รอมฎอนเป็นเดือนที่ 9 ของเดือนอาหรับทั้งหมด 12 เดือน แต่เดือนนี้มีความแตกต่างจากเดือนอื่น กล่าวคือ พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดเดือนนี้ให้เป็นเดือนแห่งการประกอบอิบาดะห์ ...
รอมฎอนกะรีม رمَضَان كريم
รอมฎอนเป็นเดือนที่ 9 ของเดือนอาหรับทั้งหมด 12 เดือน แต่เดือนนี้มีความแตกต่างจากเดือนอื่น กล่าวคือ พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดเดือนนี้ให้เป็นเดือนแห่งการประกอบอิบาดะห์ อิบาดะห์ประการสำคัญที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ได้ทรงกำหนดให้มีการปฏิบัติในเดือนนี้คือ "การถือศีลอด" หลังจากที่มุสลิมได้รับประทานอาหาร ได้ดื่มเครื่องดื่มอย่างอิ่มหนำสำราญเป็นเวลา 11 เดือน เพื่อให้มุสลิมได้รู้จักจำกัด ควบคุมตัวเองในการรับประทานอาหาร ไม่ให้รับประทานอาหารจนอิ่มแปล้ เกินขนาด ตามความต้องการของปาก เพื่อให้กระเพาะได้มีโอกาสพักผ่อนหลังจากที่ได้ทำงานหนักมาเกือบจะตลอดปี ให้เขาได้ลิ้มรสความหิวโหย เพื่อเขาจะได้พิเคราะห์ดูสภาพของคนยากจนขัดสน ว่า ขณะที่เขามีความหิวกระหายเขาจะมีสภาพเช่นไรและทบทวนดูตัวเขาเองว่า เขามีจิตเมตตา มีความสงสาร มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากน้อยเพียงใด และเพื่อให้มุสลิมได้ใช้เวลา 1 เดือนนี้ สะสมความดีด้วยการละหมาดตะรอเวียห์ อ่านอัลกุรอาน ทำการซิกรุลลอฮ์ ฝึกจิตใจให้มุ่งสู่อัลลอฮ์ โดยปฏิบัติอิบาดะห์ด้วยความอิคลาส (บริสุทธิ์ใจ)ทำให้จิตใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ทะเยอทะยานอยากได้ในทรัพย์สิน ยศถาบรรดาศักดิ์ ชื่อเสียง การสรรเสริญเยินยอจากผู้อื่น การมีอำนาจ การมักใหญ่ใฝ่สูง ต้องการบริวารแวดล้อม และบารมี ไม่โอ้อวดความมั่งมี ความยิ่งใหญ่ ความเก่งกาจ ความสวยงาม ความใคร่ในตัณหาอารมณ์ ระงับจิตใจไม่ให้โลภโกรธ หลง
การถือศีลอด นิยามความหมาย
การถือศีลอด หรือ อัซ เซาม์ อัซซิยาม ตามศาสนบัญญัติ หมายถึง ระงับการกิน การดื่ม การเสพย์สุขทางเพศ ตั้งแต่ แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยมีเจตนาปฏิบัติเพื่อเป็นการเคารพภักดี (อิบาดะห์) ต่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา
อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้บัญญัติการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ในวันจันทร์ที่ 2 เดือนซะอ์บาน ฮ.ศ. 2 ดังหลักฐานในอัลกุรอาน ซูเราะฮ์ อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ ที่ 183 ว่า
يَـٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيۡڪُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبۡلِڪُمۡ لَعَلَّكُمۡ تَتَّقُونَ
"โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกกำหนดแก่พวกเจ้า ดังที่ได้ถูกกำหนดแก่ผู้ที่อยู่ก่อนหน้าพวกสูเจ้า เพื่อว่า สูเจ้าทั้งหลายจะยำเกรง"
ท่านอบู อับดิรเราะห์มาน อับดุลลอฮ์ อิบนิอุมัร อิบนิลคอฎฏอบ รอฎิยัลลอฮุอัลฮุม กล่าวว่า ฉันได้ยินท่านร่อซูล ซอลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าว่า
"อิสลามตั้งอยู่บนรากฐาน 5 ประการ คือ การกล่าวปฏิญานว่า ไม่มีพระเจ้าใดที่แท้จริงนอกจากอัลลอฮ์ และมุฮัมหมัดเป็นศาสดาของอัลลอฮ์ การดำรงละหมาด จ่ายซะกาต ประกอบพิธีฮัจย์ ณ บัยตุลลอฮ์ และถือศีลอดในเดือนรอมฎอน" บันทึกโดย บุคคอรีและมุสลิม
การถือศีลอดของประชาชาติต่าง ๆ
การถือศีลอดในอดีตมีความแตกต่างกัน บางทีการถือศีลอดจะเป็นเพียงการระงับคำพูด บางทีก็เป็นเพียงการงบรับประทานอาหารบางอย่าง บางทีก็เป็นเพียงการงดการกินการดื่มในช่วงหนึ่งของเวลากลางวัน เป็นต้น
การถือศีลอดเป็นหลักการที่มีอยู่ในประชาชาติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นชาวอียิปต์โบราณ กรีก โรมัน อัลลอฮ์ได้ทรงใช้ให้นางมัรยัมถือศีลอดโดยการระงับคำพูดเมื่อมีผู้มาถามนางเกี่ยวกับการเกิดของนบีอีซา อลัยอิสลาม บุตรของนาง นบีซาการียา ได้ถือศีลอดโดยระงับคำพูด เมื่อท่านได้รับการบอกข่าวดีว่า จะมีบุตรชื่อ นบียะห์ยา
ชาวอาหรับโบราณถือศีลอด 3 วันทุกเดือนและได้ถือศีลอดในวันที่ 10 เดือนมุฮัรรอม (วันอาซูรอ) ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยที่อดอาหาร เพื่อฝึกจิตใจให้มีความเข้มแข็ง มีเจตนาที่แน่วแน่ มั่นคง บรรดาผู้บูชาดวงดาวจะถือศีลอด 30 วัน โดยการงดการกินการดื่มตั้งแต่ดวงอาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า พวกมาโนก็ถือศีลอด 30 วันใน 1 ปี
สำหรับชาวยิวและคริสเตียน เชคมูฮำหมัด อับดุฮ์ ข้าวของหนังสืออธิบายอัลกุรอ่าน ชื่อ "ตัฟซีรอัล-มะน๊าร" กล่าวว่า
"ในคัมภีร์เตารอตที่อยู่ในมือของเราไม่มีหลักฐานยืนยันถึงบัญญัติการถือศีลอด หากแต่ส่งเสริมให้มีการถือศีลอดและชมเชยผู้ถือศีลอดเท่านั้น มีหลักฐานยืนยันว่านบีมูซา ถือศีลอด 40 วัน ชาวยิวในสมัยนั้นถือศีลอดปีละ 1 สัปดาห์ เพื่อระลึกถึงการพินาศของเมืองเยรูซาเล็ม และพวกเขาถือศีลอดหนึ่งวันในเดือนสิงหาคม และมีการรายงานอีกว่า คัมภีร์เตารอตได้บัญญัติให้ชาวยิวถือศีลอดในวันที่ 10 ของเดือนกรกฎาคม พวกเขาได้ถือศีลออดในตอนกลางคืน ซึ่งอาจทำให้พวกเขาเรียกว่า "การถือศีลอดในวันอาซูรอ" นอกจากนั้นชาวยิวยังถือศีลอดในตอนกลางวันของวันอื่น ๆ อีก
ส่วนชาวคริสต์ในคัมภีร์อินญีลก็มิได้ระบุถึงบัญญัติของการถือศีลอด แต่ทว่าได้มีการระบุไว้ พร้อมกับชมเชยการถือศีลอด โดยนับว่าเป็นอิบาดะห์ประการหนึ่ง คัมภีร์อินญีลได้ใช้ให้ผู้ถือศีลอดใส่น้ำมันใส่ผมและล้างหน้าให้สะอาด เพื่อไม่ให้เห็นร่องรอยของการถือศีลอด เพราะจะเป็นการโอ้อวดผู้อื่น
การถือศีลอดที่สำคัญและเก่าแก่ที่สุดคือ การถือศีลอดที่ยิ่งใหญ่ก่อนวัน "อีดุลฟิสห์" ในศาสนายิว เรียกว่า "วันพาสโซเวอร์" (Passover) คือวันระลึกถึงการที่ชาวยิวได้ออกเดินทางอพยพจากอียิปต์ ในศาสนาคริสต์เรียกว่า "วันอิสเตอร์" (Easter) คือวันที่ชาวคริสต์เชื่อว่าพระเยซูฟื้นคืนชีพขึ้นจากหลุมศพ" นบีมูซา ก็ได้ถือศีลอดในวันพาสโวเวอร์นี้
การถือศีลอดนี้มีความแตกต่างกันตามแต่ละนิกาย บางนิกายจะถือศีลอดโดยไม่รับประทานเนื้อ บางนิกายไม่รับประทานปลา บางนิกายไม่รับประทานไข่และนม
การถือศีลอดตามบัญญัติของชนรุ่นก่อน อาทิเช่น การถือศีลอดของชาวยิว พวกเขาจะรับประทานอาหารในวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเพียงครั้งเดียว ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงโดยการถือศีลอดตั้งแต่เที่ยงคืนจนถึงเที่ยงวัน"
บางชนชาติถือศีลอดเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง การอักเสบของผิวหนัง ท้องผูก อาหารไม่ย่อย ลดน้ำหนัก ขับสารพิษออกจากร่างกาย ผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น
เป้าหมายของการถือศีลอดในอิสลาม
การถือศีลอดเป็นหลักประการหนึ่งของหลักอิสลาม 5 ประการ บุคคลจะไม่เป็นมุสลิมอย่างสมบูรณ์จนกว่าเข่าจะยอมรับและปฏิบัติตามบัญญัติประการนี้ ผู้ใดที่ปฏิเสธและไม่ยอมรับว่า การถือศีลอดเป็นหลักของศาสนาอิสลามแล้ว เขาก็สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม (มุรตัด) แต่ถ้าผู้ใดละเลยต่การถือศีลอดเนื่องจากเกียจคร้าน เขาต้องถูกลงโทษสถานหนัก ไม่มีผู้ใดที่อาจหาญฝืนบัญญัติของอัลลอฮ์ พระองค์จะทรงถอดการอีหม่านออกจากหัวใจของเขา และจะทรงให้เขาพลัดหลงจากหนทางที่ถูกต้อง
อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงแจ้งแก่บรรดามุสลิมทั้งหลายได้ทราบว่า เป้าหมายของการถือศีลอดในอิสลาม คือ ทำให้ผู้ถือศีลอดมีความตั๊กวา (ยำเกรง) อัลลอฮ์ มุสลิมจะได้รับบทเรียนจากการถือศีลอดเพียง 1 เดือน ซึ่งอาจจะ 29 วัน หรือ 30 วันในช่างเวลานี้ จิตใจของมุสลิมได้รับการฝึกหัดในหลายด้าน ฝึกหัดให้รู้จักความอดทน ระงับโทสะ ระงับตัณหาอารมณ์ การมีจิตใจฟุ้งซ่าน ความทะเยอทะยาน มีความละโมบโลภมาก มีความเห็นแก่ตัว ทำให้ผู้ถือศีลอดมีจิตเมตตา โอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ยากจน ขัดสน ผู้ตกทุกข์ได้ยากและผู้ด้อยโอกาส และทำให้บุคคลมีจิตใจเข้มแข็ง หนักแน่น แน่วแน่ มีสมาธิ และมีความมั่นคง
มุสลิมสามารถยับยั้งชั่งใจไม่รับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ทั้ง ๆ ที่อาหารนั้นเป็นที่หะล้าลสำหรับเขาที่จะรับประทาน แต่เขาก็ไม่รับประทานเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของอัลลอฮ์ เขาได้ละเว้นการกิน การดื่ม โดยหวังในความเมตตาและความพึงพอใจจากพระองค์ มีความเกรงกลัวการลงโทษเนื่องจากการฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์และมีความปารถนาที่จะได้รับกรุณาปราณีจากพระองค์
ผู้ที่ถือศีลอดและมีความเข้าใจในเจตนารมณ์ในการถือศีลอด เขาจะไม่พูดปด จะไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น ไม่บิดพลิ้ว ไม่ผิดสัญญา ไม่โอ้อวด ไม่หลอกลวง ไม่กลับกลอก ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่พูดจาหยาบคาย ด่าทอ เสียดสี ไม่สอดรู้ และจะไม่พูดสิ่งใดนอกจากความจริง หลีกเลี่ยงการนินทา เขาจะสำรวม มือ ลิ้น เท้า ตา หู จะไม่หยิบฉวยสิ่งที่ไม่ใช่สิทธิ จะไม่พูดจา และลิ้มรสสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้าม จะไม่เดินสู่หนทางแห่งอบายมุข และความชั่วช้า จะไม่มองดูสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงห้าม และไม่รับฟังสิ่งอัปยศ เขาดำรงตนอยู่กับการทำความดี มีความสัจจริง ซื่อสัตย์ต่อสัญญา มีความสุจริตใจ มีความอดทน ต่ออุปสรรคและความทุกข์ยาก และไม่ตกเป็นทาสแห่งตัณหา
บทความจาก : วารสารที่นี่สำนักจุฬาราชมนตรี ปีที่ 2 ฉบับที่ 16 ตุลามคม 2547