การดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังชาวมุสลิม ในเดือนรอมฎอน


2,362 ผู้ชม

เดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอด คือเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของชาวมุสลิม เป็นช่วงเดือนสำคัญและเป็นสิริมงคลยิ่งในชีวิตของพี่น้องชาวมุสลิมทั่วโลกศาสนาอิสลามกำหนดให้ชาวมุสลิมถือศีลอดโดยละเว้นการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มระหว่างรุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้า ซึ่งช่วงเวลาที่อดอาหาร อดน้ำ ในแต่ละวัน และพฤติกรรมการรับประทานที่แตกต่างกันของแต่ละคน อาจทำให้ช่วงเวลาถือศีลอดยาวนานได้ตั้งแต่ 13 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไป 29-30 วัน ...


การดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังชาวมุสลิม ในเดือนรอมฎอน

เดือนรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอด คือเดือนที่ 9 ตามปฏิทินทางจันทรคติของชาวมุสลิม เป็นช่วงเดือนสำคัญและเป็นสิริมงคลยิ่งในชีวิตของพี่น้องชาวมุสลิมทั่วโลก
ศาสนาอิสลามกำหนดให้ชาวมุสลิมถือศีลอดโดยละเว้นการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มระหว่างรุ่งสางจนตะวันลับขอบฟ้า ซึ่งช่วงเวลาที่อดอาหาร อดน้ำ ในแต่ละวัน และพฤติกรรมการรับประทานที่แตกต่างกันของแต่ละคน อาจทำให้ช่วงเวลาถือศีลอดยาวนานได้ตั้งแต่ 13 ถึง 20 ชั่วโมงต่อวัน เป็นเช่นนี้ต่อเนื่องกันไป 29-30 วัน

การดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังชาวมุสลิม ในเดือนรอมฎอน

ความเปลี่ยนแปลงในช่วงเดือนรอมฎอน ไม่ใช่การสลับชีวิตเป็นนอนกลางวัน กินกลางคืน เพราะในช่วงเวลากลางวันนั้น พี่น้องชาวมุสลิมหลายท่านยังต้องทำงานตามปกติ แต่เนื่องจากระหว่างวันต้องอดอาหารและอดน้ำเป็นเวลายาวนานและเคร่งครัดจึงมีผลกระทบทำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จำเป็นต้องรับประทานยาให้สอดคล้องตามมื้ออาหาร เปลี่ยนแปลงเวลารับประทานยาและลดขนาดของยาไป โดยเลื่อนเวลาของการรับประทานยาไปตามมื้ออาหาร 2 มื้อ คือ มื้อเช้ามืดตอนก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และมื้อละศีลอดตอนพระอาทิตย์ตก และไม่สามารถรับประทานยามื้อกลางวันได้
พี่น้องชาวมุสลิมในประเทศไทยก็เฉกเช่นเดียวกับชาวมุสลิมทั่วโลก ที่มีความศรัทธาในศาสนาอิสลาม ถึงแม้ศาสนาจะมีข้อยกเว้นให้ผู้ป่วยไม่ต้องถือศีลอด แต่โรคเรื้อรังบางโรคที่ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องกลับไม่ค่อยมีอาการผิดปกติแสดงออกมามากนัก เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ทำให้ผู้ป่วยยังมีความต้องการที่จะถือศีลอดให้ได้มากที่สุด ซึ่งพอใกล้ถึงเดือนถือศีลอดทีไร พี่น้องชาวไทยมุสลิมก็ทำให้คุณหมอที่ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยพุทธได้งงงันกันไป ว่าจะทำความเข้าใจและช่วยปรับยาต่างๆ อย่างไรดี
การทำความเข้าใจข้ามศาสนาและวัฒนธรรมที่แตกต่าง บางครั้งสร้างความเคอะเขินต่อกัน ผู้ป่วยก็เกรงใจคุณหมอ อาจขอให้นัดห่างออกไปจนสิ้นสุดการถือศีลอด บ้างก็รับยาตามปกติแล้วไปปรับลดยาเอง คุณหมอก็เกรงใจผู้ป่วย ไม่รู้จะสนทนาหรือให้ความช่วยเหลือได้อย่างไร ได้แต่รอพบกันใหม่เมื่อคนไข้ผ่านพ้นเดือนถือศีลอดแล้ว ในเมื่อผู้ป่วยก็ปรารถนาจะถือศีลอดเพื่อสุขภาพที่ดี คุณหมอก็ปรารถนาที่จะให้ผู้ป่วยถือศีลอดได้อย่างปลอดภัย ไม่มีภาวะแทรกซ้อน วันนี้ จึงมีแนวทางสำหรับทั้งผู้ป่วยและคุณหมอมาเสนอ ดังนี้ค่ะ
ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังและตั้งใจจะถือศีลอด ควรแจ้งให้คุณหมอที่รักษาท่านเป็นประจำได้ทราบล่วงหน้าก่อนที่จะเริ่มถือศีลอด เช่น ปีนี้ท่านตั้งใจว่าจะถือศีลอดเป็นเวลากี่วัน บอกคุณหมอถึงข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพ หรือประสบการณ์การถือศีลอดในปีก่อนๆ ว่าเคยมีอาการผิดปกติหรือไม่ อย่างไรบ้าง พฤติกรรมการรับประทานอาหารของท่านในช่วงถือศีลอดในปีก่อนๆ เช่น รับประทานอาหารมื้อเช้าได้น้อยมาก หรือไม่อยากรับประทานมื้อเช้าเลย รับประทานอาหารมื้อเย็นมากกว่าปกติทั้งชนิดและปริมาณ หรือรับประทานอาหารมื้อดึกด้วย

การดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังชาวมุสลิม ในเดือนรอมฎอน
ในส่วนของคุณหมอ จะซักถามแรงจูงใจในการถือศีลอดว่าปีนี้ผู้ป่วยจะถือศีลหรือหรือไม่ เป็นเวลากี่วัน ปีที่แล้วถือศีลอดได้กี่วัน มีปัญหาอะไรระหว่างการถือศีลอดบ้าง เคยมีภาวะเจ็บป่วยไม่สบายหรือนอนโรงพยาบาลระหว่างการถือศีลอดหรือไม่ ร่วมกับการดูประวัติการรักษาในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาว่า ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะโรคกำเริบหรือมีภาวะแทรกซ้อนเมื่อถือศีลอดมาก-น้อยเพียงใด นอกจากเรื่องยา คุณหมอจะซักถามเรื่องการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายด้วย
ในทางการแพทย์นั้น ผู้ป่วยที่ไม่ควรถือศีลอดได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 (เบาหวานที่เป็นตั้งแต่อายุน้อยและต้องใช้ยาฉีดอินซูลิน) ผู้ป่วยไตวาย ไตเสื่อม ผ่าตัดเปลี่ยนไต นิ่วที่ไต โรคปอดและโรคหัวใจที่รุนแรง โรคเลือดออกในทางเดินอาหาร โรคลมชักที่ยังไม่สงบ โรคไมเกรนที่กำเริบบ่อย เป็นต้น
การปรับยาให้แก่ผู้ป่วย คุณหมอจะปรับยาลดความดันโลหิต ยาโรคหัวใจ ยากันชัก ยาขยายหลอดลมให้เป็น 1 หรือ 2 มื้อตามมื้ออาหารที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยาเบาหวานทั้งยากินและยาฉีดอินซูลิน จะต้องมีการปรับยาเฉพาะ เนื่องจากการออกฤทธิ์ของยาสัมพันธ์กับอาหารโดยตรง อีกทั้งต้องเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อย คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และภาวะขาดน้ำ หลักการคร่าวๆของการปรับยาเบาหวาน คือ เปลี่ยนยาที่ออกฤทธิ์ยาวเป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้น
กรณีรับประทานยามื้อเดียวให้เปลี่ยนมารับประทานในมื้อละศีลอด (มื้อเย็น) ยามื้อเช้าจะถูกปรับให้มีขนาดน้อยกว่ายามื้อเย็น ทั้งยากินและอินสุลินฉีด (รายละเอียดการปรับยาสามารถค้นหาได้ในเอกสารแนวทางการบริหารยาแก่ผู้ป่วยในช่วงเดือนรอมฎอน ของสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข) ผู้ป่วยควรรับประทานอาหารทั้ง 2 มื้อในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้สอดคล้องกับมื้ออาหาร และเมื่อการถือศีลอดเสร็จสิ้นลง หรือผู้ป่วยตัดสินใจหยุดการถือศีลอดแล้ว ก็ให้กลับมารับประทานยาเช่นเดิม เหมือนเมื่อตอนที่ไม่ได้ถือศีลอด
อย่างไรก็ตาม การถือศีลอดที่ปลอดภัยสูงสุดและดีต่อสุขภาพกายและใจนั้น ต้องมีความสมดุลที่เกิดจากผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ผู้ป่วยต้องรู้สภาวะสุขภาพของตนเอง (ว่าไหว หรือ ไม่ไหว) ปฏิบัติตามข้อแนะนำทางการแพทย์ และปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลามได้อย่างสมบูรณ์ โดยอาจขอความเห็นจากผู้นำศาสนามาประกอบการตัดสินใจถือศีลอดและการปฏิบัติตัว อีกทั้งตลอดช่วงเวลาที่ถือศีลอดต้องหมั่นสังเกตความผิดปกติและตัดสินใจไปรับการตรวจรักษาได้ทันเวลา ไม่มัวรั้งรอจนเกิดอันตรายแก่ร่างกาย
ในปีนี้ สำนักจุฬาราชมนตรี ประกาศให้พี่น้องมุสลิมดูดวงจันทร์ ในวันพุธที่ 17 มิถุนายน 2558 เวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า เพื่อกำหนดวันแรกของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หวังว่าพี่น้องชาวไทยมุสลิมจะได้ถือศีลอดตามความศรัทธาและมุ่งมั่นด้วยสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์ แข็งแรงนะคะ

บทความโดย ดร.พญ.ประกายทิพ สุศิลปรัตน์ กลุ่มภารกิจด้านบริการปฐมภูมิ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา

อัพเดทล่าสุด