อัส - ซิยาม การถือศิลอด


1,742 ผู้ชม

อัส-ซิยาม   ( الصِّيَامُ )  เป็นคำศัพท์ภาษาอาหรับ ( อารบิค ) มีความหมายตามตำราอภิธานศัพท์หรือ พจนานุกรมว่า การห้าม , การระงับ , การอด กลั้น , การยุติ ฯลฯ และมีความหมายตามตามหลักศาสนบัญญัติ ( ชะรีอะฮ์ ) ว่า การศิยาม คือ การงดพฤติกรรมการกิน,ดื่ม และอื่น ๆ ที่เป็นเหตุทำให้เสียการถือ ศิลอด ตลอดทั้งวัน ...


อัส - ซิยาม การถือศิลอด

โดย อ.อับดุลลอฮฺ สุไลหมัด

อัส-ซิยาม ( الصِّيَامُ ) เป็นคำศัพท์ภาษาอาหรับ ( อารบิค ) มีความหมายตามตำราอภิธานศัพท์หรือ พจนานุกรมว่า การห้าม , การระงับ , การอด กลั้น , การยุติ ฯลฯ

และมีความหมายตามตามหลักศาสนบัญญัติ ( ชะรีอะฮ์ ) ว่า การศิยาม คือ การงดพฤติกรรมการกิน,ดื่ม และอื่น ๆ ที่เป็นเหตุทำให้เสียการถือ ศิลอด ตลอดทั้งวัน - เริ่มจากแสงอรุณขึ้นจนถึงดวงอาทิตย์ตก - ด้วยเจตนาที่แน่วแน่ . และหลายๆ คนอาจเรียกว่า ถือบวชหรือถือปูว่าซาก็ได้

การถือศิลอดเป็นศาสนกิจที่ประเสริฐที่สุดอีกประการหนึ่ง เป็นศาสนกิจที่พระองค์อัลลอฮ์ทรงกำหนดให้เป็น ศาสนบัญญัติทุกช่วงยุคสมัยหรือ ทุก ๆ ประชาชาติในอดีต อัลลอฮ์ทรงมีรับสั่งว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا كُتِبَ عَلَيْكُمُ الصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى الَّذِينَ مِنْ قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُونَ

"โอ้บรรดาชนผู้มั่นในศรัทธาเอ๋ย การถือศิลอดได้ถูกบัญญัติให้เป็นภารกิจ (ฟัรฏู) ของพวกเจ้าทุกคน เช่นเดียวกับที่เคยถูกบัญญัติ ให้เป็นภารกิจของชนในยุคอดีตก่อนสมัยพวกเจ้า ด้วยหมายให้พวกเจ้า เกิดความสำรวม (ตักวา) "

บทอัลบะกอเราะฮ์ โองการที่ 183

การถือศิลอดที่ก่อกำเนิดให้เกิดความตักวา คือ การถือศิลอดที่ผู้กระทำต้องบังคับตนเองให้งดกิน,งดดื่ม, งดความต้องการทางเพศทุกกรณี พยายามทำจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ตัดกิเลสตัณหาและราคะให้หมดโดยสิ้นเชิง พร้อมทั้งหมั่นสร้างเสริมและกระทำกิจอันก่อให้เกิดกุศลอย่างเต็ม กำลังความสามารถ ตลอดระยะเวลาที่ครอง หรือถือศิลอด (รายละเอียดทั้งหมดจะนำเสนอในภายหลัง อินชาอัลลอฮ์)

การถือศิลอดสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1 - การถือศิลอดประเภทบังคับ (วาญิบ) การถือศิลอดเดือนรอมาฎอน , การถือศิลอดกัฟฟาเราะฮ์ (เพื่อปรับ ชดเชย) , การถือศิลอดน้ซร์ (การบนบาน) เป็นต้น

2 - การถือศิลอดประเภทอาสา (ตะเฏาวัวอ์) เช่น การถือศิลอดวันตาซูอาอ์ และวันอาชูรออ์ (ตรงกับวันที่เก้า และสิบเดือนมุฮัรรอม) , การถือศิลอดวันจันทร์และพฤหัสบดี , การถือศิลอด 3 วันประจำเดือน (คือ 13-15 ค่ำ ของเดือนอาหรับ) , การถือศิลอดหลาย ๆ วันในเดือนชะอฺบาน เป็นต้น

คุณค่าและความประเสริฐของการถือศิลอด

การถือศิลอด ( ทั้งสองประเภท ) มีคุณค่า,ความประเสริฐและกุศลผลบุญตอบแทนอย่างมากมาย ดังปรากฏ ในหลักฐานต่อไปนี้

1.รายงานจากท่านอาบีฮูรอยเราะฮ์ ท่านรอซูลุลลอฮ์ทรงมีพระวจนะว่า

قَالَ اللهُ عَزَّ وَجَلَّ : كُلُّ عَمَلِ بْنِ آَدَمَ لَهُ إِلاَّ الصِّيَامَ فَإِنَّهُ لِيْ وَ أَنَا أَجْزِيْ بِهِ

"อัลลอฮ์ทรงมีรับสั่งว่า อันศาสนกิจ (หรือกุศลกิจ) ทั้งปวงของลูกหลานอาดัม (มนุษย์) ย่อมเป็นคุณและ ได้แก่ตัวเขาเอง เว้นแต่การถือ ศิลอด เพราะมันเป็นของข้าแต่ผู้เดียว และข้าเท่านั้นที่จะตอบแทน เขาได้ "

จากบันทึกของอะหมัดและมุสลิม

2.รายงานจากท่านอาบีฮูรอยเราะฮ์ ท่านรอซูลุลลอฮ์ทรงมีพระวจนะว่า

الصِّيَامُ جُنَّةٌ ، وَالَّذِيْ نَفْسُ مُحَمَّدٍ بِيَدِهِ ، لَخَلُوْفُ فَمِ الصَّائِمِ أَطْيَبُ عِنْدَ اللهِ مِنْ رِيْحِ الْمِسْكِ

"การถือศิลอด คือโล่ป้องกัน ขอสาบานยืนยันด้วยองค์พระผู้ซึ่งมูฮัมหมัดอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แน่นอนเป็นที่สุดกลิ่นจาก ปากของผู้ถือศิลอดนั้นเป็นกลิ่นที่หอมหวนยิ่ง ณ อัลลอฮ์ หอมยิ่งกว่ากลิ่น ของชะมดเชียงเสียอีก"

จากบันทึกของอัลบุคอรีย์

3.รายงานจากท่านอาบีอุมามะฮ์ กล่าวว่า (ข้าพเจ้ากล่าวเรียนกับท่านรอซูลุลลอฮ์ว่า"ขอได้โปรดมีคำสั่งใช้ให้ ข้าพเจ้าทำงานใดก็ได้ที่จะเป็น เหตุให้ข้าพเจ้าได้เข้าสวรรค์ด้วยเถิด ท่านรอซูลุลลอฮ์ทรงมีคำสั่งแก่ข้าพเจ้าว่า

عَلَيْكَ بِالصَّوْمِ فَإِنَّهُ لاَ عِدْلَ لَهُ

"ท่านจงหมั่นถือศิลอดเป็นประจำเถิด เพราะไม่มีกิจกรรมใดอีกแล้วที่จะเทียบเท่าการถือศิลอดได้"

ต่อมาภายหลังข้าพเจ้าได้มีโอกาส กล่าวเรียนถามกับท่านรอซูลุลลอฮ์เช่นครั้งแรก ท่านก็ทรงมีคำสั่งตอบเช่น เดิมทุกประการ )

จากบันทึกของอะหมัดและอันนะซาอีย์

4.รายงานจากท่านอาบีสะอีดอัลคุดรีย์ ท่านรอซูลุลลอฮ์ทรงมีพระวจนะว่า

لا َيَصُوْمً عَبْدٌ يَوْمًا فِيْ سَبِيْلِ إِلاَّ بَاعَدَ اللهُ بِذَلِكَ الْيَوْمِ النَّارَ عَنْ وَجْهِهِ سَبْعِيْنَ خَرِيْفًا

"เมื่อบ่าว (มุสลิม) คนใดถือบวช 1 วันอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮ์ พระองค์จะทรงโปรดให้เขาห่างไกล จากไฟนรกถึง 70 คอรีฟ"

จากบันทึกของนักบันทึกฮะดิษทั้งหมด

5.รายงานจากท่านซะฮ์ลิบนิซะอ์ดิน ท่านรอซูลุลลอฮ์ทรงมีพระวจนะว่า

إِنَّ لِلْجَنَّةِ بَابًا يُقَالُ لَهُ : ( الرَّيَّانُ ) ، يُقَالُ يَوْمَ الْقِيَامَةِ : أَيْنَ الصَّائِمُوْنَ ؟ أَيْنَ الصَّائِمُوْنَ ؟ فَإِذَا دَخَلَ آَخِرُ هُمْ إُغْلِقَ ذَلِكَ الْبَابُ .

"แท้จริงสำหรับสวรรค์นั้นมีประตูบานหนึ่ง ชื่อว่า อัดรอยยาน (الرَيَّانُ ) เมื่อถึงวันกิยามะฮ์จะมีเสียง เอ่ยเรียกดัง ๆ ว่า ( ผู้ถือศิลอดอยู่ที่ไหน ? เชิญพวกท่านเข้าสวรรค์ทางประตูนี้เถิด ) เมื่อผู้ถือศิลอดคนสุดท้าย เข้าทางประตูบานนั้นแล้ว ประตูจะปิดตาย และจะไม่มีใครได้เข้าอีก เป็นอันขาด"

จากบันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิม

มารยาทและสิ่งควรปฏิบัติสำหรับผู้ถือศิลอด

ส่งเสริมให้ผู้ถือศิลอดทุกประเภท (ฟัรฎูและซุนนะฮ์) ปฏิบัติตนดังนี้

1.รับประทานอาหารสะฮูร ( السَّـحُوْرُ )

อาหารดึกทุกครั้งและพยายามให้อยู่ในช่วงท้ายของเวลามากที่สุดเช่นรับประทานเมื่อใกล้จะได้เวลาเริ่ม ถือศิลอด ดังมีรายงานจากท่าน รอซูลุลลอฮ์ว่า

تَسَحَّرُوْا فَإِنَّ فِيْ السَّحُوْرِ بَرَكَةً

"พวกท่านจงรับประทานอาหารสะฮูรเถิด เพราะในอาหารสะฮูรทุกมื้อนั้นมีความเป็นศิริมงคลเป็นยิ่งนัก"

จากบันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิม

ในบางรายงานระบุชัดเจนว่า อาหารสะฮูรนั้นเป็นอาหารที่มีบะรอกะฮ์ โดยพระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮาน่าฮูว่า ตะอาลา จะทรงโปรดและมีพระเมตตา ต่อผู้รับ ประทานอาหารสะฮูร และมวลมะลาอิกะฮ์จะร่วมกันขอพร อันดีงาม ต่าง ๆ จากอัลลอฮ์ให้แก่ผู้รับประทานอาหารสะฮูรทุกคนอีกด้วย อีกทั้ง ยังช่วยให้ผู้ถือ ศิลอดนั้นมีกำลังวังชา และสามารถถือศิลอดได้โดยไม่รู้สึกอ่อนเพลียมากนัก และการรับประทานอาหารสะฮูรนั้นไม่มีปริมาณที่ จำกัด ตายตัว จะมากน้อย เพียงใดขึ้นอยู่กับสภาพและวิจารณญาณของผู้ถือศิลอดเอง แม้เพียงดื่มน้ำอึกเดียวก็ได้ผล กุศลของการรับประทาน อาหารสะฮูรแล้ว ท่านรอซูลทรง กล่าวว่า

السَّحُوْرُ بَرَكَةٌ ، فَلاَ تَدَعُوْهُ وَلَوْ أَنْ يَجْرَعَ أَحَدُكُمْ جُرْعَةَ مَاءٍ ، فَإِنَّ اللهَ تَعَالَى وَمَلاَئِكَتَهُ يُصَلُّوْنَ عَلَى الْمُتَسَحِّرِيْنَ

"อาหารสะฮูรเป็นอาหารมีมงคล พวกท่านอย่าละเลยการรับประทานอาหารสะฮูรเป็นอันขาด แม้เพียง แค่ดื่มน้ำอึกเดียวก็ตาม เพราะ แท้จริง อัลลอฮ์ตะอาลาและมวลมะลาอิกะฮ์ของพระองค์จะอำนวยพร ให้แก่บรรดาผู้รับประทานอาหารสะฮูร"

จากบันทึกของอะหมัด

ส่วนเวลาของการรับประทานอาหารสะฮูรนั้นเริ่มเข้าเวลาตั้งแต่ครึ่งคืน (เที่ยงคืน) และหมดเวลาเมื่อแสงอรุณ ขึ้น (เข้าเวลาซุบห์) โดยอนุญาต ให้รับประทานอาหารในช่วงเวลาใดก็ได้ แต่ทีดีและสมควรคือ ให้รับประทานก่อน เข้าเวลาซุบห์เล็กน้อย และในอดีตสมัยท่านรอซูลุลลอฮ์และ เหล่าสาวก (ซอฮาบะฮ์) ของพระองค์จะคำนวณ เวลาโดยให้เหลือเวลาหลังเสร็จจากอาหารสะฮูรแล้ว เพียงแค่เวลาที่สามารถอ่านอัลกุรอานได้ ประมาณ 50 โองการ ท่านอาบีซัรริน อัล-ฆิฟารีย์ กล่าวว่า ท่านรอซูลุลลอฮ์ทรงกล่าวว่า

لاَ تَزَالُ أُمَّتِيْ بِخَيْرٍ مَا عَجَّلُوْا الْفِطْرَ وَ أَخَّرُوْا السَّحُوْرَ

"ประชาชาติของฉันยังคงยืนหยัดในศิลธรรมความดีตลอดไป ตราบเท่าที่พวกเขารีบละศิลอด และรับประทานอาหารสะฮูรล่า ๆ ( เมื่อใกล้หมดเวลา)"

2.รีบละศิลอดเมื่อมั่นใจว่าได้เวลา ด้วยอินทผลัมสด (รู่ฏ้อบ) เป็นจำนวนคี่ เข่นจำนวน 1,3,5 ผล

เป็นต้น หากไม่มีให้ละด้วยอินทผลัมแห้ง (ตัมร์) หากไม่มีอินทผลัมแห้งให้ละศิลอดด้วยน้ำหรืออื่น ๆ ตามสะดวก ท่านรอซูลลุลลอฮ์กล่าวว่า

لاَ يَزَالُ النَّاسُ بِخَيْرٍ مَا عَجَّلُوْا الْفِطْرَ

"มุสลิม (ที่ถือศิลอด) ทุกคนยังคงยืนหยัดในศิลธรรมความดีตลอดไปตราบเท่า ที่พวกเขารีบละศิลอด "

จากบันทึกของอัลบุคอรีย์และมุสลิม

ในฮะดิษกุดซีย์บทหนึ่งระบุว่า

إِنَّ أَحَبَّ عِبَادِيْ إِلَيَّ أَعْجَلُهُمْ فِطْرًا

"แท้จริงบ่าวที่ข้าโปรดมากที่สุด คือ คนที่รีบละศิลอดได้เร็วที่สุด"

ท่านอานัสบุตรมาลิก สาวกผู้ใกล้ชิดของท่านรอซูลลุลลอฮ์ รายงานว่า

كَانَ النَّبِيُّ يُفْطِرُ قَبْلَ أَنْ يُصَلَّيَ عَلَى رُطَبَاتٍ ، فَإِنْ لَمْ تَكُنْ رُطَبَاتٌ فَعَلَى تَمَرَاتٍ ، فَإِنْ لَمْ تَكُنْ تَمَرَاتٌ فَعَلَى مَاءٍ فَحَسَا حَسَوَاتٍ مِنْ مَاءٍ

"ตามปกตินั้นท่านรอซูลุลลอฮ์นั้นละศิลอดด้วยอินทผลัมสดก่อนจึงจะละหมาดมัฆริบ และเมื่อหากท่าน ไม่มีอินทผลัมสด ท่านจะละ ศิลอดด้วยอินทผลัมแห้งละแทน และหากไม่มีอินทผลัมแห้งท่านจะดื่มน้ำ สะอาดแทน"

จากบันทึกของอะหมัด,อาบีดาวู้ดและอัตติรมิซีย์

และในขณะที่ผู้ถือศิลอดรอเวลาละศิลอด (แก้บวช) เป็นการสมควรหรือมีซุนนะฮ์ให้ขอดุอาอ์วิงวอนจาก อัลลอฮ์มาก ๆ ท่านรอซูลุลลอฮ์กล่าวว่า

إِنَّ لِلصَّائِمِ عِنْدَ فِطْرِهِ دَعْوَةً لاَ تُرَدُّ

"แน่นอนที่สุดสำหรับผู้ถือศิลอดนั้น (คือเป็นโอกาสดีที่สุด) การขอดุอาอ์ของเขาขณะละศิลอดนั้น จะไม่ถูกปฏิเสธจากอัลลอฮ์"

จากบันทึกของอิบนิมาญะฮ์

ثَلاَثَةٌ لاَ تُرَدُّ دَعْوَتُهُمْ : الصَّائِمُ حّتَى يُفْطِرُ وَاْلإِمَامُ الْعَادِلُ وَالْمَظْلُوْمُ

"มีบุคคลอยู่ 3 ประเภทที่การดุอาอ์วิงวอนของเขาจะไม่ถูกปฏิเสธจากอัลลอฮ์ คือ ผู้ถือศิลอดจวบจนถึง เวลาละศิลอด ผู้นำที่รักความ เป็นธรรม และผู้ถูกข่มเหงรังแก"

จากบันทึกของอัตติรมิซีย์

และในขณะละศิลอดมีซุนนะฮ์ให้อ่านดุอาอ์บทนี้ ซึ่งเป็นบทที่มีรายงานไว้อย่างถูกต้องที่สุด

ذَهَبَ الظَّمَأُ وَابْتَلَّتِ الْعُرُوْقُ وَثَبَتَ اْلأَجْرُ إِنْ شَاءِ اللهُ

คำอ่าน (ษะฮะบัซฺซ่อมะอู้ วับตั้ลละติ้ลอู้รูกู้ ว่าษะบะตั้ลอัจญรู่ อินชาอัลลอฮู่)

หรือบทอื่นๆ ก็ได้ที่มีรายงานอย่างถูกต้องจากท่านรอซูลลุลลอ์

3.งดเว้นและละเลิกจากทุก ๆ กรณีที่ทำให้การถือศิลอดเสียหรือทำเกิดความบกพร่อง ไม่สมบูรณ์ ทั้งนี้

การถือศิลอดคือโอกาสที่ดีที่สุดสำหรับการฝึกฝนตนเองให้คุ้นเคยกับการครองตน และปฏิบัติตนให้อยู่ในศิล ธรรมอันดี ซึ่งจุดประสงค์หลักของ การถือศิลอดที่อัลลอฮ์ทรงประกาศไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอานคือการสร้าง ความตักวา ( ยำเกรงและสำรวม ) ที่เรียกได้ว่าเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดของ มุสลิมทุกคนจากไฟนรก

การถือศิลอดจึงเป็นโอกาสทองสำหรับการขัดเกลาจิตใจ เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ตักวา) ให้กับตัวเองด้วยการงด และเลิกจากของต้องห้ามทั้งหลายที่ศาสนาอิสลามห้ามกระทำและข้องแวะทั้งในขณะถือศิลอดและไม่ได้ถือ ศิลอด เช่น เลิกโกหก,เลิกใส่ร้าย,เลิกนินทา, เลิกผิดประเวณี,เลิกดื่มกินสิ่งต้องห้าม,เลิกเสพหรืดดูสิ่งลามก ทั้งหลาย

เคยสังเกตบ้างไหมว่าบางทีผู้ถือศิลอดไม่ได้รับอะไรตอบแทนเลยจากการอดอาหารเป็นวัน ๆ นอกจาก ความหิวกระหายและความเสียเวลา ทั้งนี้เป็นเพราะเขาไม่งดจากข้อห้ามต่างๆ นั่นเอง ด้วยเหตุนี้เองจึงมีนัก วิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหลายๆท่าน เช่น ท่านอิบนิฮัซมินอัซซอฮิรีย์ เข้าใจและมีทรรศนะว่า ผู้ถือศิลอดที่ไม่เลิกละ จากข้อห้ามต่างๆ ( เช่น ถือศิลอดแต่ไม่เลิกโกหก ไม่เลิกนินทาใส่ร้ายผู้อื่น ) การถือศิลอดของเขาผู้นั้น ใช้ไม่ได้ ต้องถือศิลอดชดเชย ( กอฎอฮ์ ) เหมือนผู้ขาดบวชทั่วๆไป ท่านรอซูลุลลอฮ์กล่าวว่า

وَرُبَّ صَائِمٍ لَيْسَ لَهُ مِنْ صِيَامِهِ إِلاَّ الْجُوْعُ ، وفي لفظ ( إِلاَّ الْجُوْعُ وَ الْعَطَشُ )

"และบางครั้ง ผู้ถือศิลอดไม่ได้รับอะไรตอบแทนจากการถือศิลอดของเขาเลย นอกจากความหิวเท่านั้น"

จากบันทึกของอันนะซาอีย์

لَيْسَ الصِّيَامُ مِنَ اْلأَكْلِ وَالشُّرْبِ إِنَّمَا الصِّيَامُ مِنَ الْلَغْوِ وَالرَّفَثِ

"การถือศิลอดใช่เพียงแค่งดกินและงดดื่มเท่านั้น หากแต่การถือศิลอดจริง ๆ นั้นต้องละเลิกงดจาก ความไร้สาระและความใฝ่ต่ำ ทั้งหลายด้วย"

จากบันทึกของอิบนิฮิบบานและอัลฮาเก็ม

ท่านรอซูลุลลอฮ์ยังกล่าวอีกว่า

مَنْ لَمْ يَدَعْ قَوْلَ الزُّوْرِ وَ الْعَمَلَ بِهِ فَلَيْسَ لِلَّهِ حَاجَةٌ فِيْ أَنْ يَدَعَ طَعَامَهُ وَشَرَابَهُ

"ผู้ถือศิลอดที่ไม่เลิกละคำพูดที่โกหกพกลม ที่การกระทำเป็นเท็จ แน่นอนอัลลอฮ์ย่อมทรงไม่ประสงค์ และปรารถนาต่อการงดอาหาร งดน้ำของเขาแต่ประการใดเลย"

จากบันทึกของอัลบุคอรีย์

4.พยายามปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ที่ศาสนาสนับสนุนและส่งเสริมให้กระทำ

เช่น อ่านอัลกุรอาน , กล่าวซิกรุลลอฮ์ , ขอดุอาอ์ , กล่าวอิสติฆฟาร ( ขอลุแก่โทษ ) , กล่าวบทซอละหวาตนาบี , ละมาดซุนนะฮ์ต่างๆ , ทำซอดะเกาะฮ์ ( บริจาคทาน ) และอื่นๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะถือศิลอดในเดือน รอมาฎอน

5.แปรงฟัน ( เพื่อรักษาความสะอาดในช่องปาก )

การแปรงฟันขณะถือศิลอดไม่เป็นสิ่งต้องห้ามแต่ประการใดเช่นที่หลายคนเข้าใจผิด ทั้งนี้ท่านรอซูลุลลอฮ์เอง ก็แปรงฟันขณะถือศิลอด ดังมีหลักฐานคำรายงานจากบรรดาซอฮาบะฮ์หลายท่านยืนยันไว้ ส่วนหลักฐานที่ห้าม ผู้ถือศิลอดแปรงฟันเวลาเย็นนั้นเป็นหลักฐานอ่อนมาก ๆ ( ฎออีฟญิดดัน )

والله تعالى أعل

อัพเดทล่าสุด