แชร์เก็บไว้เลย! วิธีป้องกันงูเข้าบ้าน..รู้ไว้และชีวิตจะปลอดภัย


71,196 ผู้ชม

งูเข้าบ้าน กลายเป็นหนึ่งในปัญหาของประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองหรือในชนบท ซึ่งสร้างความตื่นตกใจให้กับเจ้าของบ้านดังที่ปรากฏในข่าวตามสื่อต่างๆ เนื่องจากมีการขยายของตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง...


งูเข้าบ้าน กลายเป็นหนึ่งในปัญหาของประชาชนจำนวนมาก ทั้งที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองหรือในชนบท ซึ่งสร้างความตื่นตกใจให้กับเจ้าของบ้านดังที่ปรากฏในข่าวตามสื่อต่างๆ เนื่องจากมีการขยายของตัวเมืองอย่างต่อเนื่อง ทำให้งูหลายชนิดมีการปรับตัวเพื่อที่จะอยู่อาศัย รวมทั้งล่าเหยื่อที่มีอยู่ภายในตัวเมืองเป็นจำนวนมาก เช่น หนูตามท่อระบายน้ำ ปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งคำถามต่างๆ มากมาย เช่น งูเข้าบ้านได้อย่างไร จะทำอย่างไรเมื่อพบงูในบ้าน จะป้องกันงูเข้าบ้านได้ไหม เมื่อโดนกัดต้องไปที่ไหน และปฐมพยาบาลอย่างไร เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ปัญหาเหล่านี้มักมีคำตอบตามความเชื่อที่ถูกบอกเล่าต่อๆ กันมา ซึ่งเมื่อนำไปปฏิบัติแล้วก็มักจะไม่ได้ผลหรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ ในความเป็นจริงแล้วปัญหาทั้งหมดนี้สามารถตอบได้ด้วยความเข้าใจถึงชีววิทยาหรือธรรมชาติของงู และหลักฐานการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง
งูเป็นสัตว์เลื้อยคลานชนิดหนึ่ง ที่มีความหลากหลายมากกว่า 200 ชนิด ในประเทศไทยมักอาศัยอยู่ตัวเดียวในธรรมชาติ ไม่มีการสร้างรังเพื่ออยู่อาศัย แต่มักจะเข้าไปอาศัยหลบอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิเหมาะสม ไม่ร้อนไม่เย็นจนเกินไป ปลอดภัยจากศัตรู มีน้ำ มีอาหารกิน เช่น เข้าไปหลบอยู่ใต้รอยทรุดของตัวบ้านหรืออาคาร หรือกองวัสดุที่ไม่ได้ใช้เป็นเวลานาน และออกมาหาหนู กบ จิ้งจก ในบริเวณใกล้เคียงกินเป็นอาหาร เป็นต้น หากไม่มีอาหารหรือที่อยู่อาศัย งูก็จะย้ายที่ไปจนกว่าจะเจอที่ที่เหมาะสมนั่นเอง จากนั้น เมื่อโตจนเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ จะมีการออกมาหาคู่เพื่อผสมพันธุ์ ก็ทำให้มีโอกาสที่จะพบงูได้มากขึ้นในช่วงฤดูผสมพันธุ์อีกด้วย ซึ่งงูแต่ละชนิดก็จะมีฤดูผสมพันธุ์แตกต่างกันออกไป เช่น งูเห่าจะเริ่มผสมพันธุ์ในช่วงเดือน ส.ค. – ม.ค. และงูกะปะจะเริ่มผสมพันธุ์ในช่วงเดือน มี.ค. – พ.ค. จากนั้นแม่งูจะตั้งท้องและหาที่ปลอดภัยและเหมาะสมในการวางไข่ โดยงูส่วนใหญ่จะทิ้งไข่ไว้ให้ฟักเอง เพราะฉะนั้นการพบลูกงูจึงไม่จำเป็นต้องมีแม่งูในบริเวณนั้น เมื่อถึงเวลาที่ลูกงูออกจากไข่ก็จะทยอยกันออกมาเพื่อกลับเข้าสู่วงจรตามธรรมชาติต่อไป หากงูวางไข่ในบริเวณใต้ตัวบ้านหรืออาคารทที่อยู่อาศัยก็จะเป็นสาเหตุให้พบลูกงูจำนวนหลายตัวในบริเวณบ้าน 
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลข้างต้นจึงพอสรุปได้ว่า การเจองูในบริเวณบ้าน มักมีสาเหตุจากการที่งูเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณบ้าน เช่น ในรอยทรุดใต้ตัวบ้าน โพรงใต้กำแพงรั้ว หรือเพดาน อีกทั้งในบริเวณบ้านมีสัตว์ที่เป็นเหยื่อของงูอยู่มาก เช่น หนู กบ จิ้งจก เป็นต้น หรืออาจเป็นเพียงการเลื้อยผ่านเข้ามาโดยไม่มีวัตถุประสงค์ ดังนั้นกรณีที่พบงูในบริเวณบ้านจึงควรมีหลักปฏิบัติดังนี้
       
1. ตั้งสติให้ดีๆ อย่าตื่นตกใจ และอย่าพยายามเข้าไปจับหรือตีงูเด็ดขาด เพราะอาจพลาดถูกงูกัดได้
      
 2. หากพบงูกำลังเลื้อยผ่านในบริเวณที่โล่ง เช่น สนามหญ้า หรือลานนอกตัวบ้าน ให้ปล่อยให้งูเลื้อยออกไปจากบริเวณบ้านเอง เพราะโดยธรรมชาติแล้วงูจะไม่เข้าทำร้ายมนุษย์ก่อนถ้าไม่ถูกรบกวน
       
3. ถ้าพบงูซ่อนตัวในบริเวณบ้าน หรือไม่มีทีท่าจะเลื้อยออกไปข้างนอก ให้พยายามกันให้งูอยู่ในบริเวณที่จำกัดและเห็นได้ชัดเจน และอย่าพยายามรบกวนให้งูตื่นตกใจ
 
การป้องกันงูเข้าบ้าน เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะพยายามหาสิ่งต่างๆ ที่เชื่อว่างูกลัวมาใส่ไว้รอบตัวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี ต้นไม้ หรือวัตถุต่างๆ เช่น เชือกกล้วย มะนาว ปูนขาว กำมะถัน น้ำมันก๊าด เป็นต้น แต่ปัญหาดังกล่าวไม่ได้หายไป เพราะงูไม่ได้กลัวสิ่งเหล่านี้ตามความเชื่อ งูจะกลัวศัตรูตามธรรมชาติ โดยเฉพาะมนุษย์ที่นับได้ว่าเป็นศัตรูของงูเช่นกัน
ดังนั้นวิธีที่ป้องกันงูเข้าบ้านได้ดีที่สุด จึงเป็นการจัดการพื้นที่บริเวณบ้านให้ไม่เหมาะสมในการอยู่อาศัย และปิดช่องทางที่งูอาจอาศัยเป็นทางผ่านได้ดังนี้
       
1. ทำให้บริเวณบ้านไม่มีอาหารของงู เช่น หนู กบ คางคก อึ่งอ่าง เป็นต้น โดยดูแลบริเวณบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีเศษอาหารสะสม เพื่อป้องกันไม่ให้หนูมากินเศษอาหาร และระวังอย่าให้มีแหล่งน้ำขังอันจะเป็นที่วางไข่ของกบ คางคก อึ่งอ่างได้       
2. ลดบริเวณที่งูสามารถเข้ามาอยู่อาศัยได้ เช่น ทำการถมหรือเทปูนปิดรอยทรุดใต้ตัวบ้านหรืออาคารต่างๆ และกำจัดกองวัสดุต่างๆ ที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน เป็นต้น
       
3. ป้องกันช่องทางที่งูอาจใช้เป็นทางผ่านเข้ามาภายในตัวบ้าน เช่น ตัดกิ่งไม้ที่ยื่นเข้ามาในบริเวณบ้านให้เรียบร้อย ติดตะแกรงที่ฝาท่อระบายน้ำ ติดมุ้งลวด หรืออุดช่องรู หรือรอยแตกบริเวณบ้านให้เรียบร้อย เป็นต้น
       
4. สามารถใช้ตาข่ายตาถี่ๆ ขึงโดยรอบบริเวณที่ไม่อยากให้งูผ่าน เพราะโดยส่วนใหญ่เมื่องูเลื้อยมาเจอวัตถุที่ขวางหน้า งูมักจะพยายามเลื้อยออกไปทางด้านข้างมากกว่าเลื้อยขึ้นไปทางด้านบน
       
นอกเหนือจากการแก้ปัญหาข้างต้น คำถามที่มักเกิดขึ้นเมื่อพบงูก็คือ งูที่พบมีพิษ ซึ่งได้มีความพยายามที่จะหาลักษณะที่ใช้ในการจำแนกว่างูชนิดใดมีพิษและงูชนิดใดไม่มีพิษ แต่ไม่มีลักษณะใดที่สามารถนำมาใช้ได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุด คือการจดจำลักษณะเด่นของงูพิษชนิดที่สามารถเจอได้บ่อย เช่น งูเห่าสามารถแผ่แม่เบี้ยได้ และมีลายดอกจัน งูเขียวหางไหม้ จะมีส่วนหัวเป็นรูปสามเหลี่ยมและเห็นได้ชัดว่ามีขนาดใหญ่กว่าลำตัว โดยงูพิษที่มักพบได้บ่อยและมีอันตราย ได้แก่ งูเห่า งูเห่าพ่นพิษ งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูจงอาง งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง งูเขียวหางไหม้ตาโต และงูลายสาบคอแดง ส่วนงูไม่มีพิษที่พบบ่อย เช่น งูเขียวพระอินทร์ งูปี่แก้ว งูหัวกะโหลก งูเหลือม งูหลาม งูสิง งูปล้องฉนวน งูลายสอ งูแสงอาทิตย์ งูก้นขบ เป็นต้น
 
ในกรณีเกิดอุบัติเหตุโดนงูกัด ถ้าเป็นงูพิษหรือไม่ทราบชนิดงูที่กัดอย่างแน่ชัด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเฝ้าสังเกตอาการที่โรงพยาบาลทันที โดยไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และหากงูหนีไปหลังจากที่กัด ไม่ต้องเสียเวลาหางูเพราะแพทย์สามารถวินิจฉัยได้จากอาการที่แสดงออกนั่นเอง หากโรงพยาบาลอยู่ไกลหรือต้องใช้เวลาเดินทางมาก เช่น สภาพการจราจรติดขัด สามารถให้การปฐมพยาบาลได้โดยองค์การอนามัยโลก ได้แนะนำหลักการปฐมพยาบาลดังนี้
       
1. พยายามทำให้ผู้ป่วยคลายความกังวล
       
2. ให้ผู้ที่ถูกกัดนอนในท่าที่สบายและเคลื่อนไหวให้นอนที่สุด แล้วทำการดามอวัยวะส่วนที่ถูกกัดไม่ให้เคลื่อนไหว
       
3. ใช้ผ้ายืดหน้ากว้าง 10 – 15 ซม. และมีความยาวอย่างน้อย 4.5 เมตร หรือใช้ผ้าอะไรก็ได้ที่มีความยาวเพียงพอ ทำการพันอวัยวะส่วนที่ถูกกัดทั้งอวัยวะให้พอกระชับ ไม่รัดแน่นจนเกินไป
       
4.  ทำการดามอวัยวะส่วนที่ถูกกัดด้วยของแข็ง
       
5.  ห้ามทำการกรีด ถู ขัด และนวดบาดแผล เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ และอาจทำให้มีเลือดออกมากขึ้นและการดูดซึมพิษเร็วขึ้นได้     
จึงเห็นได้ว่า งู ก็เป็นเพียงสัตว์ชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามวัฏจักรในธรรมชาติร่วมกับสัตว์อื่นๆ รวมถึงมนุษย์ ไม่ได้มีอุปนิสัยก้าวร้าว อาฆาต อย่างที่สังคมส่วนใหญ่เข้าใจ หากเราเข้าใจถึงธรรมชาติของงู เราก็จะสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องอันจะก่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อคนและงูนั่นเอง
 

ที่มา             www.share-si.com 

อัพเดทล่าสุด