Chronic Fatigue Syndrome (CFS) คืออาการอ่อนเพลียเรื้อรัง แถมยังเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ขาดสมาธิ นอนหลับสนิทแล้วก็ยังง่วง คุณเป็นหรือไม่ ?
ถ้ามีอากรเหล่านี้ อ่อนเพลียเรื้อรัง ปวดเมื่อยตามตัว เช็กให้ชัวร์คุณอาจจะเป็นโรคนี้อยู่?
Chronic Fatigue Syndrome (CFS) คืออาการอ่อนเพลียเรื้อรัง แถมยังเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ขาดสมาธิ นอนหลับสนิทแล้วก็ยังง่วง คุณเป็นหรือไม่ ?
ฮ้าว.....หาวอีกแล้ว เมื่อคืนก็ว่านอนหลับสนิทดีแล้วนะ ทำไมตื่นเช้ามานั่งทำงานถึงสัปหงกทุกที แถมยังรู้สึกเพลีย อยากนอนตลอดเวลา เนื้อตัวก็ปวดเมื่อยไปหมด หนุ่มสาววัยทำงานคนไหนมีอาการแบบนี้ ต้องติดตามเรื่องราวที่กระปุกดอทคอมนำมาเสนอวันนี้ค่ะ เพราะคุณอาจกำลังเป็นโรคฮิตของคนเมือง อย่าง "อ่อนเพลียเรื้อรัง" ก็เป็นได้
อ่อนเพลียเรื้อรัง คือโรคอะไรกันนะ?
ต้องบอกว่าอาการที่ว่านี้ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคอะไรหรอกนะคะ แต่อาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ซึ่งเรียกเป็นชื่อภาษาอังกฤษว่า Chronic fatigue syndrome (CFS) หรือก็คือกลุ่มอาการอิดโรยเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติจากระบบกลไกของร่างกาย ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด ทำให้มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนแรง และอาการอื่น ๆ
CFS คืออะไร อาการเป็นอย่างไร
ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของกลุ่มอาการนี้เกิดมาจากอะไร เพราะอาการแสดงออกคล้ายกับหลายโรค เช่น ไข้หวัดใหญ่ จึงวินิจฉัยได้ยาก แต่หากเป็นแล้วจะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง ซึ่งโดยทั่วไปผู้ที่เป็น Chronic fatigue syndrome (CFS) จะมีอาการดังนี้
- อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- ไม่มีสมาธิ
- เจ็บคอ
- ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอหรือรักแร้
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ปวดข้อ แต่ไม่มีที่บวม แดง หรือ ร้อน ชัดเจน
- ปวดศีรษะ
- หลับไม่สนิท เมื่อตื่นนอนขึ้นมาแล้วจะรู้สึกไม่สดชื่น หรือรู้สึกเหนื่อยแบบหมดแรงนานมากกว่า 1 วัน ถึงแม้จะได้พักผ่อนอย่างเพียงพอแล้วก็ตาม
นอกจากนี้ ยังอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดมวนท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องเสีย ไอเรื้อรัง วิงเวียน มีอาการจะเป็นลมเวลายืนนาน ๆ รวมทั้งอาจพบความผิดปกติในการมองเห็น เช่น ปวดตา ตาแห้ง เห็นภาพเบลอ หรืออยู่ ๆ ก็มีอาการแพ้อาหารบางอย่างที่ไม่เคยแพ้มาก่อน
อย่าเพิ่งคิดว่าอาการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องอันตราย เพราะหากอ่อนเพลียมาก ๆ ก็อาจทำให้หมดเรี่ยวหมดแรงที่จะทำงานได้เลย และอาจทำให้ตกงาน นำไปสู่ภาวะเครียดจนถึงขั้นซึมเศร้าได้ จึงนับว่าเป็นโรคที่กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำอยู่ไม่น้อย
หากใครมีอาการเหล่านี้มากกว่า 4 ข้อขึ้นไป และเป็นต่อเนื่องมานานไม่น้อยกว่า 6 เดือน รวมทั้งมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นสัญญาณว่าคุณอาจกำลังป่วยแล้วล่ะ ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุเพื่อทำการรักษาต่อไป
CFS สามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า สาเหตุของการเกิดอาการล้าเรื้อรังนี้ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ดังนั้นจึงยังไม่มียาเฉพาะที่จะรักษาอาการนี้ให้หายขาด สิ่งที่ทำได้คือการรักษาตามอาการที่เป็น พร้อมกับปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อไม่ให้ร่างกายเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย
มาดูแลตัวเองกันดีกว่า ไม่ให้ภาวะล้าเรื้อรังคุกคาม
ใครที่มีอาการดังข้างต้นแล้ว หรือไม่อยากมีอาการที่กล่าวมา ก็ถึงเวลาต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่แล้วล่ะ เรามีข้อแนะนำดังนี้
1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยงดเติมน้ำตาลในอาหาร เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลมาก รวมทั้งอาหารฟาสต์ฟู้ด
2.ปรับอารมณ์ไม่ให้เครียด เพื่อไม่ให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอะดรีนาลินไปกระตุ้นให้ผนังลำไส้ขับกรดออกมามาก จนเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร นอกจากนั้นแล้ว ความเครียดยังนำไปสู่โรคต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งยังทำให้นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลงอีกต่างหาก
3.ก่อนนอนไม่ควรทานอาหารหนัก ๆ รวมทั้งดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนผสม เพราะจะทำให้หลับยาก ยิ่งทำให้รู้สึกอ่อนเพลียมากขึ้น
4.อย่าเปิดไฟเวลานอน และพยายามอย่าให้มีแสงเล็ดลอดเข้าไปในห้องนอน เพราะจะยิ่งทำให้นอนไม่หลับ
5.ฝึกหายใจ หรือนั่งเงียบ ๆ สัก 5 นาที ก่อนนอน เพื่อผ่อนคลายความเครียด
6.ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน
7.หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เครียด ซึมเศร้า และไม่ควรหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นเวลานานเกินไป
8.ไม่ควรใช้ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท หรือยาคลายเครียด
9.หากมีอาการเครียดบ่อย ๆ ให้ฝึกทำสมาธิ เพื่อควบคุมจิตใจให้สงบ
10.พยายามเข้านอนแต่หัวค่ำ อย่าออกไปเที่ยวกลางคืนบ่อยนัก
11.ในรายที่เป็นมากอาจต้องปรึกษาแพทย์ และอาจรับประทานวิตามินบีเสริมเพื่อช่วยลดความเหนื่อยล้า
รู้จักกลุ่มอาการนี้กันไปแล้ว หนุ่มสาวชาวเมืองคนไหนที่มีอาการดังข้างต้นก็อย่าลืมรักษาสุขภาพตัวเองให้มาก ๆ นะ เพราะอาการอ่อนเพลียเรื้อรังแบบนี้กระทบคุณภาพชีวิตของเราได้โดยตรง
* หมายเหตุ : ในส่วนของภาวะไฮโปไกลซีเมีย (hypoglycemia) ที่เข้าใจกันว่าคือโรค Chronic fatigue syndrome นั้น จริง ๆ แล้วไม่ใช่ แต่ไฮโปไกลซีเมีย คือ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ อันเกิดจากระบบการใช้น้ำตาลของร่างกายผิดปกติ
สาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจาก พฤติกรรมการกินอาหารของเรานั่นเองที่ปัจจุบันนิยมทานเนื้อสัตว์ และคาร์โบไฮเดรตสังเคราะห์ เช่น น้ำตาล แป้งขัดขาวกันมากขึ้น ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ตับอ่อนจึงต้องผลิตอินซูลินเพิ่มขึ้นเพื่อกำจัดน้ำตาลในกระแสเลือด นาน ๆ เข้าจึงทำให้ตับอ่อนทำงานผิดเพี้ยน และหากตับอ่อนผลิตอินซูลินออกมามากเกินไป ก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติมาก ๆ เกิดภาวะไฮโปไกลซีเมียขึ้น
ผู้ที่มีภาวะไฮโปไกลซีเมีย จะมีอาการใจสั่น ตัวสั่น หน้าซีด คล้ายจะเป็นลม รู้สึกหิวมาก หงุดหงิดฉุนเฉียวง่าย ปวดศีรษะ ตาลาย ตาพร่า เหงื่อออก และอาจชัก หมดสติ โดยอาการแสดงมักจะเกิดแบบเฉียบพลัน หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีอาจอันตรายถึงชีวิต
ทั้งนี้หากเกิดภาวะไฮโปไกลซีเมียขึ้น ผู้ป่วยควรรับประทานกลูโคสเข้าสู่ร่างกาย เช่น น้ำหวาน 100-200 ซีซี (1/2-1 แก้ว), ลูกอม 2 เม็ด หรือหรือน้ำตาลทราย 2 ก้อน แต่หากผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล
ข้อมูลดีๆจาก health.kapook.com