงแล้ว เมื่อใดก็ตามที่การอาซานได้เริ่มขึ้น เขาสามารถที่จะละศีลอดได้เลยทันที
18. พี่น้องหลายท่านไม่ถือโอกาสในการขอดุอาอฺก่อนที่พวกเขาจะทำการละศีลอด ทั้งนี้เนื่องจากว่า "ช่วงเวลาดังกล่าว" เป็นช่วงเวลาหนึ่งใน 3 เวลาที่อัลลอฮฺตอบรับการดุอาอฺของเขา
19. พี่น้องหลายท่านละเลยในเรื่องการตักตวงผลประโยชน์ของการใช้เวลาในช่วงท้าย ของเดือนรอมฎอน โดยที่พวกเขามักให้ความใส่ใจและทุ่มเทไปกับการจัดเตรียมสิ่งต่างๆ เพื่อวันอีดมากกว่า และเพิกเฉยต่อความประเสริฐของเดือนรอมฎอน ซึ่งการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ผิด ทั้งนี้ด้วยเพราะพวกเขาขาดซึ่งความเข้าใจเกี่ยวกับความประเสริฐของเดือนรอม ฎอน และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในช่วงเวลาดังกล่าว
20. พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านไม่ยอมให้ลูกๆ ของพวกเขานั้น ถือศีลอดในช่วงรอมฎอน (เด็กเล็ก) ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการขัดขวางการกระทำความดีงามต่อเด็ก การที่พ่อแม่ผู้ปกครองอนุญาตให้เด็กๆ ถือศีลอดนั้นถือเป็นการฝึกฝนเด็กไปในตัว และเขาจะได้ตระหนักว่านี่เป็นภารกิจที่เขาจำต้องปฏิบัติเมื่อเขาเติบโตขึ้น
21. พี่น้องหลายท่านคิดว่ารอมฎอนเป็นเดือนของการงดเว้นการกินการดื่ม และต่างละเลยเรื่องการควมคุมอารมณ์รวมไปถึงการพูดจา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ท่านจำต้องควบคุมอารมณ์และวาจาของท่านให้มากยิ่งขึ้นในช่วงรอมฎอน
22. พี่น้องหลายท่านมักเสียเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ในช่วงรอมฎอน โดยที่พวกเขาใช้เวลาไปกับการนอนระหว่างวันและไม่ได้ทำประโยชน์ใดๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ท่านจำต้องฉวยโอกาสหาประโยชน์จากช่วงเวลาอันประเสริฐในเดือนรอมฎอนนี้ โดยการทำอิบาดะฮฺให้มากยิ่งขึ้น (สุนนะหฺต่างๆ *ผู้แปล)
23. พี่น้องบางท่านไม่ยอมออกนอกสถานที่หรือเดินทางในช่วงเดือนรอมฎอน เนื่องจากพวกเขาคิดว่า พวกเขาต้องงดเว้นจากการถือศีลอดเมื่อเดินทาง แต่ในความจริงแล้วนั้น มีทางเลือกสำหรับเขา เพราะหากเขาต้องการที่จะงดเว้นจากการถือศีลอดขณะเดินทาง เขาก็สามารถกระทำได้ (โดยที่เขาทำการชดเชยในภายหลัง) และหากเขาไม่ต้องการที่จะงดเว้นการถือศีลอด ก็ให้เขาถือศีลอดต่อไป
24. พี่น้องหลายท่านที่มีความสามารถที่จะทำเอี๊ยะติกาฟฺที่มัสยิด หากแต่เขาไม่ทำ – แท้จริงแล้ว ท่านจำต้องฉวยโอกาสเอาประโยชน์ในช่วงเวลานี้ขณะที่ท่านยังมีสุขภาพที่ดีอยู่ และใช้เวลาส่วนใหญ่ในการอยู่กับมัสยิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 10 วันสุดท้ายของรอมฎอน
25. พี่น้องบางท่านเชื่อว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะตัดผม ตัดเล็บได้ในช่วงรอมฎอน นี่เป็นความคิดที่ผิดเช่นกัน
26. พี่น้องบางท่านกล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะกลืนน้ำลายในช่วงรอมฎอนได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด อย่างไรก็ตาม ท่านไม่สามารถที่จะกลืน เมือก หรือเสมหะที่อยู่ในปากของท่านได้
27. พี่น้องบางท่านกล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะใส่น้ำมันหอมหรือน้ำหอมในช่วงรอมฎอนได้ นี่เป็นความคิดที่ผิด
28. พี่น้องบางท่านเชื่อว่า การมีเลือดออก (บาดแผล) นั้นเป็นเหตุให้การถือศีลอดของเขานั้นเป็นโมฆะ
29. พี่น้องบางท่านเชื่อว่า หากเขาอาเจียน (โดยมิได้เจตนา) นั้นเป็นเหตุให้การถือศีลอดของเขานั้นกลายเป็นโมฆะ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด อย่างไรก็ตาม หากท่านกระทำโดยเจตนา การถือศีลอดของท่านจะเป็นโมฆะทันที
30. พี่น้องบางท่านคิดว่าท่านไม่สามารถสูดน้ำเข้าจมูก หรือบ้วนปากขณะทำวูฎูอฺ (อาบน้ำละหมาด) ได้ในเดือนรอมฎอน ซึ่งนี่ก็เป็นความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน
ขออัลลอฮฺทรงตอบรับการถือศีลอด และการงานที่ดีทั้งหลายของพวกเราด้วยเถิด และขอพระองค์ทรงให้อภัยต่อความผิดของเราทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ อามีน