หูดข้าวสุก ตุ่มเล็กๆ สีเนื้อ ตามตัวลูก อันตรายแค่ไหน


2,220 ผู้ชม

น้องออย (นามสมมติ) อายุ 8 ปี มีตุ่มเล็กๆ สีเนื้อ ตรงกลางมีจุดบุ๋มลงไปคล้ายสะดือ ขึ้นที่บริเวณ แขน และขา เมื่อมาพบคุณหมอ ได้รับการตรวจอย่างละเอียดแล้วก็ทราบว่า น้องออยเป็นหูดข้าวสุก นั่นเอง


หูดข้าวสุก ตุ่มเล็กๆ สีเนื้อ ตามตัวลูก อันตรายแค่ไหน

น้องออย (นามสมมติ) อายุ 8 ปี มีตุ่มเล็กๆ สีเนื้อ ตรงกลางมีจุดบุ๋มลงไปคล้ายสะดือ ขึ้นที่บริเวณ แขน และขา เมื่อมาพบคุณหมอ ได้รับการตรวจอย่างละเอียดแล้วก็ทราบว่า น้องออยเป็นหูดข้าวสุก นั่นเองค่ะ
 
รู้จักโรคหูดข้าวสุกในเด็ก

หูดข้าวสุก คืออะไร?

หูดข้าวสุก คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อ ไวรัสชื่อ Molluscum contagiosum พบมากในเด็กวัย 1-10 ปี โรคหูดข้าวสุกสามารถติดต่อได้อย่างง่ายดายในเด็กโดยการสัมผัสกับรอยโรคของผู้ป่วย หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่มีรอยโรคหูดข้าวสุก
 
ลักษณะอาการของหูดข้าวสุกเป็นอย่างไร?

ลักษณะของหูดข้าวสุกเป็นตุ่มเนื้อขนาดเล็ก มีสีเดียวกับผิวหนัง รูปโดม มีลักษณะบุ๋มเป็นหลุมตรงกลาง พบบ่อยบริเวณลำตัว หน้าอก หลัง แขนขา บางครั้งอาจมีอาการบวมแดงอักเสบร่วมด้วย หูดข้าวสุกมักจะหายได้เองภายในเวลา 2-3 เดือน มีรายงานผู้ป่วยเด็กบางรายเป็นได้นานถึง 9 เดือนหากไม่ได้รับการรักษา
 
การรักษาหูดข้าวสุกทำได้อย่างไร?

คุณหมอสามารถให้การรักษาโรคนี้ได้หลายวิธีคือ การกำจัดรอยโรคด้วยการขูด การจี้เย็น การจี้ไฟฟ้า พ่นไนโตรเจนเหลว โดยคุณหมออาจจะนัดมาให้การรักษาซ้ำทุก 2-3 สัปดาห์ จนรอยโรคหายทุกรอย และการทายา เพื่อช่วยรอยโรคหายเร็วขึ้น
 
หากลูกเป็นหูดข้าวสุกคุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร?

เมื่อทราบจากคุณหมอว่าลูกเป็นหูดข้าวสุก คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกดูแลตนเองโดย ไม่แกะเกาตุ่มรอยโรค เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และลดการพาเชื้อไปติดบริเวณอื่นของร่างกาย, ให้ลูกใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมตุ่มรอยโรค เพื่อป้องกันการเกาของลูก และยังช่วยป้องกันการสัมผัสรอยโรคไปสู่ผู้อื่น, ไม่ลงสระว่ายน้ำขณะทีเป็นโรค, ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ หากสัมผัสรอยโรคของตัวเองควรให้ลูกล้างมือด้วยสบู่ล้างมือ หรือ ใช้เป็นแอลกอฮอล์ชนิดเจลทำความสะอาดมือ
หากพบว่ารอยโรค มีหนอง. ปวด บวม แดงร้อน ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนและรับการรักษาอย่างถูกต้องนะคะ
 
การป้องกันหูดข้าวสุกทำได้อย่างไร?

การป้องกันการติดเชื้อโรคหูดข้าวสุกทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการสัมผัสรอยโรคของผู้ป่วย, ล้างมือให้สะอาด, ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น, หมั่นทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้หรือของเล่นที่เด็กใช้ร่วมกัน ซึ่งก็คือ การรักษาความสะอาดตามสุขอนามัยพื้นฐาน ก็จะลดโอกาสในการเป็นโรคลงได้
โดยสรุป หูดข้าวสุกในเด็กเป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตรายร้ายแรง ติดต่อได้ง่าย สามารถหายได้เองในเวลาเป็นเดือน แต่หากได้รับการรักษาก็จะหายได้เร็วขึ้น

https://th.theasianparent.com

อัพเดทล่าสุด