การถือศีลอดของหญิงตั้งครรภ์


8,556 ผู้ชม

ชายผู้หนึ่งถามท่าน ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด เกี่ยวกับข้อสงสัยในเ่รื่อง การถือศีลอดของภรรยา ...


การถือศีลอดของหญิงตั้งครรภ์

ตอบคำถามโดย ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด
อุมมุ สะละมะอฺ แปลและเรียบเรียง

ชายผู้หนึ่งถามท่าน ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด เกี่ยวกับข้อสงสัยในเ่รื่อง การถือศีลอดของภรรยา รายละเอียด ดังนี้

คำถาม : ฉันเคยเตือนภรรยาของฉันว่า ไม่ให้เธอถือศีลอด ในช่วงเดือนรอมฏอน เนื่องจากว่าเธอกำลังตั้งครรภ์อยู่ เธอจึงไม่ได้ถือศีลอด เพราะเธอมีสภาพที่อ่อนแอ ซึ่งขาดเลือดในช่วงตั้งครรภ์ จนกระทั่งเธอแท้ง ในช่วงท้ายของเดือนรอมฏอน ซึ่งเธอตั้งครรภ์มาได้ประมาณ 12 อาทิตย์ แล้ว (ช่วงเดือนที่สามของครรภ์) ดังนั้น หลักการว่าอย่างไร ในวันที่เธอขาดถือศีลอด? จำเป็นที่เธอจะต้องถือศีลอดชดเชยก่อน จะถึงเดือนรอมฏอนครั้งต่อไปหรือไม่? เธอสามารถจะถือศีลอดเหมือนคนอื่นๆ ขณะที่ตั้งครรภ์อยู่ได้หรือไม่?

คำตอบ : คำถามดังกล่าว คลอบคลุม 3 ประเด็นดังต่อไปนี้

1. ฮุกุ่มในเรื่อง การละศีลอดของหญิงที่มีครรภ์ ในเดือนรอมฏอน
2. ผลที่เกิดจากการแท้งในเดือนรอมฏอน
3. ฮุกุ่มในเรื่อง การถือศีลอดชดเชย หลังจากเดือนรอมฏอน

สำหรับหญิงตั้งครรภ์นั้น อนุญาตให้เธอละศีลอดได้ หากนางเกรงว่า จะเกิดอันตรายต่อตัวนางเอง และทารกที่อยู่ในครรภ์ และจำเป็นในเรื่องนี้ หากนางกลัวว่า จะเกิดอันตราย หรือเกิดโทษอย่างรุนแรง ต่อตัวของนางเอง และนางจะต้องถือศีลอดชด โดยไม่ต้องเสียค่าชดเชย (ฟิดยะฮฺ) แต่ประการใด และ ประเด็นนี้ มีความเห็นพ้องต้องกัน ของบรรดาฟุเกาะฮาอฺ (นักนิติศาสตร์อิสลาม) ดังคำกล่าวของพระองค์ที่ความว่า "และจงอย่าฆ่าตัว ของพวกเจ้าเอง" (4:29) และพระองค์ทรงตรัสอีกความว่า "และจงอย่าโยนตัวของพวกเจ้า สู่ความพินาศ" (2:195) และเช่นเดียวกันพวกเขา (นักนิติศาสตร์อิสลาม) ต่างเห็นพ้องต้องกัน ในประเด็นที่ว่า ไม่จำเป็นต้องเสียค่าชดเชย ถ้าอยู่ในสภาวะเช่นนี้ เนื่องจากว่า นางอยู่ในสถานะของ "ผู้ป่วย" ที่กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อตัวนาง

และหากนางกลัวว่า จะเกิดอันตราย ต่อทารกในครรภ์ เพียงอย่างเดียว อุลามะอฺบางท่าน มีความเห็นว่า อนุญาตให้นางงดเว้นการถือศีลอดได้ แต่นางจะต้อง ถือศีลอดชด และเสียค่าชดเชยด้วย (ให้อาหารแก่คนยากจนทุกๆ วัน) ปรากฏหลักฐานที่รายงานจากท่าน อิบนุ อับบาส รอดิยัลลอฮุ อันฮุ ในพระดำรัสของอัลลอฮ์ที่ความว่า "และ หน้าที่ของบรรดาผู้ที่ถือศีลอด ด้วยความลำบากยิ่ง (โดยที่เขาได้งดเว้นการถือ) นั้นคือการชดเชย อันได้แก่การให้อาหาร (มื้อหนึ่ง) แก่คนมิสกีนคนหนึ่ง (ต่อการงดเว้นจาการถือหนึ่งวัน)" (2:184)

ท่านอิบนุ อับบาส รอดิยัลลอฮุ อันฮุ กล่าวว่า อนุโลมสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งชายและหญิง ที่สามารถถือศีลอดได้ ให้ละศีลอด แต่ ต้องเสียค่าชดเชย ต่อคนยากจนหนึ่งคน ในแต่ละวันแทน และสตรีที่ตั้งครรภ์ และสตรี ให้นมบุตร ก็เช่นเดียวกัน หากนางกลัวว่าจะเป็นอันตราย ท่าน อบู ดาวุด กล่าวว่า หมายถึง กลัวว่าจะเป็นอันตราย ต่อลูกๆ ของนาง ก็ให้ละศีลอดได้ (รายงานจากท่าน อบู ดาวุด ฮาดิษที่ 1947 ) เชค อัลบานีย์กล่าวว่า ศอฮี้ฮ ในหนังสือ อิรวะอุล ฆอลีล (4/18,25) (ดูทั้งหมดในหนังสือ เมาซูอะฮ์ อัลฟิกฮิยะฮ์ 16/272)

ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีความชัดเจนแล้วว่า เมื่อการถือศีลอด จะเป็นอันตรายต่อนาง หรือว่าเป็นอันตราย ต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น ก็ให้นางละศีลอด และด้วยเงื่อนไขที่ว่า แพทย์ที่กล่าวว่า การถือศีลอดจะเป็นอันตราย ต้องเป็นแพทย์มีคำพูดน่าเชื่อถือ ส่วนการแท้งบุตรนั้น หากว่าเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น ดังที่ท่านกล่าวมา ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ เลือดที่ไหลออกมา ไม่นับว่าเป็นเลือดนิฟาส (เลือดหลังคลอดบุตร) แต่ให้นับว่าเป็นเลือดอิสติฮาเฏาะฮฺ (เลือดเสีย) เพราะสิ่งที่ออกมาจากนาง คือ ก้อนเลือดที่ยังไม่มีรูปร่างเป็นมนุษย์ ดังนั้น นางต้องละหมาด ถือศีลอด ถึงแม้ว่าจะมีเลือดก็ตาม แต่ให้นางอาบน้ำละหมาดใหม่ทุกๆครั้ง ที่ทำการละหมาด และนางต้องถือศีลอดชด และ ละหมาดชด ในวันที่ขาดเช่นเดียวกัน

ส่วนการถือศีลอดชดในวันที่ขาด จำเป็นสำหรับทุกคน ที่ถือศีลอดไม่ครบ ในเดือนรอมฏอน จะต้องถือศีลอดชดก่อน ที่รอมฏอนในปีถัดไป จะมาถึง และให้ล้าช้า ไปจนถึงเดือนชะอฺบานได้ ถ้าหากว่ารอมฏอนในปีที่สองมาถึงแล้ว แต่เขายังไม่ได้ถือศีลอดชด โดยไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย ในกรณีนี้นับว่าเป็นบาป ดังนั้น เขาจะต้องถือศีลอดชด พร้อมทั้งให้อาหารแก่คนขัดสน ทุกวัน (ตามที่ขาด) เหมือนที่ศอฮาบะฮ์กลุ่มหนึ่งของท่านนบี เคยตัดสินในเรื่องนี้ และจำนวนอาหารนั้น เท่ากับครึ่งศออฺ ในทุกวัน จากอาหารหลักในประเทศนั้นๆ ซึ่งจะต้องจ่ายให้กับคนยากจน แม้เพียงคนเดียวก็ตาม

ส่วนถ้าหากมีเหตุจากการป่วย หรือการเดินทาง ก็ให้เขาถือศีลอดชดเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องจ่ายอาหาร ด้วยหลักฐานจากคำพูดของพระองค์ ที่ความว่า "แล้วผู้ใดในพวกเจ้า ป่วย หรืออยู่ในการเดินทาง ก็ให้ถือใช้ในวันอื่น" (2:184)

อัพเดทล่าสุด