การถือศีลอดในทัศนะการแพทย์


2,734 ผู้ชม

ถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน เป็นการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมที่หลายคนยังคงตั้งคำถามถึงเหตุผล ที่มาที่ไป และผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติ ซึ่งบทความชิ้นนี้มีคำตอบในทางการแพทย์ อันสะท้อนให้เห็นว่าหลักศาสนานั้นไม่เคยสวนทางกับหลักของธรรมชาติ ...


การถือศีลอดในทัศนะการแพทย์

ที่ปรึกษาสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุขการ

ถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน เป็นการปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมที่หลายคนยังคงตั้งคำถามถึงเหตุผล ที่มาที่ไป และผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติ ซึ่งบทความชิ้นนี้มีคำตอบในทางการแพทย์ อันสะท้อนให้เห็นว่าหลักศาสนานั้นไม่เคยสวนทางกับหลักของธรรมชาติ ...

การถือศีลอด เป็นศาสนบัญญัติหนึ่งในหลักการอิสลาม (รุกุ่นอิสลาม) ทั้ง 5 ประการ ได้ถูกบัญญัติลงมาในวันที่ 2 เดือนชะอบาน ปีที่ 2 แห่งฮิจเราะห์ศักราช ดังคำตรัส ของอัลลอฮ์ ในบทที่ 2 (อัลบะกอเราะฮ์) โองการที่ 183 มีใจความว่า
"โอ้บรรดา ผู้ศรัทธาเอ๋ย การถือศีลอดได้บัญญัติแก่พวกเจ้า ดังเช่นได้ถูกบัญญัติแก่ ประชาชาติก่อนหน้าพวกเจ้าเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ยำเกรง"

การถือศีลอดในภาษามลายูจะเรียกว่า "ปูวาซา" แต่คนพื้นเมืองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะกล่าวเพี้ยนว่า "ปอซอ" ส่วนในภาษาอาหรับจะเรียกว่า "อัศศาม" หรือ " อัศศิยาม" ซึ่งมีความหมายว่า การละเว้น การระงับ หรือการอดกลั้น
ส่วนความหมายทางด้านบัญญัติศาสนา คือการระงับหรือการละเว้นจากการกิน การดื่ม การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาและการพูดจาไร้สาระ ตลอดจนการกระทำที่ขัดต่อคุณธรรม ตั้งแต่รุ่งอรุณจนกระทั่งตะวันลับขอบฟ้า ด้วยเจตนาเพื่อพระองค์อัลลอฮ์ เคล็ดลับ (ฮิกมะฮ์) การถือศีลอด
เราได้อะไรจากการถือศีลอด เป็นคำถามที่ตอบยาก ขึ้นอยู่กับความศรัทธา ความรู้ความเข้าใจของแต่ละคนเกี่ยวกับการถือศีลอด โดยเฉพาะเข้าใจถึงหลักการปฏิบัติของท่านศาสดามุฮัมหมัดที่ได้กระทำเป็นแบบ อย่างให้เราได้ปฏิบัติตาม เป็นกระบวนการหนึ่งที่ประกอบทั้งศาสนกิจในภาคกลางวันและภาคกลางคืนเป็นเวลา 1 เดือน
ในแง่ของศาสนา หวังว่าผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม การทดสอบในเดือนรอมฎอนนี้ทุกคน จะเป็นผู้ที่มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ส่วนในแง่ทางการแพทย์หรือสุขภาพ ท่านศาสดามุฮัมหมัด ได้กล่าวสั้นๆว่า
"จงถือศีลอด เพื่อสูเจ้าจะได้มีสุขภาพที่ดี" รายงานโดย อิบนุ ซุนนี และอาบู นาอีม

การที่เราไม่กินไม่ดื่มเป็นเวลาประมาณ 13 ชั่วโมงเศษ เราจะมีสุขภาพที่ดีได้อย่างไร อาจเป็นหลักสูตรใหม่ที่ตรงกันข้ามกับหลักสูตรที่เน้นการบริโภค วันละ 3 มื้อ แต่หลักสูตรนี้จะสอดคล้องกับสำนักการแพทย์ธรรมชาติบำบัด ที่จะเน้นการบำบัดรักษาโรคด้วยวิธีการอดอาหารเป็นหลัก

1.ระยะเวลาการถือศีลอด

การถือศีลอดรอมฎอนหรือถือศีลอดนัฟลู (คือ การถือศีลอดที่กระทำโดยสมัครใจ) ก็ดี จะใช้ระยะเวลาในการละเว้นจากสิ่งต้องห้าม โดยเฉลี่ยประมาณ 13 ชั่วโมงต่อวันซึ่งโดยปกติคนเราทุกคนมีการอดอาหารอยู่แล้วครั้งละ 10-12 ชั่วโมง คือหลังอาหารเย็น (ค่ำ) จนถึงการเริ่มกินอาหารเช้าในวันใหม่และการตรวจวินิจฉัยโรคบางอย่าง เช่น การเจาะเลือดผู้ป่วย ก็ต้องอดอาหารเป็นระยะเวลา 10-12 ชั่วโมงเช่นกัน

ดังนั้นจะเห็นว่าระยะเวลาของการถือศีลอดไม่ขัดต่อหลักการตามธรรมชาติ (ซุนนะตุลลอฮ) หรือทางการแพทย์แต่อย่างใด แต่จะมีความแตกต่างกันอยู่ที่ช่วงเวลากลางวันหรือกลางคืนซึ่งการถือศีลอดยึดเอาช่วงเวลากลางวันเป็นหลัก ก็เพราะมีจุดประสงค์ที่มากกว่าการอดอาหารทั่วไปนั่นเอง และได้กำชับบรรดาผู้ที่จะถือศีลอดทุกคนได้ลุกขึ้นมารับประทานอาหารดึก (สะฮูร) ในเวลาใกล้รุ่งหรือให้ล่าช้าก่อนแสงอรุณจะขึ้นเล็กน้อย แม้จะเป็นน้ำเพียงอึกเดียวก็ตาม

2.การเปลี่ยนแปลงในร่างกาย

การถือศีลอด จะทำให้ร่างกายต้องขาดพลังงานจากสารอาหาร และต้องสูญเสียน้ำจากการขับถ่ายออกจากร่างกาย การสูญเสียน้ำมากกว่า 2 % ของน้ำหนักตัวจะทำให้รู้สึกกระหายน้ำ และเมื่อระดับน้ำตาลกลูโคสในกระแสเลือดและเซลล์ลดลง ก็จะทำให้รู้สึกหิว ซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากอดไปแล้วประมาณ 6-12 ชั่วโมง เรียกระยะนี้ว่าระยะหิวโหย
ระดับน้ำตาลกลูโคสและน้ำที่ลดต่ำลงจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาท (นิวรอน) บริเวณไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมความหิว ศูนย์อิ่ม และศูนย์กระหายน้ำ เป็นต้น

สำหรับคนที่มีร่างกายปกติ มีเจตนา (นียัต) อย่างแน่วแน่ และมีความเชื่อมั่นต่อบทบัญญัติของอัลลอฮ์ แน่นอนจะไม่ทำให้เขาถึงขั้นมีอาการหน้ามืดหรือหมดสติไป เพราะระบบต่างๆในร่างกายจะช่วยประสานงานกันโดยอัตโนมัติ เพื่อที่จะรักษาสมดุลให้เกิดขึ้นในร่างกาย
ในระยะแรกร่างกายจะมีการสลายพลังงานในรูปของไกลโคเจนที่เก็บสะสมไว้ในตับและ กล้ามเนื้อ โดยมีฮอร์โมนกลูกากอนจากตับอ่อนมาช่วย ในปฏิกิริยาเคมีนี้จะได้น้ำตาลกลูโคสเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานต่อไป ส่วนต่อมหมวกไตในส่วนในก็จะถูกกระตุ้นให้หลั่งเอพิเนฟริน (Epinephrine) เพิ่มมากขึ้น เพื่อจะไปกระตุ้นเซลล์ตับให้สังเคราะห์ และปล่อยกลูโคสออกจากกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น และมีผลทำให้เซลล์อื่นๆ ใช้พลังงานลดน้อยลงด้วย

ถ้าพลังงานที่ได้รับจากการสลายไกลโคเจนไม่เพียงพอก็จะไปสลายพลังงานสำรองใน รูปของไขมัน ซึ่งได้กรดไขมันอิสระออกมาสู่กระแสเลือด และจะถูกเปลี่ยนไปเป็นกลูโคสเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานต่อไป ส่วนการรักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ก็เป็นหน้าที่ของ Hypothalamus เช่นกัน ที่จะกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองได้หลั่งฮอร์โมน Vasopressine หรือ ADH จะมีผลทำให้ไตมีการดูดซึมน้ำกลับมาใช้เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้มีปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้มกว่าปกติ

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอัลลอฮ์ พระองค์ทรงรอบรู้ยิ่งเกี่ยวกับการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายของมนุษย์ และพระองค์ก็ได้กำชับให้เราได้ศึกษาเกี่ยวกับตัวของเราเองดังคำตรัสของอัลลอฮ์ ความว่า
"และในตัวของพวกเจ้าเอง พวกเจ้าไม่เห็นดอกหรือ" (อัซ-ซารียาต 51:21 )

3.วิธีการละศีลอด

ท่านศาสดามูฮัมหมัด ได้แนะนำการละศีลอดไว้อย่างไร?

เมื่อถึงเวลาละศีลอด อิสลามสอนให้เราละศีลอดก่อนที่จะดำรงการละหมาด และแนะนำให้ละศีลอดด้วยลูกอินทผลัมหรือด้วยน้ำ มีรายงานจากอะนัสอิบนมาลิก (รอฎฯ) กล่าวว่า
"ปรากฏว่าท่านนบีศอลฯละศีลอดด้วยอินทผลัมเลือกที่สุกงอมก่อนที่จะไปละหมาด ถ้าหากไม่มีอินทผลัมที่สุกงอม ก็จะแก้ด้วยอินทผลัมแห้ง ถ้าหากไม่มีอินทผลัมที่แห้ง ก็จะจิบน้ำหลายจิบ"(บันทึกโดย อะหมัด,อะบู ดาวูด,อิบนุคุไซมะฮ และ อัตติรมีซีย์) ในลูกอินทผลัมมีอะไรหรือ?

จากการวิจัยทางด้านโภชนาการ ทำให้เราได้ทราบว่า ในลูกผลอินทผลัมที่สุกงอมนั้นประกอบด้วย น้ำตาลฟรุกโตส กลูโคส น้ำ วิตามิน และแร่ธาตุ โดยเฉพาะน้ำตาลฟรุกโตสจัดเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกายชนิดหนึ่ง มีการดูดซึมบริเวณลำไส้เล็ก โดยวิธี Facili-tate Difusion ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงาน ส่วนน้ำตาลกลูโคส และกาแลกโตสนั้นจะดูดซึมแบบ Secondary Active Difusion ซึ่งต้องอาศัยทั้งตัวพาและพลังงาน

ดังนั้นในสภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลีย จากการขาดพลังงานและน้ำ ลูกอินทผลัมน่าจะเป็นผลไม้ที่ดีชนิดหนึ่ง สำหรับผู้ที่จะละศีลอด ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ ที่มีรสหวานก็สามารถทานได้ (แต่ไม่ใช่แบบอย่างของท่านศาสดา)

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราละศีลอดด้วยน้ำเย็น ทานอาหารหนัก และอิ่มมากจนเกินไปก่อนจะไปละหมาด แทนที่เราจะได้พลังงานกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว เรากลับต้องเสียพลังงานไป เนื่องจากเลือดต้องถูกส่งไปยังกระเพาะอาหาร และลำไส้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง (สมองต้องการน้ำตาลกลูโคส ประมาณ 40 % จากทั้งหมด) จึงทำให้เกิดอาการมึนงง เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก และง่วงซึมได้

ดังนั้นในขณะที่แก้ศีลอด ท่านนบี ได้กล่าวว่า
"ความกระหายน้ำ ได้สูญสิ้นไป เส้นโลหิตได้ชุ่มชื่น และจะได้รับการตอบแทนอย่างแน่นอน อินซาอัลลอฮ" (อะบูดาวูด อัลบัยฮะกีย์ และอัลฮากิม)

4 .บทสรุป

จากคำอธิบายย่อๆ ข้างต้น พอที่จะสรุปได้ว่า แท้จริงการถือศีลอดนั้น ไม่ขัดต่อหลักการวิชาการแพทย์แต่อย่างใด เพราะคุณสมบัติบางประการของผู้ที่ถือศีลอดนั้น ต้องเป็นมุอมิน(ผู้ศรัทธา)ที่มีสุขภาพดีและไม่ใช่ผู้ที่มีอุปสรรค ส่วนบุคคลที่มีอุปสรรคจริงๆ จะได้รับการผ่อนผัน หรือยกเว้นจากการถือศีลอดโดยบุคคลกลุ่มหนึ่งจะต้องถือศีลอดใช้ และอีกกลุ่มหนึ่ง ต้องจ่ายฟิดยะฮ (การให้อาหารแก่คนยากจนหรือขัดสน 1 คนต่อการละศีลอด 1 วัน) แทน

ทั้งหมดนั้นเป็นเพราะความเมตตาและทรงรอบรู้อัลลอฮ์ เกี่ยวกับปฏิกิริยาเคมี กลไกการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมนุษย์นั่นเอง แน่นอนมิใช่ความประสงค์ของอัลลอฮ์ หากว่าอิบาดะฮ (การเคารพภักดี) นั้นจะนำไปสู่ความเสียหาย (ทำให้เกิดโรค) แก่บ่าวของพระองค์

นักวิชาการชาวอเมริกันคนหนึ่งชื่อ นายแพทย์ Allan Cott เขาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า "Why Fast ?" (ทำไมต้องถือศีลอด) ซึ่งเป็นผลจากการวิจัยของเขาจากหลายๆประเทศ เขาได้สรุปถึงเคล็ดลับของการถือศีลอดไว้ 10 ข้อ ดังนี้

1.ทำให้รู้สึกว่าสุขภาพกายและจิตใจที่ดีขึ้น
2.ทำให้มองเห็นและรู้สึกอ่อนเยาว์ขึ้น
3.ทำให้ร่างกายสะอาดสะอ้าน
4.ช่วยลดความดันโลหิตสูงและระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
5.ช่วยลดความรู้สึกอารมณ์ใคร่
6.ให้โอกาสแก่ร่างกายได้มันบำบัดตัวมันเอง
7.ช่วยลดความตึงเครียด
8.ทำให้สติปัญญาเฉียบแหลม
9.ทำให้สามารถควบคุมตนเองได้
10.ช่วยชะลอความชรา / แก่

นอกจากฮิกมะฮ์ ดังกล่าวแล้ว ท่านนบีมูฮัมหมัดยังได้กล่าวไว้ มีใจความว่า
"แด่ ผู้ที่ถือศีลอดนั้น เขาจะได้รับความสุข 2 ประการ คือ ความสุขเมื่อถึงยามละศีลอด และจะมีความสุขเมื่อได้พบกับพระผู้อภิบาลของเขา (ในวันกียามะฮ )" พร้อมกับรางวัลที่สูงที่สุดคือสวนสวรรค์ ซึ่งเขาจะเดินเข้าทางประตูอัร-ร็อยยาน ที่ได้สร้างไว้เฉพาะแก่บรรดาผุ้ที่ถือศีลอดด้วยความสุจริตใจต่ออัลลอฮ เท่านั้นเอง

อัพเดทล่าสุด