ทึ่ง! แค่4 วิธีนี้ ที่จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคข้อเสื่อม


5,715 ผู้ชม

หนึ่งในสาเหตุใหญ่ของอาการข้อเสื่อมก็คือ การที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วน เพราะยิ่งน้ำหนักตัว มากเท่าไร ข้อต่าง ๆ ในร่างกายก็ยิ่งต้องรับภาระมากเท่านั้น


4 วิธี ที่จะช่วยให้คุณห่างไกลจากโรคข้อเสื่อม
1. ควบคุมน้ำหนัก

หนึ่งในสาเหตุใหญ่ของอาการข้อเสื่อมก็คือ การที่มีน้ำหนักตัวเกิน หรืออ้วน เพราะยิ่งน้ำหนักตัว มากเท่าไร ข้อต่าง ๆ ในร่างกายก็ยิ่งต้องรับภาระมากเท่านั้น โดยเฉพาะข้อเข่า สะโพก และ หลัง ที่เป็นกำลังหลักในการรับน้ำหนักของร่างกาย 

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการควบคุมน้ำหนักจึงเป็นการทนุถนอมข้อกระดูกทางหนึ่ง โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่ช่วยเผาผลาญพลังงานได้เป็นอย่างดี แต่หากผู้ป่วยกังวล ว่าการออกกำลังกายจะเป็นอันตรายต่อข้อกระดูก ก็ควรเลือกประเภทของการออกกำลังกายที่ข้อไม่ต้องแบกรับภาระมากนัก เช่น ว่ายน้ำ การเดินในน้ำ เดิน หรือปั่นจักรยาน (ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลัง)


2. ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ


“น้ำหนักน้อยก็ใช่ว่าจะไม่เป็นโรคข้อ หากทำอะไรที่ผิดท่า ไม่ว่าจะชอบนั่งยอง ๆ นั่งกับพื้น ผุดลุกผุดนั่งบ่อย ๆ หรือการขึ้นบันไดเป็นประจำ เหล่านี้ก็ทำให้ข้อเข่าเสียได้บางคนชอบยืนทิ้งน้ำหนักข้างเดียวซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับข้อข้างนั้นแทนที่จะลงน้ำหนักสองขาเท่า ๆ กัน อย่างนี้เป็นต้น” นพ. สิทธิพร อธิบาย


การนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น นั่งหลังงอและก้มคอทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ติดต่อกันหลายชั่วโมงก็เป็นผลเสียต่อข้อต่อบริเวณคอ และกระดูกสันหลังส่วนเอวเช่นกัน ควรนั่งให้ถูกต้องโดยการนั่งพิงพนักเก้าอี้ และไม่ควรก้มคอนาน ๆ นอกจากนั้นทางที่ดี ควรหาโอกาสขยับตัว โดยลุกขึ้นมาเดินบ้าง ยืดแขนยืดขาบ้างเพื่อเป็นการบริหารข้อต่อ


3. เสริมสร้างกล้ามเนื้อ


แม้ว่าการออกกำลังกายจะเป็นสิ่งดี แต่หากออกกำลังกายหนักเกินไป ก็จะเป็นการสร้างภาระให้กับข้อกระดูกได้ โดยจะเห็นได้จากนักกีฬาอาชีพ ซึ่งมักมีปัญหาข้อกระดูกเสื่อมอย่างรวดเร็ว “ประเทศไทยอาจไม่มีตัวอย่างให้เห็นมากนัก อาจเพราะเรามีนักกีฬาอาชีพน้อย และกีฬาของเราก็ไม่ค่อยได้ใช้ข้อบริเวณไหล่กับสะโพก ในประเทศที่นิยมกีฬาอย่างเบสบอลซึ่งต้องใช้การขว้างลูกจะพบว่า มีนักกีฬาที่ประสบปัญหาข้อต่อไหล่และสะโพกเสื่อมกันมาก” นพ. สิทธิพรอธิบาย


ทั้งนี้ การป้องกันโรคข้อเสื่อมจากการออกกำลังกายสามารถทำได้โดยการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะกล้ามเนื้อเป็นส่วนสำคัญในการแบ่งเบาภาระต่าง ๆ ของข้อต่อเมื่อร่างกายเคลื่อนไหวรุนแรง โดยเฉพาะกล้ามเนื้อบริเวณเอ็นข้อต่อซึ่งเป็นจุดสำคัญของการออกกำลังแทบทุกประเภท นอกจากนี้ การมีกล้ามเนื้อหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลังที่ดีจะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังรับภาระน้อยลง ซึ่งลดความเสี่ยงต่อความเสื่อมได้มาก อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเริ่มฝึกกล้ามเนื้อใด ๆ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อไม่ให้การ ฝึกฝนนั้นไปสร้างภาระให้กับข้อกระดูก


4. อาหารและยา

การรับประทานยาจำพวก กลูโคซามีน และคอนโดรอิทีน ซึ่งเชื่อว่าจะมีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างน้ำไขข้อและกระดูกอ่อนเคลือบผิวข้อได้ แต่ไม่ยืนยันว่าได้ประโยชน์มากเท่าใด ทั้งนี้ต้องใช้ในกรณีที่ข้อเสื่อมอยู่ในระยะแรกๆ เท่านั้น 

ในส่วนของยานั้น นพ. สิทธิพร แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาบางชนิดบ่อยเกินความจำเป็น เพราะอาจมีผลต่อข้อกระดูก “สเตียรอยด์แบบฉีดเพื่อลดการอักเสบของข้อนั้น ถ้าใช้บ่อย ๆ ก็ทำให้ข้อเสียได้ แต่ถ้าเป็นสเตียรอยด์แบบรับประทานก็จะไม่มีผลต่อข้อ แต่มีผลต่อกระดูกโดยรวมเพราะจะทำให้กระดูกบางลง”

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคข้ออักเสบที่พบได้บ่อยที่สุด และยากที่จะรักษาให้หายขาดหรือกลับคืนสู่สภาพปกติ ดังนั้นการรักษาข้อให้อยู่ในสภาพดีจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อเป็นหลักประกันว่า ในวันข้างหน้าคุณจะยังคงมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับวันนี้


ข้อมูลดีๆจาก bumrungrad

อัพเดทล่าสุด