ความเจ็บป่วย ในเดือนที่ต้องถือศีลอด .. เกิดขึ้นได้หรือไม่ ???


1,330 ผู้ชม

การถือศีลอด ในภาษาอาหรับจะเรียกว่า อัศศิยาม ซึ่งมีความหมายว่า การละเว้น การระงับ หรือการอดกลั้น ส่วนความหมายทางด้านบัญญัติศาสนา คือการระงับหรือการละเว้นจากการกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์และการพูดจาไร้สาระ ตลอดจนการกระทำที่ขัดต่อคุณธรรม ...


ความเจ็บป่วย ในเดือนที่ต้องถือศีลอด .. เกิดขึ้นได้หรือไม่ ???

สุขภาพในวิถีมุสลิม

การถือศีลอด ในภาษาอาหรับจะเรียกว่า อัศศิยาม ซึ่งมีความหมายว่า การละเว้น การระงับ หรือการอดกลั้น ส่วนความหมายทางด้านบัญญัติศาสนา คือการระงับหรือการละเว้นจากการกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์และการพูดจาไร้สาระ ตลอดจนการกระทำที่ขัดต่อคุณธรรม ตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งตะวันลับขอบฟ้า ด้วยเจตนาเพื่ออัลลอฮฺ

ศาสนาอิสลามได้อนุโลมให้งดศีลอด หรือไม่ต้องถือ ในกรณีของการเจ็บป่วยที่แน่ชัดว่าหากถือแล้วจะมีผลกำเริบหรือทำให้อาการของโรคนั้นเลวร้ายและยึดเยื้อออกไป ส่วนการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ หรือโรคที่การถือศีลอดมิส่งผลเสียแก่อาการของผู้ป่วยก็ไม่เป็นที่อนุญาตให้งดศีลอด และยังมีทางออกในเรื่องนี้ด้วยกล่าวคือ ถ้าเป็นโรคที่สามารถหายได้ ก็ให้ถือชดเชยในวันอื่น หากเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถถือศีลอดได้ ก็ให้จ่ายฟิตยะฮฺเลี้ยงอาหารแก่คนยากจนวันละคน ตามจำนวนวันที่ขาด ด้วยอาหารจำนวนครึ่งศิออฺ (หรือประมาณ 1.5 กิโลกรัมต่อวัน) เช่น ข้าว หรือแป้งสาลี

ผู้ป่วยโรคต่อไปนื้ อาจพิจารณาหลีกเลี่ยงการถือศีลอด เพราะจะเป็นอันตราย

- ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1
- ผู้ป่วยไตวาย ไตเสื่อม ผ่าตัดเปลี่ยนไต หรือนิ่วที่ไต
- โรคปอดและหัวใจที่รุนแรง
- เลือดออกในทางเดินอาหาร หรือโรคกระเพาะที่เป็นแผล
- โรคลมชักที่ยังไม่สงบ
- โรคไมเกรนที่กำเริบบ่อย

ผลกระทบต่างๆ ต่อภาวะสุขภาพขณะถือศีลอด

- มีการเปลี่ยนแปลงของ circadian rhythm และ sleep/wake cycle
- ภาวะที่ร่างกายสูญเสียน้ำ (mild dehydration)
- การหลั่งกรด และเอนไซน์เปบซินในกระเพาะอาหารเพิ่มขึ้น
- สุขภาวะที่เกี่ยวกับทางจิตดีขึ้น

การปรับการรับประทานยาขณะถือศีลอด

- สำหรับผู้ป่วยรับประทานยา 2 ครั้งต่อวัน ให้รับประทานยามื้อแรกหลังละศีลอด (อิฟฎอรฺ) ซึ่งตามซุนนะห์ท่านศาสดามูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อถึงเวลาละศีลอด อิสลามสอนให้รีบละศีลอด ก่อนที่จะละหมาด โดยการกินอาหารเบา คือ อินทผลัมหรือน้ำ หลังจากนั้นไปละหมาดแล้ว จึงกินอาหารหนักตอนย่ำค่ำ (มัฆริบ) และรับประทานยามื้อที่สอง ช่วงหัวรุ่ง (ซูฮูรฺ)
- สำหรับผู้ป่วยที่มารับการรักษาหากมียากลับไปรับประทานนั้น ก็ควรต้องมีการสั่งใช้ยาให้สอดคล้องกับการถือศีลอด เช่น การสั่งยาที่รับประทานวันละ 2 เวลา แทนวันละ 3 หรือ 4 เวลา
เปลี่ยนยาที่ออกฤทธิ์สั้น (short-acting) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ยาว (long-acting) หรือออกฤทธิ์เนิ่น (slow-release) ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารยา วันละ 1 หรือ 2 ครั้งต่อวันได้
สารอาหารต่างๆ หรือ parenteral fluid เช่น กลูโคส, วิตามิน ถือว่าเป็นข้อห้ามถึงแม้ว่าจะให้ทางอื่นที่ไม่ใช่ทางเดินอาหารก็ตาม

การบริหารยาที่ไม่เสียการถือศีลอด

ท่านอิบนุอับบาส กล่าวว่า "สิ่งที่ทำให้เสียศีลอด คือ สิ่งที่เข้าสู่ภายใน หาใช่สิ่งที่ออกมา (จากร่างกาย)" ดังนั้นการนำสิ่งใดเข้าสู่ภายในโดยเจตนา ไม่ว่าสิ่งนั้นจะบำรุงร่างกาย เช่น อาหาร เครื่องดื่ม หรือไม่บำรุง เช่น ยา กล้องส่องภายใน หรือเครื่องมือทางการแพทย์ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้เสียศีลอดทั้งสิ้น นักวิชาการมีความเห็นขัดแย้งกันในคำจำกัดความของคำว่า "ภายใน" บางท่านให้ความหมายว่า หมายถึงระบบทางเดินอาหารเท่านั้น ซึ่งเริ่มจากลำคอสิ้นสุดที่ทวารหนัก ทางเดินปัสสาวะ และช่องคลอดไม่นับว่าเป็นภายใน แต่มีนักวิชาการบางท่านเห็นว่าสิ่งที่เข้าสู่ทางเดินปัสสาวะและช่องคลอดก็ทำให้เสียศีลอดเช่นกันส่วนตา หู คอ จมูก และโพรงปากนั้น บรรดา อุลามาอฺ ไม่นับว่าเป็นหากแต่เป็นเพียงทางนำไปสู่ระบบทางเดินอาหารเท่านั้น (อุมมุรีม : 2546)

ท่านอิบนุ ตัยมียะฮฺ ให้เหตุผลว่า การฉีดยามิใช่การให้อาหาร ถึงแม้ว่าจะมีสิ่งหนึ่งเข้าภายในร่างกายก็ตามที สาเหตุการเข้าภายในร่างกายมิใช่การกินและการดื่มตามปกติธรรมดาของมนุษย์ เพราะเป้าหมายของการของการถือศีลอด คือการอดอาหาร อดเครื่องดื่ม ซึ่งทำให้เกิดความยำเกรง (มุรีด ทิมะเสน : 2538), (อัซซัยยิด ซาบิก : 2543)

จากการสัมนาการทบทวนมาตรฐาน ช่องทางการบริหารยา ในประเทศโมร็อกโก เมื่อปี 1997 ซึ่งประกอบกับนกกฎหมายอิสลาม ซึ่งผู้ชี่ยวชาญศาสนาอิสลาม ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ นักเภสัชวิทยา และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอื่นๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์มนุษย์มีมติเอกฉันท์ ถึงช่องทางใน การบริหารยาที่ไม่เสียการถือศีลอด (Andil, N, Houti , I.E., and Moussamih, s: 2004 ดังต่อไปนี้

1. การหยอดตา ยาทาตาและยาหยอดหู

การหยอดยาตา การใส่ยาวาดตา มาตรว่าจะทำให้เข้าภายในเบ้าตา หรือถึงเข้าในลำคอหรือมีรสขมในลำคอหรือไม่ก็ตาม มีรายงานหะดีษจากท่านอนัส กล่าวว่า "ท่านรสูลลุลลิฮฺ ศ็อลลัลลอ ฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ใส่ยาวาดตาขณะท่านรสูลถือศีลอด" (หะดีษอิบนุมาญะฮฺ, บัยฮะกีย์, อบูย์ ดาวูด) (มุรีด ทิมะเสน : 2538) สำนักคิด (มัซฮับ) ซาฟีอีย์ก็มีความคิดเห็นอย่างนี้ (อัซซัยยิด ซาบิก : 2543) มีรายงานซึ่งบันทึกโดยอิมามอบูอาวูด ระบุว่า "ท่านอนัสบินมาลิก ใช้ผงทาตาขณะถือศีลอด" เพราะตัวยาเหล่านี้ไม่เข้าสู่ร่างกาย แม้ว่าผู้ป่วยจะสัมผัสถึงความขมของยานี้ ก็เฉพาะที่ปลายลิ้นซึ่งเป็นส่วนน้อยเกินกว่าจะกลืนได้ (อุมมุรีม : 2546)

2. สารทุกชนิดที่ผ่านเข้าไปในร่างกายทางผิวหนัง เช่น ครีม ออย์ทเมนท์ และพลาสเตอร์ หรือการสูดดมของหอม หรือยาดม หรืออื่นๆ ไม่ทำให้เสียศีลอด (อุมมุรีม : 2546)

3. การสอด/เหน็บช่องคลอด ในรังไข่ และการสวนล้างช่องคลอด มีบางทรรศนะการสวนทวาร ยาและกล้องส่องที่สอดใส่ทางทวารหนัก เหล่านี้ทำให้เสียศีลอด เนื่องจากเข้าสู่ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะสอดเข้าทางช่องปาก ช่องทวาร หรือทางอื่นๆ ถ้าหากแพทย์ทำการตรวจรักษาผู้ป่วยด้วยการใช้นิ้วสอดเข้าไปในทวารหรือช่องคลอด หากสอดแค่ทางปากไม่ทำให้เสียศีลอด แต่ถ้าลึกเข้าไปภายในถือว่าทำให้เสียศีลอด กล้องส่องทางเดินอาหาร กระเพาะ และลำไส้ ทำให้เสียศีลอด แต่กล้องส่องลำคอ หลอดลม และปอดไม่ทำให้เสียศีลอด เนื่องจากกล้องเหล่านี้สอดเข้าสู่หลอดลมโดยผ่านทางจมูก และโพรงจมูก โดยไม่เข้าสู่ภายในระบบทางเดินอาหาร (อุมมุรีม : 2546)

4. การฉีดยาผ่านทางผิวหนัง กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือเส้นเลือดดำ ไม่เสียการถือศีลอด ยกเว้นการให้สารอาหารทางเส้นหลอดเลือดดำ (Intravenous feeding) การฉีดยาบำรุง (ให้น้ำเกลือ) (อุมมุรีม : 2546) หรือให้เลือดกับผู้ถือศีลอดที่เสียเลือด

5. การให้ออกซิเจนและก๊าซดมยา

6. ยาเม็ด Nitroglycerin ที่ผ่านการอมใต้ลิ้น สำหรับรักษาโรค angina

7. น้ำนาบ้วนปาก น้ำยากลั้วคอ หรือยาพ่นทางปาก แต่ต้องไม่กลืนไปยังกระเพาะ

8. ยาหยอดจมูก ยาพ่น เครื่องมือสูบยาเข้าปอด (Inhaler) และเลือดกำเดาที่ไหลออกมาจากจมูกเหล่านี้ไม่ทำให้เสียศีลอด (อุมมุรีม : 2546)

9. ยาสวนทวาร (Anal injection)

10. กรณีการดมยาเพื่อผ่าตัด ถ้าผู้ป่วยตัดสินใจจะถือศีลอด (Aadil, N, Houti, I.E, and Moussamih, S : 2004) ซึ่งคล้ายกับอาการเป็นลมหมดสติอาการหนัก (โคม่า) หรือผู้ป่วยคนนั้นถูกให้ยานอนหลัยหรือยาดมสลบ (ผู้เรียบเรียง) จนกระทั่งเขาอยู่ในสภาพที่ไม่มีความรู้สึก ซึ่งถ้าหากนานไม่เกิน 3 วัน ต้องถือชดใช้ แต่ถ้าเกิน 3 วันขึ้นไป ย่อมถือว่าอยู่ในกฎ (หรือหูกุ่ม) เดียวกับกรณีคนวิกลจริต หรือคนบ้า คือไม่ต้องถือชดใช้ กรณีคนบ้าชั่วคราว ก็ให้ถือศีลอดในช่วงที่หายจากอาการวิกลจริต เช่น คนที่ตอนเช้าถือศีลอดอยู่แต่ตกเที่ยงเป็นบ้า ดังนั้นหากหายเป็นปกติเมื่อใดก็ให้ถือต่อในเวลาที่เหลืออยู่วันนั้นได้เลย โดยไม่ถือว่าศีลอดของเขาก่อนหน้านั้นเสียไป เช่น เดียวกันกรณีของคนเป็นลม หรือหมดสติ ให้เขาถือศีลอดต่อได้ทันที เมื่อเขาฟื้นขึ้นมาเป็นปกติ ทั้งนี้เพราะเขาได้เริ่มตั้งเจตนาเอาไว้ในตอนแรกขณะที่เขามีสติสัมปชัญญะนั่นเอง (มูฮัมหมัดศอและห์ : 2542)

11. การเจาะเลือด ตรวจเลือด ถ่ายเลือด ผ่าฝีและหนอง ไม่ว่าจะมากน้อยขนาดไหนไม่ทำให้เสียศีลอด (อุมมุรีม : 2546) การกรอกเลือด (การนำเลือดออกจากศีรษะ) จากท่านอิบนุอับบาส รอฎิยัลลอฮุอันฮู กล่าวว่า "แท้จริงท่ารสูลลุลลออฮฺ ศ็อลลัลลอ ฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เคยได้รับการกรอกเลือด ขณะถือศีลอด" (หะดีษ อบูย์ ดาวูด, บูคอรี, อิบนุ มาญะฮฺ) สำหรับการหุกุ่มการให้เลือด การเจาะเลือดไปตรวจ หรือแม้กระทั่งการบริจาคเลือด เช่นเดียวกับหุกุ่มการกรอกเลือด (มุรีด ทิมะเสน : 2548), (อัซซัยยิด ซาบิก : 2543)

12. เลือดที่ไหลซึมตามซอกฟัน และเหงือก การกลั้วปากด้วยยารักษาฟัน การแปรงฟัน ไม่ทำให้เสียศีลอด

อย่างไรก็ตาม ความเชื่องในเรื่องข้อห้ามต่างๆ ในด้านการใช้ยาในช่วงถือศีลอดนั้นมีความแตกต่างกันอยู่มากในหมู่ประชากรมุสลิม โดยเฉพาะกรณีการฉีดยา โดยทั่วไปบรรดาอุลามาอฺ (ผู้รู้) มีความเห็นต่างกันในเรื่องนี้ ทางที่ดีกว่าการหาข้อสรุปก็คือ การไม่กำหนดอะไรขึ้นมาใหม่ ยกเว้นกรณีที่จำเป็น กระทั่งจะต้องยุติการศีลอด แล้วออกจากข้อขัดแย้งนั้นเสีย (เชค อับดุลลอฮฺ : 2546)

ดังนั้น แพทย์ไม่ควรที่จะฉีดยา เจาะเลือดหรือตรวจภายในโดยไม่จำเป็นหากมีความจำเป็นก็สามารถทำได้ โดยผู้ป่วยบางส่วนที่มีความเชื่อว่าศีลอดของตนถูกระงับไปเพราะเหตุดังกล่าวก็จะถือศีลอดชดเชยในโอกาสต่อไป

การถือศีลอดในผู้ป่วยเบาหวาน

จากรายงานการศึกษาผู้ป่วยเบาหวานระหว่างเดือนถือศีลอด พบว่าส่วนใหญ่ (มากกว่าร้อยละ 60) จะยังคงใช้ยาได้ในขนาดปกติ แต่มีแนวโน้มพบภาวะน้ำตาลตกที่รุนแรงในช่วงถือศีลอดในบางราย โดยผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่สอง (NIDDM) ที่ได้รับประทานยากลุ่ม metformin และหรือกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย และคุมระดับน้ำตาลไดค่อนข้างคงที่ และไม่มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นๆ หรือความผิดปกติอื่นๆ เป็นที่ยอมรับกันว่าสามารถยอมให้ถือศีลอดได้ (Salti I. : 2004) และมีความปลอดภัย (Azizi, F. and Siahkolah, B. :2003) สำหรับผู้ป่วยเบาหวานประเภท IDDM ที่ยืนยันจะถือศีลอดในเดือนรอมฎอนสามารถถือศีลอดได้ ถ้ามีการบริหารจัดการในการดูแล ซึ่งเข้มงวดในการควบคุมอาหาร กิจกรรมประจำวัน และแบบแผนการปรับปรุงการบริหารยาซึ่ง 3 ประการนี้เป็นสิ่งสำคัญในความสำเร็จในการถือศีลอด (Azizi, F. and Siahkolah, B. :2003)

อย่างไรก็ตาม บางรายอาจพิจารณาหยุดยา เพิ่มขนาดยา หรือลดขนาดยาลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการควบคุมอาหารและกิจกรรมของผู้ป่วย

หลักการอิสลาม

การถือศีลอด (ศิยาม) ในเดือนรอมฎอน เป็นหลักปฏิบัติข้อที่สี่ในจำนวนห้าประการของอิสลามที่ถือเป็นข้อบังคับต้องปฏิบัติ (วาญิบ) สำหรับมุสลิมทุกคนที่บรรลุศาสนภาวะและมีความสามารถในการปฏิบัติ การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติลงมาในวันที่ 2 เดือนซะอบาน ปีที่ 2 แห่งฮิจเราะห์ศักราช ดังคำตรัสของอัลลอฮฺ ซุบหานะฮูวะตะอาลา ในบทที่ 2 (อัลบะกอเราะฮ์) โองการที่ 183 มีใจความว่า "โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดได้บัญญัติแก่พวกเจ้า ดังเช่นได้ถูกบัญญัติแก่ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้าเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง" การถือศีลอดในภาษาอาหรับจะเรียกว่า "อัศศิยาม" ซึ่งมีความหมายว่า การละเว้น การระงับ หรือการอดกลั้น ส่วนความหมายทางด้านบัญญัติศาสนา คือการระงับหรือการละเว้นจากการกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาและการพูดจาไร้สาระ ตลอดจนการกระทำที่ขัดต่อคุณธรรม ตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งตะวันลับขอบฟ้า ด้วยเจตนาเพื่อพระองค์อัลลอฮฺ ซุบหานะฮูวะตะอาลา

ประเภทบุคคลที่ได้รับการอนุโลม หรือผู้มีอุปสรรคไม่สามารถถือศีลอดได้ การถือศีลอดมีข้อยกเว้นสำหรับมุสลิมบางกลุ่ม คือ

1. คนชราหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถภือศีลอด อนุญาตให้งดศีลอดและชดใช้เช่นอาหารเช่นกัน

2. เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ

3. ผู้ป่วย (ชั่วคราว/มีโอกาสหายขาดจากโรค) : ผู้ป่วยที่จะได้รับอันตรายจากการถือศีลอดและมีโอกาสหายขาดจากโรคที่เป็น การละเว้นถือศีลอดนั้นดีกว่า (อนุญาตให้ละศีลอด) และจะต้องถือชดใช้คืนตามจำนวนที่ขาดไป (กอฎอฺ) หลังเดือนรอมฎอน ดังอายะฮุอัล-กุรอาน ซูเราะห์อัล-บากอเราะฮฺ : 184 ความว่า "แล้วผู้ใดในพวกเจ้าป่วยหรืออยู่ในการเดินทาง ก็ให้ถือใช้ในวันอื่น"

ดังนั้น ศาสนาอิสลามจึงอนุโลมให้ละศีลอด หรือไม่ต้องถือ ในกรณีของการเจ็บป่วยที่แน่ชัดว่าหากถือแล้วจะมีผลกำเริบหรือทำให้อาการของโรคนั้นเลวร้ายและยึดเยื้อออกไป

ส่วนการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ หรือโรคที่การถือศีลอดไม่ได้ส่งผลเสียแก่อาการของผู้ป่วยก็ไม่เป็นที่อนุญาตให้ละศีลอด

ท่านอบูหะนีฟะฮฺ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวว่า "หากผู้ที่ถือศีลอดอยูมีความวิตกว่า อาการเจ็บป่วยของตนเองจะเลวลง เช่น อาการเจ็บตาจะกำเริบมากขึ้น หรือทำให้อุณหภูมิของไข้สูงขึ้นก็อนุโลมให้ละศีลอดได้"

4. คนป่วย (โรคประจำตัว/ผู้ป่วยเรื้อรัง) : คนอ่อนแอไม่สามารถถือศีลอดได้ เช่น คนป่วยเรื้อรังด้วยโรคประจำตัว ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะรักษาหายได้ อนุโลมไม่ต้องถือศีลอด และจะต้องให้อาหารแก่คนยากจนขัดสนหนึ่งคนทุกวันเป็นข้าวสาลีหนึ่งมุด หรือครึ่งศออฺจากอาหารชนิดอื่น หรือให้เขาจ่ายเป็นอาหารเลี้ยงคนยากจนวันละคน ด้วยอาหารจำนวนครึ่งศออฺ (หรือประมาณ 1.5 กิโลกรัมต่อวัน) จากชนิดอาหารที่ใช้ภายในประเทศนั้นๆ เช่น ข้าว หรือแป้งสาลี ตามจำนวนวันที่ขาดเป็นการชดใช้ (ฟิตยะห์)

ดังอายะฮุอัล-กุรอาน ซูเราะห์อัล-บากอเราะฮฺ : 184 ความว่า "และหน้าที่ของบรรดาผู้ถือศีลอดด้วยความยากลำบากยิ่ง (โดยที่เขาได้งดเว้นการถือ เชค มูฮัมมัด อับดุฮฺ กล่าวว่า คำว่าผู้ถือศีลอดด้วยความยากลำบากยิ่งคือ คนแก่ที่อ่อนแอ คนป่วย คนป่วยที่ไม่มีหวังจะรักษาหาย เป็นต้น) เพียงแต่จ่ายอาหารแก่คนยากจนขัดสนทุกๆ วัน"

5. สตรีมึครรภ์ สตรีหลังคลอดบุตร หรือให้นมบุตร หากไม่สามารถถือศีลอดได้อนุญาตให้งดศีลอด และไม่จำเป็นต้องถือใช้หลังเดือนรอมฎอน แต่ให้ชดใช้เป็นอาหารแก่คนยากจน ก็พอเพียงแล้วในทัศนะที่ถูกต้อง

6. สตรีที่อยู่ระหว่างมีประจำเดือน

7. ผู้เดินทางไกลหรืออยู่ในระหว่างการเดินทาง อนุญาตให้งดศีลอด และให้ถือใช้หลังเดือนรอมฎอน

8. บุคคลที่ทำงานหนัก เช่น กรรมกรแบกหาม เป็นต้น

มุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกการถือศีลอดว่า "ปอซอ" พฤติกรรมสุขภาพและการบริโภคที่ไม่เหมาะสมในเดือนรอมฎอน ควรหลีกเลี่ยง เช่น กินมาก กินของมันๆ กินและนอนทันที ไม่รับประทานอาหารซาฮูร เป็นต้น

ที่มา : หนังสือการแพทย์และการดูแลผู้ป่วยที่สอดคล้องกับวิถีมุสลิม โดย ยูซูฟ นิมะ, สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

อัพเดทล่าสุด