การถือศีลอดก่อนรอมฎอน ให้อะไรบ้าง


3,287 ผู้ชม

คนทั่วไปรู้ดีว่ามุสลิมในวัยเข้าเกณฑ์ตามศาสนบัญญัติคือชายที่เริ่มมีอสุจิหรือหญิงเริ่มมีประจำเดือนหรือประมาณอายุ 13-15 ปีจะถือศีลอดกันตลอดเดือนรอมฎอน วิธีการคือตื่นขึ้นมากินอาหารก่อนแสงเงินแสงทองจับท้องฟ้าเรียกว่าอาหารสะฮูร ...


การถือศีลอดก่อนรอมฎอน ให้อะไรบ้าง

บทความจาก รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน

เดือนรอมฎอนหรือเดือนที่เก้าตามปฏิทินอาหรับสำหรับ พ.ศ.2558 เริ่มต้นวันที่ 18 มิถุนายนโดยทางสำนักจุฬาราชมนตรีกำหนดให้มุสลิมทั่วประเทศร่วมกันดูดวงจันทร์ขึ้น 1 ค่ำในช่วงดวงอาทิตย์ตกของวันที่ 17 มิถุนายน หากในวันนั้นไม่มีผู้ใดเห็นจันทร์เสี้ยวขึ้นหนึ่งค่ำก็ให้นับวันที่ 1 เดือนรอมฎอนในวันถัดไปนั่นคือวันที่ 19 มิถุนายน ทำกันง่ายๆอย่างนั้น ส่วนวันสิ้นสุดรอมฎอนให้นับวันขึ้น 1 ค่ำของเดือนถัดไปเป็นหลัก หนึ่งเดือนตามปฏิทินอาหรับจึงมี 29 หรือ 30 วัน

คนทั่วไปรู้ดีว่ามุสลิมในวัยเข้าเกณฑ์ตามศาสนบัญญัติคือชายที่เริ่มมีอสุจิหรือหญิงเริ่มมีประจำเดือนหรือประมาณอายุ 13-15 ปีจะถือศีลอดกันตลอดเดือนรอมฎอน วิธีการคือตื่นขึ้นมากินอาหารก่อนแสงเงินแสงทองจับท้องฟ้าเรียกว่าอาหารสะฮูร จากนั้นอดอาหารและน้ำตลอดทั้งวัน เริ่มกินอาหารได้อีกครั้งเมื่อดวงอาทิตย์ตกเรียกว่าอาหารอิฟตาร์ ตลอดทั้งวันจึงกินอาหารสองมื้อ โดยแต่ละมื้อยังกินน้อยกว่าปกติ พลังงานที่ได้รับต่อวันจึงลดลง

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของมุสลิมเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว แต่หนึ่งเดือนก่อนรอมฎอนซึ่งเป็นเดือนที่แปดตามปฏิทินอาหรับเรียกกันว่าเดือน "ชะอ์บาน" มุสลิมจำนวนไม่น้อยถือศีลอดเช่นเดียวกับเดือนรอมฎอนโดยอาจถือศีลอดสองวันต่อสัปดาห์แต่อาจมากหรือน้อยกว่านั้น เป็นการถือศีลอดตามแบบอย่างที่ท่านศาสดาในศาสนาอิสลามคือนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ปฏิบัติ

มีรายงานที่บันทึกจากคำบอกเล่าของภรรยาท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ว่าท่านนบีถือศีลอดทุกเดือนมากบ้างน้อยบ้าง แต่สำหรับเดือนชะอ์บาน ท่านถือศีลอดเกือบทุกวัน ยกเว้นสองวันก่อนเข้ารอมฎอนซึ่งตัวท่านเองห้ามไว้เพื่อเป็นการเตรียมตัวก่อนเข้าเดือนรอมฎอน การถือศีลอดในเดือนชะอ์บานจึงมีความพิเศษสำหรับมุสลิมซึ่งคนส่วนใหญ่ที่มิใช่มุสลิมมักไม่รู้
วิธีการถือศีลอดเดือนชะอ์บานไม่มีอะไรแตกต่างจากรอมฎอน มีอาหารสองมื้อคือสะฮูรและอิฟตาร์เช่นเดียวกัน ตัวผมเองเลือกถือศีลอดในเดือนชะอ์บานสองวันต่อสัปดาห์คือวันอังคารและวันพฤหัสบดี บางคนเลือกวันจันทร์กับวันพฤหัสบดีก็แล้วแต่ความสะดวก การเลือกถือศีลอดสองวันต่อสัปดาห์เช่นนี้เป็นเช่นเดียวกับที่ท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) ถือปฏิบัติในแทบทุกเดือน เว้นแต่เดือนชะอ์บานเท่านั้นที่ท่านถือศีลอดแทบทุกวันอย่างที่บอก

ท่านนบีทำเช่นนั้นตลอดอายุขัยของท่านซึ่งปรากฏว่าในปัจจุบันการอดอาหารสองวันต่อสัปดาห์กลายเป็นความนิยมของกลุ่มคนที่ลดน้ำหนักตัวโดยเรียกวิธีการเช่นนี้ว่า "แนวทางโภชนาการ 5:2" หรือกินห้าวันอดสองวันต่อสัปดาห์ ในแนวทางดังกล่าววันที่กำหนดให้อดอาหารไม่ได้มีการถือเคร่งครัดแบบอิสลามคืออาจกินหรือดื่มในช่วงวันก็ได้แต่ให้ลดอาหารลงเหลือพลังงานเพียงหนึ่งในสี่ที่ได้รับต่อวัน หากเป็นชายได้รับ 600 กิโลแคลอรี ส่วนหญิงให้เหลือ 500 กิโลแคลอรีเท่านั้น

การอดอาหารลักษณะนี้เรียกกันในเชิงวิชาการว่า "อดเป็นช่วง" หรือ intermittent fasting โดยไม่แนะนำให้แบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆหลายมื้อ แต่ให้กินอาหารเป็นมื้อใหญ่ซึ่งมักแบ่งเป็นสองมื้อแบบมุสลิมถือศีลอด บางคนหากอดทนไหวอาจเหลือมื้อเช้ามื้อเดียวซึ่งหมายถึงต้องเข้านอนทั้งๆที่ท้องหิว การอดอาหารแบบเป็นช่วง 5:2 เช่นนี้แม้แทบไม่ต่างจากการถือศีลอดของมุสลิมแต่แพทย์แห่งโรงพยาบาลปารีสที่ฝรั่งเศสซึ่งแนะนำโปรแกรมลดน้ำหนักด้วยวิธีการอดอาหารเช่นเดียวกับการถือศีลอดกล่าวไว้ว่าต้องอดอาหาร 45 วันแทนที่จะเป็น 30 วันโดยให้เพิ่มขึ้น 15 วันเพื่อชดเชยผลด้านจิตวิญญานจากความศรัทธาซึ่งคนมุสลิมได้รับจากการถือศีลอดขณะที่คนอดอาหารทั่วไปที่ไม่ใช่มุสลิมไม่ได้รับ

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนหากทำอย่างถูกต้องโดยไม่มีการกินเพิ่มในเวลาก่อนนอนให้ผลดีต่อสุขภาพโดยมีรายงานวิจัยจำนวนมากมายกล่าวถึงเรื่องนี้กันไว้แล้ว ส่วนการถือศีลอดนอกรอมฎอนอย่างเช่นเดือนชะอ์บานแม้ไม่มีรายงานวิจัยที่ทำการศึกษาไว้ แต่อาจนำผลการศึกษาผลดีของการอดอาหารแบบเป็นช่วงไม่ว่าจะเป็นแบบ 5:2 หรือแบบอื่นมาลองเทียบเคียงได้

มีรายงานวิจัยจำนวนไม่น้อยกล่าวถึงผลดีของการอดอาหารรวมทั้งการได้รับพลังงานจากอาหารน้อยลงเป็นช่วงๆอย่างเช่นการอดอาหารแบบ 5:2 หรือแม้กระทั่งการอดอาหารแบบสลับวัน โดยอดบ้างกินบ้าง ช่วงที่อดให้ลดปริมาณอาหารลงพร้อมกันไปด้วย ส่วนช่วงที่กินก็กินกันตามปกติ การอดสลับกินซึ่งเรียกกันว่าอดเป็นช่วงหรือ intermittent fasting เช่นนี้นอกจากจะช่วยให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างได้ผลยังช่วยให้กลไกการยืดอายุขัยของร่างกายทำงานได้ดีขึ้นด้วย

การอดอาหารจึงช่วยให้มีอายุยืนยาวขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคทางด้านเมแทบอลิซึมไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคอ้วนโรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันสูงในเลือดหรืออินสุลินและน้ำตาลสูงในเลือด สุขภาพร่างกายดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด กรณีของมุสลิมที่ถือศีลอดนอกรอมฎอนอย่างเช่นชะอ์บานยังได้คุณค่าด้านจิตวิญญานเพิ่มเติมเข้าไปอีก ซึ่งแพทย์ฝรั่งเศสบอกไว้แล้วว่าคุณค่าด้านจิตวิญญานที่ว่านั้นมีค่ามากถึงครึ่งหนึ่งของการอดอาหารทั้งวัน

การอดอาหารจะเป็นในเดือนรอมฎอนหรือนอกเดือนรอมฎอน มุสลิมจะถือกันอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ หากเป็นประเทศไทยการถือศีลอดไม่กินไม่ดื่มจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอด 12-14 ชั่วโมง บางประเทศอาจมีช่วงเวลาของแสงอาทิตย์ยาวกว่านี้เป็นต้นว่า 18 ชั่วโมง แต่บางพื้นที่ของโลกอาจมีช่วงเวลาของแสงอาทิตย์สั้นลงประมาณ 8 ชั่วโมง ดังนั้นการอดอาหารที่แนะนำกันจึงให้อดต่อเนื่องกันไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมงจึงจะให้ผลดีต่อสุขภาพ การกินอาหารน้อยลงแต่แบ่งเป็นอาหารมื้อเล็กๆกินทั้งวันเพื่อลดอาการหิวนั้นไม่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพเลย รายงานวิจัยให้ข้อสรุปอย่างนั้น

ส่วนผมช่วงเดือนรอมฎอนผมถือศีลอดติดต่อกัน 29-30 วัน หลังจากวันตรุษอิดิลฟิตริซึ่งตรงกับวันที่ 1 เดือนถัดไปที่เรียกว่า "เชาวัล" แล้ว ผมยังถือศีลอดต่อเนื่องในเดือนนี้อีก 15 วันโดยแบ่งเป็นสองช่วงๆแรก 6 วันแล้วพักหนึ่งวันจากนั้นถือต่ออีก 9 วันจึงหยุด ทำเช่นนี้มาหลายปีดีดักช่วยให้มีสุขภาพค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับวัยซึ่งมีมากขึ้นทุกปี
ก่อนเดือนรอมฎอนคือเดือนชะอ์บาน ผมถือศีลอดทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี ยังอดทนไม่พอที่จะทำแบบท่านนบีมูฮำมัด (ซ.ล.) เมื่อพันสี่ร้อยปีมาแล้วนั่นคือถือศีลอดก่อนเดือนรอมฎอนทุกวัน หากทำได้อย่างนั้นเชื่อได้เลยว่าสุขภาพกายและจิตวิญญานดีขึ้นกว่านี้มากอย่างแน่นอน

อัพเดทล่าสุด